สนุกกับชีวิต มิตรสหาย 196 โดย หมอทวี ตอนที่ 3 “ผู้เฒ่าเว้าม่วน”

สหายวา เป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นคนพูดจาสนุกสนานและมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ถกเถียงแบบหน้าดำคร่ำเครียดในหมู่สหาย หรือการพูดคุยให้การศึกษามวลชน ที่สำคัญ เขาไม่ได้เกิดมาเป็นนักต่อสู้แบบทำลายล้าง หากแต่เป็นผู้ให้ความคิดและแรงบันดาลใจกับผู้คน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม

คำว่า ผู้เฒ่าเว้าม่วน เป็นคำที่ผมพยายามจะหามา ไว้ใช้สำหรับเป็นคำจำกัดความ เมื่อเราพูดถึงสหายวา หนึ่งเดียวคนนี้

ภายหลังแตกเสียงปืนบนภูเขียวได้ไม่กี่เดือน องค์กรนำของเขตงานได้เริ่มส่งหน่วยจรยุทธ์ลงไปทำงานโดยรอบตีนภูเขียว ในทุกทิศทาง ด้านหนึ่งเป็นการขยายฐานมวลชนและเขตพื้นที่เคลื่อนไหวให้กว้างออกไป อีกด้านหนึ่งเป็นการดึงความสนใจของข้าศึกออกจากฐานที่มั่นและเกิดความสับสนพะว้าพะวง

อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

แผนที่แสดงบริเวณอ่างกระทะของอำเภอหนองบัวแดง ทางทิศเหนือเป็นภูเขียว ทางตะวันตกคือภูพญาพ่อ ส่วนทางใต้เป็นภูพังเหย ทางตะวันออกและตะวันออกฉียงใต้คือภูแลนคาและภูโค้ง

หน่วยของสหายชิด-ช่วง-ชอน-สิงห์ อยู่ทางด้านเหนือ เขตอำเภอคอนสาร ทุ่งลุยลาย ล้ำน้ำพรม ไปจนจรดเขื่อนจุฬาภรณ์

หน่วยของสหายศักดิ์-สม-อุบล-ทวี อยู่ด้านทิศใต้ เขตอำเภอหนองบัวแดง ภูพญาพ่อ ภูพังเผย ภูแลนคา ข้ามไปบ้านเขว้าและหนองบัวระเหว

หน่วยของสหายวา-พิณ-แคน อยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ เขตอำเภอภูเขียว กระโดดข้ามไปไกลถึงภูโค้ง จึงเรียกกันเล่นๆว่า “เขตช้างดีด”

จากนั้นเป็นต้นมา งานมวลชนของเราต่างขยายออกไปมากขึ้นทุกที สถานการณ์ในแนวหน้ามิได้ราบเรียบ แต่เต็มไปด้วยอุปสรรคความยากลำบาก และการปะทะกับข้าศึกก็เกิดบ่อยขึ้น การพบปะเห็นหน้าเห็นตากันในหมู่พวกเราจึงห่างออกไป จะได้เจอหน้ากันก็เวลาที่จัดตั้งมีภารกิจสำคัญ โดยเรียกให้พวกเราขึ้นไปร่วมทำงานด้านยุทธศาสตร์ยุทธวิธีหรืองานพิธีการที่สำคัญๆ

น่าคิดนะครับ ในสมัยนั้นพวกเราต้องรอนแรมเดินเท้าล้วนๆ ไต่ไปตามสันเขา ภูสูง ป่าทึบเพื่อไปร่วมประชุมบนฐานที่มั่น เขตของผมเบาะก็สามวันสามคืน แต่ของสหายวาต้องใช้เวลาเจ็ดถึงสิบวันกันเลยทีเดีย

ยิ่งในตอนหลังๆเรายิ่งไม่ได้พบกันเลย เพราะสถานการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์เลวร้ายลง เนื่องจากนโยบาย 66/23 ของรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และกระแสกลับคืนเมืองของบรรดาสหายนักศึกษา มีแต่ได้รับฟังข่าวสารกันจากภายนอก จนกระทั่งมิตรสหายร่วมรบกลับคืนเมืองกันหมดสิ้น และต้องดิ้นร้นทำมาหากินกันไปตามสภาพแต่ละบุคคล

ปี 2541 ในวันที่ผมรับปากอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่จะมาดูแลสถาบันและมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ผมได้ยินชื่อเสียงของ “ครูสน รูปสูง” แห่งท่านางแนว จากปากของอาจารย์หมอประเวศ ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญคนหนึ่งของภาคอีสาน แกมีชื่อเสียงมากในเรื่องการเลี้ยงวัวตามวิถีวัฒนธรรมและสร้างการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ต่อมาจึงรู้ว่าเขาเป็นบุคคลคนเดียวกับ “ผู้เฒ่าวา” หนึ่งเดียวคนนี้เอง

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เราได้กลับมาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในขบวนชุมชนและชาวบ้าน ต่างคนต่างแสดงบทบาทกันตามที่ตนถนัด ผมอยู่ในส่วนกลางและทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ส่วนครูสนก็ลงมือปฏิบัติในภาคชนบทได้อย่างเข้มแข็ง และ ในทุกคราวที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง เรามักโคจรมาร่วมมือกันแบบไม่ต้องนัดหมายเสมอๆ

ในช่วงสามเดือนก่อนเสียชีวิต ครูสนและน้องๆนักพัฒนาเครือข่ายงานชุมชนและประชาสังคมภาคอีสานรวม 6 จังหวัดขอนัดพบผมเป็นการเฉพาะ เพื่อนำเสนอแนวคิดและความมุ่งมั่นตั้งใจบางอย่าง พร้อมกับฝากฝังให้ช่วยสนับสนุนดูแลเป็นพิเศษ ประกอบด้วยจังหวัดกาฬสินธุ์ บึงกาฬ สุรินทร์ …….. และอำนาจเจริญ

ทราบว่าในสัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงแก่กรรม ครูสนยังโทรไปได้นัดหมายน้องๆที่เกี่ยวข้องให้มาพบที่บ้าน เมื่อถูกถามกลับไปว่าจะให้มาปรึกษาหารือกันเรื่องอะไร

ก็ได้คำตอบว่า

“เป็นเรื่องงานที่จะทำกับหมอพลเดช”

คงเป็นความผูกพันและผลบุญผลกรรมที่เคยร่วมกันมาแต่ปางไหน

“สู่สุขคติเถอะพี่สน ผมไม่มีลืม ขออย่าเป็นห่วง”

ตอนที่ 4. “ธงแดงเหนือภู”