การทำงานมวลชนของบรรดาเหล่าสหาย ทหารปลดแอกประชาชนไทย หรือ ทปท. แท้ที่จริงก็คือการออกไปพบปะประชาชนผู้ทุกข์ยากเดือดร้อนจากการปกครองของรัฐบาล โดยเฉพาะชาวนา กรรมกร ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ตามแนวทาง “ชนบทล้อมเมือง แล้วยึดเมืองในที่สุด”ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เพื่อชี้แจงให้เข้าใจถึงต้นเหตุใหญ่ของความยากจน ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำซึ่งบทที่เรามักใช้กันคือ “ใครสร้าง ใครเลี้ยง” และจากนั้นจึงชี้ว่าใครคือศัตรู ใครคือมิตรของพวกเขา และโฆษณาแนวทางการต่อสู้ของพรรคและกองทัพปลดแอกไปด้วยในตัว
หลักการและขั้นตอนในการทำงานมวลชน ที่บรรดาสหายยึดกุมและใช้ปฏิบัติ ซึ่งใช้ได้ผลดีมาก ประกอบด้วย “ปรับทุกข์-ผูกมิตร-ปักหลัก-ชักชวน-จัดตั้ง” หลักการเหล่านี้ต่อมาฝ่ายความมั่นคงก็มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานการเมืองนำการทหารของพวกเขาด้วยเช่นกัน

ในการทำงานมวลชน สหายทุกคนต้องมีความสำรวมตน รักษาบุคคลิกให้ดูน่าเชื่อถือและเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ไม่ทำเรื่องเสื่อมเสีย ในสมัยใหม่เขาก็เรียกว่าต้องรักษา”ภาพลักษณ์องค์กร” (Brand) เพราะสหายแต่ละคนที่ลงไปหามวลชนคือตัวแทนหรือฑูตของกองทัพปลดแอกและพรรคคอมมิวนิสต์ส กล่าวคือเป็นแบรนด์แอมบาสซอเดอร์ (Brand Ambassardor) ขององค์กรนั่นเอง
เครื่องมือที่สำคัญ คือวินัยสิบข้อของกองทัพ ซึ่งปรับมาจากของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้เป็นต้นตำรับ มีเพลงที่แต่งไว้สำหรับร้องปลุกใจ เตือนสติและจดจำได้ง่าย บรรดาสหายร่วมอุดมการณ์ในยุคนั้น ต่างร้องได้กันทุกคน
วินัยสิบข้อของ ทปท. ประกอบด้วย
- ปฏิบัติการทุกอย่าง ฟังคำบัญชา
- ไม่เอาข้าวของของประชาชน
- เคารพช่วยเหลือประชาชน พูดจาต้องสุภาพ
- ซื้อขายต้องเป็นธรรม ยืมของต้องคืน ทำของเสียหายต้องชดใช้
- ไม่ทำให้พืชผลประชาชนเสียหาย
- ไม่ดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่
- ไม่ดุด่าทุบตีผู้อื่น
- ไม่ลวนลามสตรี
- ไม่ทารุณเชลย
- สินสงครามต้องมอบให้ส่วนรวม
ในคราวหนึ่ง ราวๆปี2521 ในช่วงที่ผมมีภารกิจต้องกลับจากเขตหนองบัวแดง ขึ้นไปฐานที่มั่นภูเขียว และอยู่ที่นั่นติดต่อกันหลายสัปดาห์ พอดีช่วงนั้นสหายบนภูเขียวกำลังจะไปขนลำเลียงข้าวสารขึ้นมาจากทางเขตคอนสาน ผมจึงขันอาสาไปร่วม”เป้ข้าวสาร”กับเขาด้วย

การเป้ข้าวสารและสิ่งของอุปโภคบริโภค เป็นงานพื้นฐานที่สหายทุกคนต้องมีประสบการณ์มาด้วยกันทั้งนั้น เพราะเราไม่มีข้าวกินเพียงพอ ต้องลำเลียงขึ้นมาจากหมู่บ้านและในเมือง และยังต้องสำรองไว้เพื่อการสู้รบอีกด้วย
ข้าวสารบรรจุเต็มถุงปุ๋ย เมื่อมัดปากถุงแล้วก็ใช้”ผ้าข้าวม้า”คล้องจากปากถุง มาผูกไว้กับก้นถุงทั้งสองชาย เท่านี้ก็พร้อมที่จะสอดแขนทั้งสองข้างเข้าไปเพื่อบรรทุกขึ้นหลังของพวกเรา คล่องแคล่วกันมากเลยทีเดียว ถ้าถามว่าเข้าป่าหลายปีทำอะไรเป็นบ้าง เก่งที่สุดอย่างหนึ่งก็ต้องนี่เลย “เป้ข้าวสาร”
จากไร่นามวลชนเชิงเขา ขบวนแถวเหล่าสหายบรรทุกของเต็มหลัง บ่าทั้งสองข้างตึงเป๊ะด้วยน้ำหนักบรรทุก เดินผ่านเส้นทางที่ใช้ขนส่งลำเลียงเป็นประจำแบบกองทัพมด หนองไร่ไก่ ซำผักหนาม หินแผงม้า บึงแปน ….จนถึงทับที่ตั้ง เป็นอยู่อย่างนี้ แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่ไม่มีใครบ่นท้อถอย การเป้ข้าวสารขึ้นภูสูงและหน้าผาในแต่ละเที่ยว ได้ช่วยฝึกฝนร่างกายและจิตใจของพวกเราไปในตัว
ในคราวนั้น หน่วยจรยุทธ์ที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นเป็นหน่วยของสหายชิด สหายช่วง สหายชอนและสหายสิงห์ กลางคืนวันหนึ่งมีนัดประสานงานกับมวลชนเพื่อการขนส่งลำเลียงอย่างที่ว่า ผมมีโอกาสได้ร่วมทีมไปพบปะมวลชนกะเขาด้วย อยากไปดูว่าสภาพงานมวลชนทางนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเขตหนองบัวแดงจะเป็นอย่างไร
ที่เถียงไร่มวลชนในคืนนั้น จำได้ว่ามีตัวผม (สหายทวี)สหายช่วงและสหายสิงห์ นั่งคุยกับมวลชนอยู่รอบกองไฟ ท่ามกลางอากาศที่เย็นเฉียบ เรื่องที่คุยคือการให้การศึกษาแก่มวลชนถึงการต่อสู้ปฏิวัติของพวกเรา มวลชนตื่นตัวมาก มีจิตสำนึกการปฏิวัติร่วมกับเราอย่างเต็มที่
คุยกันไปนานสองนาน มวลชนได้ของว่างมารับรองพวกเราเหล่าสหายแบบกินกันไปคุยกันไป มีทั้งหัวมันเผา ข้าวจี่ กล้วยน้ำว้าสุขเป็นเครือๆ และถั่วดินต้ม เท่านี้ก็เรียกว่าสุดยอดแล้ว ทำเอาสหายต่างพากันเปรี้ยวปาก แต่ก็ต้องสงวนท่าที่และรักษาภาพพจน์กันไว้หน่อย
สหายช่วง เริ่มคุยเปิดฉากเป๊ะรื่องประเทศนี้เป็นของใคร ใครเป็นผู้สร้าง ใครเป็นผู้เลี้ยงสังคมกันแน่ ผมก็ต่อด้วยการปฏิวัติบนหนทางปืนและแนวทางชนบทล้อมเมืองของพรรค
คุยกันไป สายตาก็เหลือบมองที่กล้วยสุขเครืองามๆ ในใจคิดว่า”ท่าจะหวานชื่นใจดีนะ” สามสหายต่างเหลือบมองไปที่ของขบเคี้ยวแล้วสบตากันอยู่บ่อยครั้ง ครั้นจะหยิบกินบ้าง ต่อหน้ามวลชนก็กลัวถูกมองว่าไม่เรียบร้อย เรียกว่าแทบไม่ได้แตะของที่มวลชนมาประเคนกันเลยก็ว่าได้
ส่วนสหายสิงห์เป็นสหายชาวนา ทำหน้าที่นั่งฟังอย่างเดียว ปล่อยให้สหายนักศึกษาสิงห์เหนือ(ช่วง คอนสาน) กับเสือใต้(ทวี หนองบัวแดง)ปลุกระดมมวลชนกันไป
ทันใดนั้นมีเสียงหมาเห่าอยู่ไกลๆ มวลชนจึงขอตัวไปดูว่ามีเหตุการณ์อะไรผิดปกติหรือไม่ แกไปดูพักใหญ่ เราก็รออยู่ว่าเมื่อไรจะกลับมา
ระหว่างนั้น ไม่รู้ว่าใครเริ่มหยิบของกินเป็นคนแรก แต่เพียงครู่เดียวเท่านั้น คนละหมุบคนละหมับ เล่นเอากล้วยสุขหนึ่งเครือ ถั่วดินต้มทั้งกาละมังและของขบเคี้ยวอื่นๆที่มวลชนเตรียมมาให้ ได้อันตระธานหายวับไปกับตา
เป็นอันว่า … “เรียบร้อยโรงเรียนสหาย”
แหมนึกว่าจะแน่สักแค่ไหน…สู้อุตส่าห์รักษาภาพลักษณ์กันมาตั้งนาน!
ก็ของมันยั่ว…ตบะแตกหมดเลย!!
นานๆจะได้กินที ไม่ว่ากันนะครับ
ตอนดึกคืนนั้น พวกเราเดินจากมวลชนออกมา พร้อมกับแบกกล้วยสุขอีกเครือใหญ่เป็นของฝากกลับที่พักชายป่า มีเสียงสหายฮัมเพลง”วินัยสิบข้อ”กันอย่างคึกคักไปตลอดทาง.
หมายเหตุ
เรื่องนี้ ผมกับสหายช่วง (ดร.วีระพันธุ์ พรหมมนตรี ผู้จากพวกเราไปแล้ว) เมื่อมาทำงานพัฒนาชบบทร่วมกันในภายหลัง ยังจำเหตุการณ์กันได้ดี สบตากันเมื่อไรเป็นได้หัวเราะร่วน.