สช. กับ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ

สช. กับ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ

นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์  / ประจำวันพุธที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๙

สช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เป็นหน่วยงานระดับนโยบาย ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้บริการแก่ประชาชนโดยตรง จึงแตกต่างจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างชัดเจนนอกจากนั้น ในด้านขอบเขตของ “สุขภาพ หรือ สุขภาวะ ๔ มิติ” ตามกฎหมายที่จัดตั้ง ก็มีความหมายกว้างกว่า “สาธารณสุข”ที่เป็นเรื่องของมดหมอหยูกยา  สช.จึงต้องประสานความร่วมมือเชื่อมโยงหลายกระทรวง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ฯลฯ

พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต้องจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ โดยให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ให้ทบทวนธรรมนูญฯ อย่างน้อยทุก ๕ ปี เพื่อให้ มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับแรก ได้ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒  ในฐานะที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  สช.ได้สนับสนุนให้มีการทำงานทางวิชาการโดยคณะนักวิชาการหลายชุดเพื่อทบทวนธรรมนูญฯ มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ และจัดเวทีรับฟังความเห็นในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการรับฟังในเวทีวงเล็กเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เวทีลูกขุนพลเมือง  เวทีประชาเสวนาหาทางออก เวทีรับฟังความเห็นรายภาค และเวทีรับฟังความเห็นในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งการรับฟังความเห็นจากภาคีและองค์กรต่างๆ ทางเอกสารด้วย  ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น ทิศทางของธรรมนูญฯยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับผ่านประชามติ  รวมทั้งร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ ตลอดจนเป้าหมายของ SDGs

ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ ได้ระบุสถานะของการนำไปใช้ประโยชน์ ใน ๔ รูปแบบ ได้แก่ เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานด้านสุขภาพขององค์กรภาครัฐ  เป็นภาพพึงประสงค์ร่วมของระบบสุขภาพที่ภาคส่วนต่างๆ นำไปใช้  เป็นแนวคิดและหลักการในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่หรือธรรมนูญสุขภาพประเด็น  และเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอนาคตร่วมกัน

ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ ได้ระบุสถานะของการนำไปใช้ประโยชน์ ใน ๔ รูปแบบ ได้แก่ เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานด้านสุขภาพขององค์กรภาครัฐ เป็นภาพพึงประสงค์ร่วมของระบบสุขภาพที่ภาคส่วนต่างๆ นำไปใช้ เป็นแนวคิดและหลักการในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่หรือธรรมนูญสุขภาพประเด็น และเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอนาคตร่วมกัน

ธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ ได้ระบุสถานะของการนำไปใช้ประโยชน์ ใน ๔ รูปแบบ ได้แก่ เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานด้านสุขภาพขององค์กรภาครัฐ เป็นภาพพึงประสงค์ร่วมของระบบสุขภาพที่ภาคส่วนต่างๆ นำไปใช้ เป็นแนวคิดและหลักการในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพพื้นที่หรือธรรมนูญสุขภาพประเด็น และเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในอนาคตร่วมกัน

  1. เป็นกรอบนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

สช.และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรี 6 กระทรวง (สธ.มท.กษ.พม.ทส.อก.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการ ควรจะใช้หลักการและแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ในการพิจารณาให้ความเห็นต่อแผนงาน โครงการและการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ  รวมทั้งข้อเสนอของบประมาณของหน่วยงานรัฐทุกหน่วย

ร่างกฎหมายของกระทรวงต่างๆที่สำนักงานเลขานุการคณะรัฐมนตรีส่งมาเพื่อขอความเห็น ควรจะถูกกระทรวงทั้ง 6 และ สช.ใช้หลักการและกรอบแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพ  ในการให้ความเห็นและตั้งข้อสังเกตุเพื่อให้ที่ประชุมครม.ใช้ประกอบตัดสินใจ

เป้าหมาย คือ การทำให้ทุกนโยบาย ของทุกกระทรวงทบวงกรม ล้วนมีมิติในด้านที่ห่วงใยต่อสุขภาพด้วยกันทั้งสิ้น(Health in All Policy)

และควรจะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ในระดับโครงสร้างอำนาจรัฐส่วนบน  กล่าวคือ จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและมีมิติห่วงใยสุขภาพไปพร้อมๆกัน

  1. เป็นกรอบวิสัยทัศน์ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์

สช.ควรจะส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานและองค์กรภาคีที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาและดูแลระบบสุขภาพในทุกระดับ ทุกกระทรวง ทุกพื้นที่ ได้ใช้วิสัยทัศน์ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ในด้านต่างๆ  ตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญสุขภาพฉบับนี้ เป็นกรอบในการสร้างสรรค์การดำเนินงาน

เพื่อการนี้ สช.ในฐานะผู้ส่งเสริม ควรจะจัดให้มีหลักสูตรการฝึกอบรมวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านเหล่านี้  ในจำนวนที่มากเพียงพอและกระจายตัวอย่างเหมาะสม  เพื่อช่วยให้คำปรึกษาและจัดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมให้กับพื้นที่และหน่วยงานที่มีความต้องการ

  1. เป็นกรอบอ้างอิงสำหรับการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่

สช.ตระหนักดีว่าธรรมนูญสุขภาพที่ประชาชนและชุมชนจะสามารถใช้ประโยชน์ได้ง่าย และอยู่ใกล้ตัวมากที่สุข คือธรรมนูญสุขภาพระดับหน่วยย่อยของสังคม อันได้แก่ ระดับตำบล โรงเรียน โรงงาน หรือธรรมนูญสุขภาพของเครือข่ายหรือกลุ่มประชากรเฉพาะ เช่นกลุ่มชาติพันธุ์

หน่วยงาน องค์กรหรือภาคีเครือข่าย สามารถใช้ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติเป็นกรอบในการจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบลได้โดยเลือกเอาเฉพาะประเด็นที่สอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ของตน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆในพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อกำหนดเป็นภาพของสังคมที่พึงประสงค์ร่วมกัน

เมื่อมีธรรมนูญสุขภาพตำบลโดยฉันทามติกันขึ้นมาแล้ว  อบต.หลายต่อหลายแห่งได้นำเข้าสู่กระบวนการสภาท้องถิ่น จนในที่สุดก็ได้ออกมาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น แผนพัฒนาท้องถิ่น และกระทั่งการจัดทำผังตำบล เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินของท้องถิ่นก็มี

ด้วยเหตุที่เป็นธรรมนูญระดับหน่วยย่อยที่กินได้แบบนี้  ปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจากสปสช.และสสส.จึงนิยมจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลกันอย่างแพร่หลาย  เท่าที่ทราบมีไม่ต่ำกว่า 400ตำบลแล้วและคาดว่าภายในเวลาไม่เกินสองปีข้างหน้าอาจจะมีมากกว่าพันแห่ง

  1. เป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจของสังคม

ธรรมนูญสุขภาพและระบบสุขภาพที่พึงประสงค์เป็นภาพความฝันและจินตนาการร่วมกันของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นและสังคมที่มีความกระตือรือร้นจำนวนหนึ่งที่มาร่วมกันจัดทำ  ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสเข้าร่วม ดังนั้นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้ในวงกว้างจึงมีความสำคัญ

หลายพื้นที่มีความพยายามจัดทำธรรมนูญสุขภาพในขอบเขตกว้าง เช่น ธรรมนูญสุขภาพอำเภอ หรือ จังหวัด  ซึ่งยิ่งกว้างก็ยิ่งทำให้ความเป็นรูปธรรมลดลงและต้องการความรู้ความเข้าใจร่วม  สช.จึงควรต้องพัฒนาสื่อและการสื่อสารเพื่อให้เกิดการช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อขับเคลื่อนไปสู่จุดหมาย.