“สุขภาวะที่ปลายทางชีวิต”
พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ ประจำวันพุธที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
การเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ นอกจากยังความโศกเศร้าอาดูรที่แผ่ซึมไปทุกอณูของแผ่นดิน พระองค์ท่านได้แสดงแบบฉบับในการอยู่อย่างยิ่งใหญ่-ตายอย่างมีเกียรติ ที่น่าศึกษายิ่งนัก
ความตายเป็นสัจธรรมของชีวิตที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อวาระนั้นมาถึงหากเลือกได้ ทุกคนคงต้องการที่จะตายอย่างสงบ ไม่มีความทุกข์ทรมานและหมดห่วงกังวล
แต่จะมีกี่คนที่สามารถจะเป็นเช่นนั้นได้ การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความตายจึงเป็นเรื่องที่มนุษย์เราต้องศึกษาเรียนรู้ เพราะนอกจากตัวเราเองแล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญอื่นๆมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ระบบบริการสุขภาพ การรักษาพยาบาลในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต และนโยบายและกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อ “การตายที่มีสุขภาวะ”
ในประเทศไทย นับวันระบบการดูแลรักษาแบบประคับประคอง อันเป็นการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายจะมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรในยุคสังคมสูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น
สุขภาวะที่ปลายทางชีวิต หรือสภาวะการตายดี อาจจะเรียกว่า Healthy Dying หรือ Dying Well ในทัศนะส่วนตัว ผมหมายถึงการตายอย่างสงบ เรียบง่าย มีศักดิ์ศรี ไม่ทุกข์ทรมาน และตายอย่างหมดห่วงกังวล เพราะได้มีการสั่งเสียและเตรียมการมาล่วงหน้าเป็นอย่างดี
พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้รับรองสิทธิของประชาชนในเรื่องการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการวางแผนการรักษาล่วงหน้า (Advance care Plan)
กระบวนการวางแผนการรักษาล่วงหน้าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะให้การดูแลแบบประคับประคองอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยตระหนักในเจตนารมณ์ของผู้ป่วยตลอดเวลา
การเสริมสร้าง “สุขภาวะที่ปลายทางชีวิต” จึงมีองค์ประกอบสำคัญ ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การพัฒนาด้านสังคมที่เอื้ออำนวย การสื่อสาร วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาอุปสรรคต่างๆ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการแก้ไขและพัฒนา ได้แก่
1. การพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ
เนื่องจากบุคลากรด้านสุขภาพโดยทั่วไปยังขาดความรู้ความเข้าใจต่อสิทธิด้าน
สุขภาพ ตามกฎหมายใหม่ๆ และยังขาดทักษะในการดูแล รวมทั้งการบริหารจัดการให้เข้าระบบ จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง รวมทั้งควรจัดให้มีระบบความก้าวหน้าทางวิชาชีพรองรับ
2. การปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้เอื้อ
ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ ด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อระบบการ
ดูแลแบบประคับประคอง อาทิ
(1) ระบบการบริหารจัดการยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เพื่อให้ผู้ป่วย
สามารถเข้าถึงยาได้งายขึ้น ลดความทุกข์ทรมานจากความปวดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
(2) ระบบการบริหารจัดการด้านงบประมาณ ระบบการส่งต่อผู้ป่วย และการอำนวยความสะดวกในการยืมเครื่องมือทางการแพทย์บางอย่างไปใช้ในการดูแลแบบประคับประคองที่บ้าน
(3) การเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกหากผู้ป่วยขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน เนื่องจากพบปัญหาว่าการขอกลับไปเสียชีวิตที่บ้านทำให้เจ้าบ้านต้องไปแจ้งการตายและขอออกใบมรณะบัตรเอง ซึ่งบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งไม่เชื่อว่าเป็นการตายตามธรรมชาติ ต้องการให้ชันสูตรพลิกศพก่อน ทำให้เพิ่มภาระแก่ญาติพี่น้องผู้ป่วย
(4) การกำหนดมาตรฐานในการดำเนินงานเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและผู้สูงอายุตามสถานบริการประเภท Hospice และ Nursing home ที่มีแนวโน้มการเปิดให้บริการกันมากขึ้น
3. การจัดการความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติ
การจัดการความรู้และการปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องของความตายว่าเป็นเรื่องของ
ธรรมชาติ เป็นสัจธรรมชีวิต เพื่อนำไปสู่การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ การไม่ประมาทกับชีวิต และการปฏิเสธการรักษาที่เกินจำเป็นเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง
สช. ในฐานะองค์กร ”สานพลังปัญญา สร้างนโยบายสาธารณะ” มีภารกิจส่งเสริมและสนับสนุนดำเนินการในเรื่องนี้ อย่างน้อย 4 แนวทาง ได้แก่
- สร้างพันธมิตรในการขับเคลื่อน การพัฒนาความร่วมมือ หรือการสร้างพันธมิตรกับสถาบันทางสังคมต่างๆ เพื่อร่วม
รณรงค์ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความตาย ซึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ ได้แก่ สถาบันทางศาสนา สถาบันการศึกษา และเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งอื่นๆ - พัฒนาความรู้และเครื่องมือการขับเคลื่อน การพัฒนาเนื้อหาและจัดทำเครื่องมือของการสื่อสารอย่างเป็นระบบโดยสถาบันการศึกษา ทั้งด้านกฎหมาย ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านการแพทย์ และศาสนา ต้องร่วมกันระบุจุดอ่อนและพัฒนาเนื้อหาที่จะอุดช่องว่างของการรับรู้ในแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการรับรู้ของกลุ่มแพทย์ และกลุ่มประชาชนทั่วไป
- พัฒนาองค์ความรู้เชิงระบบ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เชิงระบบ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาจุดเชื่อมต่อที่ชัดเจนและยั่งยืน ระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพ กระบวนการพัฒนาคุณภาพในโรงพยาบาล กับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และการขับเคลื่อนให้เกิดการรับรู้ที่เกี่ยวกับสิทธิการตายตามธรรมชาติ จนนำไปสู่การที่จะพัฒนาเป็นวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร
- ส่งเสริมการอภิบาลระบบแบบเครือข่าย ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในระบบบริการสุขภาพของประเทศ และเรื่องการดูแลแบบประคับประคองยังได้รับความสนใจจากบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้นตามลำดับ
ดังจะเห็นได้จากนโยบายเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมหาวิทยาลัยเริ่มพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง สภาวิชาชีพเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย ภาคประชาชนเริ่มมีการพัฒนาเครือข่ายในเรื่องการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นทิศทางที่นำไปสู่การพัฒนาระบบของการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายทั้งสิ้น
สุดท้าย ผมขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์เชิญชวนท่านผู้สนใจ เข้าร่วมการประชุม “สร้างสุขที่ปลายทาง” ที่สช.จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 1-2 ธันวาคม 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆครับ.