การดำรงชีวิตในป่าที่ต้องจรยุทธ์ไปเรื่อยๆ บ้าน เสบียงอาหารและเครื่องอัตถบริขารของเราล้วนบรรทุกอยู่บนหลัง นอกจากนั้นยังมีอาวุธประจำกายและเครื่องมือทางทหารที่ประดับอยู่ตามร่างกายอีกจำนวนหนึ่ง
พวกเรา ต่างคนต้องพยายามจัดแจงสัมภาระข้าวของที่ติดตัวให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีความคล่องตัวและไม่แบกน้ำหนักบรรทุกจนเกินไป แม้กระนั้นเวลาเกิดเหตุปะทะกันเข้าจริง เครื่องประกอบเหล่านี้ก็มักจะเหลือติดตัวกลับมาแบบไม่ครบองค์
ผ้ายางหลังคา ผ้ายางสำหรับปูและเปลผ้าร่ม เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่พวกเราต้องมี เพราะในฤดูฝนจะไปหาถ้ำหรือหลังคาบ้านที่ไหนหลบฝน ไม่มี ต้องพึ่งหลังคาชั่วคราว แบบขึงปุปได้ปั้บ เพียงแค่เล็งหาต้นไม้ขนาดพอเหมาะสองต้นห่างกันสักวาหนึ่งเป็นใช้ได้ จากนั้นเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกและล้างเท้าให้พอดูได้ ก็นอนห้อยโตงเตงฟังเสียงฝนกระทบหลังคาสบายใจเฉิบ
พูดถึงเสื้อผ้า อย่างเก่งเราก็มีสำรองเพียงหนึ่งชุดที่อยู่ในเป้สนาม เสื้อกางเกงที่เปียกส่วนใหญ่จะแห้งคาตัวเพราะไม่มีเวลาได้ตากแดดตากลม บ่อยครั้งก็ต้องเร่งกันด้วยความร้อนจากกองไฟ เสื้อผ้ารวมทั้งกลิ่นตัวของพวกเราจึงมีส่วนผสมของควันไฟ ด้วยกันทุกผู้ทุกคน สหายบางคนสังเกตุว่า แม้แต่หมามวลชนตามหมู่บ้าน มันยังแยกกลิ่นของสหายได้ตั้งแต่ระยะไกล


รองเท้าของพวกสหาย เรานิยมใช้รองเท้าแตะที่ทำด้วยฟองน้ำ หรือไม่ก็ยางรถยนต์ แบบที่ใช้นิ้วเท้าขนีบไว้เวลาเดิน ที่หูรองเท้าสองข้างจะใช้ยางหนังสะติ๊กผูกคล้องไว้สำหรับรัดส้นเท้าให้กระชับแน่น ไม่หลุดง่ายเมื่อเวลาต้องวิ่ง รองเท้าฟองน้ำก็ดีตรงที่เบาสบาย ส่วนยางรถยนต์ดีตรงที่ทนทานและหนามตำไม่เข้า แต่ทั้งคู่ใช้เป็นเชื้อฟืนสำหรับก่อไฟได้เป็นอย่างดี
ถ้าถามว่ารองเท้า หรือ “เกิบแตะ” ของเหล่าสหายมีอัตลักษณ์ที่ตรงไหน ผมจะบอกว่าให้ดูที่ส้นรองเท้าทั้งสองข้างครับ ทุกๆคนมักใส่รองเท้าแตะที่มีรอยแหว่งที่ส้นเท้า เพราะต้องถูกเฉือนไปใช้ก่อกองไฟอยู่เป็นกิจวัตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าฝน ส่วนจะแหว่งมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหน้าที่ของเจ้าตัว
ในเวลาที่เกิดเหตุปะทะกับข้าศึกทุกครั้ง สิ่งที่สหายมักทิ้งหลักฐานเอาไว้ในที่เกิดเหตุเสมอๆก็คือ เกิบแตะนี่แหละ ต่อให้รัดส้นเท้าไว้แน่นแค่ไหน มันก็หลุดเอาง่ายๆ เพราะมันไม่ใช่รองเท้าผ้าใบหุ้มส้นหรือรองเท้าบู้ทหุ้มข้อแบบทหารเขาใช้กัน


ณ ป่าโคกแห่งหนึ่ง บริเวณรอยต่อของบ้านหัวนาคำกับบ้านโนนถาวร ซึ่งอยู่กลางแอ่งกระทะของอำเภอหนองบัวแดง ช่วงนั้นเป็นปลายฤดูแล้งต่อกับต้นฤดูฝน หญ้าเพ็กที่ถูกไฟไหม้กลายเป็นตอแหลมๆโผล่อยู่เหนือพื้นดินเต็มไปหมด คละไปด้วยหินลูกรังและหินกรวดที่แตกร้าว ตอหญ้าบางส่วนกำลังเริ่มผลิใบแซมอยู่ประปราย
คราวนั้น ผมและหน่วยจรยุทธ์ของเราจำนวนหมู่หนึ่งออกปฏิบัติงาน เกิบแตะของผมเป็นฟองน้ำ ถูกตอหญ้าเพ็กตำทะลุอยู่สองสามรู เวลาหยุดพักต้องคอยสำรวจอยู่เป็นระยะ เท้าที่ถูกตำเริ่มเจ็บระบม
พวกเราเดินแถวกันไปพลาง พักกันไปพลางตามปกติ แต่ทันใดนั้นปรากฏมีกองกำลังของข้าศึกประมาณหนึ่งหมวดกำลังลาดตระเวณมาจากโนนป่าโคกที่อยู่ถัดไปข้างหน้า ระยะห่างประมาณสักหนึ่งเส้นเห็นจะได้ เพราะมองเห็นตัวซึ่งกันและกันอยู่ไม่ไกลนัก การยิงเข้าใส่กันเกิดขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหวโดยไม่รู้ว่าใครลั่นไกก่อน
ดวลปืนกันอยู่อย่างนั้นราวครึ่งชั่วโมง เอ็มสิบหกของผมหมดกระสุนไปแม็กกว่าๆ ยิงกันไปวิ่งหาที่กำบังกันไป สังเกตุเป้าได้จากแสงไฟที่ปากกระบอกปืนและการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม สักพักใหญ่ผู้บัญชาการทางทหารก็สั่งถอย เพราะต่างฝ่ายต่างกินกันไม่ลง พวกเรายังอยู่ครบกันทุกคน ไม่มีบาดเจ็บ แต่เกิบแตะเจ้ากรรมของผมดันหลุดหายไปข้างหนึ่งเสียแล้ว
ตอนที่สู้รบกันอยู่นั้น ไม่รู้สึกเจ็บเท้าเลยทั้งๆที่มันระบบอยู่ก่อนแล้ว เกิดความรำคาญว่าใส่รองเท้าข้างเดียว จึงถอดทิ้งตามไปอีกข้างเพื่อให้เหมือนๆกัน พอเดินไปสักพักใหญ่ ฮอร์โมนแอดรินาลีนคงหมดฤทธิ์ เริ่มเดินกระหยองกระแหยง เพราะเท้าท้ังสองข้างกดลงไปบนตอหญ้าเพ็กและหินที่แหลมคมในทุกย่างก้าว
ในใจคิดสับสนไปตลอดทางว่า ทำไมถึงไปถอดเกิบทิ้งอีกข้างนะ
เจ็บข้างเดียวยังดีกว่าเจ็บหมดทั้งสองแบบนี้
ไม่น่าโง่เลย
“ฝากไว้ก่อนเถอะ เจ้าเกิบแตะ!!”