รวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชน

กระแสนโยบายชุมชนเข้มแข็ง

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าชุมชนท้องถิ่นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นฐานรากของสังคมฐานรากของตึกที่แข็งแรงเท่านั้นจึงจะสามารถรองรับโครงสร้างอาคารที่สูงใหญ่ได้[๑]

การพัฒนาประเทศที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและมุ่งบริหารจัดการกับอำนาจที่โครงสร้างส่วนบนในช่วง๕๐ปีที่ผ่านมา นอกจากละเลยชุมชนท้องถิ่นแล้ว ยังบ่อนเซาะฐานรากเหล่านี้จนลุกลามกลายเป็นวิกฤติการณ์ของสังคมใหญ่ทั้งโครงสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือเกิดวิกฤติทั้งทางสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจและการเมืองอย่างเกี่ยวเนื่องไปพร้อมๆกัน

แต่กว่าที่แนวคิดชุมชนเข้มแข็งจะได้รับการยอมรับจากวงการต่างๆว่าเป็นปัจจัยองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและหันกลับมาให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างในปัจจุบันนั้น  ทฤษฎีการพัฒนาในแนวคิดนี้ก็ต้องผ่านการทำงานพิสูจน์ตนเองมาอย่างยาวนาน ไม่ต่ำกว่าสี่ทศวรรษ

ความเป็นมาและพัฒนาการของแนวคิดชุมชนเข้มแข็ง

แนวคิดชุมชนเข้มแข็ง หรือที่มีผู้เรียกกันในทางวิชาการว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน เป็นทฤษฎีการพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นอันมีจุดกำเนิดมาจากการทำงานของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕๒๐  จนต่อมาหน่วยราชการบางส่วนเริ่มเข้ามาหนุนเสริมและได้รับการยอมรับให้บรรจุเอาไว้อย่างเป็นทางการในแผนพัฒนาประเทศและในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ[๒,๓]

นอกจากนั้นยังเกิดการเคลื่อนไหวอย่างสืบเนื่องกันเรื่อยมาจนกลายเป็นขบวนการชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในประเทศไทยที่เติบโตขึ้นทุกวันและกำลังมีบทบาทมากในยุคปัจจุบัน

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในประเทศไทยมีพัฒนาการแบ่งได้เป็น ๓ ระยะ  ซึ่งในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการได้มีการปะทะและประสานแนวคิดอื่นในกระบวนการดังกล่าว จนทำให้สาระสำคัญของแนวคิดนี้ได้รับการเสริมเติมจนมีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับมากขึ้น

ระยะที่ ๑: แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะเป็นทางเลือกของการพัฒนา (๒๕๒๐-๒๕๒๙)

แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกำเนิดจากองค์พัฒนาเอกชนซึ่งทำงานในชนบทและเฝ้ามองผลกระทบจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ สายแรกคือมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยที่ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นผู้ก่อตั้ง นักวิจัยของมูลนิธิซึ่งฝังตัวอยู่ในชนบทภาคกลางพบว่า ท่ามกลางกระบวนการพัฒนาประเทศในระบบทุนนิยมนั้นยังมีกระแสวัฒนธรรมชาวบ้านเจือปนอยู่ด้วย โดยเสนอว่าการพัฒนาประเทศควรยึดแนววัฒนธรรมชาวบ้านเป็นฐาน

อีกสายหนึ่งคือสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ผู้นำนักพัฒนาขององค์กรได้แนวคิดจากการประชุมสังคายนาวาติกันที่ ๒ (ค.ศ.๑๙๖๒-๑๙๖๕) ซึ่งเสนอว่าศาสนจักรคาทอลิกต้องเข้าใจวัฒนธรรมพื้นเมืองและต้องทำให้ศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาพื้นเมือง มิใช่มุ่งปรับเปลี่ยนพื้นเมืองให้เป็นตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ในด้านทางราชการเองก็เริ่มให้ความสนใจต่องานพัฒนาชนบทมาตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนาประเทศฉบับที่๑ โดยมีการยกฐานะของส่วนพัฒนาการท้องถิ่นจัดตั้งขึ้นเป็นกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อปี๒๕๐๕[๔]

ระยะที่ ๒: แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะทฤษฎีพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๙)

กลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศได้เข้าไปทำการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ของนักพัฒนาและชาวบ้าน ยกระดับขึ้นเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมจนมีความลึกซึ้ง เป็นระบบและได้รับการยอมรับกว้างขวางขึ้น โดยชี้ให้เห็นความสำคัญ ๒ ประการได้แก่

(๑) สถาบันชุมชนและวัฒนธรรมชุมชนมีสถานะสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย ชุมชนเป็นระบบซึ่งเป็นแกนกลางของสังคมไทย วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนกลางของวัฒนธรรมไทย โดยพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแบบชุมชน ไม่ใช่แบบทุนนิยม

(๒) เส้นทางการพัฒนาโดยแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเป็นเส้นทางที่ชอบธรรม ซึ่งให้ประโยชน์เต็มที่แก่ชาวบ้านพื้นเมือง และเป็นเส้นทางของผู้คนส่วนข้างมากสุดในประเทศ อีกทั้งเป็นเส้นทางที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของเขตทรอปปิกและสถานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมทางสังคมไทยที่มีหน่วยพื้นฐานคือครอบครัวและชุมชน

ระยะที่ ๓: แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนในฐานะอุดมการณ์ของสังคม (พ.ศ.๒๕๔๐-ปัจจุบัน )

ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากสังคมและหน่วยงานรัฐ จนมีฐานะกลายเป็นอุดมการณ์ของสังคมไปแล้วโดยปริยาย

มีแนวคิดสำคัญที่เข้ามาหลอมรวมและมีส่วนสำคัญในการขยายแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ: แนวคิดเชิงพุทธ ซึ่งเสนอให้เพิ่มหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้าไปเป็นฐานชุมชนธรรมนิยม  แนวคิดธุรกิจชุมชนที่นำเอาธุรกิจชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจชุมชนและเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจทุนโดยไม่เป็นส่วนของระบบทุนนิยม  แนวคิดมาร์กซิสม์ที่โต้แย้งระบบทุนนิยม แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดชุมชนโดยตรงและเป็นแนวคิดที่สุดโต่งจึงอ่อนกำลังลง และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเสนอแนวทางไว้ ๓ ขั้นตอนได้แก่ ขั้นตอนพออยู่พอกิน-พึ่งตนเองได้ ขั้นตอนรวมพลังเป็นชุมชนในรูปสหกรณ์ และขั้นตอนการร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอก

ในขณะที่แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนกำลังทำให้เกิดการขยายตัวของขบวนการชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วงเวลาเดียวกันได้มีเหตุการณ์บ้านเมืองที่วิกฤตและมีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งกลับกลายเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสที่กระตุ้นขบวนการชุมชนเข้มแข็งให้มีการเติบโตในอัตราเร่ง

นอกจากนั้นในกระแสประชาสังคมโลก ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่เกิดขึ้นที่เรียกกันว่าNew Social Movement ได้เข้ามาหนุนเสริมกระแสประชาชนในประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม กล่าวคือภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้เกิดมีการเคลื่อนไหวเชิงเครือข่ายอย่างหลากหลาย ทั้งการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม โรคเอดส์ ยาเสพติด ความยากจน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศ มิติครอบครัว-เยาวชน และอัตลักษณ์ท้องถิ่นฯลฯ

เนื่องจากปัญหาสังคมเริ่มมีความสลับซับซ้อน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นการเคลื่อนไหวที่สังคมแก้ปัญหากันเองในเรื่องที่รัฐไม่อาจจัดการให้ได้ สังคมจึงต้องหันกลับมาพึ่งพาพลังเครือข่ายเหล่านี้เข้าร่วมแก้ไข

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงดังกล่าว แนวคิดสิทธิชุมชนโดยเสน่ห์ จามริก และแนวคิดการมีส่วนร่วมโดยประเวศ วะสี สองผู้นำทางความคิดของขบวนการชุมชนเข้มแข็งในประเทศไทยและเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ก็ได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.๒๕๔๐อีกด้วย

โดยต่อมาได้มีการจัดตั้งกลไกอิสระระดับชาติ ๒ องค์กรขึ้นรองรับ อันได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สถานการณ์งานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง

ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรภาคีส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาในระดับชุมชนกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการประมวลข้อมูล พบว่าการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็งในด้านต่างๆอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาได้ดังนี้

            ด้านสุขภาพ มีทั้งงานด้านสาธารณสุข ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและควบคุมโรค เช่น การพัฒนาระบบบริการสุขภาพชุมชน, ตำบลจัดการสุขภาพดี วิสาหกิจชุมชนยั่งยืน, ตำบลสุขภาพดีวิถีไทย และการดูแลสุขภาพประชากรกลุ่มเฉพาะ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเยาวชน รวมถึงงานพัฒนาในรูปแบบสุขภาวะองค์รวม เช่น แผนงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ตามแผนงานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก) การพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพผ่านรูปแบบตำบลสุขภาวะ และกองทุนสุขภาพตำบล เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ มีการส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนต่างๆในชุมชน การสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านการจัดทำบัญชีครัวเรือน การส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านชุมชน( SML)กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน สถาบันการเงินชุมชน เป็นต้น

ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน การจัดทำแผนพัฒนาชุมชน ขยายองค์กรปกครองท้องถิ่นต้นแบบ บูรณาการแผนชุมชนสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น การส่งเสริมการเมืองภาคพลเมืองผ่านตำบลเรียนรู้ประชาธิปไตย การขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบล โครงการบ้านมั่นคง และ งานส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติในชุมชน และยังมีด้านอื่นๆ เช่น ห้องเรียนชุมชน หลักสูตรท้องถิ่น ยุติธรรมชุมชนอาสาสมัครชุมชนในด้านต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนั้น จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพบผลสรุปงานชุมชนเข้มแข็งขององค์กรต่างๆไปในทิศทางเดียวกันว่าปัจจัยหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนมีสองส่วน[๕]

      ปัจจัยภายในสำคัญของชุมชนเข็มแข็ง ได้แก่

  • มีทุนมนุษย์ ผู้นำทางการ ผู้นำธรรมชาติ และสมาชิกชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สามัคคีและมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน
  • การตระหนักถึงคุณค่าของทุนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่รวมถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรมท้องถิ่น
  • มีทุนการเงินโดยเฉพาะกองทุนที่เกิดจากการจัดการของชุมชนเอง เช่น สัจจะออมทรัพย์
  • มีกระบวนคิดเรื่องข้อมูล และสามารถบริหารจัดการข้อมูลชุมชนได้เอง
  • สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาชุมชนของตนเอง ทั้งการตัดสินใจ วางแผน กำกับติดตาม ประเมินผล
  • มีกระบวนเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเรียนรู้ภายใน ภายนอกและการประยุกต์ใช้ความรู้

 

ส่วนปัจจัยภายนอกที่สำคัญ คือ

  • มีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนา
  • มีหน่วยงานภายนอกที่ให้สนับสนุนด้านวิชาการ คำแนะนำ หรือทุน

จากสถานการณ์งานส่งเสริมและพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็ง ภายใต้ชื่อและประเด็นที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้น  ปัจจุบันพบว่ามีหน่วยงานและองค์กรภายนอกจำนวนอย่างน้อย๔๖หน่วยงานที่มีบทบาทสนับสนุนชุมชน ในรูปแบบวิธีการที่หลากหลาย ซึ่งสรุปในภาพรวมได้ดังตาราง

ประเภทของหน่วยงาน หน่วยงานนโยบาย(๑๐) หน่วยงานวิชาการ(๑๘) หน่วยดำเนินการ(๑๘)
ด้านสุขภาพ(๑๖) ๑.สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

๒.กระทรวงสาธารณสุข

๑.สำนักงานบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย

๒.กรมควบคุมโรค

๓.กรมอนามัย

๔.กรมสุขภาพจิต

๕.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย

๖.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

๗.สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

๘.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ

๙.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

๑๐.มูลนิธิสุขภาพไทย

๑๑.มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

๑.กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

๒.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

๓.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ด้านเศรษฐกิจ(๙) ๑.กระทรวงมหาดไทย

๒.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

๓.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

๑.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ๑.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์

๒.ธนาคารออมสิน

๓.สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียง ในสำนักนายกรัฐมนตรี

๔.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

๕.สำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม(๑๓) ๑.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

๒.สนง.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

๑.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

๒.สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

๓.สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน มหาวิทยาลัยชีวิต

๔.สำนักงานกองทุนส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

๑.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

๒.เครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองสี่ภาค

๓.กรมการพัฒนาชุมชน

๔.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

๕.สถาบันลูกโลกสีเขียว มูลนิธิพลังงานที่ยั่งยืน

๖.สำนักงานโครงการ๘๔ตำบลวิถีพอเพียง ปตท.

๗.มูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย

ด้านอื่นๆ(๘) ๑.กระทรวงพลังงาน

๒.กระทรวงวัฒนธรรม

๓.กระทรวงยุติธรรม

๑.สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ

๒.สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

๑.ศูนย์คุณธรรม

๒.กทม.

๓.สนง.สภาพัฒนาการเมือง

 

ดูในภาพรวมงานสนับสนุนชุมชนของหน่วยงานระดับชาติที่มีจำนวนมากมายเช่นนี้  เครือข่ายและขบวนชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศก็น่าจะเกิดการขยายตัวไปได้อย่างรวดเร็วมาก  แต่ในความเป็นจริงกลับพบข้อจำกัดของหน่วยงานอย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถร่วมมือกันได้จริงและบ่อยครั้งก็มีปัญหาความซ้ำซ้อน กล่าวคือ หน่วยงานภาคีแต่ละองค์กรต่างมีภารกิจที่ต้องดำเนินงานและมีKPIหรือตัวชี้วัดเฉพาะองค์กรที่จะต้องถูกประเมินผลงานอันแตกต่างกันไป

ดังนั้นแม้ในระยะที่ผ่านมา องค์กรต่างๆจะเห็นความสำคัญและมีความยอมรับในทางหลักการร่วมกันว่า การบูรณาการระหว่างหน่วยงานในการสนับสนุนชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ  แต่ในความเป็นจริงมักไม่สามารถทำได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาลึกลงไปในแนวทางการทำงานของแต่ละองค์กร จะพบสิ่งที่ทุกหน่วยงานภาคีต่างมีตรงกันอย่างหนึ่งคือ กิจกรรมการจัดตั้งองค์กรชุมชนและการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง  จนชุมชนสามารถจัดการปัญหาของตนเองได้ โดยหน่วยงานมักมีการประเมินเชิงคุณภาพและออกแบบเครื่องมือประเมินของหน่วยงานขึ้นมาใช้เอง

ความสำคัญของชุมชนเข้มแข็งและสุขภาวะแบบองค์รวม

ในแวดวงของการปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยที่มีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นแกนกลางของการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี๒๕๔๓  มีแนวคิดสำคัญในการพิจารณาเรื่องระบบ
สุขภาวะชุมชนที่มีความหมายกว้าง โดยครอบคลุมถึงสุขภาวะสังคมและชุมชนเข้มแข็ง-สังคมเข้มแข็งเข้าไปด้วย[๖] ประกอบด้วยแนวคิดหลักที่สำคัญ ได้แก่

  • แนวคิดเรื่องสุขภาวะ

ปัจจุบัน ความหมายของคำว่า “สุขภาพ” ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ขยายกว้างกว่าเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข มีความหมายครอบคลุม สุขภาพทางกาย ทางจิตทางสังคมและทางปัญญาดังนั้นการพิจารณาระบบสุขภาพชุมชนในที่นี่จึงเป็นการมองสุขภาพ ในความหมายของสุขภาวะ (Well being)

  • แนวคิดเรื่องชุมชน

ชุมชนเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางและใช้สื่อความหมายในลักษณะแตกต่างกันตามสาระสำคัญของเรื่องต่างๆแต่สำหรับมุมมองในการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน ชุมชนคือ รากฐานของประเทศ เป็นที่รวมของทรัพยากร ทั้ง ดิน น้ำ ป่า และอาหารเป็นที่อยู่ของคนส่วนใหญ่และเป็นที่รวมของภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ดังนั้น ถ้าชุมชนเข้มแข็งทุกด้านอย่างบูรณาการ ฐานของประเทศก็จะแข็งแรงและรองรับประเทศได้อย่างมั่นคง ฉะนั้น ชุมชนจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ

  • แนวคิดเรื่องระบบสุขภาพชุมชน

ระบบสุขภาพชุมชนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องของชุมชนเข้มแข็งและชุมชนจัดการตนเอง เป็นการพัฒนาอย่างบูรณาการของชุมชน ระบบสุขภาพชุมชนกับเรื่องของชุมชนเข็มแข็งหรือชุมชนจัดการตนเองจึงเป็นเรื่องที่ซ้อนทับเป็นเนื้อเดียวกัน และเป็นจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศที่ทุกฝ่ายควรเข้ามาร่วมมือกัน โครงสร้างของระบบสุขภาพชุมชนประกอบด้วย คุณค่าความเป็นคนและชุมชนเข็มแข็งเป็นแกน ท้องถิ่นและภาคส่วนต่างๆเป็นภาคสนับสนุน

ในมุมมองของนักคิดอาวุโสในฝ่ายสังคม ได้แก่ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เห็นว่า ขบวนการชุมชนจะต้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่น เป็นการปฏิรูปตนเองสู่การเป็นชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างมีคุณภาพและรอบด้าน

  • แนวคิดตามกฎหมายแม่บทต่างๆ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐มาตรา ๖๖,๖๗,๘๐(๒),๘๗(๑) ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่๑๑ล้วนให้ความสำคัญกับชุมชน ทั้งในมุมมองของสิทธิชุมชน การร่วมกำหนดนโยบายพัฒนาท้องถิ่น การมีชุมชนเข้มแข็งด้านสุขภาพ และตำบลจัดการสุขภาพเข้มแข็ง ซึ่งนโยบายรัฐบาลก็ได้ให้ความสำคัญกับชุมชนเช่นกันดังปรากฏในนโยบายเรื่องการพัฒนาสุขภาพของประชาชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กำหนดตัวชี้วัดเป็นตำบลที่มีการจัดการสุขภาพดี วิสาหกิจชุมชนยั่งยืน เป็นต้น[๗,๘]

จากแนวคิดสำคัญข้างต้น สะท้อนหลักการทำงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ว่าต้องสนับสนุนให้ “ชุมชน”เป็นเจ้าของการพัฒนาอย่างแท้จริง หรือที่เรียกกันว่า“ชุมชนเป็นศูนย์กลาง”นั่นเอง ชุมชนจึงจะเข็มแข็งหรือเป็นชุมชนที่จัดการตนเองได้ โดยมีองค์กรและหน่วยงานภายนอกทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเท่านั้น

พลวัตรชุมชนในรูปแบบที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ยังปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง คือรูปแบบของชุมชนที่ไม่หยุดนิ่งตายตัว แต่มีพลวัตรแปรเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ตามการเคลื่อนตัวของสังคม ในขณะที่หน่วยงานภาคีต่างยังคงยึดติดอยู่กับการทำงานกับชุมชนในลักษณะเดิม ทำให้ขาดองค์กรและองค์ความรู้ที่จะดูแลภารกิจสนับสนุนชุมชนรูปแบบใหม่ๆ

ก.ชุมชนท้องถิ่นพื้นฐาน   ได้แก่

๑)ชุมชนชนบท ชุมชนท้องถิ่น หมู่บ้าน ตำบล  เหล่านี้คือชุมชนรูปแบบดั้งเดิมที่เห็นทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบททุกภาคของประเทศ

๒)ชุมชนเมืองแบบดั้งเดิม  หมายถึง ชุมชนแออัด สลัม และชุมชนจัดตั้งตามระบบการปกครองของเทศบาล อันเป็นลักษณะทั่วไปของชุมชนในเมืองที่กำลังมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ข.ชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่   ได้แก่

๓)ชุมชนบ้านจัดสรร  ชุมชนชานเมือง ชุมชนดอนโดมีเนียม ชุมชนชาวแฟล็ตและชุมชนอพาร์ทเม้นท์  หมายถึงชุมชนเมืองแบบใหม่ที่ปรับตัวไปตามกายภาพของแหล่งที่อยู่อาศัยในชีวิตชาวเมือง และมีลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกและวิถีวัฒนธรรมชุมชนที่แตกต่างไปจากชุมชนดั้งเดิมมาก

๔)ชุมชนโรงงาน  เป็นชุมชนอีกรูปแบบหนึ่งที่คนมาอยู่ร่วมกัน ทำงานและใช้ชีวิตร่วมกันในกายภาพของโรงงาน  ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนแบบนี้แตกต่างไปจากชุมชนดั้งเดิมทั้งทางการผลิตและทางสังคม มีนายจ้างลูกจ้าง ไม่มีฐานทรัพยากรธรรมชาติให้พึ่งพิงแบบชนบทจึงต้องอาศัยระบบสวัสดิการเป็นระบบตาข่ายนิรภัยทางสังคมเพื่อรองรับ  ซึ่งสิ่งนี้หน่วยงานภาคีสนับสนุนชุมชนที่มีอยู่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ความสำคัญในฐานะที่เป็นชุมชนหนึ่งๆมากนัก ในขณะที่ประชากรแรงงานเหล่านี้นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้งอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

๕)ชุมชนสำนักงานหรือออฟฟิศ  หมายถึงชุมชนอีกรูปแบบหนึ่งที่คล้ายกับชุมชนโรงงาน แต่เป็นลักษณะของแรงงานสมองหรืองานบริการ  รวมทั้งออฟฟิศของหน่วยงานเอกชนหรือราชการต่างๆก็อยู่ในเกณฑ์เช่นนี้

ค.ชุมชนเชิงความสัมพันธ์อื่นๆ   ได้แก่

๖)ชุมชนเสมือนจริง ชุมชนไซเบอร์ ชุมชนทางคลื่น นี่ก็เป็นชุมชนที่มีสายสัมพันธ์ติดต่อกันอีกรูปแบบหนึ่ง(community of connectivity) ซึ่งซ้อนทับไปกับชุมชนรูปแบบอื่นๆ  ชุมชนแบบนี้มีระบบคุณค่า วิถีวัฒนธรรม มีระบบการควบคุมกันเองเช่นกัน

๗)ชุมชนรูปแบบเฉพาะอื่นๆ อาทิ ชุมชนชายแดน ชุมชนชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ชุมชนชายขอบ ฯลฯ

ทั้งนี้ ชุมชนในรูปแบบที่หน่วยงานภาคีต่างๆกำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้คือ๑)และ ๒)เท่านั้น  ส่วนที่เหลือยังขาดการพัฒนาแนวคิดแนวทางและวิธีการดำเนินงาน

ดังนั้นเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่มีพลวัตรทางสังคมสูง จึงควรที่จะมีการบุกเบิกงานชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะสำหรับรองรับชุมชนรูปแบบอื่นๆกันอย่างจริงจังควบคู่ไปด้วย

โอกาสและวิกฤติของงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง

จากการวิเคราะห์SWOTงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งในเบื้องต้น สามารถประมวลจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและภาวะคุกคามได้ดังนี้

  • จุดแข็ง(Strength)

จุดแข็งของงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งในประเทศไทยในเวลานี้  สืบเนื่องมาจากการที่ประเด็นนี้ได้กลายเป็นกระแสอุดมการณ์ทางสังคมที่ทุกหน่วยงานของรัฐต่างให้การยอมรับ เช่นเดียวกับองค์กรภาคธุรกิจและสังคมทั่วไป

การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายต่างๆได้บรรจุถ้อยคำที่สะท้อนความสำคัญเอาไว้  ทำให้หน่วยงานราชการต่างๆล้วนมีแผนงานโครงการและงบประมาณสนับสนุนชุมชนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แผนพัฒนาประเทศฉบับที่๘เป็นต้นมา

นอกจากนั้น ยังมีองค์กรภาคีระดับชาติที่มีศักยภาพในการสนับสนุนชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและมีผลงานเชิงประจักษ์ ทั้งในทางนโยบาย องค์ความรู้และทรัพยากร อย่างน้อย๔๖องค์กรดังได้กล่าวข้างต้น ซึ่งทุกองค์กรภาคี ต่างมีเครือข่ายองค์กรชุมชนที่หลากหลายเป็นจำนวนมาก นับแสนองค์กร อยู่ในสายสัมพันธ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม  รวมทั้งการที่ทุกองค์กรภาคีต่างยอมรับแนวคิดการบูรณาการและเสริมพลังการทำงานซึ่งกันและกันก็นับเป็นจุดแข็งอีกเช่นกัน

  • ข้อจำกัด(Weakness)

แต่อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่องค์กรภาคีต่างๆเหล่านี้ล้วนมีข้อจำกัดในเชิงโครงสร้าง ระบบและวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะภาคีที่เป็นหน่วยงานราชการ กล่าวคือด้านหนึ่งแต่ละองค์กรมีพันธกิจและตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน(KPI)ของตนที่ต้องถูกประเมินโดยหน่วยเหนือ จึงทำให้ทุกองค์กรจะต้องสาระวนอยู่กับการทำงานตามตัวชี้วัดเฉพาะเหล่านี้ จนไม่สามารถเปิดรับการทำงานร่วมกับหน่วยข้างเคียงอื่นได้เท่าที่ควรจะเป็น งานบูรณาการจึงกลายเป็นเพียงวาทกรรมที่สวยหรูเอาไว้สำหรับเขียนลงไปในรายงานเท่านั้น

ส่วนอีกด้านหนึ่ง ผู้บริหารองค์กรภาครัฐในยุคปัจจุบันมักอยู่ภายใต้อิทธิพลและจำต้องสนองต่อนักการเมืองจนหมดความเป็นอิสระในการทำงาน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมีอิสระทางวิชาชีพหรือแสดงความเป็นมืออาชีพได้เท่าที่ควร ทั้งในด้านงานนโยบาย งานวิชาการ งานบริหารหรืองานปฏิบัติการ

๓) โอกาส(Opportunity)

ในยุคนี้อาจนับได้ว่ากระแสอุดมการณ์สังคมและนโยบายหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็งในด้านต่างๆเป็นโอกาสที่เอื้อที่สุดแล้ว ต่อการขับเคลื่อนงานชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะ และโอกาสเช่นนี้ใช่ว่าจะคงอยู่อย่างถาวร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังผันผวนเช่นนี้ ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่าบรรยากาศที่เอื้อต่อภารกิจสนับสนุนชุมชนเช่นนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังมีความขัดแย้งแตกแยกอย่างยืดเยื้อเรื้อรังจากการแย่งชิงอำนาจในโครงสร้างส่วนบนของนักการเมืองในระบบตัวแทนในรัฐสภา จนดูเหมือนจะไร้ทางออกเข้าทุกที่ ได้กลายเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้สังคมหันมาเรียกหาการปฏิรูป และขณะเดียวกันก็เรียกร้องต้องการชุมชนเข้มแข็งให้เข้ามาอยู่ในสมการการแก้ปัญหาประเทศมากยิ่งขึ้นทุกขณะ

๔) ภัยคุกคาม(Threat)

นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐและรัฐบาลที่ไม่ละเอียดอ่อนต่อผลกระทบและกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นอันนำมาซึ่งความขัดแย้ง

โครงการสัมปทานและการลงทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น

และนโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์ที่พรรคการเมืองทุกขั้วต่างแข่งกันเสนอขายกับชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นเพื่อแลกคะแนนเสียง จนเสี่ยงต่อสภาวะการเสพติดทางนโยบายและทำให้ชุมชนอ่อนแอในระยะยาว นับเป็นภาวะคุกคามที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการทำงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งในยุคนี้

กระแสการเปิดประเทศสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็นับเป็นความเสี่ยง ที่มาพร้อมโอกาสที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและชุมชนท้องถิ่นไทย ซึ่งกล่าวกันว่าในภาพรวมยังขาดการเตรียมความพร้อมในเชิงคุณภาพเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

รวมทั้งพฤติการณ์การแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ ทางด้านการค้า เศรษฐกิจ การทำมาหากินและการกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกรที่ไม่รู้เท่าทัน รวมทั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)และการเปิดประเทศอย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งท้ายที่สุดชุมชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่มีความเข้มแข็งพออาจจะตกเป็นเหยื่อ ถูกกระทำ จนเกิดความอ่อนแอที่เป็นผลตามมา ทั้งในระดับปัจเจก กลุ่ม ชุมชนและท้องถิ่น

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาวิกฤติสังคมอื่นๆที่สะสมตัวมาก่อนหน้าอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ความรุนแรง ยาเสพติดและการทุจริตคอร์รัปชัน ก็ยังคงเป็นปัจจัยคุกคามและบั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นที่รุนแรงมากอีกทางหนึ่งเช่นกัน

คำจำกัดความชุมชนเข้มแข็งในมิติกว้าง

คำว่าชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนสุขภาวะ ชุมชนจัดการตนเองและชุมชนเป็นสุข มักถูกนำมาใช้ในทิศทางเดียวกันหรือสลับเปลี่ยนแทนที่กันไปมา สุดแต่ว่าผู้ใช้จะมีความสนใจพิเศษหรือหน่วยงานภาคีจะมีภารกิจเฉพาะไปในทางใด

 

ดังนั้น เพื่อนำไปสู่การสร้างเป้าหมายใหญ่ร่วมกันในระยะต่อไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายคำจำกัดความบางอย่างให้ครอบคลุมลักษณะร่วมและลักษณะเฉพาะที่หน่วยงานภาคีใช้อยู่  เพื่อให้ทุกภาคีมีที่ยืน มีบทบาทและรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

แม้กระทั่งชื่อที่เรียกขานในแผนยุทธศาสตร์ร่วม ก็ควรใช้คำว่าชุมชนเข้มแข็ง แทนที่จะใช้ว่าชุมชนสุขภาวะหรือระบบสุขภาวะชุมชน  เพราะไม่ควรให้มีใครหรือหน่วยงานภาคีใด รู้สึกเป็นเจ้าของมากหรือน้อยไปกว่ากัน

ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนสุขภาวะ ชุมชนจัดการตนเอง ชุมชนเป็นสุข

    ….หมายความว่า ชุมชนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ ปรับตัวและสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม สุขภาพและคุณธรรมจริยธรรม  จนบรรลุซึ่งความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้และมีความสุข สันติภาพหรือสุขภาวะในด้านต่างๆ

 

งานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง (หรือระบบสุขภาวะชุมชน) 

    ….หมายความว่า ภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นทั้งในชนบทและในเมือง และชุมชนในรูปแบบอื่นๆตามพลวัตรของสังคม  สามารถรวมตัวกัน ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และมีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ในทุกด้าน  จนบรรลุซึ่งคุณภาพความเข้มแข็งและความมีสุขภาวะที่ดี

องค์กรชุมชน

……หมายความว่า รูปแบบการจัดตั้งและจัดการตนเองอย่างมีโครงสร้างและเป็นระบบของชุมชน ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายไปตามวัตถุประสงค์ ความสนใจและการปฏิสัมพันธ์ตอบสนองกับองค์กรภายนอก ทั้งในด้านชนิด ประเภท ขนาดและคุณสมบัติขององค์กร

 

ข้อมูลองค์กรชุมชนจาก๑๒ฐานข้อมูลตั้งต้น

องค์กรชุมชน นับเป็นผลลัพธ์ผลผลิตที่เป็นรูปธรรมของงานสนับสนุนชุมชุนเข้มแข็ง ที่หน่วยงานภาคีต่างมีร่วมกัน  กล่าวคือ หน่วยงานภาคีต่างๆล้วนมีแนวทางการดำเนินงานที่เหมือนๆกันในเรื่องนี้ โดยมักจะ เริ่มจากการไปส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำกันเป็นกลุ่ม  มีการจัดตั้งและจัดการอย่างเป็นระบบ  มีการพัฒนาศักยภาพในการเรียนรู้และจัดการตนเองได้เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ ส่วนหน่วยงานสนับสนุนเองก็มักมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชนในเครือข่ายของตนและมีการประเมินความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพด้วยเครื่องมือที่แตกต่างกันไป

จากการสำรวจและศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานภาคีที่สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง กว่า๒๐องค์กร พบว่ามีบางหน่วยงานเท่านั้นที่มีระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชนขนาดใหญ่ในเครือข่ายของตนซึ่งมีความครอบคลุมและกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเป็นข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรชุมชนที่หน่วยงานภาคีอื่นๆก็สามารถใช้เป็นเครื่องสะท้อนความเข้มแข็งของชุมชนฐานรากในภาพรวมของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในขั้นตอนตั้งต้นสำหรับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วม มีฐานข้อมูลอย่างน้อย๑๒ฐานที่ควรเป็นจุดเริ่มสำหรับการพัฒนาให้เป็นเครือข่ายระบบฐานข้อมูลกลางสำหรับที่ทุกหน่วยงานภาคีจะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ในลักษณะmulti-centric database  ได้แก่

1.กองทุนสวัสดิการชุมชน(พอช./พม.)2.สภาองค์กรชุมชน(พอช.)  3.วิสาหกิจชุมชน (กษ.) 4.สหกรณ์เครดิตยูเนียน(กษ.) 5.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง(สทบ.)  6.สถาบันการเงินชุมชน      (ธกส./ออมสิน) 7.ชุมชนต้นแบบ(ธกส) 8.กองทุนชุมชนรอบโรงไฟฟ้า(สกพ) 9.ชุมชนป้องกันยาเสพติด(ปปส) 10.วิทยุชุมชนมาตรฐาน(กสทช) 11. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต(พช./มท.) 12.กลุ่มOTOP (พช./มท.) 13.ป่าชุมชน (ทส.) 14.ตำบลพอเพียง(ปตท) 15.ป่าชุมชนลูกโลกสีเขียว(ปตท) 16.กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล(สป.สช.) 17.ตำบลจัดการสุขภาพ(สธ) 18.ตำบลสุขภาวะ(สสส.) 19.ระบบสุขภาพตำบล(สพช.) 20.ทำเนียบนามผู้นำชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรคนเก่ง(รวม)

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล(และเมือง)  เป็นองค์กรจัดตั้งของชุมชนในด้านสวัสดิการ   ชุดตัวชี้วัดความที่เข้มแข็งประกอบด้วย  ดำเนินการมานานเกิน ๑ปีมีสมาชิกและผู้รับประโยชน์หลากหลายครอบคลุมกลุ่มคน รวมถึงเยาวชน คนชรา คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ในหมู่บ้าน/ชุมชนร้อยละ ๕๐ของพื้นที่  ได้รับการสนับสนุนจากอปท.  มีระบบการบริหารกองทุนที่ดี  มีการจัดสวัสดิการชุมชนพื้นฐานไม่น้อยกว่า ๓เรื่อง เช่น เกิด เจ็บ แก่ การศึกษา อาชีพขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้ คือ ระดับตำบล/เทศบาล  ปัจจุบันมีจำนวน ๘,๖๙๖กองทุน   มีคุณภาพระดับแข็งแรงมาก๑๓.๗%   แข็งแรง๓๔.๘% และเข้ามาตรฐาน๕๑.๕%

สหกรณ์เครดิตยูเนียน  เป็นองค์กรจัดตั้งเพื่อการช่วยเหลือกันเองด้านสวัสดิการชุมชนตามอุดมการณ์เครดิตยูเนียน   ชุดตัวชี้วัดความเข้มแข็งประกอบด้วย……..ขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้ คือ หน่วยสหกรณ์(นิติบุคคล)   ปัจจุบันมีจำนวน๑,๓๒๑แห่ง สมาชิก ๑.๒๓๘ล้านคน ทุนเรือนหุ้น๒๐,๘๗๒ล้านบาท สินทรัพย์รวม ๖๐,๔๙๐ล้านบาท  เงินรับฝาก๓๐,๙๕๑ล้านบาท  ลูกหนี้เงินกู้๕๓,๓๐๙ล้านบาท  แต่ยังไม่มีข้อมูลการประเมินเชิงคุณภาพ

กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ….เป็นองค์กรจัดตั้งเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นระดับตำบลภายใต้ความร่วมมือของสปสช.และอปท.    ชุดตัวชี้วัดความเข้มแข็งประกอบด้วย มีการบริหารจัดการที่ดี  มีส่วนร่วมที่ดี มีการสร้างนวัตกรรม  มีผลการดำเนินงานใน๔หมวดกิจกรรมและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้คือระดับตำบลทั้งตำบลหรือเทศบาลทั้งเทศบาลปัจจุบันมีจำนวน ๗,๗๕๙กองทุน  มีคุณภาพในระดับ A+  มีศักยภาพสูงและเป็นศูนย์เรียนรู้ ๒๔.๑%   ระดับ A  มีศักยภาพดี ๕๔.๓%   ระดับ B มีศักยภาพปานกลาง ๑๙.๓%   และระดับ C ยังขาดความพร้อมต้องเร่งพัฒนา  ๒.๒%

กองทุนหมู่บ้าน/กองทุนชุมชนเมือง  เป็นองค์กรการเงินของชุมชนชนบทและชุมชนเมือง ภายใต้การสนับสนุนของรัฐ ชุดตัวชี้วัดความเข้มแข็งประกอบด้วยมีการบริหารจัดการที่ดี(๑๐)  มีการเสริมสร้างความเข้มแข็ง(๔) และมีผลการดำเนินงานที่ดี(๖)   ขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้คือระดับหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองทั้งชุมชนปัจจุบันมีจำนวน  ๗๙,๒๒๕ กองทุน   มีคุณภาพในระดับดีมาก๓๖.๕%   ระดับดี๔๐.๓ %   ระดับปานกลาง๑๕.๒%  และระดับต้องปรับปรุง๗.๘ %

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  เป็นองค์กรจัดตั้งของชุมชนชนบทเพื่อสนับสนุนการทำมาหากิน ชุดตัวชี้วัดความเข้มแข็งประกอบด้วย มีโครงสร้างและกระบวนการทำงานดี(๑๕)  มีการบริหารเงินทุนและทรัพยากรดี(๗)และมีการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรดี(๑๐)  ขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้  คือระดับกลุ่มหรือองค์กร  ปัจจุบันมีจำนวน ๑๑,๑๐๐กลุ่ม  มีคุณภาพในระดับดี ๕๖.๒%   พอใช้ ๒๙.๔%  และต้องปรับปรุง ๑๔.๓%

กลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอท็อป  เป็นองค์กรจัดตั้งของชุมชนชนบทที่มีสินค้า ผลิตภัณฑ์และการให้บริการชุดตัวชี้วัดความเข้มแข็งประกอบด้วย  มีปัจจัยที่ใช้ในการผลิต-บริการที่ดี(๒) การผลิตดี(๒) การตลาดดี(๑) ระบบบัญชี/การเงินที่ดี(๓)และอื่นๆ(๒)ขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้คือระดับกลุ่มหรือองค์กร  ปัจจุบันมีจำนวนแบ่งเป็น กลุ่มอาชีพ๑๙,๗๗๓ กลุ่ม  สหกรณ์๓๒๙แห่ง   SME๓,๘๓๙องค์กร  SSE๒,๑๗๑องค์กร  แต่ยังไม่มีข้อมูลการประเมินเชิงคุณภาพ

วิสาหกิจชุมชน  เป็นองค์กรจัดตั้งเพื่อทำธุรกิจของชุมชนชนบท   ชุดตัวชี้วัดความเข้มแข็งประกอบด้วยมีผู้นำและการบริหารวิสาหกิจที่ดี(๑๕)  มีการวางแผนดำเนินงานที่ดี(๔)  มีการบริหารการตลาดที่ดี(๓)  มีการจัดการความรู้และข้อมูลที่ดี(๓)  มีการบริหารสมาชิกที่ดี(๔)มีการจัดการสินค้าและบริการที่ดี(๓)และมีผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดี(๑๒)ขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้คือระดับกลุ่มหรือองค์กร ปัจจุบันมีจำนวน   ๗๒,๔๐๔ แห่งแต่ยังไม่มีผลประเมินเชิงคุณภาพ

ป่าชุมชน  เป็นองค์กรจัดตั้งของชุมชนที่ดูแลรักษาฐานทรัพยากรป่า(รวมถึงน้ำและที่ดินที่เกี่ยวข้อง)เพื่อเป็นสมบัติสาธารณะและเป็นสวัสดิการของชุมชนไปด้วยกันชุดตัวชี้วัดความเข้มแข็งประกอบด้วยมีความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้(๗)  มีการใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจชุมชน(๓)  มีการจัดการที่ดี(๗) และมีการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มแข็ง(๕)  ขนาดขององค์กรชุมชนที่ใช้ คือโครงการหรือขนาดของพื้นที่ป่าชุมชนตามภูมินิเวศน์ จำนวนเป็นไร่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเขตการปกครอง  ปัจจุบันมีจำนวน  ๘,๑๘๖ แห่ง ใน๖๘ จังหวัด  มีเนื้อที่รวม๓.๔๙ล้านไร่(ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี๒๕๔๓-๓๐มิ.ย.๒๕๕๖)   ยังไม่มีข้อมูลประเมินระดับคุณภาพ

 

 

 

ตาราง แสดงข้อมูลองค์กรชุมชนจากระบบฐานข้อมูลหลักบางส่วน

สถาบัน ประเภทองค์กรชุมชน(อชช.) ปริมาณ ประเมินคุณภาพ ระดับ ๑ (%) ระดับ ๒(%) ระดับ ๓(%) ระดับ ๔(%)
กรมพช.

 

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ๑๑,๑๐๐

 

๑๑,๑๐๐ ๕๖.๒%

 

๒๙.๔%

 

๑๔.๓%

 

กรม พช. กลุ่มผู้ผลิตสินค้า

โอท็อป

 

•     กลุ่มอาชีพ๑๙,๗๗๓

•     สหกรณ์๓๒๙

•     SME๓,๘๓๙

•     SSE๒,๑๗๑

กรมส่งเสริม กษ. วสก.ชุมชน

 

๗๒,๔๐๔

 

สทบ. กทบ./กชม. ๗๙,๒๒๕ ๗๙,๒๒๕  ๔๐.๓%

 

๑๕.๒   % ๗.๘ %

 

 

 

สำนักงาน

สป.สช.

กองทุน สช.ตำบล ๗,๗๕๙ ๗,๗๕๙ ระดับ A+  ๒๔.๑% ระดับ A  ๕๔.๓% ระดับ B  ๑๙.๓% ระดับ C  ๒.๒%
สถาบัน พอช.

 

กองทุนสวก.ชุมชน ๘,๖๙๖ ๘,๖๙๖

 

๑๓.๗% ๓๔.๘%

 

๕๑.๕%

 

 

 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ สหกรณ์เครดิตยูเนียน ๑,๓๒๑แห่ง สมาชิก ๑.๒๓๘ล้านคน ทุนเรือนหุ้น๒๐,๘๗๒ล้านบาท สินทรัพย์รวม ๖๐,๔๙๐ล้านบาท  เงินรับฝาก๓๐,๙๕๑ล้านบาท
กรมป่าไม้ ป่าชุมชน ๘,๑๘๖แห่ง ๓.๔๙ล้านไร่
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน
ธกส. สถาบันการเงินชุมชน
สสส. ตำบลสุขภาวะ ๒,๑๐๔อปท. ๒,๑๐๔ แม่ข่าย๖๒ แห่ง
ฐานข้อมูลกลาง(รอการพัฒนา) ทำเนียบนามผู้นำชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านและเกษตรกรคนเก่ง
  รวม ๒๑๔,๘๐๓ ๑๐๖.๗๘๐ ๑๓.๗-๕๖.๒      

 

รวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง

จากการทบทวนแนวคิด สถานการณ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า การพัฒนาระบบสุขภาวะชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็ง “เป็นการสร้างฐานเจดีย์ของการพัฒนาให้มั่นคง” (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ซึ่งแม้จะมีหน่วยงานดำเนินการอยู่แล้วจำนวนมากและหลากหลายประเด็น แต่หากพิจารณาจากแนวคิดของ รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ ที่กล่าวว่า “การพัฒนาเครือข่ายชุมชนเข็มแข็งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จะเกิดจากยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนที่มีกระบวนทัศน์เดียวกัน มีเป้าหมายและฐานคิดเดียวกัน คือฐานแห่งธรรม ฐานของท้องถิ่นและฐานทางปัญญา แม้จะแตกต่างกันในรายละเอียดวิธีการ แต่หากเป็นวิธีการที่สมาชิกเครือข่ายยอมรับได้ การพัฒนาเครือข่ายชุมชนเข็มแข็งก็สำเร็จได้”

ยุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะอันเป็นเครื่องมือการบูรณาการและรวมพลังการสนับสนุนขององค์กรภาคีให้เป็นเสมือนแสงเลเซอร์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทั้งหมดเข้ามาหากัน ดังกรอบแนวคิดรวบยอดในแผนภูมิข้างล่าง

 

 

 

 

จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ๒๐ท่านและทบทวนวรรณกรรมว่าด้วยแผนและยุทธศาสตร์การสนับสนุนชุมชนของหน่วยงานภาคี๒๐องค์กร สามารถสรุปได้ว่า เครื่องมือที่จำเป็นในการรวมแสงเลเซอร์ในการสนับสนุนชุมชนนั้นการมีเพียงแค่แผนยุทธศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ  ที่ต้องการคือการมีเครื่องมือหลายชิ้นประกอบเข้าด้วยกันเป็นชุด

ยุทธศาสตร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็งในเอกสารรายงานฉบับนี้ ก็คือชุดเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการรวมแสงเลเซอร์ไปสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศนั่นเอง

ประกอบด้วย

๑)  เป้าหมายร่วม(Purpose)

๒) หลักการทำงานร่วม(Principle)

๓) ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน (Ownership / Participation)

๔) แผนขับเคลื่อนภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน (Plan)

๕) คลังข้อมูลและองค์ความรู้ที่จำเป็นร่วมกัน(Multi-centric Database)

๖) คลังเครื่องมือและเทคโนโลยีร่วมกัน (Tools / Technology)

๗) กลไกการจัดการบางอย่างร่วมกัน (Organization)

กรอบประเด็นในการจัดทำยุทธศาสตร์ร่วม

            กรอบประเด็นสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ร่วมและกระบวนการขับเคลื่อนงานสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง ควรประกอบด้วย ๙ ประเด็นได้แก่

๑) ใครคือหน่วยงานภาคีสนับสนุน ใครคือผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

๒) กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์และความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

๓) อะไรคือวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วม

๔) มีหลักการทำงานที่จะยึดถือร่วมกันอะไรบ้าง

๕) แผนงาน โครงการที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน

๖) กลไกการทำงานร่วมกันในระดับต่างๆ

๗) ระบบฐานข้อมูล องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะใช้แลกเปลี่ยนสนับสนุนแก่กันและกัน

๘) การบรรลุเป้าหมายองค์กรชุมชนเข้มแข็งเป็นขั้นต้น

๙) การมุ่งสู่จุดหมายการมีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและเข้มแข็งในบั้นปลาย

 

ดังแผนภูมิ

 

เป้าหมายร่วมในการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง

ในความแตกต่างหลากหลายของภารกิจและวัฒนธรรมองค์กรของหน่วยงานภาคีที่ทำงานสนับสนุนชุมชน  เมื่อศึกษาเจาะลึกลงไปในรายละเอียด พบว่ายังคงมีบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ในวิสัยที่จะสามารถสร้างความเป็นเอกภาพในการทำงานร่วมกันได้ โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่ในระยะยาว  ได้แก่

  • วิสัยทัศน์ในเชิงนามธรรม เช่น การที่ทั่วประเทศมีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้ และบรรลุซึ่งความมีสุขภาวะ เป็นส่วนใหญ่  โดยสามารถวัดและประเมินได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์
  • การมีเป้าหมายรูปธรรมในเชิงคุณภาพร่วมกันภายใต้ระยะเวลาที่แน่นอน เช่น ต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานเชิงคุณภาพเพื่อให้มีองค์กรชุมชน(อชช.)ที่เข้มแข็งทั่วประเทศ ในหลากหลายรูปแบบ ในทุกเครือข่ายของหน่วยงานภาคี อย่างน้อยสองในสาม ภายในระยะเวลา๑๐ปี

นอกจากการมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกันแล้ว ยังมีจุดร่วมอีกหลายอย่างที่สามารถกำหนดขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันได้  อย่างเช่น

  • หลักการสำคัญที่จะยึดถือร่วมกันในการลงไปทำงานส่งเสริมสนับสนุนชุมชนและเอื้อให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงและเสริมพลังซึ่งกันและกันได้มากขึ้น
  • การกำหนดประเด็น พื้นที่หรือแผนขับเคลื่อนกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์บางอย่างเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหน่วยงานภาคีต่างมีธรรมชาติและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่าง จึงมีบางสิ่งบางอย่างที่ควรต้องปล่อยให้มีความหลากหลาย ไม่ควรกดดันหรือกำหนดกฎเกณฑ์ให้หน่วยงานภาคีต้องทำอะไรที่เหมือนกันไปทุกสิ่ง  อาทิ

  • วิธีการทำงานตามสไตล์ที่ภาคีถนัด
  • เครื่องมือ กระบวนการและการจัดการที่จะเลือกใช้ตามวิถีวัฒนธรรมองค์กร
  • ระบบฐานข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของหน่วยงาน
  • ระบบงบประมาณและการสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขข้อจำกัดของแต่ละองค์กร
  • แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของแต่ละองค์กร
  • คลังเครื่องมือ ข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นสมบัติเฉพาะขององค์กร

หลักการร่วมในการสนับสนุนชุมชน

ปัจจุบันพบว่ามีหลักการบางอย่างที่เกือบทุกหน่วยงานภาคีต่างมีความเข้าใจและใช้เป็นหลักยึดในการทำงานสนับสนุนชุมชนตามภารกิจขององค์กรอยู่แล้ว  จึงอยู่ในวิสัยที่จะประมวลขึ้นไว้ให้เป็นหลักการร่วมที่เป็นกิจลักษณะและใช้สื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน

ประกอบด้วย๗ หลักการ ได้แก่

  • หลักการการใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นตัวตั้ง เป็นศูนย์กลาง ระบบสุขภาวะชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็งต้องพัฒนาโดยชุมชนเป็นเจ้าของ อันนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถจัดการตนเอง รวมทั้งมีภูมิต้านทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกชุมชนได้ หน่วยงานภายนอกเป็นเพียงหน่วยสนับสนุน ไม่เป็นหน่วยสั่งการหรือกำหนดแนวทาง ประเด็นการพัฒนาของชุมชนอย่างตายตัวแบบบนลงล่าง
  • หลักการการกำหนดเป้าหมายผลลัพธ์ในการสนับสนุนชุมชน ควรคำนึงถึงสิ่งที่ชุมชนจะได้รับหรือจะสูญเสียไปพร้อมกัน ทั้งในมิติการแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า(survive) สิ่งที่จะทำให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างพอเพียง( sufficient) และสิ่งที่จะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยังยืน( sustain)
  • หลักการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน ควรสนับสนุนการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตภายในชุมชนเองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบข้ามวัฒนธรรม เพื่อให้ได้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆอันเกิดจากการระเบิดจากภายในของชุมชนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำ
  • หลักการในการกระจายอำนาจไปให้สุด ให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ไม่คิดแทนชุมชน ควรใช้กระบวนการแผนชีวิตชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยกระบวนการแผนชุมชนที่มีคุณภาพจะต้องใช้ข้อมูลของชุมชนและเวทีการวิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาหรือจัดทำเป็นแผนพัฒนาที่ชุมชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง  ต้องสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนชุมชนที่จำแนกได้ชัดเจนว่า  ๑)อะไรบ้างเป็นสิ่งที่ชุมชนจะทำเอง ๒)สิ่งใดบ้างที่ต้องการให้อปท.ช่วย  และ๓)อะไรที่เกินกำลัง เป็นสิ่งที่ราชการต้องทำให้    ทั้งนี้เพื่อองค์กรสนับสนุนจะได้รู้เป้าหมายอย่างถูกต้องแม่นยำ
  • หลักการฟื้นฟูพัฒนาทุนทางสังคมในฐานะปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระยะยาว ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างจริงจังเพื่อให้ผู้นำชุมชนและเยาวชนรุ่นใหม่เข้าใจทุนทางสังคมและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้า  ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้รู้จักปัญหาข้อจำกัดและจุดแข็งในตนเอง เพื่อการกำหนดแผนชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

  • หลักการการสร้างภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการบูรณาการ-เชื่อมโยงภารกิจ และสานพลังระหว่างหน่วยงานภาคี หน่วยงานภาคีทุกระดับควรต้องทำตัวหลวมๆไว้  ไม่ออกระเบียบข้อบังคับภายในหน่วยงานจนแข็งกระด้าง  ให้สามารถทำงานอย่างยืดหยุ่นได้เพื่อรองรับการบูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วยอื่นได้
  • หลักการการเฝ้าระวังปัจจัยขัดขวาง ไม่เพียงหน่วยงานภาคีจะใส่ใจตัวแสดงที่สนับสนุนชุมชนเท่านั้น  ยังต้องช่วยกันเฝ้าระวังตัวแปรทางลบที่จะมาขัดขวางหรือทำลายกระบวนการชุมชนเข้มแข็งอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับมหภาคของรัฐบาล หรือการดำเนินโครงการรูปธรรมในระดับพื้นที่ของภาครัฐและเอกชน  โดยต้องส่งสัญญาณแจ้งเตือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังหรือทบทวนอย่างทันท่วงที

กระบวนการจัดทำและสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ในฐานะหน่วยงานนโยบายของชาติ ได้แต่งตั้งและมอบหมายภารกิจให้กับคณะอนุกรรมการพัฒนาร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมแห่งชาติว่าด้วยระบบสุขภาวะชุมชนเป็นกลไกดำเนินการจัดกระบวนการพัฒนาเอกสารทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายให้สามารถนำเข้าสู่วาระการพิจารณาและมีมติในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่๖ ระหว่างวันที่๑๘-๒๐ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖

คณะอนุกรรมการฯซึ่งประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานภาคีจำนวนหนึ่งจึงได้ทำการพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมว่าด้วยชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการมอบหมายทีมวิจัยของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาไปดำเนินการค้นคว้ารวบรวบข้อมูลอย่างเป็นระบบดังนี้ ๑)ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์สนับสนุนชุมชนมาอย่างยาวนาน จำนวน๒๐ท่าน ๒)ทำการศึกษายุทธศาสตร์และแผนงานด้านการสนับสนุนชุมชนขององค์กรภาคี จำนวน๒๐องค์กร ๓)ทำการศึกษาตัวอย่างกรณีต่างประเทศเพื่อใช้เปรียบเทียบและค้นหาแนวคิดใหม่ๆ จำนวน๕ประเทศ ๔)ทำการสำรวจระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชนของหน่วยงานภาคี จำนวน๑๐หน่วยงาน  จากนั้นข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาของคณะอนุกรรมการ รวม๖ครั้ง ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖

ในขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการได้จัดให้มีขั้นตอนและกระบวนการระดมความคิดยกร่างยุทธศาสตร์ร่วมฯและรับฟังความเห็นเป็นพิเศษจากองค์กรภาคีทั้ง๔๕หน่วยงาน รวมทั้งเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ๒๓๔เครือข่ายและส่วนอื่นๆ อีกเป็นจำนวน๔ครั้งตามลำดับ ดังนี้

Workshop1    ระหว่างวันที่๓๑ ส.ค. – ๑ก.ย. ๒๕๕๖  เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะอนุกรรมการทั้งชุด ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานภาคีสำคัญและทีมวิจัย รวมทั้งสิ้น ๕๐ คน ระดมความคิด วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มด้านงานสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศ ทำSWOTanalysis  สร้างวิสัยทัศน์ร่วม กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์

จากนั้นทีมวิจัยนำข้อมูลและความคิดเห็นที่ได้ไปจัดทำยกร่างเอกสารร่างที่๑

Workshop2     ระหว่างวันที่ ๒๐ ก.ย. ๒๕๕๖  เป็นการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างตัวแทนหน่วยงานภาคีทั้ง๔๕องค์กร ร่วมกับคณะอนุกรรมการทั้งชุดและผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๑๐๐ คน  เพื่อนำเสนอและรับฟังความเห็นต่อ(ร่าง)ยุทธศาสตร์ฯ ครั้งที่ ๑

จากนั้นทีมวิจัยจึงนำข้อคิดเห็นจากเวทีไปปรับปรุงเป็นเอกสารร่างที่ ๒

Workshop3      ระหว่างวันที่๑๗ ต.ค. ๒๕๕๖ ในเวทีเตรียมการสมัชชา(pre-assembly)  เป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ ระหว่างตัวแทนหน่วยงานภาคีทั้ง๔๕องค์กร  คณะอนุกรรมการทั้งชุด  ตัวแทนเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นจากทุกภูมิภาคและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวม๑๕๐คน เพื่อรับฟังความเห็นต่อ
(ร่าง)ยุทธศาสตร์ฯเป็นครั้งที่ ๒

จากนั้นทีมวิจัยและคณะอนุกรรมการนำความคิดเห็นจากเวทีไปปรับปรุงเป็นร่างฉบับสุดท้ายก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (National Health Assembly) ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖  เป็นการประชุมใหญ่ของเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีผู้แทนเครือข่ายทั่วประเทศและหน่วยงานภาคีที่หลากหลาย ทั้งฝ่ายนโยบาย ฝ่ายวิชาการฝ่ายบริหารและฝ่ายปฏิบัติ จะได้พิจารณาและมีมติสมัชชารับรอง(ร่าง)ยุทธศาสตร์ฯ อันหมายถึงการรับรองในเชิงหลักการต่อกรอบแนวคิดและสาระสำคัญของชุดเครื่องมือรวมแสงเลเซอร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะทั้ง๗ชิ้น

รวมทั้งประกาศปฏิญญาต่อสาธารณะในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วมกันของภาคีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ๒๓๔ กลุ่มเครือข่ายและอาจมีการร่วมลงนามความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคีระดับชาติส่วนหนึ่งที่มีความพร้อมในการสนับสนุนและ/หรือร่วมสนับสนุนทรัพยากร ในการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการรูปธรรมตามแนวทางของยุทธศาสตร์ร่วม จำนวนที่แน่นอนจำนวนหนึ่งด้วย

คลังข้อมูล องค์ความรู้และเทคโนโลยี

ในการพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลที่จะเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์ร่วมกันนั้น  สิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่ควรจะบรรจุไว้ในฐานข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลองค์กรชุมชนในเครือข่าย   องค์ความรู้ บทเรียนรู้และประสบการณ์ของชุมชนและหน่วยงานภาคี  รวมไปถึงเครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่หน่วยงานและชุมชนได้พัฒนาหรือประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใช้งาน

ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานภาคีอื่นๆได้เลือกนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาต่อยอดไปในทิศทางเดียวกัน  นอกจากนั้นยังจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันอีกด้วย

ซึ่งเท่าที่ประมวลในเบื้องต้น  ขณะนี้มีเครื่องมือที่หน่วยงานภาคีได้พัฒนาขึ้นและนำมาใช้ในการทำงานสนับสนุนชุมชนอย่างได้ผลดี  อย่างน้อย ๒๒ ชิ้น ซึ่งควรที่จะได้ใช้เป็นจุดตั้งต้นในการพัฒนาให้เป็นคลังความรู้และเครื่องมือเครื่องใช้ร่วมกันที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น ได้แก่

๑) เครื่องมือของแผนงานตำบลสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

(๑) RECAP  -เป็นหลักสูตรวิจัยชุมชน ค้นหาทุนและศักยภาพ (๔คืน๕วัน)

(๒) TCNAP(Thailand Community Network AppraisalProgram) – เป็นเครื่องมือพัฒนาระบบข้อมูลตำบล

(๓) คู่มือทำงานเฉพาะเรื่อง๘ชิ้น  -๑.จัดการท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วม ๒.จัดการสวัสดิการสังคมโดยชุมชน ๓.เกษตรกรรมยั่งยืน ๔.จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๕.การเรียนรู้ของเด้กและเยาวชน ๖.ดูแลสุขภาพชุมชนโดยชุมชน ๗.จัดการภัยพิบัติโดยชุมชน ๘.การลงทุนด้านสุขภาพโดยชุมชน

(๔) เครื่องมือประเมินลูกข่าย๑๒ภารกิจ

๒) เครื่องมือของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

(๑) Credit Scoring

๓) เครื่องมือของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

(๑) เครื่องมือประเมินคุณภาพสภาองค์กรชุมชน

๔) เครื่องมือของของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

(๑) เครื่องมือประเมินกองทุนสุขภาพตำบล

(๒) Strategic Map

๕) เครื่องมือทำงานสุขภาพชุมชน ๗ชิ้นของสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ

(๑) แผนที่เดินดิน (Geo-social Mapping)

(๒) ผังเครือญาติ (Genogram)

(๓) โครงสร้างองค์กรชุมชน (Community Organizations)

(๔) ระบบสุขภาพชุมชน (Local Health Systems)

(๕) ปฏิทินชุมชน (Community Calendar)

(๖) ประวัติศาสตร์ชุมชน(Local History)

(๗) ประวัติชีวิต (Life Story)

๖) เครื่องมือของสำนักงานพัฒนาสุขภาพชุมชน (สพช.) ระดับตำบล

(๑) เครื่องมือประเมินระบบสุขภาพชุมชนด้วยตนเอง๖ด้านของสพช.

๗) เครื่องมือของมูลนิธิหมู่บ้าน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

(๑) แผนชีวิตชุมชน

(๒) บัญชีครัวเรือน

๘) ฯลฯ

กลไกการจัดการร่วมกันในภาคสนาม

เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ร่วม ตามแนวทางของชุดเครื่องมือรวมแสงเลเซอร์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ให้ได้ผลทั้งสิ่งที่เป็นเอกภาพ มีพลังมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่ร่วมกัน และให้ได้ทั้งสิ่งที่แต่งต่างหลากหลายอันงดงาม

มีประเด็นพิจารณาเรื่องกลไกการจัดการเชิงเครือข่ายร่วมกันในภาคสนาม  เป็น ๓ ระดับ ดังนี้

  • กลไกปฏิบัติการที่ระดับ “ตำบล” –  สำหรับการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นแบบดั้งเดิม ทั้งในชนบทและในเมือง  เป็นที่เห็นตรงกันว่ากลไกการจัดการระดับตำบลหรือเทศบาลเป็นระดับที่มีความเหมาะสมที่สุด  ดังนั้นควรที่หน่วยงานภาคีที่มีงานในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน จะได้เปิดเผยข้อมูลและเลือกกลไกที่จะใช้ทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดการสานพลังและลดความซ้ำซ้อนที่ไม่จำเป็นลง   ซึ่งกลไกดังกล่าวอาจเป็น องค์กรบริหารส่วนตำบล หรือสภาองค์กรชุมชนตำบล หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล หรือจะเป็นกลไกที่ไม่ตายตัว โดยขึ้นอยู่กับสภาพความจริงและความพร้อมในพื้นที่นั้นๆก็ได้
  • กลไกสนับสนุนที่ระดับ “จังหวัด”และ/หรือ“อำเภอ” –  ในจังหวัดหนึ่งๆ ควรที่จะจัดให้มีกลไกประสาน-สนับสนุนการขับเคลื่อนเครือข่ายปฏิบัติการภาคสนามระหว่างหน่วยงานภาคีอย่างจริงจัง   รูปแบบที่ภาคประชาสังคมจังหวัดอำนาจเจริญได้พัฒนาขึ้นนับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ จึงควรที่หน่วยงานภาคีที่มีงานในพื้นที่จังหวัดเดียวกันจะได้สำรวจกลไกของตน ทั้งระดับจังหวัดหรืออำเภอ เพื่อตัดสินใจในการเลือกและพัฒนาให้เป็นกลไกร่วมที่สามารถรองรับภารกิจสนับสนุนชุมชนของทุกหน่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้โดยยึดหลักการของการกระจายอำนาจและทรัพยากรไปให้กลไกพื้นที่สามารถจัดการตนเองให้มากที่สุดด้วย
  • กลไกประสานยุทธศาสตร์ในระดับ”ชาติ” –  เพื่อให้มีพื้นที่และโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานภาคีเป็นประจำ ทุก๑-๒เดือน ในลักษณะเวทียุทธศาสตร์สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะ(Community Self-management Forum)  ควรที่จะจัดให้มีกลไกในลักษณะกองเลขานุการร่วมกัน  โดยที่หน่วยงานภาคีร่วมกันจัดตั้งขึ้นและให้การสนับสนุนนโยบายและทรัพยากรในการทำงาน ทั้งในด้านการจัดประชุม การจัดทำข้อมูล-องค์ความรู้ การทำสำรวจและประเมินสถานการณ์ความก้าวหน้าเพื่อเป็นข้อมูลนำเข้าสู่เวทีหารือ รวมทั้งการรณรงค์ทางสังคมในประเด็นสาธารณะบางอย่างที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน ร่วมกัน

แผนยุทธศาสตร์ร่วมขององค์กรภาคี:ว่าด้วยการสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง

แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ใช่แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติหรือแผนแม่บทการพัฒนาของประเทศ ที่จะมีผลบังคับให้หน่วยงานราชการต้องปฏิบัติตาม แต่เป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมขององค์กรภาคีและเครือข่ายทางสังคม ที่เห็นพ้องต้องกันและตกลงใจในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งไปในทิศทางเดียวกัน

มีสาระสำคัญประกอบด้วย ๑)วิสัยทัศน์ร่วม (VISION) ๒)พันธกิจร่วม  (MISSION ) ๓) เป้าหมายหลัก  (GOAL) ๔) วัตถุประสงค์และเป้าหมายร่วม (OBJECTIVE ) ๕) ตัวชี้วัด(INDICATOR ) ๖) กลยุทธ์ร่วม (STRATEGY) ๗) แผนงานและโครงการร่วม ( PLANand PROJECT) ดังต่อไปนี้

  • วิสัยทัศน์ร่วม (VISION)

“สังคมไทยมีชุมชนเข้มแข็ง ที่หลากหลาย กว้างใหญ่และมั่นคง เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เป็นฐานรากรองรับการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง  สิ่งแวดล้อมสุขภาพและคุณธรรมจริยธรรม”

๒) พันธกิจร่วม  (MISSION )

(๑) ประสานพลังทุกองค์กรภาคี เร่งฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นพื้นฐานและชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่ ทั้งในชนบทและในเมือง ให้มีศักยภาพในการจัดการตนเองและมีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพ

(๒) เฝ้าระวังผลกระทบจากนโยบายที่ทำให้ชุมชนอ่อนแอในระยะยาว อันได้แก่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชน โครงการสัมปทานและการลงทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระแสการเสพติดนโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์  รวมทั้งการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายรัฐ ให้มาสู่แนวนโยบายสวัสดิการเชิงประชาสังคม ที่มุ่งให้ประชาชนมีสำนึกความเป็นพลเมือง  เป็นผู้รับผิดชอบต่อส่วนรวมและมีวิถีการเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ

(๓) มุ่งรักษาภาวะแวดล้อมและกระแสอุดมการณ์ทางสังคมเรื่องชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไว้ให้นานที่สุด

(๔) สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และจัดการการเรียนรู้ด้านงานชุมชนเข้มแข็ง ทั้งในระดับเครือข่ายและสังคมส่วนร่วม

๓) เป้าหมายหลัก  (GOAL)

(๑) เพื่อเสริมพลังให้ชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่ของประเทศ มีศักยภาพในการเรียนรู้ ปรับตัวและจัดการตนเองได้ และมีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพอย่างทันต่อสถานการณ์

(๒) เพื่อให้ประเทศมีนโยบายที่เอื้อต่อการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นและความเข้มแข็งของสังคมไทยอย่างยั่งยืน

(๓) เพื่อสร้างเสริมและรักษาสภาวะแวดล้อมทางสังคมให้สามารถหนุนเสริมภารกิจชุมชนเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

(๔) เพื่อสร้าง สะสมและต่อยอดขยายผลองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านชุมชนเข้มแข็ง ที่เหมาะสมกับพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลก

๔) วัตถุประสงค์และเป้าหมายร่วม  (OBJECTIVE )

(๑) เพื่อเสริมพลังชุมชนท้องถิ่น

(๑.๑) ชุมชนท้องถิ่นพื้นฐานทั่วประเทศมีศักยภาพในจัดการตนเองและเข้มแข็งในเชิงคุณภาพ

(๑.๒) ชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่ทั่วประเทศได้รับการเสริมพลังอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม

(๑.๓) ชุมชนเชิงความสัมพันธ์ตามพลวัตรของสังคมทั่วประเทศ ได้รับความเอาใจใส่มากขึ้น โดยมีงานวิจัยและงานพัฒนาเพื่อค้นหารูปแบบการทำงานส่งเสริมและสนับสนุนที่เหมาะสม

(๒) เพื่อให้ประเทศมีนโยบายที่เอื้อต่อการจัดการตนเองของชุมชน

(๒.๑) เครือข่ายองค์กรภาคีสามารถตรวจจับกระแสนโยบายที่จะส่งผลทำให้ชุมชนอ่อนแอในระยะยาว รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ที่จะสร้างผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น และแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับไปยังผู้กำหนดนโยบายได้อย่างเหมาะสมและต่อทันเหตุการณ์

(๒.๒) ประเทศไทยมีนโยบายและแผนงาน-โครงการในระดับชาติที่เอื้อต่อชุมชนเข้มแข็งและระบบสุขภาวะชุมชนอย่างต่อเนื่อง

(๓) เพื่อสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมทางสังคมให้หนุนเสริมชุมชน

(๓.๑) สื่อมวลชนทุกแขนงให้ความสำคัญอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ต่อประเด็นชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม ในฐานะปัจจัยของการพัฒนาประเทศและการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

(๔) เพื่อสร้างและต่อยอดขยายผลองค์ความรู้

(๔.๑) เครือข่ายองค์กรภาคีมีคลังความรู้ชุมชนเข้มแข็งและระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชนที่สมบูรณ์แบบ

(๔.๒) มีสื่อด้านชุมชนเข้มแข็งสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่หลากหลายและจำนวนมากเพียงพอ

(๔.๓) มีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ สำหรับงานชุมชนเข้มแข็งออกมาอย่างไม่ขาดสาย

๕) ตัวชี้วัด  (INDICATOR )

(๑) ภายในระยะเวลา ๑๐ ปีองค์กรชุมชนทุกรูปแบบ ในทุกเครือข่ายและทุกพื้นที่ อย่างน้อยสองในสาม มีศักยภาพในการเรียนรู้และจัดการตนเองได้ มีความเข้มแข็งในเชิงคุณภาพ

(๒) ภายในระยะเวลา ๑๐ ปีชุมชนท้องถิ่นพื้นฐานทั่วประเทศ อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ผ่านเกณฑ์ชุมชนเข้มแข็งหรือชุมชนสุขภาวะ

(๓)ภายในระยะเวลา ๕ ปี ชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่ทุกชนิดได้รับการดูแล และส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการงานชุมชนเข้มแข็งจากหน่วยงานภาคีอย่างเป็นกิจลักษณะ

(๔)ภายในระยะเวลา ๕ ปี มีผลงานศึกษาวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนารูปแบบการทำงานชุมชนเข้มแข็งสำหรับชุมชนเชิงความสัมพันธ์แบบอื่นๆตามพลวัตรสังคมที่ชัดเจน

(๕)ภายในระยะเวลา ๕ ปี โครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นและทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย๕โครงการ และนโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่และเป็นที่สนใจของสาธารณะจำนวน๕เรื่อง(ระบุ…) ได้รับการทบทวนและปรับเปลี่ยนทิศทางไปสู่การเสริมพลังชุมชนและการมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพจากภาคประชาสังคม

(๖)ภายในระยะเวลา ๑๐ ปี  กระแสการแข่งขันด้วยนโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์ระหว่างพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายที่มีส่วนสร้างภาระหนี้สาธารณะในอนาคต  หมดไปโดยพื้นฐาน

(๗)ภายในระยะเวลา๑๐ปี มีฐานข้อมูลผู้นำชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม ที่หลากหลายสาขา หลากหลายเพศวัย หลากหลายภูมิภาคและท้องถิ่น อย่างน้อย๕๐๐,๐๐๐คน

(๘)ภายในระยะเวลา ๕ ปีกระแสข่าวตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่น ที่สามารถเอาชนะปัญหายาเสพติด  ความรุนแรง อบายมุข และปัญหาความเสื่อมของสังคม มีจำนวนรายงานมากขึ้นอย่างน้อยสองเท่าตัว

(๙)บทนำ บทความ คอลัมภ์ประจำของหนังสือพิมพ์ และบทวิเคราะห์รวมทั้งสารคดีของสื่อโทรทัศน์ วิทยุและนิวมีเดีย  เกินกว่าครึ่ง สะท้อนความหวังและความเชื่อมั่นต่อแนวคิดแนวทางด้านชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม

(๑๐)แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ ๑๒,๑๓และ๑๔ ยังคงบรรจุประเด็นชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมไว้ในสาระสำคัญ

(๑๑)ภายในระยะเวลา ๕ ปีมีเครือข่ายระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชนที่สมบูรณ์ครบถ้วน และสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้

(๑๒)ภายใน ระยะเวลา๕ ปีมีคลังองค์ความรู้และเครื่องมือ-คู่มือ-เทคโนโลยี สำหรับการทำงานชุมชนเข้มแข็ง ที่เป็นสมบัติสาธารณะ

(๑๓)ภายในระยะเวลา ๕ ปีมีคลังสื่อสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ที่สมบูรณ์และเป็นสมบัติสาธารณะ

(๑๔)มีผลงานเชิงนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ สำหรับการทำงานชุมชน เผยแพร่สู่สาธารณะ อย่างน้อยปีละ ๑๐๐ ชื้น

๖) กลยุทธ์ร่วม (STRATEGY)

  • สร้างกลไกประสานงานระหว่างเครือข่ายองค์กรภาคีที่เข้มแข็งเป็นเอกภาพทั้งในระดับตำบล ระดับจังหวัด-อำเภอ และระดับชาติ
  • กำหนดให้มีเพียงเป้าหมายร่วมและหลักการทำงานร่วมเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ ในส่วนการดำเนินงานปล่อยให้มีความเป็นอิสระและสร้างสรรค์ตามความถนัดและเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กรภาคี
  • พัฒนาระบบ เครื่องมือและทีมประเมินผลลัพธ์ชุมชนเข้มแข็งร่วมกัน และจัดทำรายงานสถานการณ์ความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคเป็นรายปี เพื่อนำมาสู่การเรียนรู้และปรับตัวร่วมกัน
  • จัดตั้งกลไกเฉพาะเพื่อเฝ้าระวังและแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ และนโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์ที่เสี่ยงต่อการเสพติด ในขณะเดียวกันก็ผลักดันนโยบายด้านชุมชนเข้มแข็ง-ประชาสังคมให้เป็นทางออกทางเลือก
  • สื่อสารให้เครือข่ายและสังคมได้รับทราบ รู้เท่าทันและสามารถมีปฏิบัติการต่อภาวะคุกคามได้อย่างอิสระและทันต่อเหตุการณ์
  • จัดทำเนื้อหาสาระ ผลิตสื่อ พัฒนาระบบและเครือข่ายการสื่อสารในลักษณะเชิงรุก ครอบคลุมสื่อทุกแขนงทั้งสื่อกระแสหลัก กระแสรอง และสื่อสังคมมิติใหม่
  • ลงทุนในการพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูลMulti-centric Database อย่างจริงจัง
  • ลงทุนในการพัฒนาคลังความรู้ เครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาชุมชน
  • ลงทุนในการพัฒนาคลังสื่อสาร รายการข่าว สาระบันเทิง สาระคดีและศิลปะวัฒนธรรม(Archives)เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม

๖) แผนงานและโครงการร่วม ( PLANand PROJECT)

แผนงานและโครงการร่วมต่อไปนี้ เป็นภารกิจที่หน่วยงานภาคีทั้ง๔๖องค์กรจะร่วมกันเป็นเจ้าของ เจ้าภาพและผู้ดำเนินงาน  โดยจะมีการแบ่งสรรปันส่วนในการเป็นองค์กรหรือกลุ่มองค์กรผู้รับผิดชอบหลักที่ชัดเจนเป็นรายโครงการไป

            ผู้รับผิดชอบหลัก จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหางบประมาณและเป็นแกนประสานในการขับเคลื่อนโครงการนั้นๆอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย๓-๕ปี

ทั้งนี้จะมีการประเมินและปรับแผนทุกสองปี ในลักษณะRolling Plan และอาจมีการปรับเปลี่ยนองค์กรผู้รับผิดชอบหลักได้โดยฉันทามติหรือข้อตกลงร่วมกันของเวทีประชุมร่วมระหว่างองค์กรภาคี 

โดยถือหลักการว่าจะไม่ปล่อยให้องค์กรใดต้องรับภาระเพียงลำพัง

(๑) แผนงานประสานพลัง สร้างเอกภาพเครือข่ายองค์กรภาคี สนับสนุนชุมชนเข็มแข็ง

(๑.๑)โครงการพัฒนากลไกร่วมระหว่างองค์กรภาคีเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น  ระดับภูมิภาคและระดับชาติ

วัตถุประสงค์  – สร้างกลไกประสานงานในระดับพื้นที่ร่วมกัน ให้ครอบคลุมทั้งสามระดับทั่วประเทศ และพัฒนาศักยภาพของกลไกประสานงานระดับพื้นที่ให้สามารถดำเนินงานเชื่อมโยงสนับสนุนระหว่างองค์กรภาคีส่วนกลางและภูมิภาคกับชุมชนท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  ………………..

 (๑.๒)โครงการพัฒนาเครือข่ายระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชนให้ครอบคลุมข้อมูลองค์กรชุมชนและข้อมูลผู้นำชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคม ทุกประเภท ทุกระดับ ทั่วประเทศ

วัตถุประสงค์  –  ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรภาคีให้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชนที่มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ  เป็นสาธารณะและเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายถึงกันทั่วทุกองค์กร

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  ……………………………….

(๑.๓)โครงการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมและจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพสำหรับชุมชนในเขตกทม.

วัตถุประสงค์  –  ศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมและดำเนินการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพสำหรับชุมชน ให้ครอบคลุมชุมชนท้องถิ่นทุกประเภทที่หลากหลายใน๕๐เขตพื้นที่ของกทม.

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  ……………………………..

(๒)   แผนงานเฝ้าระวังผลกระทบทางนโยบาย  ส่งเสริมและผลักดันแนวนโยบายชุมชนเข้มแข็งและสังคมสุขภาวะ

 ( ๒.๑) โครงการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังผลกระทบทางนโยบายต่อชุมชนท้องถิ่น(Policy Watch)

วัตถุประสงค์  –  จัดให้มีทีมวิชาการเฉพาะที่มีศักยภาพในการเฝ้าระวังทางนโยบาย ทั้งโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่กระทบชุมชนท้องถิ่น  โครงการสัมปทานและการลงทุนที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนโยบายประชานิยมเชิงสังคมสงเคราะห์ที่จะทำให้ชุมชนอ่อนแอในระยะยาว และสามารถให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเพื่อการรู้เท่าทันของสังคม ตลอดจนแสดงปฏิกิริยาสะท้อนกลับหรือโต้ตอบกับผู้กำหนดนโยบายได้อย่างเหมาะสม ทันต่อสถานการณ์

องค์กรผู้รับผิดชอบ  –  …………………………………..

(๒.๒) โครงการติดตามผลงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามแผนพัฒนาประเทศ 

วัตถุประสงค์  –  จัดทำรายงานผลงานความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคและบทเรียนรู้ในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่๑๑๑๒และ๑๓  โดยจัดทำเป็นรายหนึ่ง-สองปี เพื่อนำมาสู่การแลกเปลี่ยน เรียนรู้และปรับตัวร่วมกันขององค์กรภาคี

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  …………………………..

(๓) แผนงานเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมทางสังคมและทางนโยบาย ให้เอื้อต่องานชุมชนเข้มแข็ง

(๓.๑) โครงการพัฒนาสื่อและเครือข่ายการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง

วัตถุประสงค์  –  พัฒนาสาระ สื่อ นักสื่อสารและเครือข่ายช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย เพื่อการเรียนรู้ เผยแพร่ รณรงค์เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง อย่างต่อเนื่อง

องค์กรผู้รับผิดชอบ  –  ………………………………………………….

(๓.๒) โครงการพัฒนาคลังสื่อเพื่อชุมชนเข้มแข็ง ที่มีคุณภาพหลากหลายและเป็นสมบัติสาธารณะ สามารถเข้าถึงได้ง่าย

วัตถุประสงค์  –  ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรภาคีให้มีการจัดทำคลังสื่อเพื่อชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลาย(archives) เป็นของตนเองและเปิดสำหรับให้บริการสาธารณะและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกันภายในเครือข่าย

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  ……………………………..

 

 

(๔) แผนงานพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรมและการเรียนรู้ด้านชุมชนเข้มแข็งและสังคมสุขภาวะ 

(๔.๑) โครงการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการส่งเสริมสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่และชุมชนเชิงความสัมพันธ์แบบอื่นๆ

วัตถุประสงค์  –  ศึกษาทดลอง หรือวิจัยและพัฒนาเพื่อค้นหารูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินงานสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นสมัยใหม่และชุมชนเชิงความสัมพันธ์แบบอื่น อันจะนำไปสู่การจัดทำเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์เฉพาะสำหรับหน่วยงานภาคีที่รับผิดชอบโดยตรงต่อไป

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  ……………………………………

(๔.๒) โครงการประเมินสถานการณ์ความเข้มแข็งและปัญหาอุปสรรคของชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศและจัดทำรายงานประจำปีเผยแพร่ต่อสาธารณะ

วัตถุประสงค์  – สำรวจและจัดทำรายงานประจำปี ว่าด้วยสถานการณ์ชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะเพื่อสะท้อนความก้าวหน้า และความสำเร็จ-ล้มเหลว ปัญหาอุปสรรคและบทเรียนรู้จากภารกิจสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น ที่องค์กรภาคีร่วมกันรับผิดชอบในมิติต่างๆ และนำข้อมูลมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีประชุมระหว่างองค์กรภาคีทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  ………………..

(๔.๓)โครงการพัฒนาคลังความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อชุมชนเข้มแข็ง

            วัตถุประสงค์  –  ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรภาคีมีการจัดทำคลังองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อชุมชนเข้มแข็ง โดยเครือข่ายและสาธารณชนสามารถเข้าถึงและเลือกใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวก

องค์กรผู้รับผิดชอบหลัก  –  ……………………………..

 

 

เอกสารอ้างอิง

๑.ประเวศ วะสี.การจัดการใหม่เพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน.กรุงเทพฯ,๒๕๕๕

๒.พลเดช ปิ่นประทีป. นักการธนาคารผู้นำขบวนการชุมชนไทย , สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, กรุงเทพฯ ๒๕๕๐.

๓.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม. ปาฐกถาพิเศษ”จินตภาพใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”เวทีสัมนา”ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การปฏิรูปประเทศไทย”,๒๕๕๓

๔.กรมการพัฒนาชุมชน-วิกิพีเดีย

๕. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

.ชะนวนทองธนสุกาญจน์ และคณะ. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยระบบสุขภาพชุมชน,๒๕๕๕

๗.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. การศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่สนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง

๘.คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตภายใต้คณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ.การประเมินองค์ประกอบและลักษณะชุมชนเข้มแข็ง

 

คุณฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน  วันที่ 12 มิย.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-การแก้ปัญหาสุขภาวะของตำบลบัวใหญ่ที่ผ่านมาเน้นในเรื่องปัญหาที่ดินทำกินเป็นหลัก เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจ อันเนื่องมาจากความกังวลและความเครียดระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานของรัฐ เช่น การผลักดันเรื่องโฉนดชุมชน

-การแก้ไขปัญหาที่ดินนั้นไม่ใช่มีแค่เรื่องของเอกสารสิทธิ์ แต่ยังมีเรื่องของการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับสุขภาวะที่ดีของชุมชนด้วย เช่น ชาวบ้านส่วนหนึ่งทำไร่ข้าวโพดควบคู่ไปกับการทำสวนยาง อันส่งผลดีทางเศรษฐกิจ แต่ทำให้ต้องใช้เวลาทำการเกษตรเกินกำลัง กล่าวคือ กลางวันต้องออกไปทำไร่ข้าวโพด กลางคืนต้องออกไปกรีดยาง ทำให้ไม่มีเวลาพักผ่อนและดูแลครอบครัวเท่าที่ควร ซึ่งสะท้อนถึงข้อดีและข้อเสีย จึงต้องศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาวะ

-ทุกส่วนราชการต่างมีแผนยุทธศาสตร์ จนเกิดความขัดแย้งและแย่งชิงกันเองในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ ของกระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มหมอดินอาสา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

-ปัญหาในทางปฏิบัติที่พบมากคือ การที่แกนนำชุมชน “สวมหมวกหลายใบ” แต่ไม่รู้จักบูรณาการ หรือคิดแบบเชื่อมโยงไม่เป็น จึงควรสนับสนุนองค์ความรู้แก่บุคลากรเหล่านี้ ให้คิดเป็น บูรณาการตนเองได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อสวมหมวก อสม.ก็จะคิดแต่เรื่องของ อสม. เมื่อสวมหมวก พม. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ก็จะคิดแต่เรื่องของ พม.ทั้งๆ ที่แผนยุทธศาสตร์หรือโครงการต่างๆ นั้นสามารถเชื่อมโยง/หนุนเสริมกันได้

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

          -โครงสร้างของแผนยุทธศาสตร์นี้ ควรให้ความสำคัญในองค์รวม ไม่ควรเน้นเรื่องสุขภาพอย่างเดียว ควรยึดหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม และควรใช้ตำบลเป็นศูนย์กลางประสาน/บริหารจัดการ เพราะตำบล (อบต.) เป็นหน่วยปกครองล่างสุดที่มีศักยภาพและงบประมาณของตนเอง โดยอาจมอบให้สภาองค์กรชุมชนเป็นผู้ประสานงานก็ได้

          แผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ในระดับชาติมีมากอยู่แล้ว เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริงนั้นมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ได้เน้นด้านสังคม และการพัฒนาเศรษฐกิจก็มุ่งไปที่เศรษฐกิจมหภาค ไม่ได้มองเศรษฐกิจชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรด้วย

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ จึงไม่ควรเพิ่มภาระให้กับชุมชน ส่วนหลักการหนุนเสริมชุมชนก็ไม่ควรส่งเสริมระบบอุปถัมภ์และแนวทางประชานิยม แต่ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างกระบวนการและวิธีคิด

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ ไม่ควรกระจกตัวอยู่ข้างบน ต้องกระจายอยู่ข้างล่างด้วย ควรดูที่มวลรวม ไม่ควรดูแบบแยกส่วน ข้อสำคัญคืออย่าเน้นระบบอุปถัมภ์หรือระบบสงเคราะห์ซึ่งอันตรายมาก เพราะจะทำให้ชาวบ้านไม่ทำอะไรด้วยตัวเอง จะรอแต่คำสั่งหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเท่านั้น

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ น่าจะมีเป้าหมายระยะเวลา ๑๐ ปี ถ้าระยะสั้นไปอาจจะไม่ทันเห็นผล แต่ควรมีการประเมินเป็นระยะ โดยใช้เกณฑ์คุณภาพชีวิตของประชาชนและภาพรวมของสุขภาวะชุมชนเป็นตัวชี้วัด คือดูจากสภาพเศรษฐกิจของชุมชน สภาพสังคมและครอบครัว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ ๕๐ ของจำนวน ๘,๐๐๐ กว่าตำบลทั่วประเทศ ในการก่อเกิดชุมชนสุขภาวะที่มีความเข้มแข็งและสามารถจัดการตนเองได้

แนวทางขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-ข้อสำคัญคือทุกหน่วยงานภาคีพร้อมจะร่วมมือกับ สช.หรือไม่ ส่วนบุคลากรในตำบลร่วมมือกันได้อยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นคนในพื้นที่ เกิดในพื้นที่ โตในพื้นที่ และจะต้องตายในพื้นที่ ดังนั้นจึงคุยกันได้อยู่แล้ว

          -ต้องใช้มติเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นตัวผลักดันให้รัฐบาลยอมรับ หรือมีมติ ครม.รองรับเสียก่อน จึงน่าจะสามารถบูรณาการทุกส่วนราชการได้

-การขับเคลื่อนแผนฯ นี้ไม่ควรให้รัฐเข้ามาครอบงำ/แทรกแซง เพราะรัฐมีแผนยุทธศาสตร์จังหวัดกำกับอยู่แล้ว

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน

-สุขภาวะชุมชนที่ดีไม่ได้หมายถึงเรื่องสุขภาพดีอย่างเดียว คำว่าสุขภาวะเป็นมวลรวม ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ ๑.เศรษฐกิจต้องดีด้วย ๒.สังคมต้องดีซึ่งหมายถึงสังคมครอบครัวและเรื่องของวัฒนธรรมต้องดีด้วย ๓.การศึกษาก็ต้องดี ๔.สุขภาพพลานามัยก็ต้องดี ๕.เรื่องของประชาธิปไตยและบรรยากาศการเมืองในชุมชนก็ควรต้องดี ต้องมีความสามัคคีด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดจากความแตกแยกและความขัดแย้งในชุมชน

 

คุณทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
19 มิย.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-คำว่าชุมชนสุขภาวะ ชุมชนเข้มแข็ง และชุมชนจัดการตนเอง ๓ คำนี้เป็นสิ่งที่เชื่อมต่อกัน คือถ้าชุมชนมีประเด็นปัญหาแล้วสามารถจะจัดการตนเอง ย่อมจะทำให้ชุมชนนั้นเกิดความเข้มแข็ง และทั้งสองเรื่องนี้จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ปลายทางคือสุขภาวะชุมชนอย่างไรก็ตามต้องเข้าใจหลักการว่า ถ้าชุมชนจัดการตนเองได้ ก็จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่มิได้หมายความว่าเมื่อชุมชนจัดการกับตนเองได้แล้ว นั่นคือสุขภาวะชุมชน แต่ยังเป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง

-พอช.ได้พยายามผลักดันเรื่อง “ธรรมนูญประชาชน” เพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดการตนเองทั้งหมด คือรัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเขาจัดการตนเอง เพราะการจัดการตนเองจะทำให้เขาเข้มแข็งได้ รู้จักว่าจะจัดการตัวของเขาเองอย่างไรจากกระบวนการของเขา อาจจะเป็นการลองผิดลองถูกบ้างก็เป็นไร

-พอช.เคยทำ “ตัวชี้วัดชุมชน” โดยให้ชุมชนประเมินตนเอง ด้วยตัวชี้วัดจากสถิติต่างๆ ในการจัดการชุมชน (จัดการตนเอง) อาทิ เรื่องการจัดการหนี้, การมีสัมมาชีพ, การปลอดยาเสพติด, การเจ็บป่วย, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, สุขภาพกายและใจ โดยต้องให้ชาวบ้านเป็นผู้ประเมินตนเองเท่านั้น

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-ลักษณะของแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ ควรเป็นแผนระยะยาว และเป็นแผนในเชิงทิศทาง กำหนดหลักการร่วมกัน ใช้แผนชุมชนเป็นตัวตั้ง หน่วยงานต่างๆ มีภารกิจเข้าไปหนุนเสริมเท่านั้น และแผนควรมีทิศทางเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน มีพื้นที่กลาง ประเด็นกลางร่วมกัน

-ตัวชี้วัดสุขภาวะชุมชนหลักๆ ควรประกอบด้วย ๑.เรื่องความมั่นคงของปัจจัยสี่ ๒.เรื่องภาวะหนี้สิน ๓.เรื่องการมีสัมมาชีพ ๔.เรื่องของฐานทรัพยากร

-ประเด็นร่วมของแผนฯ ที่อยู่ในกระแส คือ ๑.ปัญหาฐานทรัพยากร เช่น ที่ดิน (สร้างความเป็นธรรม/ขจัดความฉ้อฉล) ๒.ปัญหาที่อยู่/สาธารณูปโภค/การมีงานทำ ๓.การพัฒนาแผนสุขภาวะชุมชนของทุกตำบล

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคุยกับภาคีทั้งหมดว่าเขาคิดอย่างไร ชุมชนพื้นที่คิดอย่างไร ถ้าเริ่มตรงนี้ได้ และมีเรื่องใหญ่ๆ โดยอาจชูประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่พื้นที่สนับสนุน (เรียกร้อง) ในการขับเคลื่อนร่วมกัน หรืออาจจะเป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่ ทุกฝ่ายยินดีเปิดข้อมูลร่วมกัน หรือแชร์กันจะได้ไม่เกิดปัญหาการทับซ้อนเรื่องข้อมูล หรือคงต้องมาบูรณาการกัน ต้องประชุมหารือระหว่างภาคีกับเครือข่ายในพื้นที่

-ควรให้พื้นที่เป็นคนทำเอง อย่าไปบังคับ ต้องสร้างพื้นที่ร่วม หน่วยงานทั้งหลายต้องมากลับทิศทางใหม่ หากชุมชนจัดการตนเองได้จึงจะเกิดความเข้มแข็ง

-ควรใช้พื้นที่ตำบลเป็นจุดยุทธศาสตร์ จะเหมาะกว่าพื้นที่ชุมชนหรือหมู่บ้าน หากมุ่งไปตามหมู่บ้านเล็กๆ สุดท้ายก็จะโยงกลับมาสู่การแก้ไขที่ตำบล เพราะตำบลนอกจากจะมีองค์กรในลักษณะเชิงพื้นที่ ยังมีองค์กรเครือข่ายในระดับตำบล เช่น เรื่องของสวัสดิการชุมชนที่ไขว้กันอยู่ เรื่องของการออมทรัพย์ระดับตำบล เรื่องของกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยค่อนข้างจะเป็นลักษณะที่ไขว้กันหมด

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน

-สุขภาวะชุมชนที่ดีคือ ชุมชนที่อยู่ดีมีสุข คนในชุมชนมีความสุขตามอัตภาพ และสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้ แปลว่าชุมชนนั้นต้องมีความเข้มแข็ง มีพื้นที่ที่สามารถจะจัดการตนเองได้ สามารถที่จะกำหนดบริบทของชุมชน สามารถที่จะกำหนดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของชุมชน แก้ไขปัญหาของตนเองได้ กำหนดทิศทาง กำหนดแนวทาง กำหนดแผนในการที่จะแก้ปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อให้ชุมชนนั้นสามารถอยู่บนปัจจัยพื้นฐานคือ มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย มีอาหารที่ดี มีคุณภาพที่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพ มีน้ำดื่มที่สะอาด มีสุขภาพใจและสุขภาพใจที่แข็งแรงพอที่จะไขปัญหาต่างๆ ของตนเองได้

-ด้วยสภาพความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ชุมชนระดับล่างจะเผชิญกับปัญหาหนี้สินและการว่างงาน ทำอย่างไรชุมชนเหล่านี้จะพึ่งพาตนเองได้บนหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือถ้ามีหนี้ก็ต้องเป็นหนี้ที่สามารถจัดการตนเองได้ ไม่ส่งผลต่อชีวิตของตนเองจนเกิดความทุกข์ยาก และต้องรอให้คนอื่นมาจัดการให้ตนเอง ชุมชนเหล่านี้จะต้องพึ่งตนเองให้ได้ และจัดการตนเองได้

 

ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) 27 มิย.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-ที่ผ่านมาทรัพยากรของรัฐไปกองอยู่ที่ตัวจังหวัดทั้งตัวเงินและบุคลากร ระดับตำบลขาดหน่วยงานเจ้าภาพ สกว.จึงใช้จังหวัดเป็นจุดจัดการในโครงการ “ลงทะเบียนคนจน” ของรัฐบาลซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ สกว.จึงเปลี่ยนมาทำ “แผนชุมชน” โดยชุมชนบนฐานข้อมูลจริง เพราะรู้ว่าข้อมูลของรัฐในพื้นที่เชื่อถือไม่ได้

-โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ หรือโครงการ ABC (Area-Based Collaborative Research) ของ สกว.มุ่งแก้ปัญหาความยากจน จึงต้องเลือกใช้ข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กับปัญหา โดยใช้การทำ “บัญชีครัวเรือน” เป็นตัวสะท้อนความยากจน สะท้อนรายได้/รายจ่าย/หนี้สิน เพื่อให้ชาวบ้านได้สติ และได้คิดว่าอะไรคือรายจ่ายสูงสุด ๕ ตัวที่สามารถทำวิสาหกิจชุมชนได้

-ความยากจนสัมพันธ์กับปัญหาการใช้จ่ายของครัวเรือน เมื่อการใช้จ่ายไม่เพียงพอก็จะเกิดปัญหาหนี้สินตามมา ถ้าชาวบ้านรู้รายได้/รายจ่าย/หนี้สิน/เงินออมของตน จะทำให้เกิดการควบคุมค่าใช้จ่ายอันจะเป็นเหตุให้เกิดหนี้ ดีกว่าเป็นหนี้แล้วรัฐไปพักชำระหนี้ หรือไปแขวนหนี้/ผ่อนหนี้ แต่ต้องแก้ที่กระบวนการสะสมหนี้ เพราะฉะนั้น สกว.จึงใช้ “บัญชีครัวเรือน” เป็นตัวสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้คิด เมื่อคิดแล้วก็จะพบสาเหตุเองว่าหนี้มาจากด้านใดบ้าง

-เป้าหมายแรกของกระบวนการชุมชนเข้มแข็งก็คือ ต้องทำให้เขารู้แล้วคิด และนำเข้าไปสู่เวทีให้ชุมชนได้วิเคราะห์/เรียนรู้/หาทางออกและร่วมกันแก้ปัญหาเป็นกลุ่มๆ ด้วยความร่วมมือจาก อบต.หรือขอให้ทางจังหวัดช่วยหนุนเสริม

-การทำแผนชุมชนควรดึง อบต.เข้าร่วมตั้งแต่ต้น เพื่อร่วมเรียนรู้และรับทราบความต้องการของชุมชนและชาวบ้านและเมื่อได้แผนแล้ว อบต.จะไม่ปฏิเสธในการสนับสนุนงบประมาณอย่างแน่นอน เพราะผลลัพธ์ของแผนชุมชนที่จะตามมาคือ ๑.เกิดความเข้มแข็งในชุมชน ๒.ได้ข้อมูลเพื่อการวางแผนและพัฒนา ๓.ได้แผนเป็นหลักบูรณาการ ๔.ได้บูรณาการงบประมาณในพื้นที่

-สกว.พบว่าการทำบัญชีครัวเรือนคือ “หัวใจของการปลดหนี้” เพราะเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงภาระหนี้สินและรายจ่ายของชุมชน แต่ต้องมีองค์ประกอบร่วมคือ ๑.มีบัญชีครัวเรือน ๒.มีการจัดการหนี้ ๓.ลดต้นทุนการผลิต ๔.รวมกลุ่มทำวิสาหกิจ

-สกว.เน้นการหาข้อมูลแบบ Bottom up เน้นการมีส่วนร่วม และบูรณาการงบประมาณ หลักคิดของ สกว.คือ “พลังความรู้+พลังความร่วมมือ+พลังการจัดการ” จุดสำคัญคือพลังความร่วมมือในการทำวิจัยเพื่อพื้นที่ (ชุมชน) และเวทีวิเคราะห์จัดทำแผนชุมชนเชิงคุณภาพ

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ ต้องมีเป้าหมายร่วม ต้องมีบัญชี (data base) ในเรื่องนั้นๆ และพึงระวังเรื่องความขัดแย้งหรือการแย่งบทบาทกันของภาคีที่มีบริบทและทรัพยากรใกล้เคียงกัน จึงต้องสังเคราะห์บทบาทหน้าที่ของทุกหน่วยงานให้ชัด และทุกฝ่ายต้องตอบตัวเองก่อนว่าจะทำเพื่อใคร ก่อนจะหาประเด็นขับเคลื่อนร่วมกัน

-ภาพรวมของแผนฯ จะต้องมี “ข้อมูล+กลไก+ความร่วมมือ” และที่สำคัญคือจะต้องมี “ตัวตั้งร่วม” (เป้าหมายร่วม) เพราะการบูรณาการคือ “การสานพลัง” ทุกฝ่าย แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเอาพลังนั้นไป “ยกอะไร” ก็ไม่ควรจะทำแผนฯ

-ตัวตั้งร่วมที่ทุกฝ่ายควรให้ความสนใจคือเรื่องน้ำ (น้ำท่วม/น้ำแล้ง) ถ้าน้ำมีความสมดุล จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้มาก เพราะน้ำคือต้นทุนทางการผลิตที่สูงมาก ถ้าจัดการเรื่องน้ำได้ เศรษฐกิจก็จะดีตามมา หากไม่มีน้ำเป็นข้อจำกัดในการทำมาหากิน ทุกอย่างก็หมดปัญหา เมื่อเศรษฐกิจดี ครอบครัวดี สังคมดี สุขภาพก็ดีตามไปด้วย ปัญหาทุกอย่างก็หมดไป แต่การจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำ “จุดจัดการ” จำเป็นจะต้องอยู่ที่จังหวัด ระดับตำบลไม่สามารถแก้ไข

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-ต้องพัฒนา “กลไกจัดการ” สุขภาวะชุมชนก่อน ทุกพื้นที่ปฏิบัติการต้องมีกลไกจัดการความเข้มแข็งของชุมชน

-ข้อมูลของประเด็นเป็นเพียง “ดินปืน” ต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นตัว “จุดชนวน”

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน

-สุขภาวะชุมชนจะดีขึ้นได้ต้องแก้ปัญหาหลักคือด้านเศรษฐกิจ ถ้าทำให้รายได้ของชุมชนสูงขึ้นได้จะรองรับปัญหาต่างๆ ของชาวบ้านได้หมด ไม่ว่าปัญหาความเครียด ปัญหาการอพยพย้ายถิ่นที่กระทบต่อโครงสร้างทางสังคม ฯลฯ แต่วิธีแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจต้องทำกระบวนการทางสังคม เช่นการที่ สกว.ทำโครงการ ABC ซึ่งเป็นกระบวนการทางสังคม แต่ไปมีผลในการแก้ปัญหาปากท้องและหนี้สินของชาวบ้าน โดยเลือกข้อมูลที่มีพลังสูงในการตัดสินใจเป็นตัวผลักดันการขับเคลื่อน

 

 

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
9 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-สสส.มีภารกิจในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อทำให้องค์กรชุมชนหรือทุกส่วนในสังคมหันมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง และ สสส.ก็มีเรื่องที่ลงไปทำกับชุมชนด้วย โดยมีหลักคิดสำคัญว่าทำอย่างไรจะเกิดระบบสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็ง หมายถึงระบบที่ตัวชุมชนสามารถดูแลจัดการระบบสุขภาพของตนเองได้ โดย สสส.จะทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานทางวิชาการต่างๆ

-นอกจากจะมองสุขภาพชุมชนในด้าน Medical แล้ว สสส.ยังให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพที่เรียกกันว่า “สุขภาพสังคม” ด้วย เช่นปัจจัยด้านความยากจน เรื่องของระบบอาหาร เรื่องของจิตใจ เรื่องของสังคม

-ที่ผ่านมามีผู้บริหารระดับท้องถิ่นตื่นตัวเข้าร่วมโครงการกับ สสส.จำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ที่สนใจเข้ามาดูและระบบสุขภาพอย่างบูรณาการหรือครบวงจร ส่วนงานระดับชุมชนในด้าน Medical สสส.ก็พยายามทำงานเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมีพัฒนาการขึ้นมาเป็นลำดับ

-ในอดีต นพ.ประเวศ วะสี ให้โจทย์เราว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดชุมชนสุขภาวะทุกหมูบ้านและทุกตำบล เราจึงไปคุยกับปราชญ์ชาวบ้านจำนวนมาก และคิดว่าหน่วยจัดการที่สำคัญคือระดับชาวบ้าน ก่อนจะเริ่มแผนงานชุมชนสุขภาวะ ๔ ภาค โดยมีโครงสร้างการทำงานต่างกันคือ ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ใช้ NGOs เป็นแกนนำ แต่ภาคอีสานใช้ทีมปราชญ์ชาวบ้านเป็นแกนนำ

-การขับเคลื่อนแผนงานชุมชนสุขภาวะ ๔ ภาคในช่วงต้น สสส.พบปัญหาอุปสรรคในด้านการขยายตัว ทั้งๆ ที่หลักการไปได้ ความพยายามก็มีแนวโน้มดีขึ้น แต่อัตราการขยายตัวของชุมชนสุขภาวะต่ำมาก ทั้งๆ ที่หลักการไปได้ ความพยายามก็มีแนวโน้มดีขึ้น แต่อัตราการขยายตัวของชุมชนสุขภาวะต่ำมาก เราพยายามแก้ปัญหาโดยใช้การจัดการความรู้ชุมชนต้นแบบ และการขับเคลื่อนเชิงลึกในพื้นที่ แต่อัตราการขยายตัวก็ยังไม่ดีขึ้นนัก เราจึงเห็นว่าขบวนการนี้ไม่สามารถประเมินภายใน ๓-๕ ปี

-ต่อมา คุณสมพร ใช้บางยาง (ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ ๓) ได้เสนอข้อค้นพบว่า สสส.จะลงไปทำงานกับหน่วยข้างล่างไม่ได้ ต้องทำงานกับหน่วยจัดการ เราจึงเกิดความคิดใหม่ว่าจะต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาเป็นแกน เพราะหน่วยที่มีทรัพยากรจริงๆ ก็คือ อบต.และเทศบาล ดังนั้นเราจึงเปลี่ยนจุดจัดการมาที่ตำบล และสร้างกลไกการเชื่อมต่อ โดยย้ำว่าจะต้องเอาชาวบ้านมาร่วมคิดร่วมทำ หลังจากนั้นแผนงานจึงขยายตัวอย่างมาก ขณะที่ท้องถิ่นเองก็ปรับเปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิม

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมต้องกำหนด “จุดจัดการ” ให้ชัด ระหว่างหมู่บ้านกับตำบล หากใช้ตำบลเป็นจุดจัดการจะเหมาะสมกว่า ที่ผ่านมาเรื่องของสุขภาพนั้น จุดจัดการจะอยู่ที่อำเภอ ขณะที่ระดับหมู่บ้านนั้นไม่มีกลไกการจัดการ อย่างไรก็ตาม หลังจากมีโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศักยภาพของตำบลก็ยิ่งมีมากขึ้นในการเป็นจุดจัดการ

-กระบวนการพัฒนาคงต้องใช้เวลาเป็น ๑๐ ปีจึงจะเห็นผล หลักการคือต้องกระจายอำนาจให้ชุมชนทำเอง หน่วยงานต่างๆ เป็นเพียงผู้สนับสนุน

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมนี้ควรทำเป็นเฟส เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และหน่วยงานภาคีอาจจะเห็นด้วยทั้งหมด หรืออาจเห็นด้วยเป็นบางส่วน จึงอาจเข้าร่วมทั้งหมด หรือเข้าร่วมในบางส่วนของแผนก็ได้ ดังนั้น จึงควรออกแบบให้มี “พื้นที่นำร่อง” เมื่อสัมฤทธิ์ผลแล้วจึงขยายพื้นที่จุดจัดการตามแผน โดยอาจจะใช้สภาองค์กรชุมชนซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายในระดับหมู่บ้านเป็นตัวหนุนการขับเคลื่อน ประสานกับกองทุน สปสช.

-ยกตัวอย่าง หลักคิดของ “เติ้งเซี่ยวผิง” ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนให้เป็น ตลาดการค้า ด้วยนโยบายเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นในหลายๆ พื้นที่ โดยแต่ละพื้นที่จะมีเงื่อนไขต่างกัน แล้วค่อยศึกษาจุดแข็งจุดอ่อน ก่อนจะกำหนดเงื่อนไขที่ดีและเหมาะสมที่สุดของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ดังนั้น ภาคีจะต้องมาตั้งหลักร่วมกัน หาเป้าหมายร่วมกัน เพื่อไปสู่การยอมรับร่วมกันภายใน ๕ปี แล้วจึงเริ่มแผนระยะต่อไป ทั้งนี้ อาจจะต้องยุทธวิธีหลากหลายตามแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ลองดำเนินการแล้วจึงค่อยๆ ขยายผล สรุปคือต้องขับเคลื่อนด้วยกระบวนการอันยืดหยุ่น เพื่อทดสอบกลไกและโครงสร้างทั้งหมดจนถึงจุดที่มั่นใจ

 

 

คุณดวงพร เฮงบุญพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  11 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-โครงสร้างแผนสุขภาวะชุมชนปี ๒๕๕๖ (ขบวนการขับเคลื่อนประเทศไทยน่าอยู่) ของ สสส.  ประกอบด้วย ๑.แผนงานสนับสนุนการจัดการเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ (ตำบลน่าอยู่) ๒.แผนงานพัฒนาศูนย์บูรณาการด้านการจัดการสุขภาวะชุมชน (ศูนย์บูรณาการ) ๓.แผนงานส่งเสริมการจัดการความรู้และสร้างองค์ความรู้ ๔.แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะและการรณรงค์ (จังหวัดน่าอยู่)

-สสส.สนับสนุนให้ชุมชนจัดการตนเองในการดูแลสุขภาพ ด้วยการใช้ทุนพัฒนาศักยภาพคน เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพไปผลักดันงานบริการทั้งหลายโดยค้นหาทุนและศักยภาพท้องถิ่นด้วยเครื่องมือวิจัย RECAP และสร้างแหล่งเรียนรู้/ปฏิบัติการจริงด้วยภูมิปัญญาของคนในตำบล ควบคู่ไปกับการเปิดศูนย์อบรมระบบข้อมูลตำบลด้วยเครื่องมือ TCNAP และบูรณาการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และศูนย์ประงานงานภาค (ผู้สนับสนุนงานวิชาการและการจัดการเครือข่าย) โดยมีเครื่องมือในการทำงาน ๕ ชิ้น คือ ๑. RECAP ๒. TCNAP ๓.คู่มือทำงาน ๘ ชิ้น ๔.ระบบฐานข้อมูลชุมชน ๕.การประเมินลูกข่ายด้วย ๑๒ ภารกิจ โดยมีนิยามเชิงปฏิบัติการ ดังนี้

๑.แหล่งเรียนรู้ คือ จุดรวบรวมความรู้หรือภูมิปัญญาของคนในตำบล โดยมีกระบวนการคิดและปฏิบัติการจริง มีการสั่งสมประสบการณ์จนเป็นที่ยอมรับจากประชาชนในพื้นที่และภาคี

๒.ศูนย์เรียนรู้ด้านการจัดการสุขภาวะสี่มิติ หรือ “แม่ข่าย” คือพื้นที่ระดับตำบลและในเขต อปท.ที่มีทุนและศักยภาพในการเป็น “แหล่งเรียนรู้” มีผู้รู้และแกนนำที่มีศักยภาพในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันภายในพื้นที่ และสมาชิกเครือข่ายทั้งนี้ “ตัวแม่ข่าย” ซึ่งได้รับทุนจาก สสส.จะต้องจัดการเรียนรู้ให้สมาชิกเครือข่ายในดังนี้ ๑) แผนงานพัฒนาตนเอง ๒) แผนงานเครือข่าย ๓) แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ ๔)แผนงานสื่อสาร

๓.อปท.คือ เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สมัครใจเข้าร่วมกับแม่ข่าย

๔.เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือ การรวมตัวของพื้นที่ในระดับตำบลและจังหวัดที่มีเป้าหมายเพื่อร่วมสร้างพื้นที่ของตนให้เป็นตำบลน่าอยู่และจังหวัดน่าอยู่ โดยเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

๕.ศูนย์ประสานงานภาค คือ ทีมสนับสนุนวิชาการและการจัดการเครือข่าย

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-เรื่องสุขภาวะต้องทำนิยามให้ตรงกันก่อน จึงจะเห็น “เป้าหมายร่วม” เพราะความเป็นจริงหลายหน่วยงานยังไม่ตรงกัน สำหรับของ สสส.คือ ชุมชนจัดการตนเองในการดูแลสุขภาพ ชุมชนต้องจัดการทุนของตนเอง และมีศักยภาพไปผลักดันบริการต่างๆ ประเด็นคือสิ่งที่หน่วยต่างๆ กำลังทำคืออะไร จึงต้องทำให้นิยามให้ตรงกันก่อน เพื่อใช้ขับเคลื่อนในมุมเดียวกัน หากใช้คำนิยามของ นพ.ประเวศ วะสี เป็นตัวตั้งจะง่ายต่อความยอมรับ นอกจากนี้หน่วยงานที่ลงมือปฏิบัติจริงในภาคสนามจริงๆ มีไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สนับสนุนจากทางไกล

-หน้าตาของแผนยุทธศาสตร์ร่วม “ควรเป็นอย่างไร” คงต้องสรุปให้ได้ก่อนว่า “ใครจะเป็นผู้ใช้”

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมไม่จำเป็นต้องหนุนเสริม สสส.แต่ สสส.พร้อมจะหนุนเสริมแผนฯ นี้

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-ต้องออกแบบให้องค์กร/หน่วยงานภาคีหลัก Plug กันให้ได้

-ชาวบ้านอยากให้กระทรวงหลักๆ บูรณาการกันให้มากที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงมหาดไทย (มท.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

-จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ มท.จะลงไปทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน พม.ทำงานวิชาการด้านครอบครัว/ชุมชน/ศูนย์เด็กเล็ก สธ.ก็ให้บริการ เกษตรฯ ก็จะเน้นประชาสัมพันธ์ชาวบ้านใช้สารเคมีตามใบสั่งของบริษัท ส่วน ธกส.ก็มีสองด้านคือ “มารกับนักบุญ” ด้านมารก็จะส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นหนี้ ด้านนักบุญคือเปิดศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้คนที่เป็นหนี้แล้วไม่สามารถปลดหนี้ได้ (ตามคำวิพากษ์วิจารณ์)

 

คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
11 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-คำว่า “ชุมชนสุขภาวะ” ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก หากเปลี่ยนชื่อหรือมีคำขยาย (Motto) เช่น “ชุมชนมั่นคง” หรือ “ชุมชนเป็นสุข” อาจจะง่ายต่อความเข้าใจของชาวบ้าน

-ธกส.เคยพยายามรนรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีต่างๆ แต่ไม่สำเร็จ และโดนต่อต้านจากบริษัทผู้ผลิต ผู้ค้า ตัวแทนขาย จึงเปลี่ยนเป็นการเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านว่า หากทำได้จะเป็นการลดต้นทุนได้มาก และส่งเสริมให้มีวิสาหกิจชุมชนทำปุ๋ยเพื่อสร้างรายได้และลดรายจ่าย แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และมีตัวแปรทางการเมืองตามที่เป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้คือ ธกส.ต้องแบกรับภาระในการขายปุ๋ยเคมีถึง ๔ แสนตัน

-ธกส.ใช้เครื่องมือ Credit scoring ในการประเมินและจัดอันดับวิสาหกิจ ส่วนเหตุปัจจัยการเกิด “หนี้เสีย” ส่วนใหญ่ของของ ธกส.เกิดจากเกษตรกรประสบภัยธรรมชาติ (กระทบการผลิต) ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธกส.มียอดเงินฝาก ๙ แสนล้านบาท

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมน่าจะต้องเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านคิด รู้จักเห็นความสำคัญของตัวเอง รู้จักพึ่งตัวเอง รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองเพื่อการพัฒนา รู้จักการเก็บข้อมูลของดีๆ ในชุมชน ทั้งเรื่องของวัฒนธรรมและทรัพยากร อบต.

-ธกส.พบว่า “แผนชุมชน” เป็นเพียงเครื่องมือเชิงกระบวนการ ไม่ใช่เป้าหมาย ชาวบ้านต้องเข้าใจแผน และอยากทำจริงๆ โดยการทำ “บัญชีครัวเรือน” จะทำให้ชาวบ้านเห็นค่ารายจ่ายที่จำเป็น น้อยกว่ารายจ่ายที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้การพัฒนาชุมชน “ปัญหาและโจทย์” ต้องมาจากชุมชน ต้องมีข้อมูลจริง อย่าใช้ความรู้สึก ทั้งควรเลือกปัญหาที่ไม่ใหญ่และแก้ได้เร็วก่อน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ส่วนการเลือกประเด็นปัญหาต้องใช้หลัก Priority เมื่อคิดแล้วก่อนจะลงมือทำต้องมี “แผนปฏิบัติ” (Action plan) ด้วย

-ธกส.พบว่าประเด็นปัญหาใหญ่ร่วมคือ “การทำให้คนมีพออยู่พอกินก่อน”และยืนยันว่า ธกส.นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างได้ผลจริง ตามโครงการที่ได้จำแนกการพัฒนาหมู่บ้านเป็น ๓ ระดับ คือ ขั้นที่ ๑.ทำเกษตรพออยู่พอกิน ขั้นที่ ๒.ตั้งกลุ่มพัฒนาคนและชุมชน ขั้นที่ ๓.เชื่อมกับแหล่งธุรกิจและทุนภายนอก ทั้งนี้ การพัฒนาตามแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องพัฒนาไปตามลำดับ ห้ามข้ามขั้นตอน

-สำหรับผู้ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้แล้วประสบความล้มเหลว คือผู้ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง หรือทำด้วยความใจร้อน หรือไม่ได้ให้ชาวบ้านเป็นคนคิด เป็นคนทำ แต่ตนเองอยากเข้าไปทำ อยากเข้าไปพัฒนาชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ได้พัฒนาตัวเอง

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-ต้องทำให้หน่วยงานภาคีเข้าใจร่วมกันว่า “เราจะทำเพื่อชาวบ้าน ไม่ใช่ทำเพื่อหน่วยงาน” คือการเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เพราะในการทำงานนั้น ทุกครั้งนั้นเมื่อเดินไปถึงจุดทางแยกที่เราจะต้องเลือกระหว่าง “ทางที่หน่วยงานเราได้ประโยชน์ แต่จะสร้างปัญหาหรือภาระแก่ชาวบ้าน” กับ “ทางที่หน่วยงานเราไม่ได้ประโยชน์หรืออาจเสียประโยชน์ แต่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์” ถ้าทุกหน่วยงานตกลงหลักการตรงนี้ได้ ทุกอย่างก็ง่าย จากนั้นค่อยเอาแผนของทุกหน่วยงานมากาง และควรเลือกเป้าหมาย (ชุมชน) ที่มีความพร้อมจะ “ระเบิดจากภายใน”

-หน่วยงานภาคีคงต้องคิดในทางเดียวกัน อาจจะแบ่งพื้นที่กันดูแลก็ได้ แต่ต้อง Monitor ร่วมกัน และใช้เครื่องมือประเมินร่วมกัน

-อาจจะต้องมีทีมหนึ่งที่คอย Monitor ภาพรวม คอยให้กำลังใจและไปช่วยประสาน อะไรที่มันจะต่อกันเพื่อเสริมเติมกันได้ เพราะสภาพการณ์มันเหมือนนักมวยที่กำลังชกอยู่นั้น บางครั้งคิดเองไม่ออก ต้องมีคนข้างๆ เวที คอยสังเกตุการณ์คู่ต่อสู้ คอยดูภาพรวมต่างๆ รอบๆ เวทีว่าใครมีปัญหาเราก็จะเข้าไปหนุนเสริม คอยช่วยแก้ปัญหาให้เขาบางขึ้น

 

 

 

นพ.อําพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 8 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-ระบบสุขภาวะชุมชน พัฒนาขึ้นมาจากรากฐานของ “ระบบสุขภาพชุมชน” (Community Health System) ซึ่งเรามักจะคิดถึงแต่เรื่องบริการทางการแพทย์และสาธารณะสุข คือ โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลเล็ก สถานีอนามัย (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) อสม.และสาธารณสุขมูลฐาน เป็นต้น

-เนื้อแท้ของคำว่าระบบสุขภาพ หมายรวมถึง “กาย-ใจ-สังคม-จิตวิญญาณ” ระหว่างปี ๒๕๔๐ – ๒๕๕๐ แนวคิดเรื่องสุขภาพจึงปรับสู่การ “สร้างนำซ่อม” จนมีการออกพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ระบบสุขภาพของไทยจึงได้พัฒนาสู่ความเป็น WELL BEING (องค์รวมของสุขภาพ ๔ มิติ) และ Quality of Life คำว่าระบบสุขภาพจึงมีความหมายเกือบเทียบเท่า “สุขภาวะ” ทำให้มีระบบสาธารณสุขบริการถึงบ้าน เช่น บริการโรคเรื้อรัง บริการคนพิการ ผู้ป่วยทางจิต และผู้สูงอายุ

-กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ระบบสุขภาพชุมชนของไทยได้พัฒนาไปมากด้วยบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข โดยระยะหลังมีหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกมากมาย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.)

-การพัฒนา “แผนแม่บทชุมชน” กลายเป็นเครื่องมือทำให้ชาวบ้านรู้จักวิเคราะห์ตนเอง ให้รู้ถึงหนี้สินครัวเรือนเรื่องรายรับรายจ่าย (บัญชีครัวเรือน) ก่อนจะพัฒนาสู่การจัดตั้ง กองทุนสัจจะออมทรัพย์ และกองทุนสวัสดิการชุมชน สิ่งเหล่านี้มีผลสัมพันธ์ต่อเรื่องสุขภาพ ทั้งในทั้งเรื่อง “มิติคน/มิติกาย/มิติใจ/มิติของสังคม”

-ดังนั้น คำว่า “ระบบสุขภาพชุมชน” จึงมี “ท้องถิ่น/ท้องที่/ชุมชน”เป็นตัวละครด้วย ไม่ได้จำกัดเฉพาะแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-ความคาดหวังต่อของแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ คือ ๑.ได้แผนนำเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเพื่อรับฟังความเห็นตามกระบวนการ ๒.สร้างความเป็นเจ้าของร่วม ๓.รู้ว่าจะเดินหน้าไปอย่างไร โดยไม่ต้องหาเงินมาใหม่ (ไม่ใช่แผนหาเงิน) และไม่ต้องรอให้ Top Down จึงจะสามารถขับเคลื่อนงาน ๔.เป็นแผนระยะสั้น ๓ – ๕ ปี และมีการทบทวนทุกระยะ

-“จุดจัดการ” ควรอยู่ที่ตำบล สำหรับในเขตเมืองควรกำหนดเป็น “กลุ่มพื้นที่”

-เป้าหมายคือ การทำซ้ำทำเสริมในชุมชน สร้างความร่วมมือและความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในลักษณะ Win Win Solution ความละเอียดของแผน (content) ไม่สำคัญเท่ากับการทำให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันอย่างแท้จริง

-ความละเอียดของแผนยังไม่สำคัญเท่ากันการร้อยคนเข้ามาใช้แผนร่วมกัน และต้องสะท้อนถึงความรู้สึกว่าไม่ใช่แผนของ สช.หรือของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หากแต่เป็นแผนร่วมของหน่วยงานภาคี โดยมี “ขบวนสมัชชาสุขภาพ” เป็นตัว Endorse (ตรงนี้คือหัวใจ) เพราะในขบวนการสมัชชาสุขภาพนั้นมีคนในพื้นที่ร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น ความร่วมมือจะเกิดถ้าเขารู้สึกว่าจะได้ประโยชน์จากแผนนี้ คือทำให้ชุมชนของเขาเกิดความเข้มแข็ง

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ

-หัวใจสำคัญของแผนฯ คือต้องออกแบบว่า “จะขับเคลื่อนอย่างไร” ?

-ควรมีกลไกเชิงเครือข่ายร่วมกัน เช่น มีกองธุรการร่วม ต้องให้ทุกภาคีมีที่ยืน มีพื้นที่ มีบทบาท เป็นเจ้าของร่วมแบบ Win Win และต้องมี Commitment

-ถามว่าจำเป็นต้องให้รัฐบาลเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ หรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แต่ในทางปฏิบัติคงไม่มีปัญหาถ้าจะต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการ เพราะว่านายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ ยังเป็นเรื่อง Positive ไม่ใช่ Negative

 

 

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล 8กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-ปี ๒๕๕๓ – ๒๕๕๔ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันกำหนดประเด็นการพัฒนาระบบสุขภาพในมิติ “สุขภาวะ” และพัฒนาเป็น “แผนงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน” ที่มีทั้ง ๖ องค์กรร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมลงทุน

-แผนงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เป็นโครงการ ๕ ปี (๒๕๕๔ – ๒๕๕๘) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือกันขององค์กรสุขภาพ (๕ ส.) ในการศึกษา/ส่งเสริม/สนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งด้านสุขภาพของชุมชนในระดับตำบลและพื้นที่ เพื่อจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ขยายผลสู่การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.)เป็นหน่วยประสานงานกลาง

-แผนงานพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน มีเป้าหมายเพื่อเสริมพลังอำนาจและความเข้มแข็งของชุมชนในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ให้สามารถตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย (ตำบลที่สนใจกว่า ๒๐๐ แห่ง) ในเชิงชุมชนจัดการสุขภาพตนเอง เพื่อก้าวสู่การเป็น “ชุมชนสุขภาวะ” ต่อไป

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-ควรยกระดับคุณภาพการจัดการตนเองให้ชุมชนมีความเข้มแข็งโดย

๑.ต้องมีเป้าหมายร่วม

๒.มีทีมนำร่วม (ไม่ควรมีทีมนำเดี่ยว/เพื่อความยั่งยืน)

๓.มีระบบข้อมูลและการจัดการข้อมูล (ข้อมูลคือเครื่องมือที่ทำให้รู้ได้ในทุกปัญหา มองเห็นทุนของชุมชน และคิดได้ว่าจะเดินหน้าอย่างไร)

๔.มีระบบจัดการภายในชุมชน คือ จัดการคน จัดการเงิน จัดการทรัพยากรต่างๆ ๕.มีระบบจัดการภายนอก (ตอบรับกับองค์กรภายนอก) ๖.มีระบบการเรียนรู้ต่อเนื่องของชุมชน

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมต้องมีข้อมูล (Database) และเป้าร่วม (Common goal) เพราะข้อมูลจะทำให้รู้ถึงปัญหาและวิธีแก้

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-เป็นเรื่องยากที่จะทำให้หลายๆ หน่วยงานจะมาทำทุกเรื่องร่วมกัน ดังนั้น บางเรื่องควรทำเป็น “ข้อตกลงร่วม” (Core principle) บางเรื่องควรทำเป็น “ประเด็นร่วม” หรืออาจจะใช้แนวทาง “แบ่งพื้นที่ทำงาน” (เพื่อขจัดความทับซ้อน)แต่เป็นการแบ่งพื้นที่โดยมีเป้าหมายและเครื่องมือร่วมกัน

-แนวทางที่ สพช.ทำร่วมมากับองค์กร ๕ ส.คือ เราจะเริ่มจากการนั่งดูว่าภายใต้แผนของเขามีอะไรจะเป็นตัวร่วมกันได้บ้าง ทั้งเชิงเป้าหมายร่วม และเชิงมาตรการร่วม (บางมาตราการก็ได้) อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นเป้าหมายร่วมลอยๆ โดยไม่มีอะไรรองรับ ก็จะไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น เราต้องไปหาตัวแกนที่ Plug กันให้ได้ แล้วขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ ทุกโครงการจะใส่ภูมิปัญญาและวิธีคิด ต้องมองลงไปข้างล่างจริงๆ ว่าใครเป็นตัวลงมือ ใครเป็นตัวเริ่ม และเราจะเราจะไปต่อจิ๊กซอว์ได้ตรงไหน

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน

-คือการที่ประชาชนอยู่ดีมีสุข พึ่งตนเองได้ มีความรู้ความสามารถดูแลตนเองได้ มีอาหารเพียงพอ ไม่มีหนี้นอกระบบ ครอบครัวอบอุ่นปลอดภัย ผู้ด้อยโอกาสได้รับการดูแล ที่สำคัญคือ “คิดเป็น-ทำเป็น”

-ชุมชนสามารถจัดการสุขภาพตนเองได้ ดูแลกันเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีข้อตกลงร่วม เห็นภาพอนาคตร่วม มีข้อมูลและสามารถจัดการกับทรัพยากรภายในชุมชน มีกระบวนการเรียนรู้และจัดการ/ต่อรองกับกลไกภายนอกได้อย่างรู้เท่าทันในเชิงการรวมกลุ่ม ร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ

-การวัดระดับคุณภาพของชุมชน หากจะพิจารณาในบางมิติ เช่น การไม่เป็นหนี้ คงไม่อาจสะท้อนว่าชุมชนนั้นเข้มแข็งแล้วหรือไม่ กล่าวคือ ในความเข้มแข็งจะต้องมี “กระบวนทัศน์” ด้วย ดังนั้น สพช.เห็นว่าชุมชนจะต้องมีความสามารถจัดการกับปัญหาทั้งระบบภายนอกและระบบภายในได้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นชุมชนเข้มแข็งจริง

 

คุณสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ ๓ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 10 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-การเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชนฐานล่างในปัจจุบันดีขึ้นมาก แต่โดยภาพรวมของบริบทการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนหรือชุมชนเข้มแข็งในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแปลงไปมากคือ ความเข้มแข็งในอดีตส่วนใหญ่เกิดโดยการที่รัฐเป็นผู้สร้าง เป็นผู้พัฒนาชุมชนฐานล่าง แม้จะพัฒนาถูกบ้างผิดบ้างก็ตาม แต่ตัวแปรในเรื่องระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบัน ทำให้รัฐมุ่งแต่พัฒนาเศรษฐกิจ โดยทอดทิ้งมิติทางสังคมและการเมืองโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ฐานทางสังคมในปัจจุบันจึงเป็นภาระของชุมชนกับท้องถิ่น จะเข้มแข็งหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับชุมชนกับท้องถิ่น รัฐอาจจะยังมีส่วนสร้างเสริมอยู่บ้าง แต่ก็มีบทบาทน้อยลงกว่าเดิมมาก นอกจากนี้วิถีสังคมวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ผูกรัดกันด้วยวิถีครอบครัว/เครือญาติ ก็ถูกระบบทุนนิยมดูดคนออกจากครอบครัวและชุมชนมาสู่ระบบแรงงาน/โรงงาน เป็นการบ่อนทำลายฐานวัฒนธรรมเดิมๆ ของชุมชน ดังนั้นความเข้มแข็งจะเกิดได้ ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนต้องเข้มแข็งด้วยตัวเองเป็นหลัก

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-หัวใจของแผนยุทธศาสตร์ร่วมคือ หน่วยงานภาคีทั้งหมดต้องมีส่วนร่วมคิด/ร่วมทำตั้งแต่ต้น รวมทั้งท้องถิ่นด้วย เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วม อาจเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลโดยประสานพูดคุยกับสำนักนโยบายและแผนของกระทรวงภาคีและองคาพยพที่เกี่ยวข้อง

-ชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศ ชุมชนจะเข้มแข็งได้ต้องพึ่งท้องถิ่น/ท้องที่ ดังนั้น จุดจัดการร่วมควรอยู่ที่ตำบล/เทศบาลเพราะเรื่องคุณภาพชีวิตเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้อง (อปท.) ไม่ใช่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมต้องหา Mission ร่วมให้ได้ก่อน แล้วจึงค่อยหาแนวปฏิบัติร่วม เพราะแม้แต่ “ประเด็นร่วม” แต่ละฝ่ายก็ยังคิดไม่เหมือนกัน

-ทรัพยากรฐานข้อมูล (Database) สามารถร่วมกันได้ แต่ต้องสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลก่อน

-ควรเลือกใช้ “ตัวชี้วัดร่วม” ที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน เพื่อป้องกันความขัดแย้ง

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน

-สุขภาวะที่ดีจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง นำไปสู่ประชาธิปไตยที่ดี สังคมเข้มแข็ง ชุมชนมีสุข สุขภาพของประชาชนก็ย่อมจะดี

รศ.ดร.ปาริชาติ วลัยเสถียร อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 12 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-เรื่องของสุขภาวะชุมชนในมุมมองของชาวบ้านและชุมชน ยังมีข้อจำกัดไม่น้อย คือ ยังไม่เข้าใจ และยังนึกถึงว่าเป็นของพวกหมอและสาธารณสุข

-อาหารการกินในปัจจุบันสร้างปัญหาต่อสุขภาวะมาก ชุมชนเมืองส่วนใหญ่มีปัญหา “โรคหาเรื่องให้ตัวเอง”

-ปัญหาใหญ่ในภาคเกษตรคือ ต้องลดการใช้สารเคมี ประเทศไทยเผชิญกับปัญหา “แผ่นดินอาบยาพิษ” เกษตรกรบางคนบอกว่าไม่เคยใช้สารเคมีทำเกษตร แต่กลับตรวจพบว่ามีสารเคมีตกค้างในผลผลิต สะท้อนให้เห็นว่ามันมีสารเคมีตกค้างอยู่ในน้ำหรือในดิน

-ทำอย่างไรจะให้กรมส่งเสริมการเกษตรเลิกนำเข้าสารเคมีให้ได้ สุขภาพคนไทยจะดีขึ้นอีกมาก มันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เรื่องดิน เรื่องน้ำ โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า คือตัวสำคัญ ประเด็นนี้จับได้เลย สารพวกนี้สมควรเลิกนำเข้าได้แล้ว ทั่วโลกเขาเลิกใช้กันหมดแล้ว แต่ประเทศไทยเรายังยืนยันที่จะใช้มันอยู่ ถ้าเราห้ามนำเข้าได้ จะลดปัญหาสุขภาพไปได้มาก

-สังคมไทยถูกครอบงำด้วยโครงสร้างเชิงอำนาจมาอย่างยาวนาน ดังคำกล่าวที่ว่า “อำนาจคือพลังงานที่กระจุกตัวและป่วย” ตัวผลประโยชน์กับอำนาจมันซับซ้อนสับสน ประชาชนส่วนใหญ่ก็เชื่อที่จะถูกครอบงำ/มอมเมา และยังมีหลายก๊ก/หลายหมู่ จึงโยงกันเป็นวิถีจนหารอยต่อไม่เจอ

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมต้องให้ความสำคัญกับชุมชนทุกระดับ/ประเภท (ชนบท-เมือง) รวมทั้งชุมชนในเชิง Activity เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร และเรือนจำ เป็นต้น

-ปัจจัยหลักคือต้องมองวิกฤตใกล้ตัว ต้องเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเก็บข้อมูลเอง/ออกแบบเอง/สำรวจและคำนวณตัวเลขให้เห็น/ต้องมีข้อมูล/ทางเลือก/ทางออก/ชวนคิด/ชวนคุย

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมอาจจะเดินคู่ไปกับขบวน “จังหวัดจัดการตนเอง”โดยเฉพาะ “โมเดลอำนาจเจริญ” เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่น่าสนใจ

-ความสุขสูงสุดในทางพุทธคือ อิสระสูงสุดในการคิดและจัดการตนเอง

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-หน่วยงานภาคีไม่มีทางรวมกันได้ หากไม่เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ควรใช้ระบบ Community Self-Management โดยให้สภาองค์กรชุมชนเป็นเจ้าภาพ เพราะเป็นองค์กรที่ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ปัจจุบันจัดตั้งไปแล้วใน ๔,๐๐๐ กว่าตำบล (กว่า ๘๙,๐๐๐ สภา) จาก ๗,๐๐๐ กว่าตำบลทั่วประเทศ

-ควรจะต้องมีกลไกการจัดการทั้งระดับตำบลและระดับจังหวัด โดยสามารถใช้ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนจังหวัด Endorse แผนยุทธศาสตร์ร่วม

-Database หลอมรวมกันได้ยาก แต่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ด้วย Core Indicators

-มีข้อสังเกตว่าทุกวันนี้ชาวบ้านเขาเซ็งกับแผนชุมชนมาก เพระเขาต้องเสียเวลามากในการหาข้อมูลและเขียนโครงการ เสร็จแล้วมันเดินได้เฉพาะส่วนที่ชาวบ้านทำเอง แต่ส่วนที่หน่วยงานภายนอกเป็นเจ้าภาพมันไม่เดิน เพราะขาดงบประมาณ จนชาวบ้านต้องถามว่าราชการมีงาน (งบฯ) อะไร เขาจะได้เขียนโครงการมาเสียบให้หมดเรื่องหมดราวไป ไม่ต้องมาเสียเวลาชวนคิดชวนคุย ชวนเขียน แล้วก็กองมันไว้อย่างนั้น อันนี้คือสิ่งที่ชาวบ้านเขาเบื่อมาก เพราะมีแผนแล้วก็ไม่มีใครมาตอบสนองเขาได้ นั่นคือปัญหา

 

 

ดร.เสรี พงศ์พิศ อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน  15กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-ปัญหาเฉพาะหน้าในชุมชนส่วนใหญ่คือ ความไม่มั่นคง ความไม่ลงตัวของอาชีพและรายได้ ความไม่สมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่าย จนกลายเป็นปัญหาหนี้สิน และเชื่อมโยงหนี้นอกระบบ เป็นความทุกข์จากวงจรอุบาทว์ การเป็นหนี้นอกระบบแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีทางออก จึงยอมรับการถูกเอาเปรียบโดยไม่มีทางเลือก เราต้องช่วยให้เขาได้เรียนรู้และแก้ปัญหาให้ตนเองได้ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อให้เขาได้ใช้ความรู้ ใช้ปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพ

-ปัจจุบันทุกตำบลมี “แผนแม่บทชุมชน” ปัญหาคือชุมชนส่วนใหญ่ยังยังขาดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม จึงจัดการทุนของตนเองไม่ได้ ขาดการเรียนรู้ที่จำเป็นในการสร้างสำนึกชุมชน เพื่อให้ค้นพบรากเหง้าตนเอง จึงไม่มีโอกาสกำหนดทางเดินของตนเอง ชุมชนไทยไทยถูกครอบงำมานาน จึงอยู่ในสภาพเสมือน “กึ่งหลับกึ่งตื่น”

-ต้องสร้างสำนึกชุมชนโดยการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชนและของตนเองว่า เป็นใครมาจากไหน เพราะถ้าคนไม่มีอดีตก็จะไม่มีอนาคต คนเราหากไม่รู้ที่มา ก็จะไม่รู้ที่ไป การค้นพบรากเหง้าตนเอง สามารถสร้างสำนึกให้กับชุมชนได้ แต่เราเหมือนมีประวัติศาสตร์ชาติที่ทำให้ชุมชนขึ้นอยู่กับชาติอย่างเดียว ไม่ได้ขึ้นกับตัวชุมชนเลย บางครั้งความสุดขั้วนั้นทำให้คลั่งชาติ ไปเลยในสมัย จอมพล ป. เพราฉะนั้น ณ วันนี้เราจะทำอย่างไรให้ชุมชนรู้ว่าตนเองเป็นใคร มีที่มาและทุนอย่างไร จะได้ไม่ถูกครอบงำให้ “กึ่งหลับกึ่งตื่น”

-ต้องปลดปล่อยชุมชนจากการถูกครอบงำแบบเดิม ให้ชุมชนได้กำหนดทางเดินเองว่า “จะต้องเดินไปทางไหน” โดยการเรียนรู้คนเฒ่าคนแก่ การจัดเวทีนั้นสำคัญมาก อย่าด่วนก้าวกระโดดไปทำเรื่องบัญชีครัวเรือน ต้องเริ่มที่ปัญหาและความต้องการของชุมชน/ชาวบ้าน

-แผนแม่บทชุมชนคือการเรียนรู้ที่มาและทุนของตนเอง เรียนกับสภาพการณ์ปัจจุบันว่าเรากินอยู่อย่างไร ใช้จ่ายอะไรบ้าง นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาทางลดค่าใช้จ่ายอย่างไร สิ่งใดจะลด/ละ/เลิก สิ่งใดจะทำเอง/ปลูกเอง สิ่งใดทำเป็นกลุ่มวิสาหกิจได้ เกิดกระบวนการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อตอบสนองตนเองเป็นหลัก

-การทำ “บัญชีครัวเรือน” จะทำให้คนคิดได้ และจะนำไปสู่ “วิสาหกิจชุมชน” เพื่อตอบโจทย์ของ นพ.ประเวศ วะสี ที่ว่า “ทำอย่างไรจะมีระบอบเศรษฐกิจท้องถิ่น ไม่ต้องขึ้นกับส่วนกลางอย่างเดียว”

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วม

-เมื่อจะพูดแบบองค์รวม ต้องไม่กลัวที่จะใช้คำว่า“สุขภาวะชุมชน”

-โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรจะให้ชุมชนเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน ปัญหาเฉพาะหน้าของชุมชนส่วนใหญ่คือ ปัญหาเศรษฐกิจ/หนี้สิน/อาชีพ/หนี้นอกระบบ

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมต้องเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เอาชุมชนเป็นเป้าหมายร่วมแต่ชุมชนไม่ได้มีแค่ชนบท ต้องไม่ลืมชุมชนโรงงาน ชุมชนเมือง และชุมชนกลุ่มอาชีพ

-อาจทำเป็นยุทธศาสตร์ร่วม (Common Strategy) แบบที่องค์การสหประชาชาติเคยทำในประเทศกัมพูชาก็ได้ หาก สช.สามารถเชื่อมร้อยและเป็น Catalyst เพื่อสร้างความเข้มแข็ง

-หัวใจสุขภาวะชุมชนอยู่ที่การฟื้นฟูทุนทางสังคม คือความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นไว้วางใจกันในชุมชนท้องถิ่น ต้องจัดการการเรียนรู้แบบใหม่ที่ชาวบ้านได้ “กำกึ๊ด” (ความคิดของตน)

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-หัวใจของแผนฯคือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชุมชน ช่วยให้หายจน ช่วยให้เกิดปัญญา โดยไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง กลไกจัดการที่ตำบลควรเป็นเครือข่าย ไม่ควรใช้หน่วยใดแบบตายตัว

-หลักการร่วม ๑.ชุมชนต้อง Survive/Sufficient/Sustain ๒.ต้องใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งจริงๆ ๓.แผนชุมชนต้องจำแนกงานให้ชัด ที่ทำได้เอง ที่ อปท.ทำและที่ราชการต้องช่วย ๔.ก่อนจะก้าวกระโดดไปทำบัญชีครัวเรือน ต้องรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นและทุนทางสังคมของตนด้วย

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน

-ตัวอย่าง เช่น ทำอย่างไรจะสร้างความตื่นรู้แก่ในชุมชนว่า ขนมกรุบกรอบนั้นอันตรายเพราะมีไขมันกลายรูป (Trans Fat) ที่อัดไฮโดรเจน “เพื่อให้สินค้าอยู่ได้นาน แต่คนกินจะอยู่ได้ไม่นาน” และเป็นรายจ่ายที่แพงมาก โดย สสส.พบว่า “คนไทยเสียค่าขนมเด็กปีละแสนห้าหมื่นล้านบาท” แต่คนที่กินมากคือพ่อแม่ เวลาออกจากร้านสะดวกซื้อ “แม่จะถือถุงใหญ่กว่าลูก” นี้คือผลพวงจากการถูกครอบงำด้วยค่านิยมเรื่องความสะดวก และอยากอวดค่านิยมว่าตนเองทันสมัย เป็นผลจากการถูกครอบงำโดยสื่อที่ทำให้คนเสพติด

 

 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
17 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-ภารกิจของ สปสช.เป็นเรื่องสุขภาพระดับปัจเจก กองทุนสุขภาพตำบลก็มีขอบเขตแค่ระบบสุขภาพ เกินกว่านั้น สตง.จะไม่ยอม

-หน่วยงานด้านสุขภาพต่างก็มีแนวคิดและความพยายามจะบูรณาการ แต่มันเกิดยากเพราะทุกฝ่ายล้วนมีข้อจำกัดของตน

-การจะยกระดับสุขภาวะชุมชนควรใช้ อปท.เป็นจุดจัดการ สำหรับกองทุน สปสช.เป็นเพียงเครื่องมือ โดยกองทุนสุขภาพตำบลมีระบบจัดการข้อมูลเพื่อทำแผนและส่งรายงานกิจกรรมและการเงิน ผ่านโปรแกรมของ ธกส. นอกจากนี้ยังมีระบบประเมินกองทุนจาก สวรส./สวปก./มหิดล/ดร.ดิเรกฯ

-สปสช.ตำบล มุ่งจับมือกับท้องถิ่นให้เกิดสุขภาวะชุมชน โดยจะให้ทุนแก่ผู้ที่มีแผนแม่บทชุมชน, ได้จับมือกับ สสส.ในโครงการระยะสั้น และกำลังจะจับมือกับกองทุนสวัสดิการสังคม (พอช.) ๔,๕๐๐ ตำบล ซึ่งมีเงินอยู่ ๓,๕๐๐ ล้านบาท ปรากฏว่าเริ่มมีปัญหากลไกและวัฒนธรรม แต่ยังโชคดีที่มีจุดร่วมกันคือชุมชน

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-ประการที่ ๑.การทำงานจริงๆ ในพื้นที่ หน่วยงานที่เข้าไปไม่ได้เป็นเจ้าภาพหลัก เป็นเพียงฝ่ายสนับสนุน  และแต่ละหน่วยงานก็มีแนวคิด มีเป้าหมาย มีกฎหมาย มีงบประมาณ มีความผูกพัน มีมุมมองต่างๆ โอกาสที่ตัวเองอาจะสลายสิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ยาก แต่มันพอทำได้ ถ้าเราสามารถที่จะใช้กลไก สร้างแนวคิดเรื่องการบูรณาการ คืออาจจะเป็นยุทธศาสตร์ร่วมทำให้มันชัดขึ้นเรื่อยๆ และเข้าไปในใจคนทำงานเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันจริงๆ

-ประการที่ ๒.ถ้าจะทำก็ควรเป็นแผนกว้างๆ อย่าลงลึก เป็นแผนที่บอกทิศทาง บอกถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ในประเด็นของบูรณาการร่วมกัน มีเงื่อนไขว่าทุกหน่วยงานที่มีข้อจำกัดตัวเอง จะต้องออกแบบตนเองเป็น เพื่อให้เอื้อต่อการไปบูรณาการและพัฒนาจริงๆ ในพื้นที่ คืออย่าไปบูรณาการในแผน แต่ต้องไปบูรณาการในแง่ของความคิด แง่ของการมองสถานการณ์และทิศทาง และไปทำให้เกิดการบูรณาการจริงๆ ในพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือในกลไกของประชาคมในพื้นที่

-แผนเชิงทิศทางหลวมๆ ต้องใช้ระยะยาวพอสมควร ถ้าสั้นมากบางหน่วยงานก็ปรับตัวไม่ทัน จะติดอยู่ในเรื่องแนวคิดกับความต้องการร่วม แต่เวลาก็ไม่ควรจะยาวเกิน ๓ – ๕ ปี แล้วก็คุยกันไปเรื่อยๆ ว่า ๓ ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คือจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการสร้างความรู้ร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายและทิศทางที่จะเดินต่อไปในช่วงเวลาหนึ่ง

-ในการเสริมสร้างชุมชนจัดการตนเองนั้น ทุกหน่วยงานต่างมีดีกรีของตน แต่ถ้าเป็นเรื่องของการสร้างแนวคิดว่าควรจะมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้เกิดขบวนการนี้ ก็ควรปล่อยให้มันเป็นไปโดย การสร้างความรู้สึกร่วมบวกกับการเปิดไฟเขียว และไม่ทำอะไรที่กลายเป็นอุปสรรคแก่ชุมชนเท่านั้น

-สรุป คือ ๑.ควรเป็นแผนกว้างๆ ที่บอกทิศทาง เพื่อเน้นให้เกิดบูรณาการจริงในพื้นที่ ๒.ควรเป็นเครื่องมือเชิงนามธรรม เชิงหลักคิดมากกว่ากำหนดเป้าหมายรูปธรรมเชิงบีบบังคับ ๓.ควรมีเงื่อนไขหลวมๆ เพื่อรองรับการเข้าร่วมของหน่วยงานที่มีข้อจำกัดในการเชื่อมโยง ๔.หากเป็นแผนรูปธรรมก็ควรจะเป็นระยะสั้นๆ ๓-๕ ปี โดยมี Commitment

-หากตั้งเป้าหมายยกระดับชุมชนสุขภาวะ (เข้มแข็ง+จัดการตนเอง) จาก ๘,๐๐๐ ตำบลให้ได้ร้อยละ ๕๐ ภายใน ๕-๑๐ ปี น่าจะเป็นไปได้

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-การบูรณาการต้องใช้เครื่องมือนามธรรม อย่ารอรูปธรรม

-ประเด็นร่วมที่สำคัญในปัจจุบันคือการฟื้นฟูการป้องกัน การดูและคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นทั้งมิติทางสุขภาพและสังคม

-แผนยุทธศาสตร์ที่ไม่เน้นเนื้อหา (Content) แต่ต้องการลากยาวไปช่วงหนึ่ง เพื่อให้เกิดขบวนการมีส่วนร่วมนั้นทำได้ แต่ต้องไม่หวังความก้าวหน้ามากนัก ถ้าหวังมากจะเป็นทุกข์ การจะบูรณาการได้จริงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่ ในชุมชนและท้องถิ่น แต่จุดที่มักจะเป็นปัญหาก็คือ หน่วยงานทั้งหลายมักมีข้อจำกัด และเอาข้อจำกัดตัวเองไปสู่ชุมชนจนเกินไป ถ้าให้เขาไปทำแผน ก็จะได้แผนแบบแกนๆ

 

ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  18 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-ปัจจุบันมีชุมชนหลากหลายรูปแบบตามสภาพการพัฒนาเศรษฐกิจ/การค้า เช่นชุมชนชายแดน ชุมชนชายฝั่ง ชุมชนชายขอบ ชุมชนแรงงานต่างด้าว หน่วยงานต่างๆ ใส่ใจกับชุมชนเหล่านี้มากน้อยเพียงใด?

-รูปแบบชุมชนของเราจะมีความหลากหลายยิ่งขึ้นเมื่อก้าวสู่ “ประชาคมอาเซียน” จะเกิดชุมชนประเภทประชากรแฝง (ข้ามชาติ)“ยุทธศาสตร์สุขภาวะ” จะปฏิเสธความหลากหลายของชุมชนไม่ได้

-นอกจากนี้บางชุมชนชาวไร่ชาวนาก็ไม่ทำเกษตรแล้ว หันมาเป็นลูกจ้างแรงงาน เราจะจำแนกอย่างไรเมื่อเกิดภาพซ้อนในชนบท ทั้งชุมชนเกษตรดั้งเดิม ชุมชนประมงดั้งเดิม ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรทะเลและทรัพยากรชายฝั่ง

-ยุทธศาสตร์ร่วมนี้จำเป็นต้องใช้ฐานเชิงนิเวศในการพูดคุยในเวทีกันด้วย เพราะคนเราอยู่ใกล้กันต้องอาศัยทรัพยากรร่วมกัน ต้องอนาทรกัน บางคนอาจไม่ทันคิดว่าเราใช้อากาศหายใจร่วมกันอยู่ ยุทธศาสตร์ร่วมจะต้องอิงบนโจทย์ความอ่อนแอทางวิชาการของเราที่มีจุดบอดไม่น้อย ความจริงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย  ต้องมาร่วมถกถึงอนาคตด้วยวิชาความรู้อิสระ จะต้องทำงานร่วมกับสังคม แต่มันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ชะตากรรมจึงไปตกที่ชุมชน

-สภาวิจัยแห่งชาติ ก็ไม่ใส่ใจยุทธศาสตร์สุขภาวะชุมชน ทั้งๆ ที่เป็นต้นน้ำของปัญหา ไม่ใช่กลางน้ำ หรือปลายน้ำ สภาพที่เป็นอยู่มันเกิดชุมชนที่แหว่งตรงกลาง  เพราะมีคนเฒ่าคนแก่กับหลาน มันคือเมืองเจริญ ชุมชนเสื่อม ชุมชนแตกสลาย นักวิชาการเหล่านี้คงคิดว่าพัฒนาไป ๑๐ ปีข้างหน้า คงจะหาวิธียึดโยงกันไปในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัยได้

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมต้องสร้างกุศโลบาย มีเวทีฟอรัมให้ภาคีได้พูดคุยกันอย่างต่อเนื่องโดยไม่ยึดติดกรอบเงื่อนไขของทุกฝ่าย เพื่อค่อยๆ หลอมความเป็นเจ้าของร่วมกันโดยปริยาย และควรดึงภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น สภาหอการค้า และสมาคมธนาคาร เป็นต้น

-ยุทธศาสตร์ร่วมนี้จำต้องคำนึงถึงระบบนิเวศและฐานทรัพยากร ต้องคำนึงถึงความต่างระหว่างชุมชนเมืองกับชุมชนชนบท ที่มีบริบทสภาพแวดล้อมและค่าครองชีพต่างกัน จึงจำเป็นจะต้องมีวิธีคิดที่แตกต่าง

-ควรมียุทธศาสตร์ ๒-๓ ขา ถ้าใช้ชุมชนเป็นฐานโดดๆ จะลำบาก และพึงระวัง “ตัวขัดขวาง” (ตัวป่วน) และควรสร้าง “เครือข่ายชุมชนสุขภาวะ” เพื่อรุกต่อปัญหา เป็นฝ่ายรุกเชิงนโยบายสาธารณะ (ทั้งการเสนอและคัดค้าน)

-ควรแบ่งภารกิจของงานให้ชัด ต้องมีคนพัฒนาความคิดต้นน้ำ และวางกรอบต้นแบบชุมชนสุขภาวะ

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-หน่วยงานทั้งหลายแม้จะเห็นตรงกันในเรื่องสุขภาวะชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนจัดการตนเอง แต่ยังบูรณาการกันไม่ค่อยได้ เพราะต่างฝ่ายต่างถูกกับดักการประเมินด้วย KPI จึงควรใส่ใจในการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการหนุนเสริมไปที่ชุมชนโดยตรง

-หลักการร่วม ๑.ใช้ชุมชนเป็นฐาน ๒.สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ๓.จัดการกับเงื่อนไขสนับสนุนและขัดขวาง ๔.การร่วมมือข้ามวัฒนธรรม ๕.ประสานเครือข่ายเพื่อเป็นฝ่ายรุกเชิงนโยบายสาธารณะ

-ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือข้ามชุมชนทั้งด้านวัฒนธรรมและชาติพันธ์ การนำชุมชนหลายหลากมาเชื่อมโยงกันจะก่อให้เกิดพลวัติในการเปลี่ยนแปลงเชิงรุก

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน                                   

-หากเปลี่ยนภาษาจาก “ชุมชนเข้มแข็ง” เป็น “ชุมชนจัดการตนเอง” บนเงื่อนไขการคิดใหม่ จะเห็นภาพของกระบวนการมากขึ้น เพราะการจัดการตนเองของชุมชนเป็นเรื่องของสมรรถนะ หรือระดับความสามารถร่วม ระดับความรู้ความเข้าใจร่วม ระดับที่ “พูดต่างกัน/คิดต่างกัน” แต่ยังรู้สึกว่าจะต้องหาจุดสรุปร่วมกันให้ได้ ความสามารถในการจัดการตนเองในความหมายนี้รวมไปถึงความสามารถในการรับรู้ปัญหา รับรู้ชะตากรรมร่วมกัน คำว่า “ชุมชนจัดการตนเอง” จึงตอบโจทย์ได้กว้างกว่า

-ทั้งนี้ คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” บางครั้งกลายเป็นว่าเข้มแข็งด้วย “ความเป็นพวก” ถ้าไม่ใช่พวกเราก็อาจรังแกกัน เช่นกรณี จ.น่าน ที่ชุมชนพื้นราบเล่นงานชุมชนไทยภูเขาเพราะได้รับผลกระทบทางนิเวศ ซึ่งอาจจะมีเหตุผลก็ได้ แต่สะท้อนให้เห็นว่าความเข้มแข็งไม่ได้แปลว่า “ดี” ในตัวเอง หรือไม่ได้เข้มแข็งด้วยปัญญา ไม่ได้เข้มแข็งด้วยสติ แต่เข้มแข็งด้วยความรู้สึกว่า “เราเป็นชุมชนเดียวกัน เราต้องรักษาประโยชน์ชุมชน” จึงแฝงด้วยอันตรายจากการที่ไม่รู้ว่า “อะไรเข้มแข็ง”

 

 

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) 29 กค.2556

ภาพรวมสถานการณ์ระบบสุขภาวะชุมชน

-สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ (สวสส.) เป็นหน่วยงานวิชาการที่ทำงานหรือทำการบ้านให้กับคนทำงานสุขภาพ คือทำวิชาการให้ใช้งานได้ เพื่อจะได้แนวคิดและเครื่องมือดีๆ ไปใช้ทำงาน เช่น เครื่องมือ ๗ ชิ้นที่ใช้ทำงานกับชุมชน คือ แผนที่เดินดิน (Geo-Social Mapping) ผังเครือญาติ (Genogram) โครงสร้างองค์กรชุมชน (Community Organizations) ระบบสุขภาพชุมชน (Local Health Systems) ปฏิทินชุมชน (Community Calendar) ประวัติศาสตร์ชุมชน (Local History) และประวัติชีวิต (Life Story) เป็นเครื่องมือสำหรับบุคลากร เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน หรือตัวชาวบ้านเองนำไปใช้เพื่อเรียนรู้ว่าชุมชนของตนมีศักยภาพอย่างไร มีความสัมพันธ์ชุดต่างๆ อย่างไร และมีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร เมื่อเข้าใจชุมชนได้ลุ่มลึกมากขึ้น ก็สามารถที่จะดึงศักยภาพของชุมชนขึ้นมาทำงานได้ดีขึ้น

-สวสส.มองว่าสุขภาพคือผลลัพธ์จากสังคมที่ดี เช่น คนพิการไม่สามารถต่อแขนต่อขาได้ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีก็ไม่สามารถเอาเชื้อออกจากตัวเอง แต่ทั้งผู้ป่วยและคนพิการสามารถจะมีชีวิตที่ดี หรือสุขภาพที่ดีได้ก็เพราะสังคมที่ดี หากสังคมใส่ใจเขา เคารพความเป็นมนุษย์ของเขา เปิดโอกาสให้เขาเข้าถึงทรัพยากร/บริการ/ความช่วยเหลือ เปิดโอกาสให้เขาเติบโตเต็มศักยภาพโดยไม่กีดกันตัดสิน หรือกระทำสิ่งไม่ควรกับบุคคลเหล่านี้ ดังนั้น ถ้าสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ สุขภาพที่ดีจะเป็นผลลัพธ์ที่ตามมา

ข้อแนะในการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ

-ต้องชัดเจนก่อนว่าแผนยุทธศาสตร์ร่วมนี้จะให้ใครทำ (เป็นเจ้าภาพ) ควรเน้นหลักคิด Outcome mapping คือให้ความสำคัญกับคนทำงาน (ตัวกลาง) อย่าให้ความสำคัญกับคนบริหารแผน

-แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ มีข้อพึงระวังเรื่อง “สถานการณ์ป่วน” อาจเกิดขึ้นได้จากหลายเงื่อนไข หลักการสำคัญนั้นอยู่ตรงช่วง Takeaoff กับช่วง Landing คือทุกคนอยู่บนเครื่องพร้อมหน้ากัน รับรู้ว่าเราต้องไปทำยุทธศาสตร์ร่วมกัน ถ้าเป็นพวกรู้ทีหลังอาจกลายเป็น “ตัวป่วน”

-ประโยชน์ของแผนฯ คือ อย่างน้อยทำให้มีคนทำงานวิเคราะห์ปัญหาสุขภาวะชุมชน, ชุมชนจะเข้มแข็งได้หรือไม่นั้นต้องมีเอเย่นต์ไปกระตุ้นปฏิกริยา/ความสนใจ, ต้องมี “คนขายฝัน” ให้กับชาวบ้านและชุมชน ส่วนแนวทางการสร้างชุมชนต้นแบบก็มีข้อเสีย อาจสร้างความรู้สึกว่าเป็น “ชุมชนเส้นใหญ่” แต่อาจใช้เกณฑ์คุณสมบัติ (Mapping) ของชุมชนเป็นสุขได้

-กรณีตัวอย่าง “ลุงสมานขายไอศครีม” ต้องกู้เงินนอกระบบมาซื้อส่วนผสมในการทำไอศครีมขายเป็นประจำ จนกระทั่งดอกเบี้ยทบต้น ๒-๓ เท่า ลุงสมานแทบไม่มีเงินทุนจะขายต่อไป เจ้าของร้านขายส่วนผสมไอศครีมจึงเสนอเงื่อนไขว่าทุกครั้งที่ลุงสมานมาซื้อของ ๓๐๐ บาท ทางร้านจะหักเพิ่มอีก ๑๐๐ บาทเพื่อเก็บเป็นเงินสะสมให้ จากนั้นจึงเท่ากับว่าลุงสมานมีเงินเก็บ ๓,๐๐๐ บาท/เดือน ผ่านไปปีครึ่งทางร้านจึงยอมให้ลุงสมานเบิกเงินสะสมราว ๕๕,๐๐๐ บาท กรณีนี้สะท้อนถึง “การวางแผนซ้อน” เข้ามาในระบบ เพื่อให้เกิดการบังคับและปฏิบัติได้ ความสำเร็จจึงบังเกิดในที่สุด

แนวทางในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

-ยุทธศาสตร์ส่วนใหญ่ที่ขาดพลัง เป็นเพราะขาด “การจัดตั้ง”ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์ร่วมฯ นี้จึงควรมีการจัดตั้ง เพราะ “สุขภาวะชุมชน” จะเข้มแข็งยั่งยืนสามารถรับมือ หรือจัดการกับปัญหาอะไรต่างๆ ได้ ส่วนใหญ่มันไม่ได้เกิดจากการที่ชุมชนแยกตัวออกไปนั่งคิดคนเดียว แต่มันมักจะไม่เกิดขึ้นจากการที่องค์กรนอกเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน

-การหา “ประเด็นร่วม” ไม่ควรตายตัวมากนัก ควรวางกรอบไว้กว้างๆ แต่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ประเด็นร่วมที่ไม่ตายตัวจะทำให้ทุกคนเติบโตเต็มศักยภาพ มองที่ความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือผู้ป่วยด้วยโรคใดก็ตาม สามารถที่จะเติบโตงอกงามได้ ประเด็นร่วมแบบนี้รวมทุกเรื่องได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเด็กออทิสติก ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัย ไม่ว่าจะคลอดหรือทำแท้งทุกอย่างเป็นไปเพื่อให้ทุกคนมีพื้นที่ยืนในสังคม ไม่ถูกกีดกันจากสังคม ไม่ถูกกีดกันจากความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายและความเป็นธรรมเป็นต้น

ตัวแบบสุขภาวะชุมชน

-ถ้ามองว่าสุขภาพดีเป็นผลลัพธ์มาจากสังคมที่ดี ก็อาจพูดได้ว่าสุขภาพดีเป็นผลลัพธ์มาจากการมีชุมชนที่เข้มแข็ง ในงานวิจัยหลายชิ้นพูดถึงชุมชนโรเซ็ตต้า ชุมชนที่คนอายุยืนและเป็นโรคต่างๆ น้อย ไม่ว่าความดันหรือเบาหวาน นักวิจัยจึงได้วิเคราะห์เหตุปัจจัยต่างๆ ว่าชุมชนนี้บริโภคอาหารไม่เหมือนที่อื่นหรือไม่ ออกกำลังกายมากกว่าที่อื่นหรือไม่ ก็พบบริโภคและใช้ชีวิตเหมือนที่อื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ถักทอกันแน่นหนามาก เรียกได้ว่าชีวิตสาธารณะของคนในชุมชนนี้ เป็นชีวิตปกติที่สัมพันธ์ดูแล เชื่อมโยง ช่วยเหลือ และพึ่งพาอาศัยกัน ด้วยระบบเครือญาติ ระบบความสัมพันธ์ชุดต่างๆ จึงเป็นตัวอย่างคลาสสิกที่บอกว่าคนในชุมชนมีสุขภาพดีโดยไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการรณรงค์เรื่องการบริโภคอาหารให้ถูกหลัก แต่มันสามารถทำให้เกิดสุขภาพที่ดีได้จากความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน

 

ตารางสรุปเปรียบเทียบยุทธศาสตร์ด้านชุมชนของ๒๓องค์กรภาคี

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
1.สำนักงานปลัด:

กระทรวงสาธารณสุข

 

“สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรที่เป็นเลิศด้านการบริหาร วิชาการ บริการ ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นธรรมครอบคลุมมีมาตรฐานเพื่อคนไทยสุขภาพดี”

 

พันธกิจ 2 ด้าน

1. จัดบริการสุขภาพแบบองครวม 2. พัฒนาระบบการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ ทรัพยากร และองคความรูทางการแพทย์และ

สาธารณสุขสูการปฏิบัติอยางบูรณาการ

 

 

 

 

 

· แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan)

· บรรจุตำแหน่งแพทย์แผนไทย 191 คน ในรพ.สต. 120 แห่ง

· โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท 3,368 คน (ปี 2555 จบการศึกษา 475 คน)

· โครงการบูรณาการสร้างสุขภาพดีวิถีชีวิตไทยลดภัยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พ.ศ. 2555 – 2558

· โครงการความปลอดภัยด้านอาหารและแผนรับมือในภาวะฉุกเฉินความปลอดภัยด้านอาหารของประเทศ

· จัดตั้งชมรม To Be Number One338,076 แห่ง

 

 

 

· กราฟชีวิตพิชิตสุขภาพ

· ตะไคร้หอมไล่ยุง

· ถุงผ้าสารพัดประโยชน์

· หมวกนิรภัย5 บาท

· แฟ้มสุขภาพภาคประชาชน

· คาถา “มหาสุขภาพ”

· ชุมชนต้นแบบคนต้นแบบ          ลดเสี่ยงลดโรคแบบยั่งยืน

· สบู่ซักผ้าจากน้ำมันทอดซ้ำ

· การบริหารจัดการหมู่บ้านตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

· ขมิ้นชันลดพุงลดโรคไม่ติดต่อ

· จักรยานปั่นมือ

· วัคซีนใจป้องกันภัยท้องวัยทีน

· นวัตกรรมงานสาธารณสุข

ในชุมชน

· ศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น ทั่วประเทศ

9,578 แห่ง

· ระบบข้อมูลสุขภาพ

· เครือข่ายนักวางแผนเชิงกลยุทธ์ด้านสุขภาพ

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
2.กองสนับสนุนสุขภาพ

ภาคประชาชน : กรมสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน

กระทรวงสาธารณสุข

“เป็นองค์กรหลักที่เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายให้เกิดการจัดการระบบสุขภาพชุมชน เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเอง ทางด้านสุขภาพภาคประชาชน”

 

พันธกิจ 4 ด้าน

1.พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย

2.สนับสนุนให้เกิดกลไกความร่วมมือภาคีเครือข่ายภาคประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพ

3.พัฒนาองค์ความรู้ รูปแบบนวัตกรรม เทคโนโลยีด้านสาธารณสุขมูลฐาน และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

4.บริหารจัดการยุทธศาสตร์ระบบสุขภาพภาคประชาชน

 

 

 

· ตำบลจัดการสุขภาพระดับดี 591 ตำบล

· ต้นกล้าความดี

· คลังข้อมูลสุขภาพภาคประชาชน

· ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สุขภาวะชุมชนผ่านสื่อ

· โครงการวิจัยพัฒนาส่งเสริมองค์ความรู้ นวัตกรรมสุขภาพภาคประชาชน

· กลวิธีสาธารณสุขมูลฐาน

· ตำบลจัดการสุขภาพดีวิถีชีวิตไทย 5 ระดับ

· คู่มือ อสม.นักจัดการสุขภาพชุมชน

 

· เครือข่ายตำบลจัดการสุขภาพ

· ฐานข้อมูลบุคลากรสาธารณสุขมูลฐาน

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
3. กองทุนภูมิปัญญาแพทย์

แผน ไทย : กรมการแพทย์แผนไทยกระทรวงสาธารณสุข

 

 

“เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เพื่อสร้างเสริมสุขภาพด้วยการพึ่งตนเองของประชาชน”

 

พันธกิจ 

พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร

· โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยนำร่อง 9 แห่ง

· สถานบริการสุขภาพที่พัฒนาระบบการบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยและการ แพทย์ทางเลือก 237 แห่ง

· โครงการจัดตั้งสวนสมุนไพรเพื่อการอ้างอิงยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ

· โครงการขึ้นทะเบียนหมอพื้นบ้านเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน

· ตำรา / องค์ความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน

· ชุดความรู้การดูแลสุขภาพฉบับประสบการณ์หมอพื้นบ้าน

· รวมพลังการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน

· ฐานข้อมูลสมุนไพร

· ทำเนียบหมอพื้นบ้าน

· เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและอาหาร 4 ภาค

 

4.กรมอนามัย

กระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

 

 

 

“เป็นองค์กรหลักของประเทศในการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดี”

 

พันธกิจ 4 ด้าน

1.พัฒนา ผลักดัน และสนับสนุน

· ชมรมผู้สูงอายุด้านส่งเสริม

สุขภาพช่องปาก    370ชมรม

 

 

· โปรแกรมPHIMS VERSION 3.1ติดตามประเมินผลการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก

· คู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

· การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีวีไอเอ , รักษาด้วยวิธีจี้เย็น

· ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่

· เครือข่ายบริการปฐมภูมิ(CUP)

· ตำบลต้นแบบดูแลผู้สูงอายุ

·           วัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น

· สถานบริการสาธารณสุขต้นแบบ

ลดโลกร้อน101  แห่ง

· สถานีบริการน้ำมันที่มีส้วมตามเกณฑ์มาตรฐานHAS[1] 614 แห่ง

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
4.กรมอนามัย

กระทรวงสาธารณสุข  (ต่อ)

ให้เกิดนโยบายและกฎหมาย

2.ผลิตพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรม

3.ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้กับเครือข่ายและสนับสนุนให้เครือข่ายได้รับการส่งเสริมสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพ

4.พัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็ง

· อบรมบุคลากรเพื่อพัฒนาระบบ

การดูแลช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเอดส์และเอชไอวีนำร่อง29จังหวัด

· ปี 2552 – 2554 โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร 267 แห่ง, โรงเรียนปลอดน้ำอัดลม34 แห่ง

·  ปี 2553 -2555 ศูนย์การเรียนรู้องค์กรต้นแบบไร้พุง 704 แห่ง

· คลินิกDPAC(Diet and Physi cal ActivityClinic) 3,647 แห่ง

พัฒนา

· หลักสูตรดูแลผู้สูงอายุ 3 หลักสูตร

· ชุดตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคและเคมี

· โปรแกรมทดสอบความชำนาญ  (ProficiencyTesting,PT)  ใน

การตรวจวิเคราะห์อาหารและน้ำทางเคมี

· คู่มือการประเมินผลกระทบต่อ

สุขภาพ HIA

· คู่มือการป้องกันผลกระทบที่เป็น

ภัยคุกคามต่อสุขภาพ

· ตลาดสดน่าซื้อต้นแบบ 13 แห่ง

· ตลาดค้าส่งและผู้ประกอบการศูนย์กระจายสินค้า 7 แห่ง

· ประปาดื่มได้ 153 แห่ง

· องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการจัดการสุขาภิบาลอาหาร

และบริการน้ำบริโภคผ่านเกณฑ์

มาตรฐาน 82 แห่ง

5.กรมควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุข

 

 

 

 

 

“เป็นองค์กรชั้นนำระดับนานาชาติที่สังคมเชื่อถือและไว้วางใจเพื่อปกป้องประชาชนจากโรคและภัยสุขภาพ

· อําเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน723 แห่ง

· เครือข่ายSRRT 1,030 ทีม

ทั่วประเทศ

 

· เครื่องมือ “พัฒนาเครือข่าย SRRT[2]ตําบล”

· กลไกสนับสนุนการพัฒนาอําเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน

· เครือข่ายSRRT

· อําเภอควบคุมโรคเข้มแข็งแบบยั่งยืน

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
5.กรมควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุข (ต่อ)

 

 

ด้วยความเป็นเลิศทางวิชาการภายในปี 2563”

 

พันธกิจ 5 ด้าน

1. ประสานความร่วมมือทั้งภายในและระหว่างประเทศ

2. ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ให้เครือข่าย และ ประชาชน

3. ผลักดันและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย

4. เตรียมความพร้อมการจัดการภาวะคุกคามและภัยสุขภาพใหม่ๆ

5. พัฒนาและประเมินศักยภาพระบบกลไกของเครือข่าย

     
6.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

 

 

“ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า ด้วยความมั่นใจ”

 

 

 

 

 

·     จัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลได้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ

·     จัดตั้งหน่วยบริการฟื้นฟูสมรรถภาพในการใช้ชีวิตประจำวันสำหรับคนพิการตาบอด 43 แห่งใน 34 จังหวัด

·     ระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพ 14 กองทุน

· Strategic Mapping · กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล7,751 แห่ง( ณ 31 ส.ค.2556)
หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
6.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)(ต่อ)

 

 

 

พันธกิจ 5 ด้าน

1.หลักประกันครอบคลุมทุกคน

2.ทุกภาคส่วนมีความเป็นเจ้าของ

3.พัฒนาคุณภาพการบริการ

4.เสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้ให้บริการ

5.ความเท่าเทียมระหว่าง 3 กองทุนหลัก

     
7.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “ทุกคนบนพื้นแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาวะ”

พันธกิจ

จุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลังบุคคลและองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบของสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะยุทธศาสตร์หลัก (1)

ยุทธศาสตร์เฉพาะ (1)

· 13 แผนงานหลัก สสส.

·     พลังชุมชนร่วมสร้างนโยบายสาธารณะ 7 ประแด็น

·     แผนงานตำบลสุขภาวะ

สนับสนุนตำบลสุขภาวะและ

ขยายผล 336 ตำบล ครอบ

คลุมประชากร 1.7 ล้านคน

(ปี 2554 สนับสนุนงบฯ 376

ล้านบาทคิดเป็น 23.22 %)

·     เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ระดับภูมิภาค  8 ภูมิภาค

 

 

· TCNAP

· RECAP

คู่มือดำเนินการตำบลสุขภาวะ

· โครงการและองค์กรภาคีที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส ทั้งหมด  9,414 ราย/ องค์กร

(ปี 2554 =  943 ราย)

· องค์กรปกครองท้องถิ่นในโครงการตำบลสุขภาวะ 831 แห่ง

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
8.สำนักงานวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ภายใต้ความร่วมมือของรัฐบาลไทยและองค์กรอนามัยโลก (สพช.)

 

“เป็นองค์กรพัฒนาองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและระบบสุขภาพชุมชน”

 

พันธกิจ

จัดการความรู้และวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนที่พึ่งตนเองได้และยั่งยืน วิเคราะห์ปัญหาและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ยุทธศาสตร์

พัฒนาพื้นที่ต้นแบบและขยายผล 2,000 – 4,000 ตำบล ในระยะเวลา 3 ปี

· โครงการผลิตพยาบาลชุมชน

900 คน

(ใน 28 สถาบันการศึกษา)

· นักสุขภาพครอบครัว

· พยาบาล, ทันตาภิบาล,เวชปฏิบัติ 1,200 คน

· นักจัดการสาธารณสุขและอื่นๆ

1,800 คน

· พยาบาลชุมชนในโครงการ

Mapping 100 พื้นที่เด่น

9.สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ

(สวสส.)

“จุดประกายปัญญา ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ เป้าหมายสูงสุดคือ สุขภาพสังคม”

พันธกิจ 5 ด้าน

1.ด้านกระบวนทัศน์สุขภาพ
2.ด้านประวัติศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุขไทย
3.ส่งเสริมมิติทางสังคมและมนุษย์ในระบบบริการสุขภาพ

· เรื่องเล่าจากโรงพยาบาลชุมชน

· แบบจำลองคำอธิบายโรคระหว่างหมอกับคนไข้

· ปฏิทินสุขภาพปฐมภูมิ

· สมุดบันทึกปีใหม่วิถีปฐมภูมิ

· เครื่องมือทำงานสุขภาพชุมชน  7 ชิ้น

 

· เครือข่ายวิถีชีวิตชุมชน

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
9.สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ

(สวสส.)(ต่อ)

4.พัฒนาประชาสังคมกับระบบสุขภาพ
5.ระบบสุขภาพภาคประชาชน
     
10.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

(สวรส.)

“การจัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน”

 

พันธกิจ  3 ด้าน

1.ความรู้และข้อเสนอนโยบายเพื่อลดความไม่เป็นธรรม

2.ใช้ความรู้ในกระบวนการนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืน

3.สร้างความเข้มแข็งของระบบวิจัยสุขภาพ

 

 

บทเรียน 4 ระยะ

1)   2538 – 2541

“สร้างราก – ก่อฐานวามรู้เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพไทย”

·     สำนักงาน International

Health Policy Program (2541)

2) – 3) 2542 – 2550

“ปฏิรูประบบสุขภาพปรับกระบวนทัศน์ใหม่สู่การพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและเท่าเทียม”

·     สถาบันพัฒนาและ

รับรองคุณภาพโรงพยาบาล (2542)

·     สำนักงานปฏิรูประบบ

สุขภาพแห่งชาติ (2543)

·     สถาบันสร้างเสริม

สุขภาพคนพิการ (2548)

·     สถาบันพัฒนาการคุ้มครอง

การวิจัยในมนุษย์ (2550)

   
หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
10.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

(สวรส.)(ต่อ)

  4) 2551 – 2554

“สร้างงานวิชาการเชื่อมประสานเครือข่ายสานนโยบายสู่การปฏิบัติ”

·       R2R (2551)

·       แผนงานวิจัยและพัฒนา

ระบบยา (2552)

·       สำนักงานพัฒนาระบบ

การเงินการคลังและสุขภาพแห่งชาติ (2553)

   
11.กรมการพัฒนาชุมชน

กระทรวงมหาดไทย (พช.)

“ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจฐานราก มั่นคง”

 

พันธกิจ 4 ด้าน

1.พัฒนาระบบ และกลไกการมีส่วนร่วม

2.พัฒนาการบริหารจัดการชุมชน

3.ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

4.พัฒนาสมรรถนะองค์กรในการบูรณาการ

· หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ 3,671 หมู่บ้าน

· หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับ พออยู่ พอกิน 1,278 หมู่บ้าน

· หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับ อยู่ดี กินดี

250 หมู่บ้าน

· หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบระดับมั่งมี ศรีสุข

· 228 หมู่บ้าน

 

  · กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

23,060 กลุ่ม

· สินค้า OTOP

·   ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 4,174 กลุ่ม

·   เข้าร่วมจำหน่ายสินค้า

1,500 กลุ่ม

· องค์กรชุมชนผู้ผลิตสินค้า OTOP

·    วิสาหกิจชุมชน 19,773

กลุ่ม

·    สหกรณ์ 329 แห่ง

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
11.กรมการพัฒนาชุมชน

กระทรวงมหาดไทย (พช.)

(ต่อ)

      ·    SME3,839 ราย

·    SSE 2,171  ราย

12. สำนักงานกองทุนสนับสนุน

การวิจัย (สกว.) :

12.1) การวิจัยเพื่อท้องถิ่น

(R&D)

 

 

 

 

“เป็นองค์กรที่สร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สังคมที่มีปัญญาสามารถใช้ความรู้จัดการกับศักยภาพและโอกาสเพื่อกำหนดอนาคตของตนเองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

 

พันธกิจ 3 ด้าน

1. สนับสนุนกระบวนการสร้างความรู้

2.สร้างนักวิจัย

3.สร้างระบบวิจัย

· สนับสนุนทุนวิจัยกว่า 10,000 โครงการ(ปี 2555 = 253โครงการรวมงบประมาณ          69.70ล้านบาท)

· ชุดโครงการความมั่นคงอาหาร

· มีนักวิจัยใหม่3,393คน

· ชุดโครงการวิจัยด้านการจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก

· “ข้าวข้ามแดน”

· สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนและสังคมโดยกระบวนการวิจัย

· การบริหารจัดการงานวิจัย

· การจำแนกประเภทของงานวิจัย

· การบริหารจัดการงานวิจัยประเภท R&D

· ระบบข้อมูลเพื่อจัดการโครงการวิจัย

·  Project Management System (PMS)

· งานวิจัยชุมชน

· นักวิจัยชุมชน

· โครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว.

 

 

     12.2) Area-Based Research

หรือ ABC

  ·  งานวิจัยดีเด่น 7 เรื่อง

· “โครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบ ABC”

· ทำความตกลงกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาระบบการจัดการวิจัยแบบABC8แห่ง

 

· บัญชีครัวเรือนและแผนชุมชน

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
     12.2) Area-Based Research

หรือ ABC (ต่อ)

  · ร่วมกับสถาบันคลังสมองของ

ชาติ จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเครือข่าย

   
13.ธนาคารเพื่อการเกษตรและ

สหกรณ์การเกษตร (ธกส.)

“เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่มั่นคง มีการจัดการที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อย”

 

พันธกิจ  5 ด้าน

1.บริการสินเชื่อครบวงจรสินค้าเกษตร2.พัฒนาการจัดการทรัพยากร

3.บริหารเงินทุนให้พอเพียงและต้นทุนเหมาะสม

4.พัฒนาบริการใหม่สนองความต้องการลูกค้า

5.กำกับกิจการที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม

· โรงเรียนธนาคาร

· ศูนย์อบรมเกษตรกร 63 ศูนย์

· ธนาคารต้นไม้ 3,060 ชุมชน

· ฝายขนาดเล็ก 1,244 แห่ง

  · เกษตรกรคนเก่ง

· ธนาคารชุมชน

· ศูนย์อบกรมเกษตรกร

· ธนาคารต้นไม้

14. กรมส่งเสริมการเกษตร :

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

“กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาให้ครอบครัวเกษตรกรอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน” ·  ส่งเสริมการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้142,370 ราย ·  ทะเบียนเกษตรกร

·  เครือข่ายกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร

·  เครือข่ายกลุ่มยุวเกษตรกร

·  เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
14. กรมส่งเสริมการเกษตร :

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(ต่อ)

พันธกิจ 4 ด้าน

1.พัฒนาเกษตรกร ครอบครัว องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้

2.พัฒนาขีดความสามารถเกษตรกรในการผลิต จัดการสินค้า 3.ให้บริการทางการเกษตร
4. ศึกษาวิจัยและพัฒนา

·  มีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร 48 ศูนย์ ฝึกอบรมและให้บริการแก่เกษตรกร 20,446 ราย

·  เกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ 984,860 รายได้รับเงินช่วยเหลือ   23,688,028,614 บาท

·  เกษตรกร 91,659 ราย ผ่านกระบวนการเรียนรู้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

·  ศูนย์เรียนรู้พันธุ์พืชอำเภอ

·  เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้จากโครงการต่างๆ กว่า  15,812 ราย

·  ครู-นักเรียนมีความรู้ด้านการถนอม/แปรรูปอาหาร 3,255 ราย

·   สมุดทะเบียนเกษตรกร

·   คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ใน

พระราชานุเคราะห์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร

·   เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ประสบการณ์

  ·  หมอดินอาสา

·  ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเกษตร

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
14. กรมส่งเสริมการเกษตร :

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(ต่อ)

  ·  โครงการสืบเนื่องมาจาก

พระราชดำริในพื้นที่ห่างไกลชุมชนและเขตทุรกันดาร

·   โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปาก

พนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

·  โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

·   โครงการหลวงและขยายผล

โครงการหลวงตามแผนแม่บทใน 20 จังหวัด

·  เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปผลผลิตเกษตร 24,411 ราย

·  ส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจชุมชน

·  ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐาน 90,144 ราย

·  ศูนย์บริการร่วมกรมส่งเสริมการเกษตร

ขึ้นทะเบียนเกษตรกรและผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ

·   โครงการรักษ์น้ำเพื่อแม่ของแผ่นดิน

   
หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
14. กรมส่งเสริมการเกษตร :

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

(ต่อ)

  · โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน 653 โรงเรียน

· ตลาดนัดโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว

   
15.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.)   “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นศูนย์กลาง และโครงข่ายการเรียนรู้เงินทุน สวัสดิภาพ สวัสดิการและการแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านและชุมชน พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ครัวเรือนสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง อบอุ่น เข้มแข็งสู่การเป็นภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม”

พันธกิจ 2 ด้าน

1. สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมฐานราก ด้วยความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน

2. พัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน และหมู่บ้านชุมชนสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของชาติ

บทเรียน 3 ระยะ

1) 2544จัดตั้งกองทุน

2) 2544 –2545การเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้แก่คณะกรรมการและสมาชิกองทุนฯ

3) 2546 –2547การสร้างความเข้มแข็ง

 

 

 

· คู่มือกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

· คู่มือการจัดชั้นกองทุน 3 ระดับ ระดับดี(AAA)กลาง(AA) และระดับต่ำ(A)

 

· เครือข่าย สทบ.ทั่วประเทศ

· ปี 2553 มีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง79,255 กองทุน เป็นกองทุนหมู่บ้าน 74,989กองทุน  กองทุนชุมชนเมือง  3,528  กองทุนและกองทุนชุมชนทหาร 738 กองทุน

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
16.สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

“หน่วยงานหลักในการวางแผนและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน ที่ยึดประโยชน์ส่วนรวม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและมีประสิทธิภาพสูง”

 

พันธกิจ 3 ด้าน

1.หน่วยงานยุทธศาสตร์

2.หน่วยงานข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม

3.หน่วยงานความรู้สมัยใหม่

· เลขานุการคณะกรรมการระดับนโยบาย 10 คณะ

· พัฒนาเด็กและเยาวชน ผ่านโครงการทุนการศึกษาพระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร รุ่น 3 (ปี 2554) รวมทั้งสิ้น 154 ราย

· รายงานสรุปสภาวะของประเทศ

· คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยใน 58 จังหวัด รวม 9,158 โครงการ

· การให้ความคุ้มครองทางสังคม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง

· มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

· แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

· แบบจําลอง Social Account Matrix: SAM

· ตารางเพื่อการวางแผนเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency  Economy  Matrix  : SEM)

· หนังสือตามรอยพระราชดำริ สู่ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

· พื้นที่ขับเคลื่อนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

 

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
17.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

(พอช.)

“เป็นองค์กรของประชาชน ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็ง ของสังคมจากฐานราก ด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม”

 

พันธกิจ 4 ด้าน

1.สนับสนุนองค์กรชุมชนและเครือข่าย อชช.

2.ช่วยเหลือทางการเงินแก่ อชช.

3.พัฒนาองค์กรชุมชนและประสานสนับสนุน

4.สร้างความร่วมมือระหว่าง อชช.และเครือข่าย

· วิทยากรกระบวนการแผนชุมชน “ไทพันธุ์แท้” 222 ตำบล 1,100 คน

· เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน

4 ภาค

· สภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ

  · องค์กรการเงิน/สวัสดิการชุมชน

· สภาองค์กรชุมชน

18.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและ

ความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

 

“เป็นองค์การพัฒนาสังคมและจัดสวัสดิการสังคม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมมุ่งสู่สังคมคุณภาพ ”

 

พันธกิจ 4 ด้าน

1.พัฒนาระบบการจัดบริการสวัสดิการสังคม

 

 

· จัดสวัสดิการคนพิการในชุมชน 45,140 คน

· สงเคราะห์ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว18,325 คน

· ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส/ผู้ประสบปัญหาสังคม 4,045 คน

· พัฒนาอาชีพสตรีคนพิการ6,091 คน

 

  · กลุ่มสตรีผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสที่มีศักยภาพพึ่งตนเองได้

· ผู้รับรางวัลอาสาสมัครดีเด่น

· ผู้รับรางวัลผู้พิการดีเด่น และ องค์กรสนับสนุนผู้พิการดีเด่น

· สภาเด็กและเยาวชน

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
18.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและ

ความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

(ต่อ)

2. ส่งเสริมระบบการคุ้มครอง การป้องกันฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิต

3.ส่งเสริม สนับสนุนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

4.ส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กร

 

· ฝึกอาชีพ สร้างทักษะการรวมกลุ่ม41,510 คน

· ส่งเสริมอาชีพตามแนวคิด

เศรษฐกิจพอเพียง19,932  คน

· พัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง 514,887 คน, ส่งเสริมการดำเนินงานศูนย์บริการสังคมแบบมีส่วนร่วม192,697 คน

· สวัสดิการเชิงบูรณาการ 14,829 คน

· ช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์106,611 คน

· ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพคนเร่ร่อน2,598 คน

   
19.บริษัท ปตท.

19.1) สถาบันโลกสีเขียว

“บริษัทพลังงานข้ามชาติชั้นนำ”

 

 

· ปี 2539-2546 นักสืบสายน้ำ51โรงเรียน

· ปี 2542 – ปัจจุบัน (2552) รางวัลลูกโลกสีเขียว[3]310 รางวัล(ด้านชุมชน 90 รางวัล)

· ชุดคู่มือนักสืบสายน้ำ

· ชุดนักสืบสายน้ำน้อย

· คู่มือท่องเที่ยวชุมชนพอเพียง

 

 

· บุคคลและชุมชนผู้ได้รับรางวัลโลกสีเขียว (16 ปี)

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
19.บริษัท ปตท.

19.1) สถาบันโลกสีเขียว (ต่อ)

พันธกิจ 5 ด้าน

1.ประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว

2.สังคม/ชุมชน มีการบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลและมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมชุมชน

3.พนักงาน สนับสนุนการพัฒนาความสามารถการทำงานระดับมืออาชีพอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความผูกพันต่อองค์กร

4.คู่ค้า ดำเนินธุรกิจร่วมกันบนพื้นฐานความเป็นธรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกันในระยะยาว

     
19.บริษัท ปตท. (ต่อ)

19.2) โครงการรักษ์ป่า

สร้างคน84 ตำบลวิถี

พอเพียง

19.3 โครงการหญ้าแฝก

19.4 โครงการสถาบันเรียนรู้

เพื่อปวงชน

5.ผู้ถือหุ้น สร้างผลตอบแทนที่ดี และมีการขยายธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

6.ลูกค้า สร้างความพึงพอใจและความผูกพันแก่ลูกค้า ด้วยบริการที่มีคุณภาพระดับมาตรฐานสากล ในราคาที่เป็นธรรม

· สถาบันเรียนรู้เพื่อปวงชน รวม39ศูนย์ครอบคลุม35จังหวัด

ปัจจุบันมี นักศึกษากว่า4,000 คน

· งานวิจัยชุมชนในโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง84เรื่อ

· วิถีการพึ่งพาตนเอง เช่น กังหันลมสูบน้ำตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ และ บ่อหมักก๊าซชีวภาพ ฯลฯ

 

·  เครือข่าย 84 ตำบลวิถีพอเพียง

·  ปลูกป่า 1 ล้านไร่

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
19.บริษัท ปตท. (ต่อ)

19.2) โครงการรักษ์ป่า

สร้างคน84 ตำบลวิถี

พอเพียง

19.3 โครงการหญ้าแฝก

19.4 โครงการสถาบันเรียนรู้

เพื่อปวงชน

  · “ศูนย์การเรียนรู้ตำบลวิถีพอเพียง” 24แห่ง

พัฒนา“จุดเรียนรู้ต้นแบบด้านพลังงานชุมชน”16ตำบลทั่วทุกภูมิภาค

   
20.สำนักงานคณะกรรมการกำกับ

กิจการพลังงาน (สกพ.) ,

กองทุนพัฒนาชุมชนรอบ

โรงไฟฟ้า:

กระทรวงพลังงาน

 

“เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานอย่างโปร่งใส เพื่อความมั่นคงของกิจการ

พลังงานไทย สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน มีความเชื่อถือได้ โดยมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

พันธกิจ

กำกับดูแลกิจการพลังงานให้มีระบบการบริหารจัดที่ความมั่นคงเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพ เป็น ธรรมต่อผู้ใช้ผู้ประกอบกิจการพลังงาน และ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

· ปี 2551 – 2553

ออกใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน รวม 300  ฉบับ

· กำกับอัตราค่าบริการไฟฟ้าและ

อัตราค่าส่งก๊าซธรรมชาติ

· ให้ความเห็นต่อแผนการจัดหาไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ, การลงทุนกิจการไฟฟ้า และการขยายระบบโครงข่ายพลังงาน รวมทั้งกำกับการจัดหาพลังงาน

· ตั้ง คพช. 13 เขต เพื่อให้ความคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงาน

 

· ใบอนุญาตการประกอบกิจการ

พลังงาน (Revision  of  Licensing  Scheme)

· หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าในเชิงประสิทธิภาพและวิศวกรรม

· หลักเกณฑ์การอนุญาต

การประกอบกิจการพลังงาน โรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์

· กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า 73 กองทุนทั่วประเทศ

· รายนามกรรมการกองทุนฯ

· กรรมการ อพช. 13 เขต 143

คน

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
20.สำนักงานคณะกรรมการกำกับ

กิจการพลังงาน (สกพ.) ,

กองทุนพัฒนาชุมชนรอบ

โรงไฟฟ้า:

กระทรวงพลังงาน (ต่อ)

 

ยึดมั่นการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมโปร่งใส เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

· สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา

พลังงานของประเทศผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

· รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า

เอกชนรายใหญ่ 4 ราย รวมกำลังการผลิต 4,400 เมกะวัตต์

   
21. สำนักงานคณะกรรมการ

ป้องกันและปราบปรามยา

เสพติด (ปปส.) :

กระทรวงยุติธรรม

เป็นองค์กรกลางที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการภายในปี พ.ศ. 2558

 

พันธกิจ 4 ด้าน

1.กำหนดและปรับยุทธศาสตร์

2.บริหารจัดการการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบูรณาการ

3.อำนวยการให้มีการบังคับใช้กฎหมาย

4.ติดตามประเมินผลตรวจสอบและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของยาเสพติด

· เสริมสร้างความเข้มแข็ง 48,171 หมู่บ้าน/ชุมชน ,

· เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน 8,634 หมู่บ้าน/ชุมชน , พัฒนาหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินดีเด่นให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ 1 อำเภอ1 ศูนย์การเรียนรู้ 1,846 แห่ง

· สร้างและพัฒนาความรู้แก่ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่องค์กร

ปกครองส่วนท้องถิ่น5,836

คน

 

 

 

  · ศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน

· สถานศึกษาปลอดยาเสพติด

· หมู่บ้าน/ชุมชนปลอดยาเสพติด

· บุคลากรชุมชนต่อต้านยาเสพติด

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
21. สำนักงานคณะกรรมการ

ป้องกันและปราบปรามยา

เสพติด (ปปส.) :

กระทรวงยุติธรรม  (ต่อ)

  · สร้างระบบป้องกันสถานศึกษา4,402 โรงเรียน, ขจัดปัจจัยเสี่ยงรอบสถานศึกษา77 จังหวัด , จัดกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด803 แห่ง    
22.บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด :

มูลนิธิซีเมนต์ไทย

ส่งเสริมคุณธรรม สร้างสรรค์สังคม

 

พันธกิจ

เป็นผู้นำการทำประโยชน์เพื่อสังคม

· เยาวชนสร้างสรรค์สังคม ปีที่ 2 (YSAP2)[4]

· ครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก 20 คน

· ปี 2552 มอบทุนการศึกษาเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ 63 คน

· กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวที่

ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้โครงการปันโอกาส วาดอนาคต138 โครงการชาวบ้านได้ประโยชน์มากกว่า 6,000 คน

 

· “ คู่มือเดินเท้า : ก้าวหน้าเพื่อการพัฒนา”

· กิจกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการทำประโยชน์ต่อสังคม

· โครงการค่ายอบรมและประกวดการออกแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

· เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคม

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
22.บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด :

มูลนิธิซีเมนต์ไทย(ต่อ)

  · สร้างอาคารเรียน 26 หลัง ซ่อมแซม 2 หลัง ถังเก็บน้ำฝน

2 ถัง สถานพยาบาล 2 แห่ง

· กองทุนเครือซิเมนต์ไทยฟื้นฟู

ผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์

· โครงการเกษตรอินทรีย์ วิถีแห่งความพอเพียง

· โครงการสัญจรธรรม สร้างสรรค์สังคม

· โครงการสานฝันคนวัยใส ใส่ใจสุขภาพ

23.ศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ศูนย์คุณธรรมเป็นแหล่งกลางพัฒนาความรู้และนวัตกรรมด้านคุณธรรม รวมทั้งสร้างเสริมพลังเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนสังคมคุณธรรม”

 

พันธกิจ

1. จัดประชุมสมัชชาคุณธรรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรมด้วยกระบวนการจัดหาความรู้รูปแบบต่าง ๆ

· โครงการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

· โครงการผลิตสารคดีส่งเสริม

คุณธรรมจริยธรรม

· โครงการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายคุณธรรมความดี

· โครงการเครือข่ายห้องสมุดศูนย์คุณธรรม

· โครงการศึกษาวิจัยและฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาคุณธรรมความดี

·   หนังสือถอดองค์ความรู้ชุดบุคคลคุณธรรม “ชีวิตงามด้วยความดี”

·   คู่มือประกอบรายงานการวิจัยคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในประเทศไทย (ครอบครัวคุณธรรม โรงเรียนคุณธรรม และ สังคมคุณธรรม)

·   หนังสือ “เพาะเมล็ดพันธุ์สันติภาพ”

· ภาคีเครือข่ายสมัชชาคุณธรรม

· ผู้นำเยาวชนจิตอาสา

· ภาคีเครือข่ายคุณธรรมความดี

· เครือข่ายการเรียนรู้ศูนย์เศรษฐกิจชุมชนเชิงคุณธรรม

 

 

หน่วยงานภาคี วิสัยทัศน์/พันธกิจ (ด้านชุมชน) ตัวอย่าง

ผลงานสำคัญ (ด้านชุมชน)

เครื่องมือ/นวัตกรรม ฐานข้อมูลองค์กรชุมชน
23.ศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน)

(ต่อ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2. ส่งเสริมสนับสนุนเครือข่ายองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องให้มีความเข้มแข็งทางวิชาการและนวัตกรรมและการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการรวมพลังของกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคมเพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย

 

·  โครงการ “เครือข่ายการเรียนรู้ศูนย์เศรษฐกิจชุมชนเชิงคุณธรรมภาคเหนือตอนบน”

 

·  วีดิทัศน์ “7 ปีของการ

ขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมไทย”

·  วีดิทัศน์ดอกไม้บานสื่อสาร

ความดี “จิตอาสา”และ“ศูนย์เรียนรู้คุณธรรมและวิสาหกิจชุมชน”

 

 

องค์ประกอบ

  • นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์                                      ที่ปรึกษา
  • นายโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์                                                  ที่ปรึกษา
  • นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์                                           ที่ปรึกษา
  • นายมงคล ณ สงขลา                                            ที่ปรึกษา
  • นายสมพร ใช้บางยาง                                            ที่ปรึกษา
  • นางสีลาภรณ์ บัวสาย                                            ที่ปรึกษา
  • ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว                                   ที่ปรึกษา
  • นายเสรี พงศ์พิศ                                                 ที่ปรึกษา
  • นายอำพล จินดาวัฒนะ                                         ที่ปรึกษา
  • นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ                                            ที่ปรึกษา
  • นายพลเดช ปิ่นประทีป                                         ประธานอนุกรรมการ
  • อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน หรือผู้แทน อนุกรรมการ
  • นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร                                                       อนุกรรมการ
  • นายกฤช ลี่ทองอินทร์                                           อนุกรรมการ
  • นายเจษฎา มิ่งสมร                                                                      อนุกรรมการ
  • นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์                                                             อนุกรรมการ
  • นายณัชพล เกิดเกษม                                                                 อนุกรรมการ
  • นายณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม                                                       อนุกรรมการ
  • นายบัญชร แก้วส่อง                                                                    อนุกรรมการ
  • นายพลากร วงศ์กองแก้ว                                       อนุกรรมการ
  • นายสมคิด สิริวัฒนากุล                                                             อนุกรรมการ
  • นางสมหญิง มานะจิตต์                                                           อนุกรรมการ
  • นายสรวุฒิ พานิช                                                อนุกรรมการ
  • นายสาคร นาต๊ะ                                                                          อนุกรรมการ
  • นายสุขเกษม วงศ์สุบรรณ อนุกรรมการ
  • นางสาวสุธาทิพย์ จันทรักษ์                                                       อนุกรรมการ
  • นางสาวสุพัตรา ศรีวณิชากร                                                       อนุกรรมการ
  • นายสุริยา ยีขุน                                                   อนุกรรมการ
  • นายคณุสสัน ศุภวัตรวรคุณ                                                       อนุกรรมการและเลขานุการ
  • นางสาวนาตยา แท่นนิล                                         อนุกรรมการและ
    ผู้ช่วยเลขานุการ

เกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะโดยเน้น  3 ประเด็นคือ 1) สะอาด(Healthy 2) เพียงพอ(Accessibility)และ 3) ปลอดภัย(Safety)

เครือข่ายทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT: Surveillance and Rapid Response Team)

 

เป็นโครงการต่อเนื่อง จากโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ปตท. เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2542 เพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา ด้วยความร่วมมือของผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ มีเป้าหมายสนับสนุนและให้กำลังใจแก่ผลงานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ทำด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยความมุ่งมั่น เป็นความดีที่สมควรได้รับการยกย่องและเผยแพร่เป็นแบบอย่างต่อไป

Young Social Activator Project 2 (YSAP 2) “ โครงการเยาวชนสร้างสรรค์สังคม” เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจในการบำเพ็ญความดี และปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนแกนนำอายุระหว่าง 15-22 ปี ที่มีความตั้งใจที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ให้กับชุมชนและสังคม