สมัชชาสุขภาพ : เครื่องมือลดความขัดแย้ง สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทความ-02

พลเดช  ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ ประจำวันพุธที่ 4 มกราคม 2560

 

เมื่อผมได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการใช้แนวทางของสมัชชาสุขภาพไปขับเคลื่อนงานพัฒนามากขึ้น ก็ยิ่งมองเห็นว่าประเทศไทยของเรายังมีของดีที่ควรขยาย คือเรามีเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ดีมาก ในขณะที่อีกหลายประเทศในโลกกำลังโหยหาและอยากขอมาศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้

สมัชชาสุขภาพของเรานั้น  เขาดำเนินการกันอย่างเป็นกระบวนการตลอดทั้งปี มีเครือข่ายขับเคลื่อนปฏิบัติการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัด บ้างก็ลงไปจนถึงระดับอำเภอและตำบลในหลายพื้นที่แล้ว

ส่วนเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เพิ่งจัดไปเมื่อ21-23 ธันวาคม 2559 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานีนั้น ก็เป็นเพียงงานชุมนุมใหญ่ประจำปี ซึ่งภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศจะได้มาร่วมกันพิจารณาออกมติและแสดงเจตนารมณ์กันในประเด็นนโยบายสาธารณะใหม่ๆ รวมทั้งมาติดตามผลการขับเคลื่อนมติเดิมที่ได้พิจารณาไปเมื่อปีก่อนๆ ว่ามีความคืบหน้าหรือมีปัญหาอุปสรรคประการใดบ้าง

เวลานี้ กระแสความสนใจของภาคประชาสังคมและข้าราชการในพื้นที่ รวมทั้งชุมชนท้องถิ่นฐานล่าง ที่มีต่อเครื่องมือการพัฒนาแบบนี้ กำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะมันสามารถช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกระบวนการพัฒนาได้  ช่วยทำให้สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถจับต้องได้และเป็นประชาธิปไตยชุมชนที่กินได้จริงๆ

หัวใจความสำเร็จของกระบวนการสมัชชาสุขภาพที่ว่านี้อยู่ที่ การใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ประสบการณ์และองค์ความรู้ของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสันติวิธี  ไม่ใช่การมาโต้เถียงกันด้วยอารมณ์ความรู้สึกเพื่อเอาชนะคะคาน  มีกติกาและมีเทคนิควิธีการ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายใหญ่คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. เขาเรียกชื่อเล่นของกระบวนการแบบนี้ว่า 4PWครับ ย่อมาจาก Participatory Public Policy Process based on Wisdom หรือ กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม บนพื้นฐานทางปัญญา

ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 9 ที่เพิ่งผ่านไป มีเสียงสะท้อนความพึงพอใจจากข้าราชการระดับสูงหลายหน่วยงานที่อยู่นอกวงการสาธารณสุข ผู้ได้รับมอบหมายเข้าร่วมงาน  เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงอุตสาหกรรม  บอกว่าแต่ก่อนมาร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแต่ละครั้งเหมือนเป็นผู้ร้ายหรือตกจำเลย เพราะภาคประชาชนจะเข้ามาเรียกร้องกดดันหรือต่อว่าต่อขาน  แต่เดี๋ยวนี้สามารถพลิกบทบาทเป็นพระเอกพระรองกันแล้ว ทุกท่านต่างมั่นใจในเครื่องมือแบบสมัชชากันมากขึ้น

นอกจากนั้น ในงานยังมีบรรยากาศการผนึกกำลังกันระหว่างหน่วยงานระดับนโยบาย 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และกระทรวงมหาดไทย กับ กลุ่มองค์กรตระกูล ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการพัฒนาประเทศด้านสุขภาพและสังคม อีก 6 องค์กร คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส) สำนักงานหลักประกันสุขภาพ(สปสช) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส) สถาบันประเมินและพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล(สรพ) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช)  ทำให้สมัชชาสุขภาพมีสถานะความเป็นเครื่องมือการพัฒนา ที่ยอมรับกันกว้างขวางยิ่งขึ้น

การมาร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติแบบนี้  ด้านหนึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ขบวนปฏิรูปภาคประชาชนทุกระดับทั่วประเทศรับทราบว่า ต่อนี้ไปงานปฏิรูปสุขภาพและปฏิรูปสังคมไทยจะเดินหน้าเคียงคู่กันไป โดยมีSDGsและประเทศไทย 4.0 เป็นเป้าหมายปลายทาง

อีกด้านหนึ่ง เป็นการยืนยันว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพ(4PW) เป็นแนวทางสายกลางและเป็นทางสายหลัก ที่ภาคีเครือข่ายทางสังคมส่วนใหญ่ของประเทศจะใช้ในการทำงานแบบสานพลัง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และปรับตัวของทุกฝ่ายร่วมกันไป บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากสมัชชาสุขภาพแล้ว  สช. ยังมีเครื่องมือขับเคลื่อนกระบวนการ4PW ที่เกิดขึ้นตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ชิ้นอื่นๆอีก เช่น  ธรรมนูญระบบสุขภาพ, การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งล้วนได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่ายและมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย จนเกิดรูปธรรมต้นแบบและนวัตกรรมทางสังคม ซึ่งได้มีการนำมาแสดงผลให้ชมกันอย่างจุใจในงานสมัชชาครั้งนี้ด้วย

อันที่จริง ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาอันเป็นหลักการและแนวทางสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะนั้น ก็เป็นหลักการและแนวทางเดียวกันกับนโยบายประชารัฐที่รัฐบาลชุดนี้กำลังขับเคลื่อนอยู่ และก็เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั่นเอง

ธีมของการจัดงานที่ว่า “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพและสังคมสุขภาวะ”  จึงเป็นการประกาศอย่างหนักแน่นที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อ สร้างความรู้รักสามัคคี ใช้เหตุผล ความเอื้ออาทรและสันติวิธีในการจัดการกับปัญหาของบ้านเมือง

เมื่อหันกลับมาทบทวนเส้นทางการพัฒนาบ้านเมืองจากอดีตถึงปัจจุบัน แม้ประเทศไทยพัฒนาไปแต่ยังมีปัญหาช่องว่างทางสังคม ความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากรและผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่คาราคาซังอยู่มากมาย

การกล่าวโทษและโยนกลองกันไปมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เราจึงควรยอมรับความจริงว่ามันเป็นชะตากรรมร่วมของสังคมไทยที่สะสมมา และตระหนักว่าเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเราจะต้องช่วยกันหาทางแก้ไข

เส้นทางเดิมในอดีตเป็นการพัฒนาที่คิดเอาง่ายๆและบ่อยครั้งก็สุดโต่ง ไม่สนใจเสียงของคนเล็กคนน้อย ขาดการมีส่วนร่วม เสียสมดุล  จึงยังไม่ใช่หนทางของความพอดีพอเพียงหรือทางสายกลางตามที่ได้ทรงเพียรทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

การเดินตามรอยเท้าพ่อ ไม่ควรเป็นแค่วาทกรรมสวยหรู แต่ต้องลงมือทำอย่างมีหลักการแนวคิด วิธีการและเครื่องมือที่เหมาะสมด้วย

ผมคิดว่า ประสบการณ์และประวัติศาสตร์การพัฒนาในสายงานสุขภาพ มีองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับแนวทางการพัฒนาประเทศให้มาสู่จุดสมดุล

ฝากท่านผู้นำ ผู้บริหาร และทีมยุทธศาสตร์ ของทุกกระทรวงทบวงกรมและรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงาน ช่วยพิจารณาอย่างจริงจังด้วยครับ.