จิตอาสาประชารัฐ การลงทุนพัฒนาจังหวัดสู่สังคมไทย 4.0

 

“ประเทศไทย 4.0”  นับเป็นวิสัยทัศน์เชิงทิศทางนโยบายและเป้าหมายสำคัญชิ้นหนึ่งของรัฐบาลที่มีพลังดึงดูดความสนใจจากภาคีเครือข่ายการพัฒนาทุกระดับ ง่ายต่อการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคม และเจ้าหน้าที่รัฐเองก็สามารถยึดกุมไปปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว

มาบัดนี้ กระทรวง ทบวง กรมและอีกหลายวงการ ต่างนำไปขยายรายละเอียด เพื่อใช้ขับเคลื่อนงานพัฒนาในแวดวงของตนกันอย่างกว้างขวาง อาทิ   อุตสาหกรรม4.0, การเกษตร4.0, การศึกษา 4.0, สาธารณสุข4.0, สิ่งแวดล้อม4.0 ฯลฯ จึงถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้นที่น่าชื่นชม เพราะได้กลายเป็นระเบียบวาระสำคัญของชาติที่ทุกฝ่ายขานรับและเข้าร่วมการขับเคลื่อนแล้ว

แต่การทำให้เป้าหมายบังเกิดผลสัมฤทธิ์และมีความมั่นคง-มั่งคั่ง-ยั่งยืน ยังเป็นหนทางที่ยาวไกล เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามและดีไม่ดีก็อาจไปไม่ถึง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปล่อยให้สังคมยังคงอ่อนแอ พลังอิสระของพลเมืองถูกจำกัดกีดกันให้อยู่แต่นอกวง และฝากความหวังไว้กับอำนาจรวมศูนย์ของภาคราชการกับภาคธุรกิจ

อันที่จริงในด้านการพัฒนาสังคม เราเคยใช้วิสัยทัศน์และเป้าหมายของ“สังคม 4.0” กันมานานเกือบ 20 ปีแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เรียกขานชื่ออย่างนี้  ในแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 10-12 ก็กำหนดเป้าหมายไว้ว่า“ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

สังคมไทยที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันหรือสังคมไทย 4.0 เป็นอย่างไร ผมคิดว่าควรมีลักษณะสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน เป็นสังคมเข้มแข็ง และเป็นสังคมคุณธรรม

งานสังคมสงเคราะห์อันเป็นภารกิจหลักที่ส่วนราชการดำเนินการอยู่แล้ว สามารถช่วยได้บ้างในเรื่องแรก แต่การขับเคลื่อนไปสู่อีกสองเรื่องนั้นต้องการการลงทุนทางสังคมอย่างเหมาะสม(Social Investment)  และเป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการต่างๆของกลุ่มจังหวัดและกระทรวงที่เสนอของบประมาณปี2560 เป็นการเพิ่มเติม ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนี้นั้น ส่วนใหญ่เน้นที่โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่โครงการด้านพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมกลับมีน้อย และไม่ค่อยเข้าข่ายการลงทุนทางสังคม

การลงทุนทางสังคมที่สำคัญ คือ การพัฒนาคนและเครือข่ายพลเมืองผู้มีจิตอาสา พัฒนาภาวะแวดล้อมและระบบสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมของพวกเขาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง เพื่อช่วยกันสร้างสังคมไทย4.0ขึ้นมาจากฐานชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศกันให้จริงจัง

งานแบบนี้หน่วยราชการมักไม่คุ้นเคย แต่หน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ราชการแบบ สช. สสส.และพอช.กลับเป็นงานที่ถนัด ดังนั้นการทำงานในรูปแบบประชา-รัฐ ที่มีทั้งภาคธุรกิจ ภาควิชาการ องค์กรปกครองท้องถิ่นและประชาสังคมในพื้นที่มาร่วมมือกัน จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อปี 2553  ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่นับวันยิ่งรุนแรง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) ที่มีอาจารย์หมอประเวศ วะสีเป็นประธาน ในครั้งนั้น สช.เองก็ได้รับมอบหมายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้จัดตั้งสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการ(เฉพาะกิจ)ให้กับคณะกรรมการทั้งสองชุดด้วย

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลไกทั้งหมดต้องยุติไปตามเงื่อนไขในปี 2556 แต่กระแสความขัดแย้งในสังคมยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มข้น  ดังนั้นกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและภาคีเครือข่ายการปฏิรูปประเทศไทยจำนวนหนึ่งจึงได้ประกาศการสานต่อภารกิจของคปร.และคสป.โดยดำเนินโครงการในชื่อว่า “ปลุกพลัง เปลี่ยนไทย” (Inspiring Thailand)  มีมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สสส. สช.และสภาหอการค้าไทยเป็นแกนนำ จึงสามารถรักษางานและเชื่อมร้อยพลังเครือข่ายการปฏิรูปในทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้ามาทำงานร่วมกันโดยไม่ขาดช่วง

ต่อมาเครือข่ายเหล่านี้ได้มีการจัดตั้งตนเองขึ้นมาเพื่อประสานการทำงานในรูปแบบ“ศูนย์ประสานภาคีการพัฒนาจังหวัด หรือ ศปจ.” ด้วยความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นระหว่างภาคประชาสังคมและหอการค้าจังหวัด โดยมีมูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรนิติบุคคลในจังหวัดนั้นๆเป็นผู้ดำเนินงาน  ศปจ.จึงกลายเป็นกลไกประสานงานกลางที่เข้มแข็งในระดับพื้นที่ โดยมี “เวทีภาคีการพัฒนาประเทศไทย” (Thailand Development Forum) เป็นเวทีกลางระดับชาติ

มาถึงยุค คสช. เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบาย “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก”ในปี 2558  เปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่ายการปฏิรูปและศปจ.ทุกจังหวัด แสดงบทบาทเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดและแนวทางการทำงานแบบที่เรียกกันว่า ”เป็นประชา-รัฐ” โดยได้เข้าร่วมอยู่ในกลไกคณะทำงานประชารัฐของจังหวัด รวมทั้งการจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดด้วย

สช.ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจส่งเสริม-สนับสนุนกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป้าหมายคืออยากเห็นนโยบายรัฐทุกประเภท ของทุกกระทรวง ทุกจังหวัดและทุกท้องถิ่น ล้วนเป็นนโยบายที่มีมิติห่วงใยต่อสุขภาพ-สุขภาวะของสังคมและคนเล็กคนน้อย

ดังนั้น สช.จึงได้ทำงานร่วมทำงานกับ ศปจ.และภาคีเครือข่ายประชารัฐและประชาสังคมในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยมีวิทยากรชุมชนที่มีศักยภาพจำนวนประมาณ 10,000 คน กระจายตัวอยู่ใน 878 อำเภอและกทม. 50 เขต ต่างเข้ามาช่วยกันคนละไม้คนละมือแบบจิตอาสา

เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาสู่สังคมไทย4.0  สช.ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (E6) กำลังพยายามที่จะต่อยอดภารกิจของ ศปจ. ให้สามารถเชื่อมโยงอาสาสมัครทางสังคมในพื้นที่ ทุกประเภท ทุกสังกัด รวมทั้งชมรมอาสาสมัครนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐของจังหวัด โดยใช้พื้นที่และประเด็นรูปธรรมของประชาชนเป็นตัวตั้ง เป็นการหนุนเสริมและเติมเต็มงานอาสาสมัครของหน่วยงานต่างๆของรัฐและเอกชนที่มีอยู่เดิม

ภารกิจตั้งต้นมี 2 ประการครับ  ได้แก่ (1)เข้าถึงและช่วยเหลือผู้ยากลำบากในชุมชนทั่วประเทศ (2)จัดทำแผนที่จุดเสี่ยงต่อพิบัติภัยธรรมชาติของชุมชนเป็นรายอำเภอและพัฒนาระบบเครือข่ายเฝ้าระวังฯและรับมือน้ำท่วม-ดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก อันเป็นฉันทมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อหลายปีก่อน.

-พลเดช  ปิ่นประทีป  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ ประจำวันพุธที่ 1 มีนาคม 2560