การปฏิรูปเชิงพื้นที่ สำคัญที่ใครกำหนดประเด็น

พลเดช  ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐

ดูเหมือนว่านโยบายและมาตรการการปฏิรูปของรัฐบาลในช่วงสามปีที่ผ่านมา นอกจาก “จุดไม่ค่อยติด” แล้ว ยิ่งทำดูเหมือนว่ากระแสยิ่งตก แม้ว่าจะพยายามตั้งกลไกใหม่ๆออกมาเป็นจุดขาย.

นับตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.),  สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.), คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), คณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆของรัฐบาล,  คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ,  และล่าสุดก็คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.).

จากบทเรียนรู้ของขบวนปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ ที่สั่งสมมาจากปี ๒๕๓๐-๒๕๖๐ พบว่าหลุมพรางสำคัญที่ขบวนการปฏิรูปในประเทศไทยมักจะพลาดตกลงไปขบวนแล้วขบวนเล่า คือ มักไปตั้งเป้าหมายมุ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายและกติกาสังคมต่างๆในโครงสร้างอำนาจส่วนบน โดยคิดเอาเองว่าด้วยกฎกติกาที่บรรจงสร้างขึ้นมานี้ จะมีอิทธิฤทธิ์บังคับให้พฤติกรรมของข้าราชการและผู้คนที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนตาม ซึ่งพิสูจน์กันมามากแล้วว่า “ไม่เป็นจริง”.

ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปการเมือง และการกระจายอำนาจ ล้วนเป็นเพราะตกหลุมพรางอย่างที่ว่า ตรงกันข้าม เรากลับพบว่า การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญมากกว่า คือการปฏิรูปในระดับโครงสร้างส่วนล่างและฐานราก.

ผมหมายถึงว่า การปฏิรูปในเรื่องต่างๆมักประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงใน ๓ ระดับ ได้แก่ ระดับจิตสำนึกและวิธีคิด ระดับโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และระดับโครงสร้างอำนาจส่วนบน คือกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบทเรียนสามสิบปีบอกเราว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปในระดับวิธีคิด พฤติกรรม และความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นปัจจัยความสำเร็จ และความยั่งยืน.

การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด จิตสำนึกและลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมไม่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจสั่งการหรือใช้กฎหมายบังคับ แต่สามารถเกิดได้ด้วยกระบวนเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ( interactive learning through action) ซึ่งต้องการการทำงานและเรียนรู้ร่วมกันไปของผู้คนที่หลากหลายในสังคม ทั้งประชาชนพลเมือง ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ.

เมื่อได้ร่วมกันเช่นนี้อย่างต่อเนื่องไปสักระยะหนึ่ง จะเกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากัน ทำให้จิตสำนึก วิธีคิดและพฤติกรรมเปลี่ยนไปสู่วิถีใหม่ แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเลยแม้แต่น้อยก็ตาม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ควรมาทีหลังและมีความสำคัญน้อยที่สุดครับ.

ด้วยเหตุนี้ในช่วงหลังๆ  ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พวกเราจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงพื้นที่มากกว่า เพราะในระดับพื้นที่ เราสามารถขยายขอบเขตและกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง.

ในช่วง ๖ เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดกับเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมทุกสายงานในพื้นที่ ได้ช่วยกันระดมความคิดเพื่อกำหนดประเด็นงานพัฒนาที่สำคัญที่สุดของจังหวัดออกมาชัดๆ จำนวนไม่เกิน ๓ ประเด็น  เราเรียกกันว่า “ประเด็นคานงัดของจังหวัด” อันจะนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายแต่ละจังหวัด กับ สช.ในฐานะผู้สนับสนุน เพื่อให้มีการพัฒนาและขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมอย่างครบวงจร.

การปฏิรูปเชิงพื้นที่ สำคัญที่ใครกำหนดประเด็น

จนถึงขณะนี้ มี ๖๖ จังหวัดและกทม. ๖ โซน ที่สามารถร่วมกันกำหนดประเด็นคานงัดของพื้นที่ตนได้เรียบร้อยแล้ว  แท้ที่จริงประเด็นเหล่านี้ก็คือ Local Reform Agenda ที่เป็นของพวกเขา เพื่อพวกเขาและจะขับเคลื่อนโดยพวกเขาเอง.

ในภาพรวม มีประเด็นคานงัดจังหวัดรวม ๒๐๖ ประเด็น หรือเฉลี่ย ๒.๘ ประเด็น/จังหวัด  โดยแบ่งเป็นของภาคเหนือ ๔๖, ภาคกลาง ๕๘, ภาคอีสาน ๔๐, ภาคใต้ ๔๔ และกทม. ๑๘ ประเด็น.

สำหรับในด้านเนื้อหาสาระ สามารถแยกเป็นด้านเศรษฐกิจ ๑๒ เรื่อง, ด้านสังคม ๖๙, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๔๙ และด้านสุขภาพ ๗๖ เรื่อง.

ตัวอย่างประเด็นด้านเศรษฐกิจ เช่น เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง แรงงานต่างชาติ เขตเศรษฐกิจพิเศษ.

ตัวอย่างประเด็นด้านสังคม เช่น ท้องวัยเรียน ยาเสพติด สังคมสูงวัย เด็กปฐมวัย ปฏิรูปการศึกษา.

ตัวอย่างประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะชุมชน การจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็ก ที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง ทางจักรยาน พิบัติภัยธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่า.

ตัวอย่างประเด็นด้านสุขภาพ เช่น อุบัติเหตุจราจร การรณรงค์งดเหล้า ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ การแพทย์พื้นบ้าน สารเคมีการเกษตร สันติภาพสันติสุข.

ทั้งหมดนี้ เป็นฐานทุนสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวและการปฏิรูปพื้นที่ในระยะเปลี่ยนผ่าน  รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น.

ฝากรัฐบาลและกลไก ป.ย.ป. พิจารณานะครับ.