บททดสอบจิตอาสาประชารัฐ

พลเดช ปิ่นประทีป / เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ 2 สิงหาคม 2560

 

จิตอาสาประชารัฐ เป็นคำที่ริเริ่มนำมาใช้ในโครงการพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ให้ดำเนินการในพื้นที่ 878 อำเภอทั่วประเทศ

สช. เป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและอยู่ในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง เป็นหน่วยงานเล็กๆที่ตั้งขึ้นมาตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2550 มีบทบาทหน้าที่ในการประสานงานและบูรณาการกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นโยบายของทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานและทุกระดับ เป็นนโยบายที่มีมิติห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่ไร้อำนาจต่อรอง (Health in All Policies)

ในฐานะที่ สช.เป็นหน่วยงานรัฐ จึงมีอีกหน้าที่หนึ่งคือการช่วยรัฐบาลคิดค้นรูปแบบวิธีการใหม่ๆในการแก้ปัญหาของสังคมและแสดงศักยภาพขององค์กรในการพัฒนาประเทศ เช่นที่ได้รับมอบหมายภารกิจและงบประมาณพิเศษสำหรับโครงการนี้

พระไพศาล วิสาโล ท่านได้ให้ความหมายของ จิตอาสา (Volunteer Spirit) ว่าหมายถึง “ จิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทานให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น ”

“ประชารัฐ” คำนี้มาจากท่อนแรกของเพลงชาติไทย ซึ่งมีใจความว่า“ประเทศไทยรวม เลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี…”

ประชารัฐ ในความหมายกว้าง จึงเป็นแนวทางในการสามัคคีรวมพลังของผู้คนในสังคมไทยโดยไม่แยกฝักแยกฝ่ายและไม่กีดกันใครออกไป (Inclusive)  อีกทั้งยังเป็นสำนึกและหน้าที่ที่พี่น้องคนไทยทุกคนจะต้องร่วมมือกันในการปกป้องแผ่นดินแม่จากภยันตรายทั้งปวง และร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงและยั่งยืน

ประชารัฐ ตามความหมายอย่างแคบ หมายถึง การที่ประชาชนและรัฐร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประชาชนในที่นี้หมายรวมไปถึงภาคเอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “สานพลังประชารัฐ” ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

จิตอาสาประชารัฐ(ในโครงการนี้) หมายถึง อาสาสมัครภาคพลเมืองทุกหมู่เหล่า ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอและจังหวัดเป้าหมาย ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยงานองค์กรใดหรือไม่ก็ตาม เป็นผู้มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในโครงการโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

เครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ หมายถึง ความสัมพันธ์และกิจกรรมความเคลื่อนไหวของกลุ่มอาสาสมัครทุกสังกัดทุกหมู่เหล่าที่อยู่ในอำเภอหนึ่งๆที่ได้ถักทอเชื่อมโยงกันขึ้นมา เพื่อสานพลังปฏิบัติการในการช่วยเหลือผู้ยากลำบากในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งเฝ้าระวังพิบัติภัยธรรมชาติที่เกิดซ้ำซากในเขตพื้นที่อำเภอของตนด้วย

ผู้ยากลำบากโดยทั่วไป หมายถึง คนยากคนจน คนที่ไร้บ้าน คนไร้สัญชาติ ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง ผู้พิการซ้ำซ้อนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยเรื้อรังที่ติดบ้านติดเตียง ผู้ติดเชื้อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ

แต่ในภาวะที่เกิดพิบัติภัยธรรมชาติหรือภัยสงครามหรือโรคระบาดครั้งใหญ่ ไม่ว่าใคร แข็งแรงแค่ไหน ก็อาจเป็นผู้ที่อยู่ในสถานะยากลำบากได้เช่นกัน เขาเรียกว่ากลุ่มประชากรเปราะบาง

ในขณะนี้ สช.กับเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐอำเภอทั่วประเทศ กำลังร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อสำรวจและช่วยเหลือผู้ยากลำบากในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ และจัดทำแผนที่จุดเสี่ยงต่อพิบัติภัยธรรมชาติของชุมชนเป็นรายอำเภอและพัฒนาระบบเครือข่ายเฝ้าระวังฯและรับมือน้ำท่วม-ดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก

ศูนย์ประสานงานจิตอาสาประชารัฐสงขลาได้พัฒนาแอพลิเกชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ชื่อ imed@home ซึ่งพี่น้องเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐทั้ง 14 จังหวัดใช้ในการลงเยี่ยมบ้าน ค้นหาผู้ยากลำบากและบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลกลางแบบโดยทันที ในขณะที่สระแก้วใช้เทคโนโลยี GPS มาช่วยในการบันทึกพิกัดกลุ่มเป้าหมาย  นอกจากนั้นทุกพื้นที่ล้วนมีการใช้ไอทีมาเสริมการปฏิบัติงาน  จึงนับเป็นการพัฒนาเข้าสู่ระบบจิตอาสาประชารัฐ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ

การช่วยเหลือผู้ยากลำบากในโครงการนี้ เขาเน้นการช่วยเหลือ “แบบบ้านๆ ” คือเป็นการช่วยเหลือกันเองระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน  เพราะเมื่อชาวบ้านที่แข็งแรงกว่า เป็นพลเมืองผู้มีจิตอาสา ได้ไปพบและสัมผัสปัญหาที่พี่น้องชาวบ้านด้วยกันเองตกอยู่ในภาวะยากลำบาก ก็มีความเอื้ออาทร เกิดสภาพการจับคู่ช่วยเหลือกันไปตามกำลัง มีข้าวมีน้ำ มีกล้วยอ้อย ก็ติดไม้ติดมือไปฝากไปเยี่ยมกัน โดยไม่ต้องรองบประมาณประจำปีแบบทางราชการ

ขณะนี้หลายจังหวัดได้คิดถึงการสร้างกลไกพึ่งตนเองของเครือข่ายจิตอาสาในระยะยาว จึงริเริ่มก่อตั้งเป็น “กองทุนประชารัฐเพื่อสังคม” ของจังหวัดขึ้นมาแล้ว ในลักษณะเป็นกองทุนของจังหวัด โดยจังหวัดและเพื่อจังหวัด  ซึ่งมีเสียงตอบรับค่อนข้างคึกคักเสียด้วย เพราะสำนึกรักจังหวัด รักถิ่นฐาน ล้วนมีอยู่ในตัวพวกเราทุกคน

ที่ระนองเชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่สละเงินบริจาควันละ 1 บาท ทีร้อยเอ็ดผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่งมอบถุงเงินถุงทองให้อำเภอ 20 แห่งเพื่อเป็นขวัญถุงจัดตั้ง  ที่ลำปางมีคหบดีผู้หนึ่งประกาศบริจาคเป็นเงินหลักแสนทันที่เมื่อตั้งกองทุนนี้ ที่ระยองเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมบริจาคทุกครั้งที่มีกิจกรรมร่วมกัน ที่นราธิวาส ทั้งมัสยิดและวัดพุทธร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น ประกาศจัดตั้งเป็นกองทุนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีพี่น้องประชาชนในหลายจังหวัด ที่กำลังประสบอุทกภัยแบบไม่ทันตั้งตัวจากพายุเซินก้า โดยเฉพาะทางภาคอีสาน 10 จังหวัด  ภาคเหนือมีท่วมฉับพลันและแผ่นดินสไลด์ตัดขาดเส้นทางรถไฟและถนนหลายสาย  ภาคใต้มีดินโคลนถล่มที่ระนอง ชุมพร  ฯลฯ นี่เป็นสถานการณ์จริงในภาคสนาม

แต่สำหรับเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐแล้ว  พวกเขากำลังรับบททดสอบที่หนักหน่วง  เพราะไหนจะต้องช่วยตัวเองและครอบครัวให้ได้ ไหนจะต้องช่วยเหลือชาวบ้านให้ทันเวลา  ทั้งหมดนี้เป็นความเคลื่อนไหวดีๆของสังคมไทยที่ไม่ยอมทอดทิ้งกัน

 

ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ถวายเป็นพระราชกุศลในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครับ .