ทิศทางการพัฒนางานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นการคิดดังๆ ว่า ควรที่จะปฏิรูประบบการจัดกลุ่มเครือข่ายกันอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มความเป็นเจ้าของและการมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพ
จากกลุ่มเครือข่ายภาคีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เดิมเคยจัดเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ MS MK MA และ MP ควรมีการแยกย่อยและจัดกลุ่มกันใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการส่งเสริม สนับสนุนและการพัฒนาศักยภาพได้อย่างเหมาะสม ดังนี้
MS1 คือ ตัวแทนภาคประชาสังคมเชิงพื้นที่ มีฐานพิจารณาจากเครือข่าย 4PW ระดับจังหวัดหรือคณะทำงานจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัด(เดิม) จำนวน 76+6 พื้นที่ = 82 เสียง (consistuencies)
MS2 คือ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมเชิงประเด็น มีฐานพิจารณาจากประเด็นการขับเคลื่อนจริงในปัจจุบัน คาดว่าจะมีประมาณ 20-25 เสียง
MK1 คือ ตัวแทนภาควิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ มีฐานพิจารณาจากสถาบันทางวิชาการหรือนักวิชาการที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสุขภาพและสังคมสุขภาวะ คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20-25 เสียง
MK2 คือ ตัวแทนภาควิชาชีพ มีฐานการพิจารณาจากสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ 9 องค์กรและสภาวิชาชีพอื่นๆอีก รวมประมาณ 20 เสียง
MA1 คือ ตัวแทนที่ กขป.13 เขตเป็นผู้เสนอชื่อ 13 เสียง
MA2 คือ ตัวแทนที่ อบจ.76 จังหวัดและกทม. 6 โซนเป็นผู้เสนอชื่อ มี 82 เสียง
MP1 คือ ตัวแทนที่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10-20 หน่วยเป็นผู้เสนอชื่อ
MP2 คือ ตัวแทนองค์กรที่มี พรบ.เฉพาะ 6-15 หน่วยและองค์การมหาชน 20-30 แห่งเป็นผู้เสนอชื่อ
MP3 คือ ตัวแทนที่พรรคการเมืองจดทะเบียน 10-20 พรรคเป็นผู้เสนอชื่อ
รวมทั้งสิ้นประมาณ 303 เสียงเป็นที่นั่งสำหรับตัวแทนผู้มีอำนาจเต็มในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ประจำปี ซึ่งสามารถจัดกลุ่มแบบใหม่ได้เป็น 3 ภาคส่วนตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ได้แก่ภาควิชาการความรู้ คือ MS2, MK1, MK2 รวม 70 ที่นั่ง
ภาคสังคม ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน คือ MA1, MS1, MP2 รวม 110 ที่นั่ง
และภาครัฐ การเมืองและองค์กรปกครองท้องถิ่น คือ MA2, MP1, MP3 รวม 123 ที่นั่งซึ่งถ้าให้โควต้า 1 เสียงมาได้ 5 คนก็จะมีผู้มาร่วมประชุมสมัชชาประมาณ 1,515 คน
เสริมสร้างความเป็นเจ้าของ
ในขณะที่ประเทศสมาชิกรู้สึกเป็นเจ้าของ WHA/WHO และเห็นคุณค่าในการใช้ประโยชน์จากมัน เพื่อประเทศชาติและประชาชนของตน โดยผ่านการจ่ายเงินงบประมาณสมทบให้กับการดำเนินงานของ WHO และร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งคณะผู้แทนของตนมาปฏิบัติหน้าที่ในWHA
แต่สำหรับ NHA ของไทย สช. มีงบประมาณอย่างเพียงพอจากรัฐบาลอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องรอรับงบประมาณสมทบจากองค์กรภาคีสมาชิก นอกจากนั้นการหวังที่จะให้มีการสมทบงบประมาณเฉพาะในการจัดงานNHAก็ใช่ว่าทุกหน่วยงานองค์กรภาคีจะทำได้ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดมากที่สุด เพราะต้องมีการตั้งงบประมาณล่างหน้าและอาจถูกตีความว่าเป็นการตั้งงบประมาณที่ซ้ำซ้อนกับ สช. เข้าไปอีก ส่วนภาคประชาสังคม วิชาการและองค์กรวิชาชีพนั้นก็มักทำงานกันแบบจิตอาสา จึงไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะมาร่วมลงขันได้
ดังนั้น ที่พอจะเป็นไปได้ คือการกำหนดให้สมาชิกบางประเภท บางกลุ่มที่อยู่ในวิสัยในการดูแลตนเองเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมสมัชชา ให้เป็นผู้ดูแลตนเองและเครือข่ายที่ใกล้ชิด โดยพิจารณาเป็นกลุ่มไป
ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในด้านค่าใช้จ่ายเข้าร่วมกิจกรรม สช. ก็ต้องดูแลรับผิดชอบในส่วนนี้ ตามหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ยกสถานะ NHA ด้วยผลสัมฤทธิ์ของสมัชชา
ประเด็นนโยบายที่นำเข้าสู่เวที NHA ทั้งขาขึ้น ขาเคลื่อนและการวิจัยประเมินผล ควรเป็นเรื่องที่องค์กรภาคีได้ประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่หน่วยงานภาคีไม่สามารถทำได้สำเร็จด้วยตนเองตามลำพัง
ด้วยทิศทางในการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะดังกล่าว จะยิ่งช่วยยกระดับคุณค่าและคุณประโยชน์ของ NHA ให้สูงยิ่งขึ้นเรื่อยไป.
พลเดช ปิ่นประทีป, สิงหาคม 2560
Cerdit Photo Designed by jcomp / Freepik