เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนากลไกสนับสนุนเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐระดับจังหวัด เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ พ.ศ. 2560-2562 โดยอนุมัติงบกลางจำนวน 161 ล้านบาท มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน
สช. เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีภารกิจในการส่งเสริม สนับสนุนและบูรณาการเชื่อมโยงกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของกระทรวง ทบวง กรมและหน่วยงานรัฐอื่นๆทุกประเภท จึงเล็งเห็นว่างานจิตอาสาในแนวทางการรวมพลังแบบประชา-รัฐ เช่นนี้ คือรูปธรรมที่ดีที่สุดประการหนึ่ง ในการเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสู่สังคม ๔.๐ เพราะสามารถสะท้อนคุณลักษณะของสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมที่เข้มแข็งและสังคมคุณธรรมไปพร้อมกัน
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชารัฐทั่วประเทศได้ลุกขึ้นมาขานรับและร่วมขับเคลื่อนภารกิจโครงการนี้กันอย่างคึกคักมากทั้ง 76 จังหวัด มีผู้นำเข้าร่วมเป็นคณะทำงานจิตอาสาประชารัฐจังหวัด รวม 2,305 คน (เป็นภาคประชาสังคมร้อยละ 43 ,ภาครัฐร้อยละ 27 ,ภาคธุรกิจร้อยละ 16 ,และภาควิชาการร้อยละ 14 )
พวกเขาได้ดำเนินการถักทอเชื่อมโยงแกนนำจิตอาสาประชารัฐ จนครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 878 อำเภอ มีจำนวนรวม 31,736 คน ( 417 คน/จังหวัด หรือ 36 คน/อำเภอ)
การปฏิบัติงานของเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐเป็นไปอย่างแข็งขันมาก แม้ว่าหลายพื้นที่จะประสบภัยพายุกระหน่ำและน้ำท่วมเฉียบพลัน พวกเขาได้ลงมือสำรวจ ค้นหาและเข้าถึงผู้ยากลำบาก 8 ประเภทในชุมชนท้องถิ่นของตน จนถึง 15 สิงหาคมที่ผ่านมา พบผู้ยากลำบากแล้ว 30,301 คน ( 399 คน/จังหวัด หรือ 35 คน/อำเภอ)
นอกจากนั้นยังได้พบพื้นที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติซ้ำซากจำนวน 197 อำเภอ ซึ่งกำลังให้การช่วยเหลือเบื้องต้นและหาทางจัดการกับปัญหาในระยะยาวต่อไป
มีบทเรียนรู้และเรื่องราวที่น่าสนใจจำนวนมากที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานของเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ บางส่วนสะท้อนข้อมูล ความรู้และความจริงอันเหลือเชื่อของแผ่นดินที่พวกเขากำลังจดบันทึกกันอยู่ หลายส่วนได้ช่วยกระตุ้นมโนธรรมสำนึกและจิตเมตตาอันแรงกล้าในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ยากลำบาก
ที่อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส พบแม่เฒ่ารายหนึ่งช่วยตัวเองไม่ได้เพราะข้อแขนขาติดแข็งไปหมดเหมือนท่อนไม้ ท่านบอกว่าอายุ 134 ปี ซึ่งหมายความว่าชราภาพเอามากๆ เราคงไม่จำเป็นต้องไปพิสูจน์ว่าอายุเท่าไรกันแน่ เพราะที่ต้องการคือรถนั่งเข็นสำหรับญาติพาไปห้องน้ำ
ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ไปพบชายผู้โดดเดี่ยว อาศัยอยู่ในเพิงสังกะสีปลายสวน แคร่ไม้ไผ่คือที่พักผ่อน มีรูปแม่แขวนที่หัวนอน ไม่มีส้วม ใช้น้ำในสระ หุงข้าวด้วยเตาก้อนหินสามเส้า ประวัติเคยติดคุกมาก่อน สังคมรังเกียจ ที่ไร่ที่นาของพ่อแม่ถูกฮุบหมด เป็นช่างไม้ช่างปูนแต่ไม่มีใครจ้าง แม้ผู้ใหญ่บ้านเองก็เพิ่งจะนึกออกว่ามีเขาผู้นี้เป็นลูกบ้าน เมื่ออาสาสมัครเข้าไปแจ้ง
ที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก พบสองผัวเมียกับลูกอีกสองคน อพยพมาจากต่างถิ่น ปลูกกระท่อมไม้ไผ่อยู่ขอบหมู่บ้าน หารับจ้างกินเป็นรายวัน ขอทะเบียนบ้านไม่ได้เพราะสภาพเรือนไม่แข็งแรง ไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้า พอนายอำเภอท่านทราบข้อมูลจากจิตอาสา ก็รีบรุดเข้าไปช่วยสร้างบ้านด้วยเงินกองทุนของอำเภอโดยทันที
ที่อำเภอตราพระยา จังหวัดสระแก้ว พบครอบครัวหนึ่งชีวิตรันทดมาก แม่พิการช่วยตัวเองได้น้อยมาก อยู่กับลูกชายที่ไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯแล้วประสบอุบัติเหตุตกจากที่สูง จนพิการถูกส่งกลับมาอยู่ร่วมทุกข์กับแม่ แต่ทว่ายังไม่ทันที่อาสาสมัครจะให้การช่วยเหลือใดๆ ลูกชายได้ด่วนผูกคอตายไปเมื่อสองสามวันก่อน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของแม่ที่เฝ้ามองลูกแบบหมดปัญญาแก้ไขสถานการณ์
เมื่อสุดสัปดาห์ ผมได้ไปพบเครือข่ายจิตอาสาที่สระแก้ว พวกเขาเข้าถึงตัวผู้ยากลำบากแล้วประมาณ 700 คน มีทั้งติดบ้านติดเตียง พิการซ้ำซ้อน ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ติดเชื้อเอดส์ ผู้ไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน และในจำนวนนี้ได้เสียชีวิตไปแล้วในระหว่างนี้รวม 6 ราย
ยังมีเยาวชนจิตอาสา (gen Z) อีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้ติดตามไปช่วยพ่อแม่ลงพื้นที่สำรวจและเป็นคนช่วยจัดทำข้อมูลผู้ยากลำบากด้วยระบบดิจิทัล พลังภาพรวมความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ที่เห็นคาตาคนแล้วคนเล่า ได้ทำให้เกิดจิตสำนึกใหม่ไปด้วยกันทั้งพ่อแม่และลูก นี่คือกระบวนการปลูกฝังและปรับเปลี่ยนจิตสำนึกของพลเมืองที่กำลังเกิดขึ้นที่ฐานล่างทั่วประเทศครับ
ทุกวันนี้ รัฐบาลและหลายฝ่ายกำลังเตรียมความพร้อมของพลเมืองเพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 อันที่จริงแล้ว จิตสำนึกการให้และการเป็นอาสาสมัคร เป็นจิตสำนึกของสังคมที่มากไปกว่าเรื่องเทคโนโลยี จึงเป็นแรงขับเคลื่อนพื้นฐานประการหนึ่งที่จะพาประเทศไปสู่ 4.0 และไกลไปกว่านั้น
แต่พลเมืองที่รองรับประเทศไทย 4.0 ที่เราพูดถึง เรายังต้องการค่านิยม ปทัสถานและลักษณะนิสัยอื่นๆอีกด้วย อาทิ จิตสำนึกการพึงพาตนเอง, กล้าคิด-กล้าทำ-กล้าเปลี่ยนแปลง, การรู้แยกความผิดชอบชั่วดี, ความซื่อสัตย์-ซื่อตรง, มีวินัย-เคารพกติกา, ความพอดีพอเพียงหรือทางสายกลาง, ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าการระบุว่าควรทำเรื่องอะไร นั่นก็คือปัญหาว่าทำอย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการสั่งสอน สั่งการ ใช้กฎหมายบังคับ หรือแม้แต่การรณรงค์ติดป้ายชูคำขวัญไปในที่สาธารณะต่างๆจนดาษดื่น หากต้องมีกุศโลบายและวิธีการกล่อมเกลาทางสังคมอย่างพอเหมาะพอสม มีศิลปะ และแยบคายแบบไม่รู้ตัว
จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่สำหรับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย THAILAND 4.0 ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานครับ.
พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ 6 กันยายน 2560