วันที่ 28 – 30 กันยายน 2560 สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา จัดกิจกรรมเพื่อประเมินสภาพการณ์ความเสี่ยงจากภัยพิบัติน้ำท่วม
และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติน้ำท่วมในความเสี่ยงใหม่ กลุ่มผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ มาจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในบริเวณลุ่มน้ำสายบุรี รวม 10 ตำบล คือ ต.ปล่องหอย, ต.ตะโละดือรามัน อำเภอกะพ้อ,ต.ตะโละไกรทอง อำเภอไม้แก่น ต.ปะเสยะวอ, ต.ละหาร, ต.ตะบิ้ง, ต.เตราะบอน , ต.กะดุนง, ต.ตะลุบัน ต.มะนังดาลำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ประเมินความเสี่ยงตามกรอบแนวคิดเซนได มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์และเข้าใจความเสี่ยงภัยในพื้นที่ ทั้งในเชิงของสภาพการณ์ และสาเหตุของความเสี่ยงมองเห็นช่องทาง หรือทางเลือกในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้

แผนผังชุมชน ต .เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
กิจกรรมวันแรก แบ่งกลุ่ม ทบทวนสภาพพื้นที่และปัญหาในพื้นที่ตำบลของตอนเอง โดยใช้กระบวนการจัดทำแผนผังชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน (จำนวนประชากร ลักษณะพื้นที่ ข้อมูลการประกอบอาชีพ เป็นต้น) ระบุจุดเสี่ยง, พื้นที่เสี่ยง, ผังทรัพยากร, และผังทิศทางน้ำไหล เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการระดมความคิดทบทวนและวิเคราะห์สภาพพื้นที่
แต่ละคนเล่ากันถึงสถานการณ์เหตุการณ์น้ำท่วมในอดีตของแต่ละตำบล แล้วร่วมกันแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม สรุปภาพรวมเนื้อหากระบวนการจัดทำแผนผังชุมชน
“เป็นกิจกรรมที่สนุก ไม่เครียดแต่ยังได้รับความรู้ ไม่เหมือนการอบรมแบบที่เคยไป ที่ต้องนั่งฟังบรรยายจากวิทยากร”
กิจกรรมวันที่สอง ช่วงเช้าเป็นการแนะนำเครื่องมือสำหรับการประเมินสภาพพื้นที่ได้แก่การอ่านแผนที่ การอ่านค่าพิกัด UTM Gird และวิธีการใช้เครื่อง GPS เช่น ระบุตำแหน่งพื้นที่เสี่ยงภัย, ระบุขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมของแต่ละหมู่บ้าน โดยวิธีการเดินรอบพื้นที่น้ำท่วม
ช่วงสาย ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลความเสี่ยงภัยน้ำท่วม การรับมือภัยพิบัติ ร่วมไปถึงการใช้ที่ดินในอดีต ระบุพื้นที่เสี่ยงภัยโดยใช้เครื่องมือ GPS และแบ่งกรอบคำถามเป็น 3 ประเด็น
1.ประวัติเหตุการณ์การเกิดภัย ความเสียหาย การรับมือในอดีต
” ………คุณยาย เล่าถึงวิธีการสังเกตฝนก่อนฝนจะตก โดยการสังเกตมดถ้ามดเดินแถวเป็นขบวนเข้าไปในที่ร่มแสดงว่าฝนกำลังจะตก และยังเล่าถึงการปรับตัวต่อสภาวะภัยพิบัติน้ำท่วม ในอดีตจะมีการปลูกมันหรือปลูกเผือกเก็บไว้กินในช่วงเวลาน้ำท่วม ซึ่งแต่ก่อนไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ จะมีแค่คนในชุมชนที่จะช่วยเหลือและแบ่งบันอาหารกัน”
2.ทรัพยากรดินและน้ำ
ขอบเขตพื้นที่เสี่ยงภัย ความเสียหาย ทิศทางการไหลของน้ำ เนื่องจากลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้เกิดน้ำหลากและปัญหาน้ำท่วมสูงและท่วมนาน บางชุมชนเป็นพื้นทีแอ่งกระทะช่วงเวลาน้ำท่วมชุมชนถูกตัดขาดเป็นเกาะ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก ผลของน้ำท่วมแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์ พื้นที่เสียหายจึงเป็นไร่นาและสวนที่ใช้ในการเลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ แต่ปัจจุบันชาวบ้านก็มีการปรับตัวเริ่มหันมาปลูก ยางพารา และพืชสวนประเภท ข้าวโพด ถั่ว เป็นพืชระยะสั้น แต่ต้องเก็บผลผลิตก่อนช่วงเดือนพฤศจิกายน ถ้าหลังจากนั้น น้ำก็จะเอ่อเข้าท่วมผลิตผลเสียหาย
3.การจัดการในชุมชน
ชาวบ้านจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในเรื่องการยกของขึ้นที่สูงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปจุดอพยพ หน่วยงานภาครัฐให้การช่วยเหลือในเรื่องการแจกถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย (แต่ก็มีปัญหาตามมา คือ “ภัยในใจคน” เมื่อมีการแจกถุงยังชีพก็จะเกิดการขัดแย้งกันของชาวบ้านในเรื่องความไม่เท่าเทียมในการแจกถุงยังชีพ) ความหวังของคนในชุมชนคือการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การปรับตัวให้อยู่กับภัยน้ำท่วมให้ได้เหมือนสมัยอดีต โดยการช่วยเหลือกันภายในชุมชนและข้ามชุมชน
จากข้อมูลทำให้สามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซนตามลักษณะพื้นที่
วันที่สาม หลังจากลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาแล้วแต่ละสรุปข้อมูลกลุ่มนำเสนอ ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยน สมาชิกภายในกลุ่มร่วมเพิ่มเติมข้อมูลจากผู้นำเสนอ ร่วมกันสรุปข้อมูลของแต่ละตำบลตามหัวข้อประเด็น
1.ลักษณะการเกิดน้ำท่วม (ระดับความรุนแรงพื้นที่เสี่ยงภัย จุดสำคัญ)
2.ความเสียหาย (ขอบเขต-ขนาดพื้นที่)
3.ผลกระทบ (พื้นที่ สิ่งก่อสร้าง กลุ่มคน)
4.คัดเลือกรูปภาพที่สามารถแสดงจุด/ตำแหน่งสำคัญของพื้นที่สำรวจจำนวน 5 รูป เมื่อคัดเลือกรูปและ
สรุปข้อมูลตามประเด็นเสร็จก็นำไปติดในแผนผังลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง แต่ละกลุ่มจะติดในเขตตำบลของตนเอง กระบวนการนี้จะทำให้เห็นภาพรวมพื้นที่และความเชื่อมโยงกันภายในลุ่มน้ำ และยังทำให้ผู้เข้าร่วมได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยเอง
สรุปข้อมูลตามประเด็นเสร็จก็นำไปติดในแผนผังลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่าง กระบวนการนี้จะทำให้เห็นภาพรวมพื้นที่และความเชื่อมโยงกันภายในลุ่มน้ำ ซึ่งผู้เข้าร่วมได้มีบทบาทหลักในการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยเอง
จากนั้นเป็นการนำข้อมูลพิกัดวางลงในแผนที่ เพื่อจะได้แสดงให้เห็นพิกัดของจุดเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมได้ไปสำรวจว่าอยู่จุดไหนในแผนที่ ซึ่งเป็นการทำให้สามารถสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความเข้าใจตรงกันได้ ในขั้นตอนของการดำเนินงานบริหารจัดการความเสี่ยง
ช่วงสุดท้ายเป็นการสรุปประเด็น สภาพการณ์น้ำท่วมของลุ่มน้ำสายบุรี ที่ประชุมร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนสรุปภาพรวมเนื้อหา ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก
- ปัญหาน้ำท่วม เกิดจากสาเหตุหลัก 4 ประการ
- บริเวณพื้นที่ลุ่มเป็นแอ่งกระทะ จะท่วมจากฝนตกหนักในพื้นที่ และน้ำล้นจากแม่น้ำ
- บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ – พื้นที่ทุ่ง จะท่วมจากฝนสะสมในพื้นที่
- น้ำท่วมจากถนน สะพาน ประตูน้ำ ฯลฯปิดกั้นกีดขวางทางน้ำ
- น้ำท่วมจากการเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์ที่ดิน/ถมดินปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ทำให้พื้นที่รับน้ำลดลงจึงส่งผลให้เกิดสภาวะน้ำท่วมสูง
- ผลกระทบ ถนนสัญจรไปมาไม่สะดวก พืชเกษตรเสียหาย สัตว์เลี้ยงขาดหญ้ากิน ไฟฟ้าน้ำประปาในชุมชนใช้ไม่ได้ เกิดความขัดแย้งกันในพื้นที่
- แนวทางลดความเสี่ยงภัย กำจัดขยะในท่อระบายน้ำเพื่อให้ระบายสะดวก ไม่ปลูกสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ โดยจัดทำข้อตกลงภายในชุมชนหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ระบบการเตือนภัย และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภัยพิบัติในแต่ละชุมชนที่เป็นทั้งศูนย์ให้ข้อมูลและเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือกันภายในเครือข่าย เรื่องราวซึ่งเป็นประเด็นที่จะได้ร่วมกันพัฒนารายละเอียดและดำเนินการร่วมกันต่อไป
“เวทีนี้สนุกได้ประสบการณ์ความรู้ใหม่ๆ ได้ใช้เครื่องมือที่แปลกใหม่ทำงานให้งานมีสีสัน เมื่อนึกถึงเวทีที่กำลังจะเกิดข้างหน้า กิจกรรมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่แห่งสัมพันธ์ภาพที่ถักทอให้แน่นขึ้น”
เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินสภาพการณ์ภัยพิบัติภูมินิเวศน์ลุ่มน้ำสายบุรี
สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)