ในช่วงเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจำนวนมากมายหลายชุด คนจำนวนหนึ่งรู้สึกตื่นเต้นและมีลุ้นที่จะเข้าไปมีบทบาททำงานผลักดันการปฏิรูปตามอุดมการณ์ความเชื่อของตน แต่ผู้คนอีกส่วนหนึ่งอาจรู้สึกชาชินต่อการแต่งตั้งกลไกของรัฐบาลแบบนี้ไปบ้างแล้ว
ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่าสิบปี ได้เกิดเสียงเรียกร้องการปฏิรูปประเทศดังขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความหวังที่จะเพิ่มสมรรถนะของบ้านเมืองในการจัดการปัญหาและป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งเกิดซ้ำรอยเดิม จนต่อมาได้กลายเป็นกระแสสังคมขนาดใหญ่ที่ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่อาจนิ่งเฉย
การแต่งตั้งกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปของรัฐบาล คสช. ในคราวนี้ นับเป็นวงรอบที่สามแล้ว รอบแรกคือสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิก 250 คน ปฏิบัติหน้าที่ 11 เดือน จัดทำข้อเสนอแผนการปฏิรูปรวม 69 เรื่อง (ปฏิรูปพิเศษ 15, วาระปฏิรูป 37, วาระพัฒนา 8, ข้อเสนอปฏิรูปเร็ว 9) รอบที่สองเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สมาชิก 200 คน ปฏิบัติหน้าที่ 22 เดือน นำเสนอแผนการปฏิรูปรวม 188 เรื่อง
แต่คราวนี้รอบที่ 3 สถานการณ์บ้านเมืองได้เคลื่อนมาถึงอีกจุดหนึ่งซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เพราะวันนี้เรามีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 และมี พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ ที่ล้วนย้ำเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศและมุ่งพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนด้วยยุทธศาสตร์และเป้าหมายระยะยาวของชาติ ซึ่งมีผลผูกพันทุกรัฐบาลและกระทรวงทบวงกรมต่างๆ
โดยสภาพความจริงแล้ว การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องใหญ่ คนไทยทุกกลุ่มพลัง ผู้มีความรู้มีปัญญา มีความเชื่อและผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลาย ถึงเวลาต้องร่วมกันคิดร่วมกันหาทางออกเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน หากใครบางส่วนจะปล่อยให้อารมณ์ความผิดหวังท้อแท้ส่วนตัว มาทำให้ต้องเสียโอกาสเข้าร่วมกระบวนการก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
กรณีศึกษาขบวนสุขภาพ-สุขภาวะ เป็นตัวอย่างของสายธารการเคลื่อนไหวของพลเมืองไทยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเอง ส่งเสริมสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งอย่างหลากหลาย สะสมประสบการณ์และภูมิปัญญาในการพึ่งตนเอง รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ริเริ่มการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศและเข้าผลักดันขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าสองทศวรรษ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่หยุดยั้ง
สช. หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ก็เป็นผลผลิตที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวดังกล่าว มีภารกิจหลักในการส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐทุกกระทรวงทบวงกรมมีความเข้าใจในเรื่องสุขภาพมิติกว้าง อันครอบคลุมประเด็นสุขภาวะและคุณภาพชีวิตทุกด้าน ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ รวมทั้งมีหน้าที่พัฒนานโยบายสาธารณะของหน่วยงานให้มีมิติที่ห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย
สิบปีที่ผ่านมา สช. และขบวนสุขภาพ-สุขภาวะได้สะสมองค์ความรู้ ประสบการณ์และฐานทุนทางปัญญาในด้านกระบวนการมีส่วนร่วมของสังคมในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างหลากหลายพอประมาณ แต่ก็มีบทเรียนรู้ด้านลบต่อข้อจำกัดของการปฏิรูปต่างๆในอดีต ที่มุ่งการปรับเปลี่ยนเฉพาะโครงสร้างส่วนบนโดยละเลยการสร้างความเข้มแข็งที่ฐานล่าง ซึ่งมักจะประสบความล้มเหลวและไม่ยั่งยืน
ในกระแสการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ สช. อาจมีบทบาทหนุนเสริมใน 5 แนวทาง
- ขับเคลื่อนภารกิจหลักให้หนุนกระแสปฏิรูป – งานกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมที่ สช.ดำเนินการอยู่ในทุกประเด็น ของทุกภาคีเครือข่าย ทั้งเครื่องมือสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ล้วนมีกรอบแนวคิดพื้นฐานในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างวิธีคิด ความสัมพันธ์ทางสังคมและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น ดังนั้นจึงอยู่ในวิสัยที่ สช.จะปรับการขับเคลื่อนให้มาหนุนเสริมการปฏิรูปได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปประเทศในด้านสังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม
- แสดงศักยภาพร่วมขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ – งานปฏิรูปที่สำคัญมิใช่มีเพียงแค่กระบวนการออกกฎหมายและปรับเปลี่ยนที่โครงสร้างอำนาจส่วนบนเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนพลเมือง จากความสัมพันธ์แบบทางดิ่งให้เป็นแบบทางราบจึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนขึ้น ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ต้องการพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงจากเครือข่ายพลเมืองผู้ตื่นรู้ขนาดใหญ่ และต้องการการจัดการเชิงเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ
- ตั้งศูนย์สนับสนุนยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง – มีจุดสำคัญที่น่าเป็นห่วงที่สุดในการขับเคลื่อนการปฏิรูปภายใต้รัฐบาล คสช. ในครั้งนี้ ก็คือการที่รัฐบาล คสช. เชื่อมั่นในกลไกระบบราชการมากไป ในขณะเดียวกันก็หวาดระแวงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจนเกินพอดี เพราะในสภาพความเป็นจริงนั้น ระบบราชการเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการปฏิรูป ไม่ใช่กำลังหลักและยิ่งไม่ใช่หัวหอกที่จะนำพาการปฏิรูป พลังสังคมเข้มแข็งต่างหากที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ สช. เล็งเห็นความจำเป็นในการจัดให้มีศูนย์สนับสนุนยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนและเข้ามาช่วยเติมเต็มในจุดนี้
- สร้างนวัตกรรมทางสังคมเป็นการนำร่อง – การสร้างรูปธรรมความสำเร็จที่ชัดเจนตามเจตนารมณ์ของแผนการปฏิรูปจากจดเล็กๆ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมขนาดใหญ่ สช.เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีประสบการณ์ในการบุกเบิกสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็นอันหลากหลาย ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้และจัดการปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคมและการทำงานในรูปแบบประชารัฐ หรือสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
- สร้างสังคมเข้มแข็งขึ้นมาจากชุมชนท้องถิ่น – เนื่องจากยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศดังที่กล่าวข้างต้น การสร้างสังคมเข้มแข็งต้องสร้างขึ้นมาจากฐานล่างคือชุมชนท้องถิ่น สช. จึงควรมีแผนงานรูปธรรมที่มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น เสริมสร้างตำบลเข้มแข็ง-ตำบลสุขภาวะให้เต็มพื้นที่ 7,800 แห่งทั่วประเทศ สมตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 และปฏิญญาที่ 33 องค์กรภาคีได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ไว้ในคราวนั้น
พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 4 ตุลาคม 2560