คือเครื่องมือของประเทศ | คุยกับเลขาธิการ (17)

ในช่วง 7 ปี ก่อนมี พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ระหว่างที่มีการผลักดัน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ เรามุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่แก่สังคมเรื่อง “สุขภาพมิติกว้าง” และย้ำแนวทางใหม่ “สร้างนำซ่อม” ในขณะเดียวกันต้องมุ่งสร้างกระแสกดดันทางสังคมให้รัฐบาลออกเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ของสังคม

เวลานั้น “สมัชชาสุขภาพ” ได้ถูกออกแบบขึ้นมา เพื่อใช้เป็นจุดนัดพบประจำปีของภาคีเครือข่าย ในการติดตามความก้าวหน้าและทวงถามรัฐบาลผู้มีอำนาจหน้าที่ เวทีสาธิตสมัชชาสุขภาพในช่วงนั้น เป็นเวทีที่ไม่ค่อยเป็นทางการนัก ดูเหมือนจะเป็นเวทีประชาคมหรือเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียมากกว่า ยังไม่มีกฎกติกาอะไรที่ชัดเจนส่วนบรรยากาศของกิจกรรมที่อยู่นอกเวทีสมัชชา มีลักษณะเป็นตลาดนัดสุขภาพชุมชน มีทั้งบูธนิทรรศการ การสาธิตกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพ ร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน เวทีอภิปรายหรือเสวนาทางวิชาการ และศิลปะการแสดงแบบชาวบ้านที่มีชีวิตชีวา

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วงทศวรรษที่ 1 เป็นช่วงของการบุกเบิกสร้างสรรค์และพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ โดยนำเอารูปแบบวิธีการของสมัชชาองค์การอนามัยโลกมาปรับประยุกต์อย่างเป็นระบบในเชิงเนื้อหาสาระ เน้นการขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ตามกรอบประเด็นและวิธีคิดเรื่องสุขภาวะ4มิติ, สร้างนำซ่อม, SDH, HiAP. ในเชิงสถานภาพ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม และเป็นหลังอิงให้กับภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมและภาควิชาการ ซึ่งเป็นตัวเล็กๆที่ไม่มีอำนาจต่อรอง

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีการเรียนรู้และปรับตัวมาตามลำดับ ได้ก้าวผ่านแพร่งทางแยกที่สำคัญๆ และ มีพัฒนาการจนตกผลึกในหลายๆเรื่อง อาทิ ว่าด้วยเรื่อง Hard power กับ Soft power, เรื่องแนวทาง ท่าทีที่เลือกใช้ ระหว่างการเผชิญหน้า เรียกร้องกดดัน ต่อสู้เอาแพ้เอาชนะ กับ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ โดยปรับตัวและหาทางออกไปด้วยกัน, เรื่องรูปแบบสมัชชาที่เป็นทางการ เป็นระบบแบบแผน หรือ แบบไม่เป็นทางการ, เรื่องการมุ่งตัวชี้วัดที่เป็นจุดหมายปลายทาง กับ การเก็บเกี่ยวผลงานความสำเร็จเล็กๆสะสมไประหว่างเส้นทาง, เรื่องมุ่งผลิตนโยบาย (ขาขึ้น) กับการขับเคลื่อนนโยบาย (ขาเคลื่อน) และการประเมินผลนโยบาย (ขาประเมิน) ที่ทำไปพร้อมๆกัน, เรื่องการให้ความสำคัญต่อนโยบายสาธารณะโดยรัฐ หรือนโยบายสาธารณะโดยสังคม  เราจะเน้นทางไหน.

สมัชชาสุขภาพในทศวรรษที่ 2ในเชิงสถานภาพ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติควรเป็นเครื่องมือของประเทศในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์พัฒนาสิ่งใหม่ๆ อาทิ การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน, การทำให้เกิด “purchaser-provider-regulator split” ที่ชัดเจนในระบบสาธารณสุขไทย, การบูรณาการระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนและเป็นธรรม.

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติควรเป็นเครื่องมือของสังคมไทยในการสานพลังพลเมือง ลดปัญหาความขัดแย้ง เพื่อแก้ปัญหาสามัญที่ยากๆ ซึ่งลำพังอำนาจแบบแข็งทำไม่สำเร็จ อาทิ ลดอุบัติเหตุจราจร  แก้ปัญหายาเสพติดโดยชุมชน  จัดการขยะและสิ่งแวดล้อมชุมชนสมัชชาสุขภาพแห่งชาติควรเป็นงานมหกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมที่มีชีวิตชีวา เป็นพื้นที่กลางและฐานรองรับฟอรั่มทางสังคมที่หลากหลาย  และเป็นจุดนัดหมายประจำปีของเครือข่ายทางสังคมทุกภาคีมาแสดงพลังทางความคิดร่วมกันอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติควรเป็นสมัชชายุค 4.0   คือ สมัชชาของคนสามวัย ทันสมัย และไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง.

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป, ธันวาคม 2560