พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ 3 มกราคม 2561
นับเป็นข่าวน่าชื่นชม ที่กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอ 4 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 2 ด้วยการลงปฏิบัติการในพื้นที่ ทำข้อมูลเชิงลึกเป็นรายบุคคลสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000บาท/ปี จำนวน 5.3 ล้านคน มุ่งให้มีงานทำ มีรายได้ที่พอเพียง ก้าวพ้นระดับความยากจน
4 มาตรการประกอบด้วย 1)ให้จังหวัดและหน่วยงานในท้องถิ่นจ้างผู้ที่ลงทะเบียนคนจนได้เข้าทำงานก่อน 2)ให้ธนาคารรัฐปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นทุนหมุนเวียนให้ผู้ต้องการค้าขายหรือเงินประเดิมลงทุน 3)จัดอบรมและเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้ผู้ลงทะเบียนเพื่อประกอบอาชีพ 4)จัดอบรมการทำบัญชีครัวเรือน ดำรงชีพด้วยเศรษฐกิจพอเพียงและให้มีความรู้เท่าทันด้านการเงิน
ซึ่งดูเผินๆ มาตรการเหล่านี้ก็พูดและทำกันมานาน เหมือนไม่มีอะไรใหม่ แต่สิ่งที่ผมสนใจคือกระบวนการค้นหากลุ่มเป้าหมายและการใช้มาตรการที่เหมาะสมลงสู่เป้าหมายโดยตรง ถึงตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกใช้กลไกแบบไหน และจะสามารถคาดหวังความสำเร็จที่ยั่งยืนได้เพียงใด
จากประสบการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขไทยในยุคแรกๆที่มีโรคเอดส์ระบาดเข้ามา ระหว่างปี 2530-2540 ในเวลานั้นยังไม่มียากำจัดเชื้อไวรัสที่ได้ผล จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผู้ติดเชื้อเหมือนโดนคำพิพากษาประหารชีวิต พวกเขามีสถานะที่ย่ำแย่ยิ่งกว่าคนยากคนจนทั่วไป ถูกสังคมรังเกียจกีดกัน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ สุขภาพทรุดลงทุกทีทั้งร่างกายและจิตใจ
พวกเรา แพทย์พยาบาลและข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติการอยู่ด่านหน้าในขณะนั้น ต้องรับภาระในการดูแลกลุ่มประชากรเหล่านี้ อยู่กับความทุกข์ความยากลำบากของพวกเขา ทำหน้าที่ช่วยประคับประคองให้ผ่านวิกฤติสุขภาพและชีวิตไปเป็นช่วงๆโดยที่ยังไม่มีวิธีเยียวยารักษาที่ดีกว่านั้น เจ้าหน้าที่บางคนทนเห็นความทุกข์และร่วมรับสภาพไม่ไหวก็เบิร์นเอ้าท์ออกไป (burn out) คือ เหนื่อยล้า หมดแรง สู้ทนปฏิบัติงานนี้ไม่ไหว ขอปลีกตัวไปทำหน้าที่อื่นแทน
การดูแลผู้ยากลำบากให้ได้ผลดีและยั่งยืน ต้องมุ่งหวังผลสำเร็จที่นับได้เป็นรายคน จึงเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน บทเรียนรู้จากการดูแลผู้ติดเชื้อเอดส์เราพบว่า กระบวนการกลุ่มหรือกระบวนการชุมชนจะช่วยสร้างภาวะแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตและการช่วยเหลือเกื้อกูลกันภายในกลุ่ม
จากคนอ่อนแอ ซึ่งต่างคนต่างเผชิญชะตาชีวิตไปตามยะถากรรม เมื่อมีการรวมกลุ่มให้พบปะกันเป็นประจำ จะค่อยๆกลายเป็นกลุ่มแบบช่วยตนเอง-ช่วยกันเองขึ้นเป็นเบื้องต้น(self help group) ต่อเมื่อมีการเรียนรู้และมีศักยภาพในการจัดการตนเองได้มากขึ้นก็เป็นกลุ่มเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้มากขึ้นตามลำดับ(self reliance group) และมักมีพัฒนาการ เกิดจิตสำนึกสาธารณะและจิตอาสาขึ้นมาในเวลาเดียวกัน จึงสามารถเปลี่ยนจากผู้ยากลำบากแต่ละคน ให้กลายเป็นพลเมืองที่แข็งแรง กันเป็นกลุ่มๆไป
เคล็ดลับความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขไทยในเรื่องนี้ คือการคิดนอกกรอบ กล่าวคือในระดับผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม พวกเราอาศัยศักยภาพและบทบาทขององค์กรNGOและองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของรัฐ เพราะตระหนักดีว่า เขาคือผู้แข็งแรงและมีการทำงานแบบจิตอาสา อันต่างไปจากเราที่เป็นข้าราชการกินเงินเดือนประจำ ที่สำคัญเขาอยู่ใกล้ชิดและเข้าใจปัญหาที่ละเอียดอ่อนของผู้ติดเชื้อได้ดีกว่า
เช่นนี้เอง รูปแบบการทำงานและความสัมพันธ์แบบประชารัฐจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ โรงพยาบาลชุมชน หลายแห่งเปิดให้มีคลินิคเฉพาะในช่วยบ่ายเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ เป็นที่นัดหมายมาพบแพทย์ รับยา และเข้าร่วมกระบวนการกลุ่ม ที่นั่น NGOกับราชการสาธารณสุขได้ร่วมทำงานและเรียนรู้-ปรับตัวไปด้วยกัน
ในส่วนกลาง ผู้บริหารก็ทำหน้าที่สนับสนุนทางนโยบายและวิชาการอย่างใกล้ชิด มีการจัดสรรเงินหมวดอุดหนุนทั่วไปเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างราชการกับภาคประชาชน กรมควบคุมโรคติดต่อ(ในสมัยนั้น) ถึงกับประกาศเชิญชวนองค์กรNGO ให้เสนอโครงการมาเข้าสู่ระบบการพิจารณาจัดสรรทุนไปทำงานกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และต่อมาองค์การระหว่างประเทศก็ได้ใช้รูปแบบเช่นเดียวกันนี้ ในการบริหารเงินกองทุนสนับสนุนภาคประชาสังคมไปทั่วโลก
เมื่อเป้าหมายบุคคล 5.3 ล้านคนและพิกัดพื้นที่ชัดเจนแล้ว ถ้าจะนำพาคนเหล่านี้ให้หลุดพ้นความยากจน ผมคิดว่าควรมีเป้าหมายและแนวทางในเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้
1.ช่วยทำให้มีงานทำ-มีรายได้เป็นประจำ พวกเขาต้องการงานทำและรายได้ที่พอเพียง มั่นคง ยั่งยืนมากขึ้น ตรงจุดนี้ต้องการกระบวนการกลุ่มและการจัดการ(จัดตั้ง) ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะแรงงาน การจ้างงานในชุมชน การจ้างงานโดยองค์กรชุมชน องค์กรท้องถิ่น หน่วยราชการ ภาคเอกชน และการลงทุนประกอบอาชีพเล็กๆน้อยๆ
2.ช่วยให้เข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจนในเมือง ต้องพึ่งพิงสาธารณูปโภคเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ข้อมูลข่าวสาร และถนนหนทาง
3.ช่วยให้มีบัตรและสามารถเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะคนที่ยากลำบากและถูกทอดทิ้ง มักมีอุปสรรคสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถมีและเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เหมือนคนอื่นๆ
4.สร้างหลักประกันการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ ชุดสิทธิประโยชน์ทุกชนิดตามโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่อาจมีเพิ่มเติมในอนาคต ล้วนเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา จึงต้องสร้างหลักประกันในการเข้าถึงควบคู่มาด้วย
5.ส่งเสริมสนับสนุนระบบสวัสดิการชุมชนและท้องถิ่น ควรสนับสนุนให้มีระบบสวัสดิการสังคมที่ริเริ่มสร้างสรรค์โดยชุมชน-ท้องถิ่น ให้หลากหลาย โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้
แนวคิดและนโยบายที่ดีๆของรัฐบาลเป็นจำนวนมากที่มักไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะติดกับดักของระบบระเบียบของทางราชการ ก้าวไม่พ้นกรอบวิธีคิด กลไกและกระบวนการทำงานแบบเก่า อาศัยแต่ส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่เป็นผู้นำและลงมือทำเอง
ในขณะที่งานเข้าถึงกลุ่มประชากรเฉพาะและมุ่งผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ต้องการการคิดแบบใหม่
สวัสดีปีใหม่ 2561 ครับ