พลเดช ปิ่นประทีป / 19 มกราคม 2561
เมื่อการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณารางวัลลูกโลกสีเขียวผ่านไปได้ 6-7 ปี เริ่มสังเกตุพบว่าผลงานชุมชนที่เคยได้รับรางวัลไปแล้ว บางแห่งยังคงเข้มแข็งมั่นคง บางแห่งอ่อนล้าลงด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ จึงได้พิจารณาให้มีรางวัลประเภท 5 ปีแห่งความยั่งยืน สำหรับชุมชนที่ยังคงสามารถดูแลรักษาป่าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต่อมานำเอา “สิปปนนท์ เกตุทัต” มาตั้งเป็นชื่อรางวัล เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงคุณความดี ตลอดจนอุดมการณ์รักสิ่งแวดล้อมของท่าน
รางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต เป็นผลงานชุมชนที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี คณะทำงานภูมิภาคที่ไปเยี่ยมเยือนจะเป็นผู้พิจารณาเบื้องต้นและเสนอชื่อชุมชนที่ผ่านเกณฑ์เข้าสู่การกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ
ในช่วงปลายทศวรรษแรก เป็นช่วงที่ทดลองทำไป เรียนรู้ไป จนในที่สุดมีการพัฒนาขึ้นเป็นเกณฑ์การพิจารณาสำหรับการทำงานของคณะกรรมการอย่างเป็นหลักเป็นฐาน ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณา โดยดูครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ ระบบนิเวศ การบริหารจัดการอย่างบูรณาการ และบทบาทสังคมและชุมชนท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีเกณฑ์พิจารณาที่ละเอียดลึกลงไปเป็น 7 ด้าน และ 22 ดัชนีบ่งชี้
อาจกล่าวได้ว่า รางวัลสิปปนนท์ฯ มาเริ่มกันอย่างจริงจังในทศวรรษที่สอง การเอาใจใส่ต่อการค้นคว้ารวบรวมข้อมูลและหลักฐานต่างๆที่สะท้อนผลลัพธ์ผลกระทบ และการลงพื้นที่เพื่อสังเกตุการณ์ พิสูจน์สมมติฐานบางอย่าง ตลอดจนการซักถามแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ทำให้คณะกรรมการยิ่งได้สัมผัสกับองค์ความรู้ ประสบการณ์และภูมิปัญญาการจัดการใหม่ๆของชุมชนท้องถิ่น จนสามารถสังเคราะห์เป็นตำราและหลักสูตรสำหรับการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งนำไปใช้นำเสนอผลงานวิชาการในระดับนานาชาติได้อย่างมีชีวิตชีวา
จากการวิเคราะห์ผลงานรางวัลสิปปนนท์ฯ ตั้งแต่ครั้งที่ 11-17 จำนวน ทั้งสิ้น 39 ผลงาน พบลักษณะร่วมในบางประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งจะหยิบยกขึ้นมากล่าวพอเป็นสังเขป ดังนี้
1.ป่าชุมชนที่มั่นคงยั่งยืน มีความหลากหลายในเชิงภูมินิเวศ วัฒนธรรมและกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค
ในเชิงการกระจายตัวของรางวัลสิปปนนท์ฯ ทั้ง 39 ชุมชน สามารถจำแนกเป็น ชุมชนในภาคใต้ 13 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 แห่ง ภาคกลางและตะวันตก 7 แห่ง ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง
มองในเชิงลักษณะภูมินิเวศของป่าเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์-พัฒนาและการบริหารจัดการ ป่าชุมชนที่ได้รับรางวัลสิปปนนท์ฯมีทั้งส่วนที่เป็นระบบนิเวศป่าสนหรือป่าสนเขาทางภาคเหนือ นิเวศป่าดิบชื้นทางภาคใต้ นิเวศป่าชายเลน ป่าชายหาดและป่าพรุทางภาคใต้และภาคตะวันออก ป่าเต็งรังทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่าเขาหินปูนในภาคกลาง และระบบนิเวศลุ่มน้ำในภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มองในเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชุมชนที่ดูแลรักษาป่า ก็มีความหลากหลายมาก ทั้งชาติพันธุ์ส่วนน้อย เช่น กลุ่มปกาเกอญอ กระเหรี่ยงโปว์ ภูไท ยอง ชอง ชาวเล มลายูพื้นถิ่น ไทลื้อ และ ทั้งคนไทยพุทธ ไทยอีสาน ไทยมุสลิม หรือ คนชั้นกลางในเมืองทั่วไป ฯลฯ ต่างกลุ่มต่างมีภูมิปัญญาในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่าง หลากหลายและงดงาม
2.ป่าชุมชนขยายตัวไม่หยุดยั้ง ความอุดมสมบูรณ์ยิ่งเพิ่มพูน
ในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบกับตอนที่ได้รับรางวัลครั้งแรก ป่าชุมชนทั้ง 39 ผลงาน มีการขยายพื้นที่ดำเนินงานออกไปมากบ้างน้อยบ้างตามสภาพแวดล้อม มีทั้งแบบการขยายอาณาบริเวณขอบป่าออกไปเกิดเป็นผืนป่าชุมชนที่ใหญ่ขึ้น เช่น ป่าชุมชนโคกป่าซี จ.กาฬสินธุ์ จาก 1,268 ไร่ เพิ่มเป็น 26,398 ไร่(1,981%) , ป่าชุมชนภูขวาง จ.มุกดาหาร จาก 11,300 ไร่ ขยายเป็น 19,997 ไร่(76.9%) , ป่าชุมชนเขาพระพุทธบาทน้อย จ.สระบุรี จาก 1,500 ไร่ ขยายเป็น 3,200 ไร่ (113.3%)
ขยายแบบเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ตำบล อำเภอหรือจังหวัดข้างเคียงโดยทำงานกันเป็นเครือข่าย เช่น ป่าชุมชนบ้านอาลอ-โดนแบน อ.เมือง จ.สุรินทร์ ไปเชื่อมกับ อ.กระสัง จ.สุรินทร์ จาก 700 ไร่ เพิ่มเป็น 4,300 ไร่ (514%) และแบบที่ขยายออกไปเป็นกระเปาะ เป็นหย่อมๆไม่ติดกัน เหมือนโอเอซิส เช่น ป่าชุมชนบ้านคลองยา จ.สุราษฎร์ธานี ล่าสุดมี 5 กระเปาะ ขนาด 398 ,67 ,172, 95, และ40 ไร่ตามลำดับ
ส่วนในด้านความอุดมสมบูรณ์นั้น พบว่า ร้อยทั้งร้อยของผลงานป่าชุมชนรางวัลสิปปนนท์ฯ มีความหนาแน่นของป่าเพิ่มขึ้น ต้นไม้ในป่ามีขนาดลำต้นใหญ่และสูงมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติของป่าที่ไม่มีใครไปทำลาย นอกจากนั้นชุมชนมีการปลูกป่าแซมเพิ่มเติมและมีการจัดทำฝายชะลอน้ำรูปแบบต่างๆเป็นจำนวนนับร้อยนับพันแห่งในป่าของพวกเขา เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เข้าใจง่ายและสามารถลงมือทำได้เลย ทำให้มีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้นมาก กลายเป็น Food Bank ในแบบฉบับของชาวบ้าน
3.ชุมชนท้องถิ่นยังคงเข้มแข็ง ภาคประชาสังคมมีบทบาทมาก
เรื่องนี้ถือเป็นเกณฑ์หนึ่งที่คณะกรรมการจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในพื้นที่จะเป็นหลักประกันความมั่นคงยั่งยืน ซึ่งเราพบว่าป่าชุมชนที่ประเมินทุกแห่ง ล้วนมีสิ่งนี้เป็นฐานทางสังคมที่เข้มแข็งรองรับอยู่อย่างมั่นคง
เรามักเห็นการนำแบบ “รวมหมู่” ไม่ใช่การนำเดี่ยว มีเครือข่ายหรือกลุ่มของผู้นำที่หลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน มีทั้งผู้นำแบบชาวบ้าน ชนชั้นกลาง นักพัฒนา ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการเกษียณอายุ เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้นำศาสนา ฯลฯ นอกจากนั้นเรายังพบการเตรียมส่งมอบภารกิจการนำจากรุ่นสู่รุ่น โดยหลายแห่งได้ปรากฏตัวผู้นำแถว 3,4 หรือ 5 แล้วก็มี
น่าสังเกตุว่า ในชุมชนที่เข้มแข็งเหล่านี้ บทบาทการนำพาชาวบ้านจะเป็นภาระกิจของผู้นำตามธรรมชาติของพวกเขาเอง ไม่ใช่เกิดจากนโยบายหรือการสั่งการจากภายนอก เพราะการขับเคลื่อนเจตนารมณ์ป่าชุมชนของชาวบ้านเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องยาวนาน เกือบทุกแห่งมักจะต้องผ่านช่วงของการต่อสู้ที่แหลมคม มีความรุนแรง โดยเฉพาะการต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพลและกลุ่มผลประโยชน์ที่ต้องการยึดพื้นที่สาธารณะไปเป็นของตน หลายแห่งผู้นำถึงกับต้องบาดเจ็บล้มตายลงไป แต่ที่ชาวบ้านไม่หยุดก็เพราะมีผู้นำคนอื่นลุกขึ้นมาสานต่อ จนมาถึงวันนี้
สิ่งที่ทำให้ผู้นำกล้าลุกขึ้นมานำพาชาวบ้านต่อสู้นั้น ย่อมมิใช่แค่การต่อสู้เพียงเพื่อให้ตนเองได้มีที่ดินทำกินเท่านั้น เพราะผลประโยชน์ส่วนตัวจะไม่มีพลังและแรงบันดาลใจที่มากพอ หากแต่จะต้องเป็นจิตสำนึกใหญ่มากคือการทำเพื่อผู้อื่น เป็น “จิตสาธารณะ”ที่มุ่งจะปกป้องสมบัติส่วนรวมเอาไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งในกระบวนการต่อสู้ ปกปักษ์รักษาและพัฒนาฐานทรัพยากรดิน-น้ำ-ป่าอย่างต่อเนื่องเช่นนี้เอง ที่ได้หล่อหลอมผู้คนในขบวนให้เกิดจิตสำนึกส่วนรวม หรือจิตสาธารณะ อย่างเป็นธรรมชาติ
ทั้งผู้นำและผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่มาร่วมกันทำงานสาธารณะ ล้วนจะต้องเสียสละเวลา แรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์เข้ามาร่วมกันทำงาน ทุกคนเป็น “จิตอาสา” การทำงานส่วนรวมเป็นการทำ “หน้าที่พลเมือง” ยิ่งทำมากก็ยิ่งมีความเป็นพลเมืองที่เข้มข้นขึ้นตามลำดับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีในภาครัฐหรือภาคธุรกิจโดยทั่วไปที่ขับเคลื่อนภารกิจด้วยค่าจ้างเงินเดือนและการปฏิบัติหน้าที่ตามที่นายจ้างสั่งมา แต่เกิดในภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยพลังจิตสาธารณะและจิตอาสา ทำงานส่วนรวมอย่างเป็นอิสระ ด้วยเสียงเรียกร้องในหัวใจของตน
4.การบริหารจัดการร่วมกันเป็นปัจจัยความสำเร็จ
แม้ผู้นำชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมจะเป็นกำลังหลัก ที่ลุกขึ้นมานำพาชาวบ้านปกป้องฐานทรัพยากรและสร้างความเข้มแข็งของป่าชุมชน แต่ลำพังเท่านั้นยังไม่เพียงพอ ในผลงานรางวัลสิปปนนท์ฯทุกแห่งพบว่ามีภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ องค์กรปกครองท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิ อื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนอยู่ด้วย
ในช่วงของการต่อสู้ระยะแรกๆ การปกป้องดูแลรักษาป่าชุมชนมักมีความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วไป ด้านหนึ่งเป็นเพราะเรื่องผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างส่วนตัวและส่วนรวม ทั้งระหว่างชาวบ้านกับนายทุน ผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง และระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง อีกด้านหนึ่งเนื่องจากบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่แตกต่างกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชุมชนชาวบ้านที่ต้องการดูแลและใช้ประโยชน์จากผืนป่า
การที่เจ้าหน้าที่มีสถานะเป็นผู้รักษากฎหมาย จึงต้องกดดันชาวบ้านให้ออกจากเขตป่า แต่ชาวบ้านที่อยู่ดังเดิมก่อนที่กฎหมายจะประกาศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาวบ้านที่มีสำนึกในการดูแลรักษาป่าในฐานะสมบัติสาธารณะและมีผลงานการดูแลรักษาป่าเป็นที่ประจักษ์ ต่างฝ่ายต่างมีภาระหน้าที่และคุณค่าที่ยึดถือต่างกัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและสะสมมาตลอดระยะเวลายาวนาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างมีอคติต่อกัน ทำให้ไม่สามารถร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหา หาทางออกและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้
โชคดีที่สังคมไทยของเรามีวัฒนธรรมของการเอื้ออาทร มีการเรียนรู้ และมีการปรับตัวที่ดีจากทุกฝ่าย ทำให้ในระยะ 2-3 ทศวรรษหลังมานี้ได้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญและนำมาสู่ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “การจัดการปัญหาร่วมกัน” (co-management) กล่าวคือในระดับนโยบายของประเทศ รัฐบาลและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง มีการปรับทิศทาง นโยบายในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน-น้ำ-ป่า โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมและบทบาทของชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติในพื้นที่ ก็มีการโยกย้าย หมุนเวียนกันไปตามวาระ ส่วนชุมชนท้องถิ่นเองก็มีประสบการณ์ในการต่อสู้ดิ้นรนและมีวุฒิภาวะมากขึ้นตามลำดับ ในที่สุดรูปแบบของการจัดการร่วมดังกล่าว จึงค่อยๆ ผุดบังเกิดขึ้นในจุดต่างๆอย่างมีพลวัตร สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเอื้อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วยความสมัครสมานสามัคคียิ่งขึ้น
อาจกล่าวได้ว่า ผลงานทั้ั้ง 39 ผลงาน ล้วนมีพัฒนาการมาจากสิ่งเหล่านี้ และทุกแห่งมีลักษณะการจัดการร่วมอย่างชัดเจน ถือเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป
5.มีองค์ความรู้ และภูมิปัญญา
ในทุกผลงาน จะพบว่ามีองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่อสู้ เรียนรู้และปรับตัวเพื่อการปกป้องและดูแลป่าชุมชนของพวกเขา บางเรื่องเกิดจากการลองผิดลองถูกของชาวบ้านเอง บางเรื่องเกิดจากการได้รับองค์ความรู้จากภายนอกที่ผ่านเข้ามาทางนักวิชาการ นักพัฒนา ข้าราชการ และสถาบันการศึกษาต่างๆ
พบว่างานวิจัยชาวบ้านหรือวิจัยท้องถิ่นที่มี สกว. และ สถาบันการศึกษาในภูมิภาคเป็นผู้เข้าไปสนับสนุนนั้น มีส่วนช่วยอย่างสำคัญที่ทำให้ชุมชนทุกพื้นที่ มีข้อมูล องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งป่าชุมชนรางวัลสิปปนนท์ฯมักมีสิ่งนี้เป็นตัวช่วย แต่การที่สถาบันวิชาการเหล่านี้จะเข้าไปได้ ชุมชนต้องลุกขึ้นมาแสดงบทบาทความเข้มแข็งของตนในระดับหนึ่งเสียก่อน
เนื่องจากแต่ละชุมชนจะมีที่มาที่ไปและบริบทที่แตกต่างกัน ทำให้องค์ความรู้ของป่าชุมชนรางวัลสิปปนนท์ฯในแต่ละผลงานมีแง่มุมที่มากเพียงพอ สามารถสังเคราะห์ออกมาอย่างเป็นระบบด้วยงานวิจัยแบบ”กรณีศึกษา”(case study) เมื่อรวมแต่ละกรณีเข้ามาก็จะกลายเป็นตำราหรือทฤษฎีป่าชุมชนที่เป็นแบบฉบับของเราเอง เป็นป่าชุมชนในบริบทวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย
6.เป็นนวัตกรรมทางสังคม
ผลงานทั้ง 39 ป่าชุมชนล้วนมีจุดเด่น จุดแข็งที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลงานของพวกเขาเป็นที่รู้จักจดจำของคนภายนอก และเป็นที่มาของการได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรมทางสังคมที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมา อาทิ
- ปทุมรัตต์โมเดล ของชุมชนบ้านเขวาโคก-บ้านเขวาพัฒนา จังหวัดร้อยเอ็ด ป่าขนาดเล็กที่มีคุณภาพสูง เป็นโมเดล “โคก-หนอง-นา”ที่สร้างนวัตกรรม “นารวม”, “แผนแม่บทการใช้ที่ดินของชุมชน”,GPSชุมชน.
- การผูกเสี่ยวต้นไม้ ให้เด็กและต้นไม้เป็นเพื่อนเกลอกันไปตลอดกาล ของป่าชุมชนภูขวาง จังหวัดมุกดาหาร ทำให้ป่าชุมชนขยายตัวออกไปถึง 13 หมู่บ้าน เกือบ20,000 ไร่
- ป่าวัฒนธรรมลังกาสุกะ สวนสมรม ป่าโอเอซิส และธนาคารต้นไม้ ที่ชุมชนบ้านคลองยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นป่ากระเปาะที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก
- ป่าต้นน้ำกลางเมืองอุตสาหกรรม ของชมรมอนุรักษ์ฯบ้านแลง จังหวัดระยอง รักษาป่าต้นน้ำผืนเดียวเอาไว้ได้ 5,000 ไร่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ชุมชนมีสวนผลไม้ดี มีเศรษฐกิจดี
- งานวิจัยชาวบ้านแก้ปัญหาหนี้สินชุมชน ที่ชุมชนบ้านสามขา จังหวัดลำปาง ดูแลป่าชุมชน 15,100 ไร่ สร้างฝายชะลอน้ำ 3,000 ลูก ออกกฎบ้าน ปลอดอบายมุข กลุ่มออมทรัพย์เข้มแข็ง มีระบบกองทุนป้องกันไฟป่า ทำวิสาหกิจชุมชนหลากหลาย
- การเจรจาขอที่ดินคืนจากผู้บุกรุกโดยปราศจากความรุนแรง ของเครือข่ายป่าชุมชนบ้านเขาราวเทียนทอง จังหวัดชัยนาท ขยายจาก 993 ไร่ไปสู่เครือข่าย 14 หมู่บ้าน 22,000 ไร่ เป็นตำราเรียนที่มีชีวิตชีวาให้กับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างป่า สร้างรายได้ ของชุมชนบ้านวังลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช, ชุมชนบ้านท่าพรุ-บ้านอ่าวท่าเลน จังหวัดกระบี่, ชุมชนบ้านโคกพะยอม จังหวัดสตูล, ชุมชนบ้านถ้ำผึ้ง จังหวัดสุราษฎร์ธานี,ชุมชนบ้านย่าหมี จังหวัดพังงา,ชุมชนบ้านลำใน จังหวัดพัทลุง, ฯลฯ.
- การขยายเครือข่ายลุ่มน้ำแทนเพราะขยายพื้นที่ป่าไม่ได้ เช่นที่ชุมชนบ้านปางมะโอ จังหวัดเชียงใหม่, ชุมชนเครือข่ายมัสยิดกมาลุ้ลอิสลาม กรุงเทพมหานคร, ฯลฯ.
- ภูมิปัญญาบริหารจัดการป่าแบบฉบับปกาเกอญอ ที่ชุมชนบ้านห้วยปูเลย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เครือข่ายชุมชน 20 หมู่บ้าน ดูแลพื้นที่ต้นน้ำ 1A นิเวศป่าสนเขาที่หายาก ขนาด 59,990 ไร่ ทำไร่หมุนเวียนแบบยั่งยืนแบบ 7 ปีต่อ 1 รอบ ทำนาขั้นบันได ตัดต้นไม้เหลือตอให้ป่าฟื้นตัวและป้องกันดินถล่ม
- การใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างป่าในใจคน ที่ชมรมอนุรักษ์ป่าสาคู อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง สร้างจิตสำนึกเยาวชน ใช้โรงเรียนเป็นฐานขยายแนวคิด จากป่าสาคูเพียง 130 ไร่, เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตำบลคลองชะอุ่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดูแลผืนป่า 28,400 ไร่ ระบบนิเวศป่าเขาหินปูน เขาซับน้ำ ใช้ระบบไอทีและสื่อโซเชียลสมัยใหม่บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำบนดิน 2.2 ล้าน ลบ.ม.และบ่อน้ำในฟาร์ม 120 แห่ง แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง, เครือข่ายชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูถ้ำ-ภูกระแตและบึงละหานนา จังหวัดขอนแก่น ใช้สารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ขยายแนวคิดยกป่ามาไว้ที่บ้าน ใช้สื่อวิทยุชุมชนเชื่อมโยงชุมชนนักอนุรักษ์ขยายตัวออกไป สร้างหัวใจคนรักป่า ให้ป่าดำรงอยู่, ฯลฯ.