วิถีชีวิตกับความภูมิใจ โดย อ.ระพี สาคริก

ขณะนี้ผู้เขียนมีอายุย่างเข้า 85 ปีแล้ว บนพื้นฐานการดำเนินชีวิตโดยไม่ประมาท ช่วยให้ตนหวนกลับไปค้นหาความจริงจากอดีตอย่างต่อเนื่อง ทำให้หยั่งรู้ความจริงได้ว่า “ชีวิตมีคุณค่าอย่างยิ่ง”

ทั้งนี้และทั้งนั้น เนื่องจากความยาวนานของชีวิตได้เปิดโอกาสให้ตนเรียนรู้ความจริงจากใจตนเอง  ซึ่งได้รับการสอนจากการปฏิบัติโดยเพื่อนมนุษย์อย่างหลากหลาย

ผู้เขียนโชดดีที่มองเห็นแต่แรกแล้วว่า “กล้วยไม้” หากใช้สิ่งนี้เป็นสื่อการเรียนรู้โดยเปิดโอกาสให้คนทุกสภาพชีวิตอีกทั้งทุกชีวิต  ทุกภาษาที่สนใจกล้วยไม้ก้าวเข้ายืนอยู่บนพื้นฐานธรรมชาตเพื่อให้ตนมีโอกาสเรียนรู้ธรรมชาติจากรากฐานจิตใจมนุษย์โลก

อนึ่ง ก่อนที่จะพบความจริงจากประเด็นดังกล่าว อย่างน้อยตนก็ต้องสํารวจตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นพื้นฐานการดําเนินชีวิต ไม่เช่นนั้นแล้วก็อาจรู้สึกว่ากาลเวลาได้ผ่าน พ้นมาอย่างน่าเสียดายที่สุดทั้งนี้และทั้งนั้นแม้รู้สึกได้ในภายหลังก็คงไม่สามารถย้อนกลับไปค้นหาความจริงจากกาลเวลา ที่ขาดการรู้คุณค่าของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตตนเอง ใช่หรือเปล่า?

อนึ่ง หากรู้สึกผิดสังเกตว่า “ข้อเขียนที่ปรากฏอยู่ใน บทความต่างๆ ซึ่งผู้เขียนเรียบเรียง เหตุใดจึงได้ปล่อยคําถาม ทิ้งไว้ให้ผู้อ่านหาคําตอบเอาเอง” เนื่องจากตนเชื่อว่าการที่ แต่ละคนจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ควรค้นหาความจริงจากใจตนเองอย่างอิสระ

ดังที่หลายคนมักบ่นว่า สิ่งที่ผู้เขียนพูดหรือเขียนมักเป็น นามธรรม จึงมักมีหลายคนเรียกร้องให้พูดถึงสิ่งที่เป็น รูปธรรม โดยที่เรื่องนี้ “เหตุใดผู้เขียนจึงไม่ยอมบอก?” ทั้งนี้ และทั้งนั้น เนื่องจากตนตระหนักถึงความจริงอย่างชัดเจนว่า “รูปธรรมควรจะเกิดจากการคิดได้เองอย่างอิสระ” หากให้ผู้อื่นบอก สําหรับผู้ที่มุ่งหวังจะเรียนรู้ ย่อมได้รับ “รูปแบบ” ซึ่งนอกจากไม่มีโอกาสเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังกลับมีผลทําให้ผู้รับ “ติดรูปแบบ” หนักมากยิ่งขึ้น

ซึ่งบุคคลที่เรียกร้องหารูปธรรม โดยที่คิดเองไม่เป็นย่อมสะท้อนให้เห็นความจริงว่า “คนลักษณะนี้ไม่สามารถพึ่งพา ความจริงจากรากฐานจิตใจตนเองได้” อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะคิดและนําปฏิบัติโดยถือสัจธรรมเป็นที่ตั้ง หรืออาจกล่าวว่าสามารถคิดถึงรูปธรรมได้เอง บุคคลผู้นั้นจําเป็นต้องนํา ปฏิบัติจากความจริงซึ่งอยู่ในใจตนเองที่เชื่อมโยงถึงทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งผ่านเข้ามาสู่วิถีชีวิตตนอย่างอิสระมาก่อนหาใช่เป็นผู้มีนิสัย “เลือกปฏิบัติ” ซึ่งเรามักพบอุปนิสัยของคนยุคนี้ หรือไม่ก็เป็นคนมีนิสัย “ผัดวันประกันพรุ่ง” ซึ่งมีเหตุสืบเนื่อง มาจากความเกียจคร้าน

อนึ่ง ผู้เขียนสนใจที่จะเขียนจากทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเปิด โอกาสให้ตนค้นหาความจริง โดยที่ผลการค้นหาความจริงจากใจตนเอง ตนเชื่อว่า “ข้อมูลที่เก็บสะสมเอาไว้ในรากฐาน จิตใจ ถ้าเป็นหนังสือ มันก็เป็นตําราเล่มใหญ่ ซึ่งผู้เขียนตํารา เล่มนี้คือการปฏิบัติของตนในอดีต”

นอกจากนั้น ยังมีโอกาสพบความจริงจากวิถีการดําเนินชีวิตต่อไปอีกว่า “ยิ่งใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลนี้มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งช่วยให้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วแตกฉานยิ่งขึ้น” แทนที่จะเหมือนกันกับข้อมูลซึ่งอยู่บนพื้นฐานวัตถุและเงินตรา ซึ่งทุกคนจะพบความจริงว่า “ยิ่งใช้ก็ยิ่งหมด” อีกทั้งวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจพบว่า มันอาจหมดเมื่อไหร่ก็ได้

หากมีผู้คนสนใจศึกษาหาความรู้จากผลงานเขียนของผู้เขียนยังอาจสงสัยว่าเหตุใดจึงพบกับข้อความประโยคหนึ่งซึ่งเขียนเอาไว้เสมอๆ เพื่อฝากไว้ให้คิดว่า “ถ้าหวนกลับมาค้นหาความจริงจากอดีต” สําหรับบุคคลผู้สนใจเรียนรู้เพื่อค้นหาความจริงเรื่องนี้ดังที่หลักธรรมได้ชี้แนะไว้ว่า “จงเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ”

ข้อความประโยคดังกล่าว เกิดจากการหวังผลเตือนสติ ให้คนที่อยากมุ่งไปข้างหน้าด้านเดียวมองเห็นโอกาส “หยุดคิด” ซึ่งสิ่งนี้นับได้ว่าเป็นกุญแจดอกสําคัญที่ชี้ให้แต่ละคน ผู้ซึ่งดําเนินชีวิตอยู่ภายในกระแสการเปลี่ยนแปลงของ สังคมดําเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทซึ่งนับได้ว่าเป็นอันตราย ที่เกิดจากการเสี่ยงดังเช่นที่คนไทยส่วนใหญ่ถูกปรามาสว่า “เป็นคนลืมง่าย”

ทุกวันนี้ ถ้าจะถามหาความจริงจากผู้คนส่วนใหญ่ซึ่งดําเนินชีวิตอยู่ในสังคมว่า “ชีวิตที่เกิดมาควรภูมิใจในอะไร?” ทั้งนี้และทั้งนั้น การค้นหาคําตอบเรื่องนี้ด้วยตนเอง ควรได้ รับความรู้อันทรงคุณค่าเพื่อสั่งสมสิ่งที่เรียกกันว่า “ศรัทธาบารมี”

อนึ่ง ประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียน ซึ่งอยู่บนเส้นทางชีวิตที่ผ่านพ้นมาแล้ว โดยที่มีการตั้งคําถามขึ้นมาถาม ตนเองร่วมกับการค้นหาคําตอบ ซึ่งมีศูนย์รวมเป็นธรรมจักร น่าจะช่วยให้ตนมีโอกาสค้นพบข้อมูล ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งจากความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ที่มีพฤติกรรม เปรียบเสมือนครูสอนตนมาโดยตลอด

อย่างน้อยคําตอบดังกล่าวก็ยังมีผลทําให้ตนเกิดคําถามต่อ มาอีกหลายสิ่งหลายอย่างจากพฤติกรรมการนําปฏิบัติของ เพื่อนมนุษย์แต่ละคนที่ผ่านเข้ามาในวิถีชีวิต

ผลสะท้อนที่เกิดจากคนส่วนใหญ่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเส้นทางชีวิตซึ่งอยู่บนพื้นฐานการจัดการ ภายในสังคมอย่างเป็นระบบจากหลายๆ คน สิ่งที่มีโอกาส สัมผัสเสมอๆ ก็คือ “ภาพของผู้คนที่สนใจแสวงหาตําแหน่งยิ่งสูงร่วมกับการมีอํานาจเป็นพื้นฐาน” ตลอดจนความร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง รวมทั้งความมีหน้ามีตาในสังคม แม้ผู้คนจากอีกด้านหนึ่งอาจไม่แสดงออกถึงความเคารพนับถือบุคคลลักษณะดังกล่าวจากใจจริง

แม้ในแวดวงการจัดการศึกษา ซึ่งนิยมการได้รับปริญญายิ่งสูง ส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นส่วนใหญ่ก็มักต้องการนําตัวเอง เข้าไปสู่กระแสที่อยู่บนเส้นทางสายเดียวกัน แต่บนพื้นฐานธรรมชาติของมวลมนุษย์รวมทั้งสรรพสิ่งต่างๆ ก็หาใช่ว่าจะเป็นไปทั้งหมดไม่ แม้เหลือเพียงหนึ่งเดียว มิฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งควรหมุนเวียนเป็นธรรมจักร ก็คงไม่อาจเป็นไปได้ อย่างที่หลักวิชาสถิติได้สมมติสูตรไว้ว่า

Degree of freedom (n-1)

หรือองศาการเปลี่ยนแปลง อย่างอิสระของทุกชีวิตและสรรพสิ่งต่างๆ

อนึ่ง เป็นเพราะความลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับเงื่อนไขภายในกระแสดังกล่าวจึงทําให้วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ตกอยู่ใน สภาพที่เรียกกันว่า “เพราะความไม่รู้” ที่เป็นผลสืบทอดมาจาก “ความมืดบอดทางปัญญา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลผู้ซึ่งชีวิตตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ หากแต่ละคนพบความจริง ไม่ ว่าจากผลกระทบของการแสดงออกโดยบุคคลหรือกลุ่ม บุคคลใดย่อมรู้สึกว่าเป็นที่น่าเวทนาอย่างยิ่ง

อนึ่งพฤติกรรมจากคนกลุ่มนี้ ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น “คนส่วนใหญ่” มักจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องที่เกี่ยวกับใครได้ตําแหน่งอะไรที่มีความยิ่งใหญ่ด้วยอิทธิพลอํานาจ น้อยคนนักที่จะพูดถึงปัญหาชีวิตที่ลําบากยากเข็ญของชาวบ้านตาดําๆ ซึ่งตนควรสํานึกอยู่เสมอว่าเป็นพื้นฐานความ มั่นคงของคนทั้งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกร

นอกจากนั้น หากมีใครได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งใหญ่ๆ มักมีการจัดงานเลี้ยงฉลองเพื่อแสดงความชื่นชมยินดี แบบพวกมากลากไป อย่างปราศจากการรู้สึกละอายแก่ใจ ทําให้อดรู้สึกอยู่ภายในรากฐานจิตใจอย่างลึกๆ ไม่ได้ว่า ค่านิยมอันควรถือเป็นสัจธรรมของชีวิตคนในสังคม ซึ่งควรจะนําไปสู่วิถีทางที่สร้างสรรค์ มันได้เปลี่ยนแปลงมา ถึงช่วงซึ่งส่งผลทําลายจิตสํานึกรับผิดชอบซึ่งตนควรมีต่อสังคมท้องถิ่น

สิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด หากจะสรุปก็คงกล่าวได้ว่า คือ วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่มีความภูมิใจในการได้รับเครื่อง ประดับร่างกายอันเป็นเพียงสิ่งสมมุติ ซึ่งโดยสัจธรรมแล้ว “หากมีสิ่งนี้ ย่อมไม่มีสิ่งนั้น” 

ดังนั้น ถ้าความจริงใจในปัจจุบันได้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยึดติดอยู่กับเครื่องประดับกายวิถีชีวิตย่อมหันหลัง ให้กับความจริงซึ่งเป็นพื้นฐานความมั่นคงของตนเองและ ประเทศชาติ

วิถีการดําเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมท้องถิ่นดังกล่าว ถ้าจะหวนกลับมาทบทวนตัวเอง ควรจะพบความจริง ว่าความภูมิใจที่เป็นสัจธรรมของชีวิต หาใช่เกิดจากการได้รับอามิสและเครื่องประดับไม่ หากควรหมายถึง “ความภูมิใจใน ตนเอง” โดยเหตุที่บนเส้นทางชีวิตเท่าที่ผ่านพ้นมาแล้ว รากฐานจิตใจตนเองสามารถรักษาสัจจะเอาไว้ให้มีความมั่นคงเข้มแข็งอยู่ได้ ถ้าชีวิตใครเกิดจิตใต้สํานึก ณ ประเด็นนี้ ย่อมถือว่า เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง อีกทั้งควรแก่การได้รับการยกย่อง เคารพรักจากคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง

Cr. หนังสือพิมพ์มติชนรานวัน, วันที่ 8 เมษายน 2550