อิหร่านลุย สร้างสมัชชาสุขภาพสี่ระดับ | คุยกับเลขาธิการ (20)

ระหว่างวันที่ 6-9 มีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสร่วมคณะกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย กับกระทรวงสุขภาพและการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ แห่งประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

นอกจากนั้น ยังได้ไปศึกษาดูงานในหน่วยงานของเขาหลายแห่ง อาทิ ศูนย์อนามัยชุมชนของเทศบาลที่ชานกรุงเตหะราน กิจกรรมชุมนุมผู้สูงอายุของกรุงเตหะราน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของอิสฟาฮาน ศูนย์อนามัยแบบเบ็ดเสร็จแห่งหนึ่งของเมืองอิสฟาฮาน ศูนย์ควบคุมโรคเอดส์และกามโรคของอิสฟาฮาน และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งอิสฟาฮาน

อิหร่านเป็นประเทศเก่าแก่ ตั้งอาณาจักรและสร้างอารยธรรมเปอร์เชียมานานร่วม 3,000- 4,000 ปีมาแล้ว ที่นี่เป็นจุดกำเนิดหรือแผ่นดินแม่ของศาสนาโซโรแอสเตอร์ หรือศาสนาที่บูชาไฟ ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีผู้คนที่นับถือและสืบทอดกันมาอยู่ในหลายพื้นที่

อิหร่านหรือจักรวรรดิเปอร์เชีย ตั้งแต่ก่อนยุคอิสลามก็เคยรุ่งเรืองทางอำนาจ มีการขยายอาณาจักรออกไปยึดครองดินแดนภายนอกอย่างกว้างขวาง และเคยถูกรุกรานและยึดครองโดยอาณาจักรและอารยธรรมอื่น สลับกันไป แต่วัฒนธรรมอิหร่านยังคงมีความเข้มแข็ง เป็นอัตลักษณ์ สืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ภายหลังการปฏิวัติอิสลาม ที่มีการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรชาห์ ปาเลวี ประเทศอิหร่านได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองมาเป็นระบอบที่มีสถาบันทางศาสนาเป็นองค์กรนำสูงสุดแทนโดยใช้กฎทางศาสนามาเป็นกฎหมายบริหารบ้านเมือง นับเป็นสาธารณรัฐอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ

แต่อิหร่านต้องฝ่าฟันความยากลำบาก อันเนื่องมาจากการปิดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างยาวนาน ของสหรัฐอเมริกาและสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทำให้ต้องต่อสู้ดิ้นรนในการบริหารประเทศและดูแลประชาชนของตนเองในทุกๆด้าน

ปัญหาใหญ่ๆด้านสาธารณสุขของอิหร่านในปัจจุบัน ได้แก่

  • ระบบการเงินด้านสุขภาพไม่มั่นคง งบจากภาครัฐยังต่ำมาก ประชาชนจ่ายเองสูงมาก(out-of-pocket / OOP)
  • อัตราตายประชากรคงสูงมากในบางด้าน เช่นโรคหลอดเลือด อุบัติเหตุจราจร
  • มีอัตราเสี่ยงสูงด้าน NCD
  • รายจ่ายด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
  • มีข้อจำกัดในการปรับตัวรับมือโรคระบาดสำคัญใหม่ๆ เช่นอีโบล่า ซิกก้าไวรัส
  • เคยมีประวัติศาสตร์การขาดแคลนยารักษาโรคในระดับประเทศ
  • เศรษฐกิจถดถอย รายได้ครัวเรือนตกต่ำ มีปัญหาความยากจน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังๆ อิหร่านมีพัฒนาการที่น่าสนใจในด้านการสาธารณสุขโดยย่อดังนี้

ปี 1972-1983. เริ่มงานพัฒนาระบบสาธารณสุขมูลฐาน
1975- ออกกฎหมายความมั่นคงทางสังคม
1986- ตั้งกระทรวงสาธารณสุข และการศึกษาด้านการแพทย์
1989-1994. มีนโยบายให้โรงพยาบาลมีอิสระในการบริหารจัดการ
1994- ออกกฎหมายหลักประกันด้านสาธารณสุข public health insurance law
2005- เริ่มนโยบายแพทย์ประจำครอบครัว
2014- มีแผนเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือโรคไม่ติดต่อ
2017- เริ่มจัดให้มีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นครั้งแรก

สำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้น อิหร่านสนใจรูปแบบของประเทศไทยมากเป็นพิเศษ เคยส่งคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาศึกษาดูงานหลายครั้ง และเพิ่งริเริ่มจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นครั้งแรกในปี 2017 โดยมีเป้าหมายจะจัดเป็นประจำทุกปีด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น อิหร่านยังมีแผนที่จะจัดสมัชชาสุขภาพอย่างเป็นระบบ รวม 4 ระดับ ได้แก่ สมัชชาสุขภาพระดับชาติ (National Health Assembly) สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด (Provincial Health Assembly) สมัชชาสุขภาพระดับเขตหรืออำเภอ (Regional Health Assembly) และสมัชชาสุขภาพชุมชนท้องถิ่น (Neibourhood Health Assembly)

อย่างไรก็ตาม สมัชชาสุขภาพระดับต่างๆที่ว่านี้ ปัจจุบันก็ยังเป็นเพียงความคิดริเริ่มและนโยบายที่จะทำเท่านั้น ซึ่งคาดว่าต้องรออีกสักพักใหญ่ ผลงานรูปธรรมของสมัชชาที่หลากหลายประเภท บนแผ่นดินอิหร่าน จึงจะเกิดขึ้นและสามารถใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศอื่นๆได้ อย่างเต็มภาคภูมิครับ.

พลเดช ปิ่นประทีป

ขอบคุณภาพจาก http://news.muslimthaipost.com/news/30437