“ปฏิบัติการ 3 วัน หยุดกระแสข่าว กขป.8” | คุยกับเลขาธิการ (21)

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จู่ๆก็ปรากฏมีข่าวสื่อมวลชนในทำนอง…”ฉาวอีก!จนท.อัตราจ้าง กขป.เขต8 ร้องเงินเดือน3หมื่น ถูกหัวหน้ารีดคืน1.5หมื่น/เดือน แฉเป็นเหมือนกันทั่วประเทศ”

 เหตุการณ์นี้ มีจุดเริ่มจากผู้หญิงเล็กๆคนหนึ่งที่อุดรธานี ไปร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรมว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในงานของ สช.
การพาดหัวข่าวที่ผิดข้อเท็จจริง มีการส่งผ่านไปยังสื่อมวลชนน้อยใหญ่และสื่อโซเชียลที่มีสมาชิกเป็นแสนเป็นล้านคน นอกจากนั้นยังมีการโพสต์ความเห็นวนเวียนต่อๆกันไป โดยไม่มีการตรวจสอบและไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกันเลย
สถานการณ์องค์กร จึงเสมือนมีกองทัพข้าศึกบุกเข้ามาจู่โจมถึงหน้าประตูเมือง มุ่งทำลายชื่อเสียงของ สช.โดยตรง ข้อกล่าวหาคือ มีทุจริต มีเงินทอน มีความไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ทำงานแล้วไม่จ่ายเงินเดือนให้ ซึ่งอารมณ์ของสังคมก็กำลังถูกบรรยากาศบ้านเมืองจูงไปทางนั้นเสียด้วย
เมื่อได้ตรวจสอบสถานการณ์และประเด็นข้อกล่าวหาจนเข้าใจเรื่องราวโดยตลอด และมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การทุจริต ไม่ใช่เงินทอน ไม่มีเรื่องซิกแซ็ก และไม่มีอะไรที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่กล่าวหาเลย หากเป็นการเบี้ยวกันเองระหว่างคนในทีมที่มารับงานจ้างเหมาบริการ เกิดเข้าใจสับสน แล้วออกมากล่าวหาพาดพิงให้ สช.เสียหาย
ทุกประเด็นสงสัยสามารถอธิบายได้ทั้งหมด แต่ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ เราจะจัดการกับกระแสสังคมที่อ่อนไหวในยุคสื่อโซเชียลที่สลับซับซ้อนนี้อย่างไร จะปกป้องชื่อเสียงเกียรติภูมิขององค์กรได้หรือไม่
ในที่สุด เมื่อกุมสถานการณ์ได้ประมาณหนึ่งแล้ว ผมและเจ้าหน้าที่ สช.จึงตัดสินใจเดินเข้าเผชิญหน้าโดยตรง เพื่อจัดการปัญหาให้จบไปด้วยกำลังสติปัญญาเท่าที่มีอยู่ กำชับทุกคนไม่ใช้ถ้อยคำสัมภาษณ์สื่อโต้ตอบไปมา แต่รีบจัดทำคำชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน สื่อสารตรงไปยังสื่อมวลชนและเพ็จดังสื่อโซเชียลอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ได้ตั้งสติ ไม่ขยายต่อ
ในเวลาเดียวกันก็ชี้แจงหน่วยเหนือให้รับรู้เท่าทัน ให้ความจริงแก่พันธมิตรทุกคนที่ห่วงใย จนต่อมาเมื่อมั่นใจว่าข้อเท็จจริงถูกสื่อไปถึงกลุ่มเป้าหมายสำคัญโดยส่วนใหญ่แล้ว จึงปิดท้ายด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในท่วงทำนองของการขยายความด้วยภาษาชาวบ้าน ให้บทเรียนรู้ ให้สติและชี้ทางออกแก่สังคม จนสามารถยุติเหตุการณ์ได้สำเร็จภายใน3วัน
จากวิกฤติครั้งนี้ สช.ได้ผ่านการทดสอบและเรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้าง
  1. ทดสอบระบบงานจัดซื้อจัดจ้างของสช.ในยุคปัจจุบัน จนทำให้มั่นใจได้ว่ามีความถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิสภาพตามสมควร
  2. ทดสอบระบบความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า องค์กรมีค่านิยมในความซื่อตรง เที่ยงธรรม พร้อมรับการตรวจสอบจากสังคมได้ทุกเมื่อ
  3. ทดสอบระบบข้อมูลข่าวสารและเครือข่ายการสื่อสาร ทำให้มั่นใจในระดับหนึ่งว่า สช.มีขีดความสามารถในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและสื่อสารโต้ตอบกับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ทดสอบความสามัคคีภายในองค์กร ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า พนักงานต่างมีความรัก หวงแหนและพร้อมที่จะรวมตัวกันเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิขององค์กร.

 

พลเดช ปิ่นประทีป