วันก่อน ผมได้พบปะประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิชาการที่ร่วมบุกเบิก พัฒนาและขับเคลื่อนงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพมาด้วยกันกับ สช. จำนวน 35 คน พวกเขามาจาก 15 สถาบันการศึกษาที่อยู่ต่างภูมิภาคกัน เราเรียกคณะทำงานวงนี้ว่า HIA Consortium ครับ
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่พวกเราคนทำงานว่า HIA เป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะอีกชิ้นหนึ่งของ สช.ที่ได้รับการกล่าวขานมากในสังคม จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้บูรณาการกับกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมเป็น EHIA
ที่ผ่านมา HIA จะเริ่มต้นจากชุมชนท้องถิ่นหรือภาคีเครือข่ายที่พบว่าตนเองอาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างหรือกิจการที่จะเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ จึงร้องขอความอนุเคราะห์มาที่สช. เมื่อเรื่องได้ถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) และมีมติให้ดำเนินการ สช.จึงจะเข้าไปสนับสนุนกระบวนการได้
ในรอบสิบปีที่ผ่านมา สช.ได้สนับสนุนกระบวนการประเมิน HIA ไปทั้งสิ้น 33 โครงการ อาทิ กรณีศึกษามาบตาพุด กรณีจัดการน้ำแม่แจ่ม กรณีโรงงานอุตสาหกรรมบางสะพาน กรณีพิษตะกั่วคลิตี้ กรณีลอบทิ้งขยะพิษที่หนองแหน กรณีเรือขนส่งน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว กรณีเหมืองทองคำที่รอยต่อพิจิตร-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินทีปะทิว กรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เชียงราย กรณีเหมืองแร่โปแตสที่อุดรธานี กรณีเหมืองแร่สังกะสี-แคดเมียมที่แม่สอด กรณีท่าเทียบเรือพาณิชย์ที่ฉะเชิงเทรา กรณีโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะยาว กรณีท่าเรือปากบาราที่สตูล กรณีเขตนิคมอุตสาหกรรมทุ่งค่ายจังหวัดตรัง กรณีเขตนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลปัตตานี ฯลฯ
กระบวนการ HIA ที่ปรากฏตัวขึ้น ได้กระตุ้นความตื่นตัวของหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงที่มีโครงการก่อสร้างหรือสัมปทานที่รอการอนุมัติ อนุญาต เพราะเป็นเครื่องมือช่วยทำให้สังคมรู้เท่าทันสถานการณ์ปัญหาและสามารถใช้ตรวจตราการทำหน้าที่ของภาครัฐ จะทำอะไรแบบมักง่ายไม่ได้
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมการพูดจาด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง รวมทั้งการรับฟังความเห็นและเคารพความแตกต่าง และการร่วมคิดร่วมค้นหาทางออกทางเลือกใหม่ๆด้วยกัน ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่สังคมไทยต้องฝึกฝนด้วยความอดทน ทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจหน้าที่และฝ่ายชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทุกเครื่องมือทุกกระบวนการของ สช.จะให้ความพิถีพิถันเป็นพิเศษในเรื่องเหล่านี้
ในคู่มือการจัดทำ HIA ฉบับที่ 2 สช.ได้นำเสนอกระบวนการเป็น 4 รูปแบบสำหรับเลือกใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ประกอบด้วย
- Proactive HIA ใช้ดำเนินการในเชิงป้องกัน ก่อนที่จะเกิดความขัดแย้ง
- On-going HIA ใช้สำหรับกรณีดำเนินการไปแล้ว
- Conflict and resolution ทำเมื่อมีความขัดแย้งแล้ว
- Sustainable HIA ใช้เมื่อต้องการให้เกิดความมั่นคงยั่งยืน
ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า preventive HIA เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ หลายแห่งตั้งใจที่จะพัฒนาสถาบันของตนขึ้นเป็นหน่วยบริการทางวิชาการในเรื่องนี้ ด้านหนึ่งเพื่อให้บริการแก่ประชาชน ชุมชนท้องถิ่น อีกด้านหนึ่งเพื่อสร้างองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของสถาบัน
สช.จึงมีความยินดีที่จะสนับสนุนความริเริ่มดังกล่าว นอกจากนั้นยังจะสนับสนุนให้พันธมิตรทางวิชาการกลุ่มนี้ได้มีการพบปะประชุมกันเป็นเนืองนิจ เพราะตระหนักดีว่าภาคีทางวิชาการในระดับภูมิภาคที่เข้มแข็ง คือปัจจัยสำคัญของกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่
HIA Consortium อาจเป็นจุดเริ่มการพัฒนาศักยภาพภาคีวิชาการ 4PW ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ และมีทิศทางแนวโน้มที่จะก่อตัวไปสู่ขบวนพันธมิตรทางวิชาการที่แข็งขันในอนาคต
คือ “สช. consortium” ครับ.
พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, พฤษภาคม 2561