ยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบสาธารณสุข (1) “แยกชัดบทบาท เพิ่มประสิทธิภาพ ตรวจสอบถ่วงดุลจริง”

งานสาธารณสุขเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน ทุกวันนี้มีปัญหาที่กระทบต่อความสุขของสาธารณะปรากฏตัวอย่างมากมาย ทั้งที่สะสมอยู่เดิมและที่ผุดขึ้นใหม่ จนอำนาจการควบคุมของภาครัฐตามไม่ทัน

กรณีเครื่องสำอางเมจิกสกิน คลินิกเถื่อนเปิดทำผ่าตัดเสริมสวย ม็อบลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องให้บรรจุเป็นพนักงานประจำ โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ความขัดแย้งในการแบนพาราควอท ปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลรัฐจนดูแลคุณภาพการบริการไม่ไหว โรงพยาบาลรัฐขาดสภาพคล่อง ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์กระจุกตัวและปัญหาสมองไหล ค่าบริการโรงพยาบาลเอกชนควบคุมไม่ได้ การฟ้องร้องแพทย์ ปัญหาผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรม สัมปทานเหมือง ขยะพิษ ขยะอิเล็คทรอนิค ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาเหล่านี้จะดูยุ่งเหยิงสับสน แต่ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ระดับพื้นผิว (superficial) จำเป็นต้องวิเคราะห์ลงไปถึงปัจจัยกำหนดที่เป็นโครงสร้างและระบบของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ลึกลงไปใต้น้ำ (structural) เพื่อจัดระบบและรูปขบวนในการรับมือแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

ลองนึกเปรียบเทียบกับงานมหกรรมฟุตบอลโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นที่ประเทศรัสเซีย (RUSSIA2018) ในไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งจะมีผู้เล่นรอบสุดท้าย 32 ทีม ประเทศละ 23 คนเข้ามาต่อสู้แข่งขันกันในเชิงกีฬา ประเทศรัสเซียในฐานะเจ้าภาพได้จัดเตรียมสนามแข่งไว้รองรับ 16 สนามสำหรับ 32 แมตช์ คาดว่าจะมีผู้ชมในสนามราว 1.5- 2.0 ล้านคน และที่ดูถ่ายทอดทั่วโลกอีก 1 พันล้านคน ทางด้านกรรมการผู้ตัดสิน ฟีฟ่าได้คัดกรรมการที่เป็นกลางมาจาก 46 ประเทศจำนวน 36 คน มีทีมผู้ช่วยอีก 63 คนเพื่อทำหน้าที่ตัดสิน นอกนั้นยังมีแขกที่ไม่ได้รับเชิญ ประเภทฮูลิแกนและกลุ่มก่อการร้าย ที่คอยผสมโรงอีกด้วย

งานใหญ่เช่นนี้ ถ้าไม่มีการจัดระบบ มีระเบียบ มีกติกาและแบ่งบทบาทหน้าที่กันให้ชัดเจน ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เล่น ใครเป็นกรรมการ ใครเป็นผู้ชม ใครอำนวยความสะดวก ใครรักษาความปลอดภัย ก็คงเกิดความวุ่นวายโกลาหลจนต้องเลิกรากันไปนานแล้ว

เนื่องจากสภาพสังคมและปัญหาสาธารณสุขมีความสลับซับซ้อนมาก กระทรวงสาธารณสุขและภาครัฐเพียงลำพังเอาไม่อยู่แล้ว แม้มีองค์กรใหม่ๆเข้ามาช่วย แต่ถ้าบทบาทหน้าที่คล่อมกันไปมาก็จะบั่นทอนศักยภาพกันเอง จึงจำเป็นต้องแยกให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ ไม่คล่อมบทบาท และสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มผู้กำหนดและกำกับนโยบาย (policy and regulator)

2) กลุ่มผู้ให้บริการสาธารณสุข (provider)

3) กลุ่มผู้ซื้อบริการ (purchaser)  ดังนี้

 

ฝ่ายกำกับนโยบาย

  • ตั้งแต่เริ่มตั้งจนถึงปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขยังคงทำหน้าที่ครอบคลุมไปทั้ง 3 บทบาท แม้ว่าจะมี พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 เพื่อแยกบทบาทที่ 3) ออกไปให้ สปสช. แต่ สปสช. ก็ยังคงอยู่ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาลผู้ให้บริการ ตามบทบาทที่ 2) ถึง 1 พันแห่ง จึงแยกไม่ขาด ในขณะที่บทบาทการเป็นผู้กำหนดและกำกับนโยบาย ตาม 1) ก็ไม่มีเวลา ขาดประสิทธิภาพ ไม่เท่าทันสถานการณ์ ปัญหาต่างๆจึงผุดขึ้นมาจนน่าเวียนหัว
  • ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ต้องหันกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้กำกับนโยบายอย่างเข้มแข็งจริงจัง เนื่องจากเป็นผู้แสดงฝ่ายเดียวที่มี พรบ.อยู่ในมือถึง 46 ฉบับ โดยต้องมุ่งมั่นทำให้เป็นต้นแบบแก่หน่วยงานรัฐอื่นๆที่อยู่ในฐานะเดียวกันด้วย
  • และเพื่อให้สามารถดูแลงานระดับนโยบายได้ดี กระทรวงสาธารณสุขยังต้องเพิ่มศักยภาพทางด้านวิชาการและการวิจัยเชิงระบบให้เข้มแข็ง ทั้งในด้านการเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถนะ รวมถึงการพัฒนานโยบายและแผนงานด้านกำลังคนด้วย
  • ในโอกาสนี้ต้องขอฝากประเด็น ให้กับรัฐบาลและพรรคการเมืองที่จะเสนอตัวในฤดูกาลเลือกตั้งที่จะมาถึงว่า ความพยายามที่จะรวบทุกบทบาทและอำนาจหน้าที่มาไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขนั้น “ผิดทิศทาง” นะครับ

ฝ่ายโรงพยาบาลและหน่วยผู้ให้บริการ

  • ว่ากันในทางหลักการและทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเมื่อถึงเวลากระทรวงสาธารณสุขต้องหันมาทำงานด้านนโยบายและเป็นกรรมการกลางในการกำกับดูแลกติกาดังกล่าวข้างต้น จึงจำเป็นต้องละวางบทบาทของผู้ให้บริการ ไปเป็นอีกฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน จะเป็นทั้งกรรมการและผู้เล่นในเวลาเดียวกันไม่ได้ เว้นไว้ก็แต่โรงพยาบาลเฉพาะทางที่ต้องใช้เป็นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น
  • ส่วนรูปแบบในการถ่ายโอนโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข อาจมีได้หลากหลายวิธีการ ประเทศสิงคโปร์เคยใช้วิธีแปรรูปเป็นธุรกิจเอกชนแต่พบว่าล้มเหลว ในที่สุดจึงเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลที่รัฐเป็นเจ้าของ แต่ให้บริหารแบบเอกชน ในประเทศไทยเราเคยทดลองที่รพ.บ้านแพ้ว ใช้รูปแบบองค์การมหาชน ก็มีบทเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีประโยชน์ มีรพ.อีกหลายแห่งที่มีความพร้อมอยากจะทำแบบนั้นบ้าง แต่ก็ติดอยู่ที่ทิศทางนโยบายของกระทรวงยังไม่ชัดเจน  นอกจากนั้นที่ภูเก็ต มีรูปแบบโรงพยาบาลที่อบจ.เข้ามาดูแล  กทม.ก็มีเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม อาจใช้รูปแบบการบริหารจัดการโครงการเชิงนวัตกรรม ที่เรียกกันว่า Sand Box มาดำเนินการก่อนก็ได้
  • ส่วนสถานีอนามัย ควรเป็นหน่วยบริการด้านสาธารณสุข ที่เน้นงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและการพัฒนาอนามัยชุมชนนั้น ไม่ควรเอาการรักษาพยาบาลแบบแพทย์ไปครอบงำ และถึงเวลาควรส่งมอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเป็นพี่เลี้ยงให้เขาสามารถจัดการปัญหาของชุมชนท้องถิ่นได้ด้วยตนเองให้มากที่สุด การถ่ายโอนสถานีอนามัย “ทั้งพวง”ไปอยู่ที่อบจ.น่าจะเป็นอีกรูปแบบทางเลือกหนึ่ง ที่ควรพิจารณา

 

ฝ่ายผู้ซื้อบริการ

  • สปสช.ซึ่งเป็นขาใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ ดูแลประชาชน 48 ล้านคน ควรย้ายสายการกำกับดูแล จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ผู้ซื้อบริการอย่างมีประสิทธิภาพ และ เอื้อต่อการบูรณาการระหว่าง 4 กองทุน
  • การปฏิรูประบบการเงินการคลัง และ การพัฒนาระบบชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานกับชุดสิทธิประโยชน์เสริม ตามแนวทางของแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุข จะเข้ามาเสริมในจุดนี้.

พลเดช ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ 6 มิถุนายน 2561

Credit Photo : https://www.rts.ch/decouverte/sciences-et-environnement/technologies/8715600-watson-quand-l-intelligence-artificielle-s-empare-de-la-medecine.html