(ตอนที่ 1) 700 ปีจักรวรรดิรัสเซีย กับการสร้างชาติ ประวัติศาสตร์รัสเซียโดยย่อ

รัสเซียก่อร่างสร้างอาณาจักรขึ้นมาในเวลาไล่เรี่ยกับสยาม ในขณะที่สยามมีอาณาจักรสุโขทัยเกิดขึ้นแล้ว ชาวเคียฟรุส ชาวสลาฟ ชาวมัสโคไวท์ ชาวนอฟกอรอด และชนเผ่าอื่นๆยังกระจัดกระจายอยู่บริเวณนั้น

ต่อมาเกิดการรวมตัวกันแต่อยู่ร่วมกันด้วยความยุ่งเหยิงที่เมือง Novgorod แล้วไปเชิญนักรบไวกิ้ง ชื่อรูลิด เข้ามาช่วยปกครองจัดระเบียบ

เผ่าตาต้าหรือมองโกลได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาปกครองบริเวณแถบนี้ นับตั้งแต่ปี 1250

Moscow ตั้งเป็นเมืองในปี 1447 สร้างความเจริญเติบโตขึ้นมาด้วยวิถีการแสวงประโยชน์จากอำนาจตาต้า เก็บภาษีนำมาสะสมทุนและทรัพยากรเพื่อใช้ในการต่อสู้กู้เอกราชจากตาต้า และ ใช้พลังอำนาจทางศาสนาจาก คริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์และพลังทางวัฒนธรรมแบบไบแซนไทน์มาถ่วงดุลย์ จนสามารถดูดเอาความมั่งคั่งจากเมืองข้างเคียงมาบำรุงและค่อยๆขยายอาณาจักรออกไป

ค.ศ. 1472 กษัตริย์รัสเซีย ชื่อพระเจ้าอีวาน ที่ 3 (มหาราช) ประกาศเอกราชเป็นอิสระจากมองโกลหรือตาต้า ด้วยการอิงกับพลังอำนาจอาณาจักรไบเซนไทน์และศาสนาโรมันคาธอลิค ประกาศตัวเป็นอาณาจักรโรมันที่สาม ตั้งมั่นที่เมืองมอสโก สร้างกำแพงเมืองแข็งแรง ทำการแข็งขืนจากตาต้า และสร้างโบสถ์ใหญ่เป็นการเสริมพลังทางจิตวิญญาณ ก่อนที่จะทำสงครามและสามารถเอาชนะตาต้าได้ ที่บริเวณนอกเมืองมอสโก ประกาศเป็นเอกราชในปี 1505  สร้างอาณาจักรได้สำเร็จ และเรียกตนเองว่า ”ซาร์” หรือซีซาร์แบบรัสเซีย 

อีวานที่ 3 วาซีลเยวิช (ค.ศ. 1440 – 1505) หรือ ซาร์อีวานที่ 3 มหาราช  ทรงครองราชย์เป็นเวลา 43 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1462–1505 ซึ่งยาวนานที่สุด
สองพ่อลูก ถ่ายภาพที่หน้าโบสถ์อัสสัมชัญ ในบริเวณวังเครมลิน อาคารนี้เป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างของรัสเซียที่ปรับประยุกต์มาจากอิตาลี โดยเฉพาะระบบฐานรากและโครงสร้างอาคาร

ค.ศ. 1547 ซาร์อีวาน ที่ 4 ผู้โหดร้ายและห้าวหาญ (IVAN the Terrible) พัฒนาอาวุธป้อมเคลื่อนที่ “โกไรโกรอด” และใช้กำลังทหาร 150,000 คน ใช้กลยุทธ์ปิดล้อมเมืองคาซาน ฐานหลักของตาต้า ขุดกำแพงเมือง ฝังระเบิดทำลายกำแพงเมือง รบพุ่งกันอยู่ 8 วันจึงตีเมืองแตก สามารถขับไล่ตาต้าถอยร่นไปจากแดนไซบีเรียได้สำเร็จ ขยายอาณาจักรออกไปราว 4 เท่าตัว กลายเป็นจักรวรรดที่ขยายออกไปทางใต้ ตะวันตกและตะวันออก

เมื่อขับไล่ตาต้าออกไปได้แล้ว พระเจ้าซาร์อีวานที่ 4 จึงสร้างโบสถ์เซนต์เบซิลขึ้นเป็นอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกยุทธการ 8 วัน ด้วยการสร้างโดม 8 ยอดที่สวยงามและมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็น“มหาวิหารเซนต์เบซิล” โบสถ์แห่งการขอร้อง ตั้งอยู่ข้างวังเครมลิน เป็นสัญลักษณ์ที่คนจดจำมากที่สุดของมอสโกมาจนถึงปัจจุบัน

ซาร์อีวานที่ 4 วาซิลเยวิช ( ค.ศ. 1533 – 1547) ซาร์แห่งปวงรัสเซีย  ทรงบริหารการเปลี่ยนแปลงมากมาย สร้างอาณาจักรรัสเซียสู่การเป็นจักรวรรดิ
ครอบครัวนักท่องเที่ยว ถ่ายภาพที่หน้ามหาวิหารเซ็นต์เบซิล

ถึงยุคของพระเจ้าซาร์องค์ต่อมา ที่ชื่อปีเตอร์ ที่1 มหาราช (1672-1725) เริ่มสร้างเมืองใหม่ในพื้นที่ทางตะวันตก ที่ใช้กำลังทหารไปแย่งเอามาจากสวีเดน

ก่อนขึ้นครองราชย์ ได้ลงทุนปลอมพระองค์ไปศึกษาศาสตร์การสร้างเรือจากชาวดัชท์ การสร้างกองทัพเรือของอังกฤษและศึกษาความเจริญแบบยุโรป เพื่อนำมาใช้สร้างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บนที่ราบลุ่มหนองบึงริมฝั่งทะเลบอลติกด้วยแรงงานคนรัสเซีย

การก่อร่างสร้างเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นนโยบายของพระเจ้าซาร์ตลอดหลายทศวรรษ จึงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อไล่ให้ทันยุโรป ทรงปล่อยเรือรบลำแรกจากอู่ต่อเรือในปี 1706 ย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมาอยู่ที่นี่ ในปี1712 และทรงเริ่มการสร้างพระราชวังปีเตอร์ฮอฟอันโอ่อ่าบนเชิงเขาริมทะเลบอลติค ตั้งแต่ปี 1716

ที่น้ำพุ หน้าพระราชวังปีเตอร์ฮ็อฟ

การสร้างเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้ทันสมัยและยิ่งใหญ่ นับเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่พยายามจะทำให้รัสเซียก้าวทันยุโรป ทั้งด้านการเป็นมหาอำนาจทางทะเล ทางการค้าและทางกำลังทหาร

บันทึกในปี 1708 ระบุว่า มีชีวิตที่สูญเสียไปในการสร้างเมืองนี้ จำนวนมากถึง 25,000คน จึงทำให้เซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กบางครั้งมีชื่อเล่นเรียกอีกอย่างว่า “เมืองแห่งกองกระดูก”

ค.ศ. 1729 -1796 จักรพรรดินี แคเธอรีน ที่2 หลานสะใภ้ชาวเยอรมันของปีเตอร์มหาราช ผู้แย่งยึดบัลลังก์จากพระสวามี พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ ที่ 3 หลังจากทรงขึ้นครองราชย์เป็นการสืบทอดอำนาจได้เพียง 6 เดือน

พระนางทรงเป็นจักรพรรดินีที่ทรงอำนาจมาก สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับรัสเซียเทียบเท่าราชอาณาจักรในยุโรปอื่นๆ ทั้งยังสามารถขยายอาณาจักรไปได้กว้างขวางจนสุดถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค  มีพื้นที่ 200,000 ตารางไมล์ ครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 6 ของโลก 15 โซนเวลา นับเป็นผู้สืบทอดความฝันของปีเตอร์มหาราชให้เป็นจริง

จักรพรรดินีแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย  “แคทเธอรีนมหาราชินี” 
ขึ้นครองราชย์หลังจากการรัฐประหารและการปลงพระชนม์เจ้าจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 3 พระราชสวามีของพระองค์เอง
ทรงฟื้นฟูจักรวรรดิรัสเซียให้แข็งแกร่งและมีอาณาเขตกว้างกว่าเดิมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนรัสเซียกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจที่สำคัญมากที่สุดชาติหนึ่งในยุโรป

การขยายดินแดนอาณาจักร ได้นำมาซึ่งความมั่งคั่งของจักรวรรดิ โดยพระนางแคเธอรีนได้ใช้ความมั่งคั่งเหล่านี้มาปฏิรูปที่อยู่อาศัย สร้างโรงพยาบาลสำหรับคนยากจน สร้างโรงเรียน สร้างมหาวิทยาลัย และสร้างเมืองเล็กๆอีก 216 เมือง กำหนดผังเมืองที่เป็นแบบฉบับ ระบุว่าตรงไหนจะเป็นจัตุรัสของเมือง ที่อยู่อาศัย เส้นทางติดต่อคมนาคม และมีการขุดคลองระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเมือง

พระนางแคเธอรีนเป็นคนเจ้าชู้ มีเด็กหนุ่มเป็นชู้รักหรือสวามีน้อยๆรวม 45 คน มีการสร้างพระราชวังฤดูหนาวที่โอ่อ่า พระราชวังแคเธอรีน เป็นอาคารสูงสามชั้นที่ใหญ่โตมาก มีห้อง 500 ห้อง เพื่อปรนเปรอความสุข ทั้งยังเพื่อแสดงพระราชอำนาจของพระนาง

ถ่ายภาพหน้าพระราชวังแคเธอรีน

ค.ศ. 1812 สมัยพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ ที่1 ทางฝากจักรวรรดิฝรั่งเศส มีจักรพรรดินโปเลียนโบนาปาร์ต ผู้พิชิตทั่วทวีปยุโรป เป็นเสืออีกตัวหนึ่งที่จ้องรัสเซียตาเขม็ง ในที่สุดนโปเลียนก็ตัดสินใจบุกมอสโกเมืองหลวงเก่าของรัสเซีย

แต่อย่างไรก็ตาม นโปเลียนกลับเป็นฝ่ายถูกกลยุทธ “ถอยเชิงยุทธศาสตร์” โดยรัสเซียปล่อยให้ฝรั่งเศสบุกเข้าเข้ามาถึงมอสโก แต่ไม่ถอยออกไปเปล่าๆ กลับใช้กลยุทธ์เผาทำลายพืชพันธุ์ธัญญาหารตามหัวเมืองและชนบทโดยรอบ ทำให้กองทัพศัตรูอดอยากและจำต้องถอยกลับไปในที่สุด นับเป็นยความพ่ายแพ้ของกองทัพนโปเลียน ท่ามกลางความหนาวเย็นจับขั้วหัวใจ โดยเหลือกำลังทหารกลับไปถึงปารีสไม่ถึง 10%

ชัยชนะในครั้งนั้นทำให้พระเจ้าซาร์องค์ต่อมา คือซาร์นิโกลาสที่ 1 สร้างเสาอเล็กซานเดอร์ เป็นเสาแห่งชัยชนะสงครามครั้งนี้ ตั้งขึ้นที่กลางลานพระราชวังเซ็นปีเตอร์สเบิร์ก โดยใช้คนงานหลายพันคน ใช้เวลา 3 ปี สะกัดหินแกรนิตสีแดงจากภูเขา เป็นหินก้อนเดียวตลอดแท่ง หนัก 700 ตัน สูง 83 ฟุตแล้วเคลื่อนย้ายมาติดตั้งตรงลงในตำแหน่งที่ออกแบบไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ถ่ายภาพที่ลานพระราชวังเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก เห็นเสาอเล็กซานเดอร์และอาคารพระราชวังอยู่เบื้องหลัง
พระเจ้าซาร์นิโกลาสที่ 1 ทรงชอบแต่งกายเป็นจอมทัพนโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ผู้ไร้พ่าย เพื่อเยาะเย้ยที่ยกทัพมาพ่ายแพ้แก่กองทัพรัสเซียที่นำโดยเสด็จพี่ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1

ค. ศ. 1868-1918 พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 สร้างทางรถไฟสายทรานสแปซิฟิค เพื่อเชื่อมโยงแผ่นดินอันกว้างใหญ่ สร้างเสริมความมั่งคั่งจากทรัพยากรและประชากร เส้นทางรถไฟยาวทั้งสิ้น 5,768 ไมล์ มีจุดมุ่งหมายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง สร้างเสร็จในปี 1904 แต่กลับนำมาสู่การทำสงครามกับญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเองก็ต้องการขยายอำนาจเข้าสู่บริเวณนั้นเช่นกัน ในที่สุดรัสเซียตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม เหตุเกิดในยุคพระเจ้าซาร์นิโกลาสที่ 2

เส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย

ค.ศ. 1914 รัสเซียเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดความอดอยากในภาวะสงครามโลกและเมื่อทับทบเข้ากับการพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่น จึงเกิดการปฏิวัติลุกฮือของมวลชนภายใต้การนำของพรรคบอลเชวิค ที่มีเลนินเป็นผู้นำ

ค.ศ. 1917 ระบอบซาร์ที่สร้างขึ้นมา 500 ปี ได้ล่มสลายลง ด้วยน้ำมือของชนชั้นล่างที่เป็นแรงงานสร้างอาณาจักรรัสเซียมาด้วยความเหนื่อยยาก เมื่อประชาชนถึงจุดที่สุดทนต่อความเหนื่อยยาก ความแตกต่างทางชนชั้น ความหรูหราฟุ่มเฟื่อยของชนชั้นสูง การขูดรีดเอาเปรียบต่อคนชั้นล่างเปลี่ยนประเทศรัสเซียจากระบอบจักรพรรดิมาสู่รัฐบาลเฉพาะกาลในเดือนมีนาคม1917 และเปลี่ยนอีกครั้งมาเป็นสหภาพโซเวียตรัสเซีย ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนพฤศจิกายน

หลังจากการปฏิวัติรัสเซีย ใน ค.ศ. 1917 เลนินได้ย้ายเมืองหลวงกลับมายังมอสโกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1918 ซึ่งยังคงเป็นเมืองหลวงมาจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างค.ศ.1917-1991 สหภาพโซเวียตปกครองโดยประธานาธิบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีไว้สำหรับเลขาธิการพรรคหรือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ต่อเนื่องกันมา 7 รุ่น จากเลนิน สตาลิน ครุสชอฟ เบรซเนฟ แอนโดรพอฟ เชอเนนโก และสุดท้ายกอร์บาชอฟ มีการย้ายเมืองหลวงกลับมาอยู่ที่มอสโกตามเดิม เมืองเลนินกราดหรือเปโตรกราดก็เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กตามเดิม

ในช่วงการปกครองของคอมมิวนิสต์ประมาณ 64 ปี เป็นยุคที่สหภาพโซเวียตรัสเซียต้องเผชิญเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2

ถูกกองทัพรถถังนาซีบุกเมืองเลนินกราด และยังต้องทำสงครามเย็นกับสหรัฐอเมริกา ต้องแข่งขันกันเป็นจ้าวอวกาศเพื่อสร้างภาพลักษณ์และการโฆษณาชวนเชื่อ ต้องทุ่มเทงบประมาณเพื่อทำสงคราม สร้างแสนยานุภาพและพยุงเหล่าประเทศบริวารในค่ายสังคมนิยมเอาไว้ ในที่สุดเกิดภาวะหนี้สินประเทศท่วมตัว ประชาชนยากลำบากมากขึ้น จนในที่สุดก็ทนไม่ไหว

เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมวลสหภาพ (1922–1952)
โจเซฟ สตาลิน
(1878–1953)[6]
3 เมษายน 1922 – 16 ตุลาคม 1952
เลขานุการลำดับที่หนึ่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (1953–1966)
นิกิตา ครุสชอฟ
(1894–1971)[7]
14 กันยายน 1953 – 14 ตุลาคม 1964
เลโอนิด เบรจเนฟ
(1906–1982)[8]
14 ตุลาคม 1964 – 8 เมษายน 1966
เลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (1966–1991)
เลโอนิด เบรจเนฟ
(1906–1982)[8]
8 เมษายน 1966 – 10 พฤศจิกายน 1982
ยูรี อันโดรปอฟ
(1914–1984)[9]
12 พฤศจิกายน 1982 – 9 กุมภาพันธ์ 1984
คอนสตันติน เชียร์เนนโค
(1911–1985)[8]
13 กุมภาพันธ์ 1984 – 10 มีนาคม 1985
มีฮาอิล กอร์บาชอฟ
(born 1931)[10]
11 มีนาคม 1985 – 24 สิงหาคม 1991
วลาดิมีร์ อิวัชโก
(1932–1994)[11]
24 สิงหาคม 1991 – 29 สิงหาคม 1991

ปลายยุคสงครามเย็น กอร์บาชอฟ แก้ปัญหาด้วยการนำพาประเทศไปข้างหน้า ใช้นโยบายกลาสน็อตส์ (เปิดกว้าง) และเปเรสตอยก้า (ปรับเปลี่ยน) ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้กำแพงเบอร์ลินพังทะลายลง เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ เยอรมันตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี เชคโกสโลวาเกีย มีการเปลี่ยนแปลงตาม สหภาพโซเวียตและค่ายคอมมิวนิสต์เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายจากระบอบคอมมิวนิสต์ มาเป็นแนวนโยบายแบบนีโอ-ลิเบอราลิสต์ (neo-liberalism)

ฝ่ายพวกคอมมิวนิสต์หัวเก่าในพรรคส่วนหนึ่งเกิดไม่พอใจกอร์บาชอฟ จึงเคลื่อนกำลังทหารออกมากลางกรุงมอสโกหวังยึดอำนาจคืน แต่ประชาชนชาวมอสโกลุกขึ้นมาต่อต้านทหาร มีนายบอริส เยลต์ซิน นายกเทศมนตรีกรุงมอสโกออกโรงเป็นผู้นำฝูงชน ในที่สุดการยึดอำนาจครั้งนั้นล้มเหลว อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จึงถูกโค่นลงด้วยการปฏิวัติประชาชน

กอร์บาชอฟยังคงเป็นประธานาธิบดีต่อมาอีกระยะหนึ่ง เขาพยายามเสนอรูปแบบการปกครองแบบใหม่ที่จะมาแทนที่”สหภาพโซเวียต” โดยให้อิสระแก่รัฐเล็กรัฐน้อยและยังคงอยู่ร่วมกันแบบสหพันธรัฐ แต่นายบอรีส เยลต์ซินกลับเห็นต่าง เขาเคลื่อนไหวสวนทางโดยให้แยกประเทศออกไปเป็นอิสระของใครของมัน ในที่สุดจึงเกิดแตกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อย แยกตัวกันออกไปจำนวน 12 ประเทศ และรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตแบบหลวมๆ (CIS-Commonwealth of the Independent States)

เครือรัฐเอกราช

” กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชเกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาประเทศเกิดใหม่ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (ยกเว้นประเทศ กลุ่มทะเลบอลติก 3 ประเทศ ได้แก่ ลิธัวเนีย แลตเวีย และเอสโตเนีย) ซึ่งได้ร่วมลงนามในปฏิญญา Alma-Ata ก่อตั้งเครือรัฐเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2534 ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย ยูเครน เบลารุส มอลโดวา คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย “

[ หนังสือคำศัพท์-คำย่อทางการทูต สถาบันการต่างประเทศ กต. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ]
CIS (Commonwealth of Independent States)

สำหรับโซเวียตรัสเซียหรือจักรวรรดิรัสเซียเดิมจึงเหลือเพียงประเทศสหพันธรัฐรัสเซียเพียงหนึ่งเดียว แต่ก็ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีเขตแดนที่กว้างที่สุดของโลกอยู่เช่นเดิม ในขณะที่มีประชากรเหลือเพียงแค่ 175 ล้านคนเท่านั้น

เมื่อประเทศมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมายในยุคของตนเช่นนั้น ในที่สุดกอร์บาชอฟได้ลาออกจากประธานาธิบดี ในปี1991 เปิดทางให้ประเทศเปลี่ยนระบอบการปกครองจากคอมมิวนิสม์ มาเป็นระบอบสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐรัสเซีย

ต่อมามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยการลงคะแนนของประชาชน แทนการแต่งตั้งโดยพรรคคอมมิวนิสต์แบบแต่ก่อน นายบอริส เยลต์ซินก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นและปกครองประเทศอยู่สองสมัยหรือ 8 ปี ระหว่างปี 1991-1999

เยลต์ซินขึ้นมาพร้อมกับการสัญญาที่จะแก้ไขปัญหาระบบเศรษฐกิจรัสเซีย ที่เป็นแบบรวมศูนย์สั่งการจากส่วนกลาง ไปเป็นระบบเศรษฐกิจเสรี เพื่อเยียวยาปัญหาเศรษฐกิจ และแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรสำเร็จสักอย่าง มีปัญหาคอร์รัปชั่น เงินเฟ้อและเศรษฐกิจล่ม

ภายหลังยุคของนายเยลต์ซิน ผู้นำที่มีบทบาทต่อมาคือ นายวลาดิเมียร์ ปูติน อดีตสายลับเคจีบีประจำกรุงเบอร์ลิน ที่ผันตัวเข้าสู่การเมืองเพียงแค่สิบปี กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีที่มีอำนาจทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งสามารถนำพาประเทศรัสเซียฟื้นบทบาทในฐานะกลุ่มผู้นำโลกได้อีกครั้งในปัจจุบัน.

บอริส นีโคลาเยวิช เยลต์ซิน ( พ.ศ. 2474 –  2550) เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหพันธรัฐรัสเซีย ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2534 ถึง 2542
วลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน  ผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีรัสเซียคนที่สี่และคนปัจจุบัน

พลเดช ปิ่นประทีป (5 พฤษภาคม 2561)