(ตอนที่ 7) ชมโบสถ์ เที่ยวพระราชวัง

โบสถ์สมอลเล่ย์ โบสถ์สวยสีขาวโพลน บวกกับโทนสีฟ้าอ่อนสวยงามมาก

ปีเตอร์1 ส่งมเหสีคนแรกมาอยู่ที่นี่ ตอนนั้นยังเป็นโบสถ์ไม้

ปีเตอร์ 2 ครองราชย์เมื่อ อายุ 15 ปี อยู่ได้ 6 เดือน ตายจากโรคเลือด

ลูกสาวสองคนแย่งอำนาจกัน แอนนาและอลิซาเบธ คนหลังเบื่อหน่ายหนีวุ่นวาย ก็เสด็จหนีมาอยู่ที่สำนักชีในโบสถ์แห่งนี้

เมื่อแอนนาสวรรคต อลิซาเบธกลับมาครองราชย์ต่อ

เจ้าชายลูกอลิซาเบธ แต่งงานกับเจ้าหญิงโซเฟียจากเยอรมัน ครองราชย์ต่อ เป็นพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 3 แต่อยู่ได้เพียง 6 เดือนก็ถูกมเหสีคนนี้ลอบปลงพระชนม์ แล้วพระนางก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดินีแทน

คือ พระนางแคเธอรีนที่ 2 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมหาราชินีผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซีย

โบสถ์สมอลเล่ย์ ด้านหน้า
อาคารปีกซ้ายของโบสถ์

Peter and Paul Fortress

เป็นป้อมที่ตั้งอยู่บนเกาะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเดลต้า กลางแม่น้ำนีวา ใช้ชื่อของนักบุญปีเตอร์และนักบุญปอล มาตั้งเป็นชื่อป้อม สร้างไว้ป้องกันสวีเดนมาแก้แค้น ที่นี่ถูกใช้เป็นทั้งป้อมปราการและเป็นที่คุมขังนักโทษทางการเมือง

พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 เคยใช้เป็นที่นี่ คุมขัง ซาร์เรวิช อเล็กซิส (Tsarevich Alexis) โอรสองค์โต ซึ่งมีความคิดไม่ลงรอยกับพระราชบิดา ถูกลงทัณฑ์และสิ้นพระชนม์อยู่ที่นี่

ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ในบริเวณป้อมมีหอระฆังซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สูงที่สุดของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สูง 122.5 เมตร มีมหาวิหารปีเตอร์และปอลที่ใช้เวลาสร้าง 21 ปี

โบสถ์ใหญ่เป็นที่ฝั่งพระศพของปีเตอร์มหาราช ที่1 ผู้สร้างเมือง St.Petersburge รวมทั้งกษัตริย์และราชินีเกือบทุกพระองค์ รวมทั้งราชวงศ์สุดท้าย โรมานอฟ รวมทั้งสิ้น 54 พระองค์ จึงดูคล้ายปราสาทพระเทพบิดรของบ้านเรา

ตอนปฏิวัติบอลเชวิค ซาร์นิโคลาสที่2 พระนางอเล็กซานดราและลูกทั้งครอบครัว อีก 5 พระองค์ ถูกจับกุมตัวไว้นอกเมือง ต่อมามีคำสั่งจากคณะปฏิวัติที่มอสโกให้นำตัวออกไปยิงกราด ตายหมดทุกคนและนำพระศพไปทิ้งในป่า

ภายหลังปฏิวัติประชาชน ในยุคของประธานาธิบดีบอริส เยลท์ซิน ได้มีการรื้อฟื้นคดี และทำการค้นหาพระศพ ซึ่งในที่สุดสามารถนำกลับมาได้เพียง 5 ศพเท่านั้น หายไป 2 จึงมีเรื่องเล่าสันนิษฐานกันไปต่างๆนานา รวมทั้งเป็นนิยายและภาพยนต์

ต่อมาทางศาสนาจักรได้กลับมาฟื้นฟู และยกย่องพระองค์ท่านและครอบครัวขึ้นเป็นนักบุญ หรือ saint ส่วนพระศพที่หาเจอเพียง 5 พระองค์ถูกนำมาไว้ที่นี่ โดยมีห้องเฉพาะสำหรับเก็บพระศพครอบครัว ทั้ง 7 พระองค์และข้าราชบริพาร

ในคราวที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถสิริกิติ์เสด็จเยือนรัสเซีย พระองค์ท่านได้เสด็จมาวางดอกไม้ที่นี่ ห้องนี้ด้วย

พระราชวังฤดูร้อน Tsarskoye Selo

ช่วงบ่ายไปเที่ยวชม Tsarskoye Selo เป็นพระราชวังฤดูร้อนและสวนพักผ่อนของพระนางแคเธอรีน ที่2 มหาราช อยู่ใกล้ๆกับวังปาลอฟของเจ้าชายเปาเวล พระราชโอรส ที่คณะของเราได้ไปเที่ยวกันมาเมื่อสองวันก่อน

พระราชวังแห่งนี้กำลังได้รับการบูรณะฟื้นฟูกันขนานใหญ่ เพราะถูกทำลายเสียหายหนักมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เราได้เข้าชมบนอาคารเฉพาะที่เขาเปิดให้ดูเท่านั้น ได้เข้าชมห้องโถงใหญ่ที่เป็นท้องพระโรงสำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองและเหล่าชนชั้นสูง ประดับด้วยทองคำ กระจกบานใหญ่ กระจกใสแลเห็นออกไปข้างนอกที่เป็นสวนเขียวขจี วังฤดูร้อนถูกใช้ในการล่าสัตว์เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของเหล่าสมาชิกในราชวงศ์ด้วย

กล่าวกันว่าที่ห้องบอลรูมหรือท้องพระโรงใหญ่ที่นี่ แต่เดิมมีขนาดเล็กๆ ต่อมาเมื่อถูกอาคันตุกะจากยุโรปพูดเยาะเย้ย ว่าสู้ของเขาไม่ได้ พระนางแคเธอรีนจึงขยายเอาเสียใหญ่อลังการแบบนี้ เรื่องนี้สะท้อนวัฒนธรรมของชนชั้นสูงของยุโรปสมัยนั้น ที่ชอบประชันขันแข่งทางอำนาจ ความมั่งคั่งและความหรูหราเสพสุข โดยไม่สนใจความทุกข์ยากเดือดร้อนของทาสและประชาชนชั้นล่าง

บริเวณด้านหน้าของพระราชวังฤดูร้อน

ผู้ปกครองมักจะใช้กำลังทหารกดขี่ขูดรีดแรงงานและภาษีจากชาวบ้าน และใช้แสนยานุภาพของกองทัพที่เกรียงไกรของตนไปรุกราน ยึดครองและปล้นสดมภ์กวาดเอาทรัพย์สินเงินทองจากท้องพระคลังของอาณาจักรผู้พ่ายแพ้และอ่อนแอกว่ามาไว้เป็นของตน

พระราชวังของกษัตริย์และมหาจักรพรรดิจึงเป็นที่รวมของอารยธรรม ความเจริญรุ่งเรืองของแผ่นดินและมวลมนุษย์ในยุคนั้นๆเข้ามาไว้ ศิลปะวิทยาการที่สุดยอดในแขนงต่างๆจะเก็บมารักษาไว้ที่นี่ ด้านหนึ่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ต้องได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุน รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนประดิษฐ์คิดค้นจากพระราชวังด้วย

สงครามเป็นปัจจัยสำคัญอีกด้านหนึ่ง เป็นแรงกดดันและขับเคลื่อนให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยี ในการต่อสู้ เข่นฆ่าและทำลายล้างข้าศึก

อเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งกรีกและมาซีโดเนีย ได้ค้นพบเทคโนโลยีหอกยาว หน้าไม้และการจัดขบวนทัพเป็นรูปบล็อคสี่เหลี่ยม จึงสามารถรบชนะขยายอาณาจักรออกไปอย่างกว้างขวาง

เจ็งกีสข่านแห่งมองโกล ค้นพบและใช้กองทัพม้าที่รวดเร็ว ห้าวหาญ โหดเหี้ยมและความเชี่ยวชาญการยิงธนู ทะลวงขยายดินแดนออกไปจนถึงรัสเซีย ยุโรป จีนและเอเชียกลาง

อีวานที่สองและสาม สามารถรบชนะกองทัพตาต้าได้ก็เพราะค้นพบเครื่องมือป้อมเคลื่อนที่ “โกริโกรอด”ที่พัฒนามาจากเครื่องป้องกัน “ดั้ง” “โล่” ที่มีขนาดเล็กเฉพาะตัว มาเป็นเครื่องป้องกันขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งใช้เทคนิคการขุดรู ฝังระเบิดจึงทำลายกำแพงเมืองคาซานได้สำเร็จ

อีกด้านหนึ่งของสงครามยุคโบราณ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการเคลื่อนย้าย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ระหว่างอารยธรรมและทำให้ความเจริญก้าวหน้ากระจายตัวออกไป ไม่กระจุกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

ประเทศยุโรปส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์ จักรพรรดิหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปแล้ว เพราะถูกประชาชนลุกฮือขึ้นโค่นล้ม ด้านหนึ่งประชาชนทนต่อระบบกดขี่ไม่ไหว ด้านหนึ่งเป็นเพราะสงคราม โดยเฉพาะสงครามโลกสองครั้ง เป็นปัจจัยตัวแปรที่ทำให้อำนาจควบคุมของกบัตริย์อ่อนแอลง

ราชอาณาจักรและประเทศส่วนมากในโลก กลายมาเป็นระบอบสาธารณรัฐหรือประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้งผู้นำประเทศ เป็นวาระคราวละ 4-5ปี ไม่ใช่การสืบสันตติวงศ์ ตำแหน่งผู้นำหรือประมุขคือประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ทรัพย์สมบัติของราชวงศ์ที่ถูกโค่นล้มเปลี่ยนแปลง จึงกลายมาเป็นสมบัติของสาธารณะที่รัฐเป็นผู้ดูแล กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าชมแบบนี้ ซึ่งเราจะเห็นได้ที่ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เยอรมัน รัสเซีย โปแลนด์ ฮังการี เช็ค สโลวัก กรีก ตุรกี และจีน ฯลฯ

Landscape ของวังซาร์สโกเย ประกอบด้วย กลุ่มอาคารหลักเป็นแผงอยู่ด้านหลัง เป็นอาคารสองชั้นขนาดใหญ่ มีโดมหัวหอมสไตล์รัสเซียที่มุมขวาสุด มีกลุ่มอาคารชั้นเดียวโอบไปด้านหน้าเหมือนแขนของหนุมานสองข้าง ตรงกลางเป็นลานและสนามหญ้าที่กว้างมาก คงใช้ในงานพิธีกรรมและการต้อนรับขบวน ส่วนด้านหลังของกลุ่มอาคารจะเป็นสวนขนาดใหญ่มาก มีทะเลสาบขนาดย่อมอยู่สองสามหย่อม มีปราสาทขนาดเล็กๆและรูปปั้นปฏิมากรรมอยู่ตามมุมของทะเลสาบ และกระจายอยู่กลางสวนเป็นจุดๆไป

ในตัวปราสาทพระราชวังใหญ่ มีห้องที่น่าตื่นตะลึงและเป็นไฮไลท์ของเขา คือ ห้องอำพัน Amber Room เป็นห้องที่ห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด ในห้องถูกตกแต่งด้วยอำพันเหลืองอร่ามไปหมดทุกด้านของฝาผนัง ประดิษฐ์ประดอยอย่างปราณีตสุดฝีมือ

มีคนถึงกลับกล่าวยกย่องว่า Amber Room แห่งนี้ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกลำดับที่ 8 เลยทีเดียว.

พลเดช ปิ่นประทีป, วันศุกร์ที่ 11 พ.ค. 2018

ขอบคุณภาพปกจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/akom/2018/01/03/entry-1