พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561
แต่ก่อนเวลาเราพูดถึง “นโยบายสาธารณะ” เรามักจะนึกถึงแต่นโยบาย แผนงาน โครงการ หรือ กฎระเบียบอะไรก็ตามที่ออกมาโดยองค์กรภาครัฐ คือรัฐบาล หน่วยราชการหรือรัฐสภา ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดหรือตัดสินใจทางนโยบาย เท่านั้น
แต่จากประสบการณ์ 10 ปีของ สช.(สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานในกำกับของนายกรัฐมนตรี) เราพบว่าในกระบวนการส่งเสริม-สนุนสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมนั้น ยังมีนโยบายสาธารณะอีกแบบหนึ่งที่สังคมและชุมชนท้องถิ่น สามารถกำหนดและจัดทำกันได้เอง โดยไม่ต้องรอคอยหรือพึ่งพาอำนาจจากภายนอก
ตัวอย่างรูปธรรมในเรื่องนี้ได้แก่
- การมีฉันทมติของที่ประชุมสมัชชาสุขภาพ
- การประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพของชุมชน และ
- การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของภาคประชาชน
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลงานและภารกิจหลักของ สช.ตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
นโยบายสาธารณะเหล่านี้ ล้วนเป็นนโยบายในเชิงส่งเสริม สนับสนุนและเติมเต็มให้กับการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการพัฒนา และการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น
อีกนัยหนึ่ง นับเป็นรูปธรรมของแนวคิดแนวทางหรือหลักการที่เราเรียกกันว่า“การมีส่วนร่วม”นั่นเอง หากแต่เป็นการมีส่วนร่วมในเชิงคุณภาพ ไม่ใช่แค่ส่วนร่วมเชิงพิธีกรรม จึงอาจเรียกว่า“นโยบายสาธารณะ โดยสังคม เพื่อสังคม และของสังคม”
อย่างเรื่อง “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ที่กำลังเป็นที่สนใจของรัฐบาลและสื่อมวลชนอยู่ในขณะนี้ ก็เริ่มต้นจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2555 ว่าด้วย “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ต่อมาด้วยกระบวนการขับเคลื่อนมติอย่างต่อเนื่องของภาคีเครือข่าย ลองผิดลองถูก ทำไปเรียนรู้ไป นานถึง 5 ปี จนในที่สุดได้รับการยอมรับและจัดทำเป็นธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของมหาเถรสมาคม
ทั้ง “มติสมัชชาว่าด้วยพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” และ “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ” ต่างเป็นนโยบายสาธารณะโดยสังคมอย่างที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเมื่อมีการพัฒนามาถึงขั้นนี้ งานโครงการวัดสร้างเสริมสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข งานโครงการหมู่บ้านศีลห้าของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ งานโครงการ บ-ว-ร ของกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ ต่างก็ได้รับผลานิสงส์ไปโดยปริยาย เพราะสังคมลุกขึ้นมาช่วยกัน ไม่ปล่อยให้ภาครัฐขับเคลื่อนกันตามลำพังอย่างแต่ก่อน
ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีมติสะสมทั้งหมด 77 มติ ซึ่งแบ่งเป็นด้านการแพทย์และสาธารณสุข 34 (ร้อยละ44) และด้านสังคม 43 (ร้อยละ 56)
สามารถกล่าวได้ว่า ทุกมติ(ร้อยละ 100) มีการขับเคลื่อนไป ไม่มีหยุดนิ่ง มากบ้างน้อยบ้างก็ตามความยากง่ายของประเด็นและตามศักยภาพ-ความพร้อมของภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อน ซึ่ง สช.เป็นเพียงผู้คอยสนับสนุนกระบวนการทำงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เท่านั้น
สช.ได้เรียนรู้จากการทำงานใน3 สถานการณ์ความจริง ได้แก่ 1) ภาคีเครือข่ายและสังคม ต่างมีความคาดหวังอย่างสูงว่าทุกมติสมัชชาฯจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ยังมีหลายมติที่ขาดเจ้าภาพขับเคลื่อนที่เอาการเอางาน 2) มติที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ทำให้มีปริมาณสะสมจนรู้สึกว่า ดูเหมือนไร้ทางออก ปลายปิด ไม่ครบวงจร 3) การบริหารจัดการยังไม่มีรูปแบบ ระเบียบวิธีและขั้นตอนที่ชัดเจน
ในเรื่องนี้ ทั้ง สช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ได้ช่วยกันศึกษาค้นคว้าเพื่อหาทางออก ในที่สุดได้พัฒนามาเป็นโมเดล รูปแบบบริหารการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพที่ครบวงจรและมีประสิทธิผล
โดยแบ่งกลุ่มมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้งหมดออกเป็น 5 ประเภท ตามขั้นตอน พัฒนาการและแนวทางการขับเคลื่อน ได้แก่
กลุ่มมติสะสมทั้งหมด (T : Total) หมายความว่า เป็นจำนวนรวมของมติสมัชชาสุขภาพทั้งหมด ที่สะสมมาตั้งแต่สมัชชาครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน
กลุ่มมติที่กำลังขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง (O: On-going) หมายความว่า เป็นกลุ่มมติสมัชชาฯ ที่ภาคีเครือข่ายกำลังดำเนินการขับเคลื่อนกันอย่างต่อเนื่อง สามารถแบ่งได้เป็น 3กลุ่มย่อย ซึ่งทั้งหมดนี้ คมส.และ สช.จะได้เอาใจใส่ติดตาม ผลักดันกันต่อไป
O1- กลุ่มมติใหม่ ที่มีอายุไม่เกิน 2ปี
O2- กลุ่มมติที่มีกระบวนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
O3- กลุ่มมติที่มีความเร่งด่วน
กลุ่มมติที่บรรลุผลตามเป้าหมายแล้ว (A : Achieved)หมายความว่า เป็นกลุ่มมติที่สามารถขับเคลื่อนไปได้ก้าวหน้ามาก จนบรรลุผลตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของ“ข้อมติ”โดยส่วนใหญ่หรือทั้งหมดแล้ว ซึ่งมีลักษณะสำคัญดังนี้ 1) บรรลุเป้าหมายตามข้อเสนอมติครบทุกข้อแล้ว 2) มีผลลัพธ์สำคัญตาม Road map 3) มีแผนงานหรือนโยบายของหน่วยงานหลักมารองรับ 4) มีพื้นที่รูปธรรมในการดำเนินงานเกิดขึ้นให้เห็นเป็นต้นแบบแล้ว อย่างน้อย 5-10 แห่ง
กลุ่มที่ต้องทบทวน ( R: To be Revisited) หมายความว่า เป็นกลุ่มมติที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป แต่ยังมีการเคลื่อนไหวก้าวหน้าไปได้น้อยมาก หรือหยุดนิ่ง หรือ พบว่ามีเงื่อนไขบางประการที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว โดยคมส.มีมติเห็นสมควรให้นำกลับมาปรับปรุง หรือ ต่อยอด หรือขยายผลไปสู่ประเด็นใหม่ที่สอดคล้องหรือครอบคลุมมากกว่าเดิม ซึ่งคมส.และสช.จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่อไป
กลุ่มสิ้นสุดการดำเนินการ ( E: End-up) หมายความว่า เป็นกลุ่มมติที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีฉันทมติให้ยุติ เนื่องจากพบว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หรือ มีมติใหม่ที่สามารถครอบคลุมหรือทดแทนได้แล้ว หรือ สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐและกลไกสนับสนุนที่ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่อย่างเพียงพอแล้ว
จากการประเมินความก้าวหน้าของมติทั้งหมด 77 มติในเบื้องต้น พบว่าเป็นมติที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จำนวน 49 มติ(ร้อยละ64 ) ในจำนวนนี้ เป็นมติใหม่ 8, มติขับเคลื่อนต่อเนื่อง 20 และมติที่มีความเร่งด่วนและท้าทาย 21
มีมติที่บรรลุเป้าหมายแล้ว จำนวน 18 มติ (ร้อยละ23 ) มีมติที่จะเสนอเข้าทบทวนในสมัชชาฯครั้งที่ 11 จำนวน 4 มติ (ร้อยละ 5 ) และมีมติที่สามารถยุติการติดตามผลักดันได้แล้ว 6 มติ (ร้อยละ 8)
จึงขออนุญาตรายงานต่อสาธารณะครับ.