พลเดช ปิ่นประทีป, วันจันทร์ที่ 14 พ.ค. 2018
ในวันสุดท้าย คณะท่องเที่ยวของเรามีเวลาว่างช่วงเช้าทั้งวัน ตั้งใจจะเดินออกกำลังตอนเช้าเพื่อไปนั่งเล่นที่สวนสาธารณะกอร์กี้พาร์คสักหน่อย แต่เกิดเมื่อยขบไปหมดทั้งตัวจึงพักผ่อนอยู่ที่โรงแรม เด็กๆออกไปซื้อของฝากเพิ่มเติมกันในย่านเร็ดสแควร์ ส่วนภรรยาก็จัดของเตรียมเดินทาง
บทเรียนรู้จากการท่องเที่ยวทัศนศึกษา และพักร้อนกับครอบครัวเที่ยวนี้ ได้แง่คิดส่วนตัวบางประการเมื่อมองย้อนดูการสร้างชาติสร้างจักรวรรดิของชาวรัสเซีย
1. การสร้างชาติเปรียบเทียบรัสเซีย-ไทย
ชาวรัสเซียกับชาวไทยก่อร่างสร้างอาณาจักรมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน
ปี ค.ศ.1250 ไทยยึดอำนาจจากขอม ตั้งอาณาจักรสุโขทัยได้แล้ว ในเวลานั้นข้างบนเหนือขึ้นไปก็มีอาณาจักรล้านนา อาณาจักรพะเยา ใต้ลงมามีอาณาจักรลพบุรีอยู่แล้วเช่นกันแต่ยังอยู่ในอำนาจขอมเขมร ในเวลาเดียวกันนั้น มองโกลแผ่ขยายอำนาจยึดครองไปถึงดินแดนรัสเซียแถบตะวันตกเรียบร้อยแล้ว
ปี ค.ศ.1237 เจ้าชายยูริดาล การุสกี สร้างเมืองมอสโก ปี 1472 พระเจ้าอีวานที่ 3 ปลดแอกมอสโกจากอำนาจมองโกล(ตาต้า)ตั้งตัวเป็นพระจักรพรรดิซาร์ ปี 1547 พระจักรพรรดิซาร์อีวานที่ 4 ขับไล่มองโกลออกไปจากเมืองคาซานและไซบีเรีย
ไทยสยามตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือดินแดนสุวรรณภูมิ(สุวรรณทวีป) ซึ่งมีสงครามระหว่างรัฐเพื่อแย่งชิงขยายอาณาจักรและขยายเขตอิทธิพลกันไปมาระหว่าง 3 อาณาจักรขาใหญ่ ได้แก่ พม่า เวียดนามและไทย แต่ไม่มีใครสามารถผูกขาดและไม่ได้มีพัฒนาการไปเป็นจักรวรรดิขนาดใหญ่ที่จะสูบเอาทรัพยากรและความมั่งคั่งจากอาณาจักรอื่นๆมาสร้างอารยธรรมครอบงำเหนือคนอื่น
เมื่อจักรวรรดิจากยุโรปเข้ามารุกรานก็พากันตกไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดาและสเปนกันทั้งแถบ ยกเว้นไทยสยามที่สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ด้วยกุศโลบายการฑูตที่เหนือชั้นของ ร.5 และอิทธิพลถ่วงดุลของจักรวรรดิรัสเซียที่เป็นมหามิตรในเวลานั้นมีส่วนช่วยเอาไว้
2. การสร้างและขยายจักรวรรดิเปรียบเทียบยุโรป
มหาอำนาจใหญ่ๆในยุโรปที่เป็นคู่เทียบของรัสเซียในช่วงเวลา 100-300 ปีก่อนโน้น ได้แก่จักรวรรดิฝรั่งเศส อังกฤษ ปรัสเซีย(เยอรมัน) ออสเตรียและสเปน
ผู้นำของชาติ ตั้งแต่พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตรัสเซีย มาจนถึงประธานาธิบดีในปัจจุบัน ล้วนมีวิสัยทัศน์และความทะเยอทะยานที่สืบทอดกัน โดยมุ่งเป้าหมายของชาติไปสู่ความเจริญก้าวหน้าไล่ให้ทันยุโรปและรักษาความเป็นประเทศจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ท่ามกลางจักรวรรดิต่างๆในยุโรป
รัสเซียจึงสร้างเมืองสร้างอาณาจักรและขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง คือรุกรานรัฐต่างๆลงทางทิศใต้จนถึงทะเลดำและเมดิเตอเรเนียน ผ่านตุรกี ทางตะวันตกจรดทะเลบอลติค รวมทั้งขยายไปทางตะวันออก ไซบีเรียจนจรดทะเลญี่ปุ่นและมหาสมุทรแปซิฟิค และรักษาสถานะความเป็นประเทศมหาอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน
3. การเลิกทาสเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาและไทย
การเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา ดินแดนต้นแบบประชาธิปไตยที่สำคัญของโลก เกิดขึ้นในระหว่างสงครามกลางเมือง โดยคำสั่งของฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ออกประกาศ Emancipation Proclamation เมื่อ 1 มกราคม 1863 มีผลต่อการได้เสรีภาพของทาส 3.1 ล้านคนใน 10 มลรัฐที่เป็นกบฏในขณะนั้น นำไปสู่การแตกหักในสงครามระหว่างมลรัฐฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ และเมื่อในที่สุดเมื่อฝ่ายเหนือชนะ ก็ยังต้องแลกกับการสูญเสียประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นผู้ยิ่งใหญ่จากการลอบสังหารในโรงละครในปี 1865
ส่วนการเลิกทาสของรัสเซียที่เกิดขึ้นจากการใช้พระราชอำนาจเบ็ดเสร็จของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่3 ก็นำมาสู่ความไม่พอใจของเหล่าชนชั้นสูงที่สูญเสียผลประโยชน์และชาวนาที่ชีวิตยังคงยากลำบาก จนเกิดความพยายามลอบสังหารพระองค์หลายต่อหลายครั้ง และในที่สุดทรงสิ้นพระชนม์จากระเบิดพลีชีพของหญิงชาวนาคนหนึ่ง ในปี 1881 อันเป็นที่มาของการสร้างโบสถ์แห่งหยดเลือดเป็นอนุสรณ์แด่พระองค์
แต่การเลิกทาสในสยามประเทศ โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 กลับเป็นไปด้วยความเรียบร้อยละมุนละม่อม ช่วยปลดปล่อยทาสซึ่งประมาณกันว่ามีประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรไทยในสมัยนั้น เพราะทรงใช้แนวทางสายกลางอันสอดคล้องกับวัฒนธรรมแบบไทย ๆ
ทรงเริ่มจากปี 1874 ออก พรบ.พิกัดเกษียณอายุลูกทาสไทย ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่ 8 ขวบจนถึงอายุ 20ปี พ้นไปนั้นให้เป็นไท ห้ามมิให้ซื้อขายบุคคลเป็นทาสอีก ปี 1877 ออกพระบรมราชโองการให้ไพร่สมเข้ารับราชการมีเบี้ยหวัดเงินเดือนแบบไพร่หลวง ต่อมาปี 1899 จึงประกาศกำหนดอายุ “ปลดชะรา”ที่ 60 ปี(จากเดิม 70 ปี)
4. การสร้างอารยธรรมและวัฒนธรรมของตนเอง
เที่ยวชมพระราชวังที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันหลายแห่งของรัสเซีย ได้เห็นการก็อปปี้ไอเดียและกว้านซื้อศิลปะวัตถุที่สูงค่ามาจากยุโรปมากมาย นำเข้ามาไว้ที่นั่น แต่นั่นมิใช่ว่ารัสเซียจะขาดซึ่งภูมิปัญญาของชาติตน ตรงกันข้ามรัสเซียมีทั้งการเสริมสร้างภูมิปัญญาของชาติตนและการเลียนแบบและดัดแปลงของดีจากชาติอื่น
สถาปัตยกรรมวิหารแบบโดมแท่งเทียนหรือโดมหัวหอมเป็นอัตลักษณ์ของรัสเซีย อาคารยักษ์แบบสตาลินนิสม์ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างรัสเซียนบาโรคกับศิลปะแบบกอธิคที่เห็นในอาคารเทพธิดาทั้ง7ของมอสโก ก็พอนับเป็นตัวอย่างได้
ระบำบัลเลท์เป็นศิลปะการแสดงประจำชาติอันหนึ่งที่โดดเด่นของรัสเซีย ที่คนรู้จักทั่วโลก นอกจากนั้นงานประดิดประดอยที่ละเอียดอ่อน เครื่องประดับสวยงามชิ้นเล็กชิ้นน้อยแต่มีมูลค่า ก็นับเป็นจุดเด่นของคนรัสเซีย
ศาสนาคริสต์แบบรัสเซียนออโธดอกซ์ ก็เป็นรากฐานยึดเหนี่ยวที่เหนียวแน่นของคนรัสเซีย แม้ในยุคที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จะถูกทำลายไปบ้าง แต่ในที่สุดก็กลับฟื้นขึ้นมาอย่างแข็งแรงในปัจจุบัน
5. การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัสเซียเป็นชาติหนึ่งที่อยู่แถวหน้าของโลก มีนักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียหลายคนที่ได้รับโนเบลไพร์ซสาขาต่างๆ นับเป็นตัวชี้วัดอย่างดี
สงคราม การรุกรานและการแผ่ขยายอาณาจักร เป็นแรงขับดันสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส ต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แข่งขันความเหนือกว่า เพื่อรับใช้ภารกิจเป้าหมายของชาติ
จากอดีตถึงปัจจุบัน รัสเซียมีการพัฒนาSTEM มาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีความก้าวหน้าทั้งด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ด้านวิศวกรรม การแพทย์ การสื่อสาร คอมพิวเตอร์ นิวเคลียร์ อวกาศ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ
6. การปฏิวัติและการปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง
รัสเซียมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนาน 600 ปี ด้วยการปฏิวัติบอลเชวิคมาเป็นระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ในปี1917 ซึ่งการปกครองในระบอบคอมมิวนิวต์ดำรงอยู่เพียง 64 ปี ก็เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี 1991 กลายมาเป็นระบอบสหพันธรัฐรัสเซีย ด้วยพลังมวลชนที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย
เปรียบเทียบกับจีน ที่เคยปกครองในระบบกษัตริย์หรือจักรพรรดิ(ฮ่องเต้)มาอย่างยาวนาน 2-3 พันปี เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยโค่นล้มระบอบจักรพรรดิลงภายใต้การนำของดร.ซุนยัตเซ็นในปี 1912
แต่ระบอบประชาธิปไตยแบบลัทธิไตรราษฎร์ (หลักการชาตินิยม ประชาธิปไตย และความเป็นอยู่ประชาชน)ก็ถูกเปลี่ยนเป็นระบบเผด็จการของขุนศึกเจียงไคเช็คและครองอำนาจมาได้เพียง 37 ปี จนถึงปี 1949 ก็ถูกโค่นล้มลงด้วยสงครามปฏิวัติภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตง เปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกตนเองว่าเป็นระบอบสาธารณรัฐของประชาชน ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาจนถึงปัจจุบัน
7. การสร้างความรักชาติและความสามัคคีในชาติ
คนรัสเซียมีนิสัยอย่างหนึ่งคือรักชาติและชอบรำลึกจดจำอดีต
ผู้นำรัสเซียตั้งแต่อดีตครั้งไหนๆ ไม่ว่าจะดีเลวอย่างไร ก็ยังได้รับความเคารพรักจากคนรัสเซีย ดูได้จากรูปปั้น ปฏิมากรรมและอนุสรณ์สถานที่สร้างไว้เป็นเกียรติแด่ผู้นำในแต่ละยุค ยังได้รับการดูแล ไม่ทำลาย
การเดินขบวนกันอย่างคึกคักของบรรดาเหล่าทหารผ่านศึกและลูกหลานเหลนของวีระชนในวันชาติ เป็นตัวชี้วัดรูปธรรมอย่างหนึ่งของแนวทางการสร้างความรักสามัคคีของคนในชาติ.
ขอบคุณภาพปกจาก https://www.britannica.com/place/Russia