(ตอนที่ 9) ปิดท้ายที่จัตุรัสแดง

พลเดช ปิ่นประทีป, วันอาทิตย์ที่ 13 พ.ค. 2018

เดินทางจากเซ็นต์ปีเตอร์ กลับมามอสโก โดยสายการบิน S7 สีเขียวอ่อน รถที่มารับจากสนามบินรีบพาส่งที่โรงแรม แล้วมุ่งไปเที่ยวที่จัตุรัสแดงเพื่อชดเชยเมื่อสัปดาห์ก่อน

จัตุรัสแดง Red Square

วันนี้จัตุรัสแดงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้แล้ว แต่อัฒจรรย์ ที่นั่งสำหรับชมขบวนพาเหรดยังคงระเกะระกะอยู่ ทำให้ทิวทัศน์ในรูปถ่ายดูด้อยไปหน่อย ช่วงเที่ยงวันแดดเปรี้ยง แต่นักท่องเที่ยวหนาแน่นมากทีเดียว

สุสานเลนิน Lenin Mausoleum

น่าเสียดายที่ทางการรัสเซียยังไม่เปิดให้คนเข้าชม เข้าใจว่าเป็นเพราะยังเคลียร์พื้นที่หลังงานสวนสนามไม่เสร็จ อัฒจรรย์ยังระเกะระกะไปหมด

เคยทราบว่าปิดมานานแล้ว ไม่ทราบสาเหตุ พรรคพวกกันเขามาเมื่อปี 2558 ก็ไม่ได้ชมเช่นกัน

มีข้อมูลประวัติกล่าวไว้ว่า สุสานเลนินแห่งนี้สร้างขึ้นมาหลังจากที่เขาเสียชีวิตลง โดยสร้างเสร็จในปี ค.ศ.1929 เเละมีการนำร่างของเขามาบรรจุลงไว้ ทั้งๆ ที่ในคำสั่งเสียก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงนั้นได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการให้ฝังศพของเขาข้างๆ มารดาที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอันเป็นบ้านเกิดของเขา

เเต่รัฐบาลโซเวียตในขณะนั้นกลับดำเนินการตรงกันข้าม โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในยุคนั้นรักษาสภาพศพของเขาเอาไว้เเละสร้างสุสานที่เป็นรูปทรงปิระมิดโดยทำจากวัสดุอย่างแกรนิตและแลบราโดไรต์ สีดำเเดงเป็นรูปกล่อง เเละมีความสูงกว่า 12 เมตร

มีการเปิดให้ประชาชนเข้ามาเคารพร่างของอดีตท่านผู้นำตั้งเเต่นั้นมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ร่างของเลนินถูกเคลื่อนย้ายไปยังไซบีเรีย เพื่อหลบพวกนาซีอยู่พักหนึ่ง เเต่เมื่อทุกอย่างสงบก็นำร่างกลับมาที่นี่

พระราชวังเครมลิน

พระราชวังเครมลินแห่งมอสโก ประกอบด้วยหมู่อาคารและป้อมปราการบริเวณใจกลางกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ทางใต้เริ่มตั้งแต่บริเวณแม่น้ำมอสโก ทางตะวันออกเริ่มตั้งแต่มหาวิหารเซนต์เบซิลและจัตุรัสแดง ทางตะวันตกเริ่มตั้งแต่สวนอะเล็กซานเดอร์

ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโกเมื่อ ค.ศ. 1990

เครมลินยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานรัฐบาลหลายแห่ง รวมทั้ง ทำเนียบประธานาธิบดีหรือที่พำนักของผู้นำรัสเซีย ดังนั้นคำว่าเครมลินจึงมักถูกใช้โดยสื่อตะวันตกเพื่อสื่อถึงรัฐบาลโซเวียตหรือรัฐบาลรัสเซีย เหมือนกับที่ใช้คำว่าทำเนียบขาวแทนรัฐบาลกลางสหรัฐ

Amoury Chamber

สร้างใน ปี 1844-1851

เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาสมบัติโบราณ เครื่องแต่งกายของจักรพรรดิ จักรพรรดินี เครื่องประดับยศ เครื่องราชอิสิริยาภรณ์ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง ของขวัญจากราชวงศ์อื่นในโอกาสต่างๆ

มีคอลเลคชั่นรถม้าพระที่นั่งที่ใช้งานจริงในฤดูร้อน ฤดูหนาว นั่งเดี่ยว นั่งหลายพระองค์ ฯลฯ เป็นของจักรพรรดิ จักรพรรดินี รวมทั้งรถพระที่นั่งที่เป็นของขวัญจากกษัตริย์ประเทศต่างๆก็มี

ศาตราวุธ และเกราะป้องกันของแม่ทัพ ขุนพล อัศวินและนักรบ ในยุคใกล้เคียงกัน ตั้งเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆก็น่าสนใจ จะเห็นวิวัฒนาการการคิดค้นอาวุธเพื่อประหัตประหารในการรบประชิตตัว และการพัฒนาชุดเกราะป้องกันตั้งแต่หัวจรดเท้า รวมทั้งเครื่อง้องกันม้าศึกด้วย

Diamond Fund

ทำเนียบประธานาธิบดี

ปืนใหญ่พระเจ้าซาร์ Tsar Cannon

เป็นปืนใหญ่ที่สร้างขึ้นด้วยบรอนซ์ ในปี 1586 ไม่เคยได้ใช้งานจริง แต่ตั้งโชว์เป็นสัญลักษณ์เท่านั้น ตั้งอยู่ที่ Amory Museum

ได้รับการบันทึกในกินเนสส์บุ๊คว่ามีขนาดปากกระบอกใหญ่ที่สุดในโลก

Cathedral Square

ในบริเวณนี้มีกลุ่มโบสถ์สำคัญ 3 โบสถ์ ตั้งอยู่ติดๆกัน คือ โบสถ์อัสสัมชัญ Assumption Cathedral โบสถ์Annunciation โบสถ์ Ivan the Great Bell Tower และโบสถ์ Archangel

โบสถ์อัสสัมชัญ สร้างปี 1475-1479 เป็นโบสถ์ที่ใช้ในพระราชพิธีสวมมงกุฎพระเจ้าซาร์ เมื่อแรกขึ้นครองราชย์

Annunciation Cathedral โบสถ์สำหรับการประกาศตั้งมกุฏราชกุมาร สร้างปี 1484-1489

โบสถ์ Archangel’s Cathedral สร้างปี 1505-1508 ใช้สำหรับฝั่งพระศพพระเจ้าซาร์ มกุฏราชกุมาร และสมาชิกราชวงศ์

โบสถ์ระฆัง Ivan the Great Bell Tower สร้างระหว่างศตวรรษที่ 16-17

ระฆังยักษ์

เป็นระฆังขนาดใหญ่มาก ขนาดสูง 6.14 เมตร หรือ 20.1 ฟุตและกว้าง6.6 เมตรหรือ22.0 ฟุต หนัก 201,924 กิโลกรัม เกิดแตกร้าวในระหว่างเผาไฟเสร็จในขั้นตอนสุดท้าย ไม่สามารถซ่อมแซมได้จึงวางไว้ที่พื้นเช่นนั้น

The State Kremlin Palace

เป็นอาคารรูปบล็อคสี่เหลี่ยมแบนๆสีขาว สร้างปี 1959 เคยใช้เป็นสถานที่ประชุมคองเกรสของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ครั้งที่ 22 ในปี 1961 บรรจุคนได้ 6,000 คน เคยใช้จัดแสดงคอนเสิร์ตศิลปินดังของโลกหลายครั้ง

มหาวิหาร St. Basil

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า มหาวิหารเซนต์บาซิล (Saint Basil’s Cathedral) เป็นอาสนวิหารของศาสนจักรออร์โธดอกซ์รัสเซีย

สร้างโดยซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย หรือซาร์อีวานจอมโหด เพื่อฉลองชัยชนะเหนือพวกมองโกลที่เมืองคาซาน เมื่อปี ค.ศ. 1552 ซึ่งผลจากชัยชนะครั้งนี้ทำให้รัสเซียสามารถรวมชาติได้เป็นปึกแผ่น จึงสร้างมหาวิหารแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1555

มหาวิหารเซนต์บาซิลมีรูปทรงที่ไม่เหมือนโบสถ์อื่น คือมีโดม 8 โดมล้อมรอบโดมที่ 9 ที่อยู่ตรงกลาง ทำให้อาคารมีรูปทรงแปดเหลี่ยม ด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบรัสเซียโบราณอันได้รับอิทธิพลมาจากไบแซนไทน์ ในส่วนที่เป็นโดมทรงหัวหอม กับสถาปัตยกรรมที่เรียกกันว่ารัสเซียนโอโธดอกซ์ หอคอยสูงรูปกระโจม เป็นส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากยุโรปตะวันตก ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงกลายเป็นหอคอยสูงรูปแท่งเทียนกำลังลุกไหม้บนปลายลำเทียน ส่งความโชติช่วงชัชวาลย์เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าบนสวรรค์

มหาวิหารนี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อปอสต์นิค ยาคอฟเลฟ (Postnik Yakovlev) และด้วยความงดงามของสถาปัตยกรรมจึงทำให้มีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า ซาร์อีวานที่ 4 ทรงพอพระทัยในความงดงามของมหาวิหารแห่งนี้มาก

จึงมีคำสั่งให้ปูนบำเหน็จแก่สถาปนิกผู้ออกแบบด้วยการควักดวงตาทั้งสอง เพื่อไม่ให้สถาปนิกผู้นั้นสามารถสร้างสิ่งที่สวยงามกว่านี้ได้อีก

การกระทำในครั้งนั้นของพระเจ้าอีวานที่ 4 จึงเป็นที่มาของสมญานามอีวานผู้โหดร้าย (Ivan The Terrible)

แท่นประกาศราชกิจจานุเบกษา

ที่ด้านหน้ามหาวิหารเซ็นต์เบซิล มีแท่นเวทีรูปทรงกระบอกแบนๆ กล่าวกันว่าถูกใช้เป็นแท่นที่ป่าวประกาศราชกิจจานุเบกษาหรือกฎหมายที่รัฐต้องการให้ประชาชนรับทราบ

ส่วนด้านหลัง มักใช้เป็นลานประหารเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง.