ในระยะนี้ เรื่องธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติกำลังได้รับความสนใจและเป็นที่รับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวาง ถึงขั้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ) ได้นำเรื่องนี้เข้ารายงานในที่ประชุม ครม.โดยฉายคลิปวิดีโอ 3 นาทีของ สช. ประกอบการอธิบายขยายความอีกด้วย
หลังจากนั้น ยังได้มีหนังสือที่เป็นข้อสั่งการให้ สช. ดำเนินการขับเคลื่อนขยายผลธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติอย่างจริงจังไปทั่วประเทศ รวมทั้งให้ประสานกรมการศาสนา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับประยุกต์สู่ประเด็นสุขภาพในกลุ่มพระนักบวชหรือผู้นำศาสนาอื่นๆ
อีกทั้งประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ) ยังได้ย้ำให้สช.ประสานกับสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมอนามัย กรมการแพทย์ กรมการศาสนา กระทรวงสาธารณสุข สสส. และ สปสช.ให้เกิดแผนปฏิบัติการขยายผล จับคู่ 1 วัด 1 รพ.สต. สร้างต้นแบบวัดสร้างเสริมสุขภาพ ตามแนวทางของธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรม และให้บรรจุเป็นวาระประจำที่ สช.จะต้องรายงานความก้าวหน้าในที่ประชุมทุกครั้งด้วย
เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องมือชิ้นต่างๆ ที่ สช.ใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ดูเหมือนว่าธรรมนูญสุขภาพนี่แหละที่สามารถแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางที่สุด
แท้ที่จริงแล้ว ธรรมนูญสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นหรือของสังคมกลุ่มเฉพาะ เช่น ธรรมนูญสุขภาพตำบล (607แห่ง) ธรรมนูญสุขภาพอำเภอ (3 แห่ง) ธรรมนูญลุ่มน้ำ (5แห่ง) ธรรมนูญผีมอญของพี่น้องเครือข่ายชาติพันธุ์ไทยรามัญ 38 จังหวัด และธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ล้วนเป็นตัวอย่างของ”นโยบายสาธารณะ”ของสังคม โดยสังคม และเพื่อสังคม
ธรรมนูญชุมชน เป็นรูปธรรมหนึ่งของ “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ” ธรรมนูญไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีผลบังคับลงโทษใคร ธรรมนูญเป็นเพียงกติกาชุมชนที่สังคมช่วยกันกำหนดขึ้นมาว่าจะทำเรื่องดีๆอะไรกันบ้าง มีกรอบวิสัยทัศน์และหลักการ แนวทางอย่างไร และใครควรมีบทบาทในเรื่องไหน
ธรรมนูญสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นและสังคมเฉพาะกลุ่ม ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ ล้วนเป็นไปตามหลักการและกรอบแนวคิดของธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่ง สช. ได้จัดทำขึ้นโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายมาอย่างพิถีพิถัน รวมทั้งยังได้มีมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและมติ ครม. ให้การรับรอง มีมติ สนช. รับทราบ และมีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาด้วยแล้ว
ดังนั้น จึงถือว่าเป็นนโยบายสาธารณะของสังคม ที่ไม่จำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติใดๆอีก ก็ย่อมมีสถานภาพที่เพียงพอแล้ว สำหรับการเป็นเครื่องมือของสังคมในเชิงบวกเช่นนี้
เป็นแนวทางการพัฒนาสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะ “ปลอดแรงต้าน”
ในเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงทฤษฎีทางฟิสิกส์ที่ว่าด้วย the “path of least resistance” หรือ หนทางที่แรงต้านน้อยที่สุด อันกล่าวถึงกฎธรรมชาติที่ว่า น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ความร้อนแพร่จากที่ร้อนไปสู่ที่เย็น โดยที่พลังงานมันจะหาหนทางเคลื่อนไปในเส้นทางที่มีแรงต้านน้อยที่สุด
พฤติกรรมทางสังคมก็เช่นเดียวกัน นักไต่เขาจะพยายามหาเส้นทางที่ลำบากน้อยที่สุดที่จะข้ามเขาไปให้ได้ มนุษย์เมื่อพบอุปสรรคขวางกั้น เป็นต้องหาหนทางที่สะดวกที่สุดเสมอไป หรือเมื่อเกิดมีทางให้เลือกหลายทางพร้อมๆกัน ทางที่แรงต้านน้อยที่สุดย่อมจะมีคนเลือกมากกว่าเพื่อนเสมอ
พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, 27 กรกฎาคม 2561
Photo credit cover Designed by starline / Freepik