สิทธิในชีวิตและร่างกายเป็นสิทธิที่ติดตัวบุคคลมาตามธรรมชาติตั้งแต่เกิด สิทธินี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์และเป็นพื้นฐานที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีอิสระที่จะกำหนดตัวเองได้ตามเจตจำนงที่ตนเองประสงค์
ในแง่ของการรักษาพยาบาลนั้น การตัดสินใจที่จะให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมารักษาพยาบาลถือเป็นสิทธิในชีวิตร่างกายอย่างหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ บุคคลเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายของตน จึงมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาทำอะไรกับร่างกายของเขาได้
โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้การรักษา มีหน้าที่แจ้งข้อมูลที่เพียงพอ (Informed) เพื่อให้ผู้ป่วยตัดสินใจ (The Right to Self Determination) ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต (Consent) ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมาทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อเนื้อตัวร่างกายของเขาได้ เช่น ผ่าตัด เจาะเลือด ฯลฯ
การที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะมาทำการรักษาพยาบาลหรือมาประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อร่างกายผู้ป่วยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยก่อน เว้นแต่เป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน มิฉะนั้นจะทำให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้น กลายเป็นการไปทำละเมิดต่อผู้ป่วย
ในแง่นี้ ผู้ป่วยจึงเป็นผู้มีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับการรักษาพยาบาล (Patient Autonomy) และเมื่อผู้ป่วยอนุญาตหรือให้ความยินยอมแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้เข้ามารักษาพยาบาลตนแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงสามารถเข้ามาทำการรักษาพยาบาลโดยใช้มาตรฐานในทางวิชาชีพของตนเองมารักษาผู้ป่วยได้ (Doctor Autonomy)
หลักการที่กล่าวข้างต้นนี้ ได้รับการยอมรับอยู่ใน ม.4 ม.28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รวมทั้งใน ม.8 และ ม.12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และประกาศสิทธิผู้ป่วยข้อ 2 นอกจากนั้นยังมีอยู่ในปฏิญญาสิทธิผู้ป่วยของแพทยสมาคมโลก(The World Medical Association Declaration on the Rights of the Patient) ที่ได้ให้การรับรองไว้เช่นกัน
สำหรับ ม.12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของบุคคลในการแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยไว้ กล่าวคือ รับรองสิทธิการปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายหรือที่เป็นไปเพียงเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยสามารถทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาไว้ก่อน ในขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตามกฎหมาย(Legal competent)
หนังสือนี้ ใช้สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจปฏิเสธการรักษาได้โดยตนเอง ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะให้การรักษาที่ผู้ป่วยปฏิเสธไว้ไม่ได้ ทั้งนี้การทำหนังสือแสดงเจตนาฯต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีมาตราดังกล่าว เนื่องมาจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันเข้ามามีบทบาทสูงยิ่งในการยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปในสภาพฝืนธรรมชาติ ทั้งๆที่ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะหายเป็นปกติได้แล้ว
จึงได้มีการกำหนดสิทธิให้ผู้ป่วยสามารถแสดงเจตนาให้แพทย์ถอดเครื่องมือทางการแพทย์หรือยุติการรักษาบางอย่างที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยได้ตามสมควร โดยที่การแสดงเจตนารมณ์หรือความประสงค์ของตนเอาไว้ล่วงหน้า เช่น อาจแสดงเจตจำนงไว้ว่าไม่ขอเข้าห้องเวชบำบัดวิกฤต (ICU) ไม่ขอปั๊มหัวใจ หรือ จะขอกลับบ้านไปตายอย่างสงบในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นต้น
ในความเป็นจริง สิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลนี้ เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนมีอยู่ตามปกติวิสัย เช่น มีสิทธิที่จะไม่ไปรับรักษา ปล่อยให้โรคหายเองหรือแย่ลงโดยไม่ไปพบแพทย์ หรือไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ก็ได้ แต่ปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเกิดป่วยหนักและอยู่ในระยะสุดท้าย ไม่มีสติสัมปชัญญะพอที่จะแสดงเจตนารับหรือปฏิเสธการรักษาได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยอาจถูกให้การรักษาตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือญาติตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งการรักษาเหล่านั้นก็เป็นการรักษาที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดเวลาตาย กลายเป็นความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเอง ซึ่งสุดท้ายผู้ป่วยก็ต้องจากไปโดยปราศจากคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นเสมอแก่บุคลากรด้านสุขภาพและญาติผู้ป่วย มีสองกรณี
๑.การงดเว้นการรักษา(Withholding treatment) คือ การไม่ให้การรักษาหรือไม่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อพยุงชีพผู้ป่วยตั้งแต่ต้น กล่าวคือ ไม่ได้ใช้เครื่องมือหรือกรรมวิธีรักษาใดๆแก่ผู้ป่วย ซึ่งแพทย์สามารถทำได้ตามความต้องการของผู้ป่วย
๒.การยุติการรักษา(Withdrawal treatment) คือ การยุติการรักษาหรือการยุติการใช้เครื่องมือเพื่อพยุงชีพผู้ป่วย ที่ได้ดำเนินการให้ไปแล้ว
กระบวนการรักษาทั้งสองนี้เป็นขั้นตอนปกติของการรักษาพยาบาล โดยการงดเว้นการรักษาและการยุติการรักษานั้น ขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์ที่จะให้แก่ผู้ป่วยและญาติ ทั้งนี้แพทย์จะต้องประเมินตามความต้องการของผู้ป่วย สภาพปัญหาและอาการของโรคเป็นสำคัญ
ดังนั้นการปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยการงดเว้นการรักษา และการยุติการรักษาตามความต้องการของผู้ป่วย จึงเป็นการปล่อยให้โรคดำเนินไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่การทำการุณยฆาตแต่อย่างใด
สช.ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ เล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นทางกฎหมาย การแพทย์และจริยธรรม จึงได้จัดให้มีเวทีระดมความคิดเพื่อร่วมกันหาข้อสรุป อันจะเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไปในอนาคต
ในอดีตวงการกฎหมายและวงการการแพทย์ของไทย เคยจัดประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปในทางกฎหมายและการแพทย์ จนเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาแล้ว คือ การประชุมโต๊ะกลมเรื่อง “การตายทางการแพทย์และการตายทางกฎหมาย” เมื่อปี 2531
ในคราวนั้น มีการเชิญแพทย์และนักกฎหมายจากหลายสถาบัน เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องดังกล่าว จนได้ข้อสรุปร่วมกันในเรื่องการให้นิยามและความหมายของการตาย โดยผลผลิตที่สำคัญที่ได้จากการประชุมดังกล่าว คือ ประกาศแพทยสภาเรื่องเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ. 2532
แต่ปัจจุบัน ได้มีประกาศแพทยสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ. 2554 มาแทนที่แล้ว.
พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ 3 ตุลาคม 2561