“ปฏิรูปกระบวนทัศน์ สร้างนำซ่อม”

พลเดช ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑

เมื่อคราวที่แล้วได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบสาธารณสุขไว้เป็นตอนที่ ๑  โดยชี้ให้เห็นว่า เนื่องจากสภาพสังคมและปัญหาสาธารณสุขมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมมาก กระทรวงสาธารณสุขและภาครัฐไม่สามารถรับมือได้เพียงลำพัง

จำเป็นต้องแยกบทบาทองค์กรใหม่-เก่าให้ชัดเจน ไม่คร่อมบทบาท และสามารถทำหน้าที่หนุนเสริม-ถ่วงดุลกันได้จริง ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขผู้กำหนดและกำกับนโยบาย,  กลุ่มโรงพยาบาล สถานีอนามัยและท้องถิ่นผู้ให้บริการสาธารณสุข และกลุ่มกองทุนผู้ซื้อบริการ

คราวนี้จะขอพูดถึงยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบสาธารณสุขในมุมมองภาคประชาสังคมอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

คือ การปฏิรูปกระบวนทัศน์ ว่าด้วย “สร้างนำซ่อม” ซึ่งมีแนวทางสำคัญ ดังนี้

 

๑.ปรับกระบวนทัศน์ของคนไทยและสังคมไทย

เมื่อพูดถึงงานสาธารณสุขและกระทรวงสาธารณสุข คนไทยโดยทั่วไปมักจะนึกถึงอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยและบทบาทของมดหมอหยูกยา โรงพยาบาล และการบำบัดรักษาที่ผู้คนต้องไปเข้าคิวรอกันอย่างเนื่องแน่นเพื่อพบแพทย์

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ พัฒนาการของระบบบริการทางการแพทย์ไทยในรอบ  ๑๓๐ ปี นับตั้งแต่เริ่มตั้งโรงพยาบาลศิริราช และรอบ ๑๐๐ ปีที่จัดตั้งกรมสาธารณสุขในกระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะแยกออกมาเป็นกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา

งานการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ประชาชนโดยทั่วไปมีระดับสุขภาพอนามัยที่สูงขึ้น แต่เกิดผลกระทบข้างเคียงบางประการ คือ ความศรัทธาต่อประสิทธิผลการซ่อม“สุขภาพเสีย”ในระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้สังคมไทยทอดทิ้งภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ฝากสุขภาพของตนไว้กับโรงพยาบาล

การละเลยต่อการสร้างเสริม “สุขภาพดี”และการป้องกันควบคุมโรค อันเป็นบทบาทหน้าที่ตนเองและชุมชนไปโดยไม่รู้ตัว ทำให้ค่านิยม “ซ่อมนำสร้าง”เข้าเกาะกุมระบบวิธีคิดและพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยมาอย่างยาวนาน

อันที่จริง ระบบงานสาธารณสุขมีภารกิจสำคัญ ๔ ประการ คือ งานส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันและควบคุมโรค งานบำบัดรักษา และงานฟื้นฟูสมรรถภาพ  ซึ่งหมายความว่าระบบบริการทางการแพทย์เป็นเพียงส่วนของงานบำบัดรักษาเท่านั้น แต่กลับมีอิทธิพลต่อกระบวนทัศน์และค่านิยมของสังคมไทยจนเสียสมดุล

ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าตามมา คือพฤติกรรมการพึงพาแพทย์ โรงพยาบาลและเทคโนโลยี มากกว่าการพึ่งพาตนเองและการสร้างสุขภาพที่สามารถทำได้ที่บ้านและในชุมชนของตน

ในกระบวนขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพของไทย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนการก่อตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ในปี ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบันนั้น ได้ขยายมิติของระบบสุขภาพที่กว้างออกไปครอบคลุม “ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม” อันเป็นภารกิจที่เชื่อมโยงกับทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารสุข

ในเชิงแนวคิดและทิศทาง หลักการ“สร้างนำซ่อม” เป็นเป้าหมายและภารกิจสำคัญของขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น แต่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของสังคมไทยในเรื่องนี้มิใช่จะสำเร็จได้ง่ายๆ

การรณรงค์ทางสังคมและการสื่อสารสาธารณะแบบวูบวาบ คงใช้ไม่ได้ผล เพราะมันถูกฝังเข้าไปอยู่ในความเชื่อและทัศนคติสังคมไทยมาไม่ต่ำกว่า ๕ ชั่วอายุคน

เรื่องนี้จึงต้องมีการปฏิรูประบบและกระบวนการปรับเปลี่ยนการรับรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติและพฤติกรรมสุขภาพคนไทยอย่างเหมาะสม จริงจังและต่อเนื่อง

 

๒. เสริมสร้างความรอบรู้-เท่าทันด้านสุขภาพ

การสร้างสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค เป็นบทบาทของประชาชนแต่ละบุคคล และบทบาทของชุมชนโดยส่วนรวม ที่จะต้องดำเนินการด้วยตนเอง ไม่มีใครหรือองค์กรใดจะมาทำแทนกันได้ ดังนั้น ความรอบรู้-เท่าทันด้านสุขภาพ(Health Literacy) จึงเป็นปราการด่านสำคัญของกระบวนการ “สร้างนำซ่อม”

ความรอบรู้-เท่าทันด้านสุขภาพ หมายถึง ระดับความสามารถและทักษะของบุคคลในการได้รับหรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสุขภาพ และสามารถ เข้าใจ กลั่นกรอง ประเมินและตัดสินใจ ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้อย่างเหมาะสม

ในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารอย่างทุกวันนี้ ประชาชนต้องเผชิญกับสภาพข้อมูลที่ท่วมทะลัก แพร่กระจายเข้ามาถึงตัวในทุกนาที ตลอดทั้งวันทั้งคืน อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เว้นเสียแต่จะมีสติปัญญารู้เท่าทันและเลือกรับ เลือกใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์เท่านั้น

งานเสริมสร้างความรอบรู้-เท่าทันด้านสุขภาพ ควรประกอบด้วย ๓ ส่วนสำคัญ ได้แก่

 

  • การทำให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขศึกษาพื้นฐานที่เพียงพอ(Basic Health Education) ในส่วนนี้กรมอนามัยและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขกำลังดำเนินงานสร้างสื่อสุขศึกษาพื้นฐาน ๖๖ เรื่องที่ประชาชนทุกคนควรมีความรู้และจัดการตนเองได้
  • การทำให้ประชาชนเป็นผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน (Smart Consumer) ในส่วนนี้ต้องการระบบการสื่อสารที่ให้ความรู้ความเข้าใจต่อรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพที่หลากหลายพิศดาร สามารถแยกแยะประโยชน์หรือโทษ และความคุ้มต่อค่าใช้จ่าย สังคมต้องมีกลไกส่งเสริมสนับสนุนให้มีขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตอบโต้ และจัดการปัญหาแบบพึ่งตนเองได้
  • การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ทุกวันนี้สังคมส่วนใหญ่กำลังเรียนรู้ประสบการณ์กับสื่อสารยุคใหม่ด้วยความสับสนอลหม่าน เกิดปรากฏการณ์ผลกระทบจากการส่งต่อข้อมูลกันไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางเหมือนการระบาดของไวรัส ขบวนการ “ชัวร์ก่อนแชร์”เป็นมาตรการหนึ่งที่ภาคเอกชนและประชาสังคมเริ่มลุกขึ้นมาต้านทานกระแสด้วยตนเอง  กระทรวงดีอี กระทรวงสาธารณสุขและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เริ่มออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อใช้ควบคุมดูแลไม่ให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องนี้ยังต้องการกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนที่เข้มแข็งต่อไป

 

๓.ปรับระบบงบประมาณสนับสนุน

ด้วยงานปฏิรูปกระบวนทัศน์สร้างนำซ่อม มีขอบเขตที่กว้างขวางไปกว่าเรื่องระบบสาธารณสุขมาก การปฏิรูปจึงต้องการวิธีทำงานแบบใหม่ที่มีความเชื่อมโยงบูรณาการกันอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องปรับระบบงบประมาณให้เป็น “กองทุนอุดหนุน”สนับสนุนสำหรับหน่วยปฏิบัติการ ที่มีทั้งหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น เอกชนและประชาสังคม อย่างเพียงพอ

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นกองทุนหลักด้านสุขภาพ จะต้องมีส่วนร่วมในจัดสรรงบประมาณเป็นรายหัวอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนขบวนการปฏิรูปกระบวนทัศน์ใหม่ “สร้างนำซ่อม”.