สภาพลเมืองสุรินทร์ โนวเจียเมียนเซาะ

พลเดช  ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพฤหัส ที่ 27 กันยายน 2561

ในกระบวนการขับเคลื่อน “นโยบายสาธารณะโดยสังคม” (public policy by social)นั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการมีพื้นที่กลางสำหรับการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย ซึ่งมักมีรูปแบบและชื่อเรียกขานที่แตกต่างกันไป

 

สภาพลเมืองสุรินทร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของพื้นที่กลางซึ่งแกนนำภาคีเครือข่ายงานพัฒนาในจังหวัดสุรินทร์ 21 องค์กร ใช้สำหรับการประสานงาน เชื่อมโยงบูรณาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและจังหวัดของตน โนวเจียเมียนเซาะ คือ อยู่ดีมีสุข อันถือเป็นเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน

 

ประกอบด้วย เครือข่ายสมัชชาสุขภาพสุรินทร์, โครงการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบูรณาการการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ, ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า, ประชาสังคมสุรินทร์สร้างสุข, คณะอนุกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.), ศูนย์ประสานงานภาคีพัฒนาจังหวัด (ศปจ.), ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสุรินทร์, หน่วยจัดการร่วม สสส., ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.),

 

โครงการอาหารปลอดภัยในโรงเรียน, กลุ่มสุรินทร์ ๑๐๘,  มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, สำนักงาน พม.จังหวัด, มูลนิธิพัฒนาอีสาน, มูลนิธิชุมชนอีสาน, มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์, มูลนิธิขวัญชุมชน, มูลนิธิเพื่อสุขภาพชุมชน, สะเร็นสปาคลินิกแพทย์แผนไทย และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนจังหวัดสุรินทร์

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พวกเขาได้จัดงาน“มหกรรมสุขภาวะคนสุรินทร์ อยู่ดีมีสุข” ขึ้น ที่ตลาดน้ำราชมงคลซึ่งอยู่กลางเมือง ในงานมีชุมชนต้นแบบด้านชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะและนวัตกรรมการจัดการทางสุขภาพภาคประชาชน โดยเฉพาะด้านอาหารปลอดภัย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การลดปัจจัยเสี่ยง และสิทธิสุขภาพ มาร่วมแสดงในงานเป็นจำนวนมาก

 

แต่ละโครงการที่นำมาแสดง ล้วนมีคุณค่า น่าชื่นชม เสริมสร้างแรงบันดาลใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพและเสริมพลังขบวนองค์กรภาคีเครือข่ายที่ปฏิบัติการในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ให้สามารถทำงานด้านสุขภาพเชิงบูรณาการได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้น

 

จังหวัดสุรินทร์ ในมุมมองของนักพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ที่นี่คือตำนานขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอไทย เป็นจุดเริ่มของการก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนรุ่นแรกๆของประเทศ มีหลวงพ่อนานเป็นปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญ มีนักคิดนักพัฒนาอิสระรุ่นอาวุโสมากมาย บางท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว หลายท่านยังคงเป็นจิตวิญญาณและผู้ให้สติปัญญาแก่นักพัฒนารุ่นหลัง

 

เมื่อ 40 ปีก่อน ในยุคที่กำลังแสวงหาแนวทางการพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน สุรินทร์คือพื้นที่หนึ่งที่ได้ร่วมค้นหา “คำตอบที่หมู่บ้าน” อันพัฒนามาสู่ทฤษฎีแนวคิดการพัฒนาที่ใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกกันว่าแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน

 

องค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหลายองค์กรของภาคอีสานได้เกิดขึ้นจากจุดนั้น หลายองค์กรเป็นสำนักคิดที่แข็งแรงและได้ผ่านการเรียนรู้ในแนวทางการต่อสู้ การพัฒนาและการจัดการตนเองมาอย่างหลากหลาย จนตกผลึกและโตเต็มวัย ในขณะที่หลายต่อหลายจังหวัดยังก้าวกันไปไม่ค่อยจะพ้น

 

ระหว่างปี 2546-2549 สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา(LDI)ร่วมกับสสส.ทำโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ ในพื้นที่ 35 จังหวัด สุรินทร์ก็เป็นจังหวัดหนึ่งที่เข้าร่วมศึกษาค้นคว้าและบุกเบิกทดลองกันอย่างเข้มแข็ง ตลาดสีเขียวที่ริเริ่มมาตั้งแต่ครั้งนั้น บัดนี้ได้กลายเป็นวิถีวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของเมืองสุรินทร์ไปแล้ว

 

ที่ฐานล่างของพระเจดีย์งานพัฒนาสังคม ปัจจุบันสุรินทร์มีองค์กรชุมชนอยู่เป็นจำนวนมากถึง 3,649 องค์กร(215 องค์กร/อำเภอ ) องค์กรชุมชนเหล่านี้เกิดจากการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อจัดการปัญหาของตนเองอย่างหลากหลายตามความสนใจของกลุ่ม มีผู้นำชุมชนที่มีศักยภาพ 1,198 คน (70คน/อำเภอ) มีพลเมืองจิตอาสา 36 เครือข่าย และมีวิทยากรกระบวนการที่มีทักษะประสบการณ์ 384 คน สิ่งเหล่านี้คือฐานทุนทางปัญญาสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต

 

ในวันนี้ สภาพลเมืองสุรินทร์ ได้ใช้เวทีมหกรรมสุขภาวะคนสุรินทร์ เป็นสถานที่ประกาศยุทธศาสตร์ของภาคีเครือข่าย มีเป้าหมายหลักให้คนสุรินทร์มีสุขภาวะดี ทั้งกาย ใจ ปัญญา และสังคม โดยเชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล ทั้งยังประกาศเจตนารมณ์ที่ภาคประชาชนจะถือเป็นภารกิจ ร่วมผลักดันประเด็นงานด้านสุขภาวะสู่นโยบายสาธารณะและจัดให้มีกลไกปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๑  เกษตรอินทรีย์

เรื่องนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด(อันเป็นนโยบายสาธารณะของรัฐ)ที่มุ่งพัฒนาสุรินทร์ให้เป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งของงานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์ทั้งจังหวัด 158 ตำบล  สร้างความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพเกษตรอินทรีย์ สร้างมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สุรินทร์แบบมีส่วนร่วม เรียกว่า “มก.สร.”และPGS  การจัดให้มีตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลาดนัดสีเขียว และเพิ่มขยายจำนวนผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าอินทรีย์

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

มุ่งให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจและความตระหนัก สามารถจัดการดิน น้ำ ป่า พลังงานและขยะของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่ต้นแบบและขยายผลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน  มีธรรมนูญชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะ

มุ่งสร้างความเข้มแข็งกลไกการจัดการสุขภาพโดยชุมชนเป็นฐาน ในระดับอำเภอ ตำบลและครอบครัว  ลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี  อุบัติเหตุ เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด และขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ สิทธิด้านสุขภาพ การเข้าถึงสวัสดิการทางสังคม

มุ่งให้ประชาชนได้รับและเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ เด็กและเยาวชนควรได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการ ๖ ด้าน คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการสุขภาพ  การเข้าถึงบริการทางสังคม  ความเสมอภาคทางการศึกษา และการปกป้องคุ้มครอง

 

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ ความเข้มแข็งภาคีเครือข่าย

มุ่งให้ภาคีเครือข่ายมีศักยภาพในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาวะคนสุรินทร์ได้แบบบูรณาการและยั่งยืน

 

บัดนี้ ภาคพลเมืองทั่วประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะ “โตเต็มวัย”  และมีความพร้อมที่จะเป็น “ผู้ให้” ทั้งกับเพื่อนมนุษย์ผู้อ่อนแอและกับภาครัฐที่แข็งแรงกว่า  รวมทั้งมีความพร้อมที่จะเป็น “ผู้ก้าวนำ” ในเรื่องงานพัฒนาสังคมที่ตนถนัด .