งานสร้างสุขที่ปลายทาง เป็นกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในเรื่อง “การตายดี” ซึ่ง สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ร่วมกับองค์กรภาคี ๑๑ แห่ง จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพิ่งจบไปด้วยบรรยากาศทางวิชาการเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนสังคมอย่างมีส่วนร่วมที่น่าประทับใจ
การตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นธรรมชาติ สุขภาวะที่ปลายทาง คือ การตายดี อันหมายถึงการตายอย่างสงบตามธรรมชาติท่ามกลางความอบอุ่นของครอบครัวและคนที่รัก ปลอดจากความทุกข์ทรมาน และสามารถคงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ ด้านหนึ่งได้ช่วยการรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งการรักษาที่ยาวนานยืดเยื้อจนเมื่อโรคเข้าสู่ระยะสุดท้าย การปกป้องชีวิตด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ เมื่อประกอบกับความเชื่อของผู้ป่วยและครอบครัว การขาดทัศนคติที่เหมาะสมของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์การสาธารณสุข มักทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย ทั้งในส่วนที่เกิดจากตัวโรคเองและจากการรักษาที่ไม่เอื้อต่อคุณภาพชีวิต
กฎหมายที่เกี่ยวกับการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ตาม ม.๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับปัญหานี้ นับเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิการตายโดยธรรมชาติที่มีความเป็นสากลเเละเป็นพลวัตรตามสภาพของสังคม
ประเทศเเรกของโลกที่มีกฎหมายแบบ ม.๑๒ คือสหรัฐอเมริกา เมื่อประมาณ ค.ศ.๑๙๖๙ สาเหตุก็เนื่องมาจากแนวคิดที่ว่า ” คนเราสามารถจัดการทรัพย์สินภายหลังตายได้โดยทำพินัยกรรม แล้วทำไมจึงไม่สามารถจัดการการรักษาพยาบาลในช่วงวาระท้ายของชีวิตได้ด้วย ”
จากแนวคิดนี้ทำให้สหรัฐอเมริกามีการออกกฎหมายในการทำหนังสือแสดงเจตนาเกี่ยวกับความต้องการที่จะรับหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลในช่วงก่อนจะเสียชีวิต หลังจากนั้นเป็นต้นมา กฎหมายแบบนี้ก็แพร่หลายไปจนทั่วทุกมลรัฐในปัจจุบัน รวมทั้งในสหภาพยุโรปทุกประเทศ ในทวีปเอเชียได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้มีกฎหมายเช่นนี้ในสหรัฐอเมริกาก่อนเพื่อน ก็เนื่องมาจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเเรกที่ประดิษฐ์เครื่องช่วยหายใจเเละพัฒนาเทคนิควิธีการทางการแพทย์ในการยื้อชีวิตผู้ป่วย จนต่อมาเทคโนโลยีการยื้อชีวิตได้ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย มีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอดชีวิตแต่ก็มีอีกจำนวนมากที่พบว่าเป็นการยื้อชีวิตแบบสุดโต่ง เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเกินความจำเป็นไปมาก ถึงมากที่สุด
มีงานวิจัยหลายชิ้นของทั้งในประเทศเเละต่างประเทศ ที่ยืนยันตรงกันว่าการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเเละการดูแลแบบประคับประคอง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวผู้ป่วยในการดูแลผู้ป่วยในช่วงวาระท้ายของชีวิตเเละลดค่าใช้จ่ายของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศโดยรวมลงได้มาก
เช่น การศึกษาเปรียบเทียบพบว่าผู้ป่วยแบบประคับประคองมีค่าใช้จ่ายน้อยว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาตามปกติ และพบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่ตายที่โรงพยาบาล จะสูงกว่าการตายที่บ้านและที่อื่นๆถึง ๒ เท่า (Population Reference Bureau. (๒๐๑๘))
จากการสำรวจพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีค่ารักษาพยาบาลเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เฉลี่ยราว ๔๕,๐๐๐ บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุดกว่า ๓.๔ แสนบาท แต่หากเป็นการดูแลในเดือนสุดท้ายที่บ้านอย่างมีมาตรฐาน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ ๒๗,๐๐๐ บาท (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (๒๕๖๑))
การให้เจ้าของชีวิตเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับเเนวทางในการรักษาพยาบาลในช่วงวาระท้ายของชีวิต โดยเลือกว่าต้องการหรือไม่ต้องการรักษาพยาบาลแบบใด จะช่วยความขัดเเย้งในครอบครัวเเละความขัดเเย้งระหว่างญาติเเละบุคลากรทางการแพทย์ เพราะทุกฝ่ายดำเนินการตามความต้องการของผู้ป่วยที่ปรากฎในหนังสือแสดงเจตนานั้น
นอกจากนี้ หน่วยงานบริการสุขภาพต้องมีการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคอง(palliative care)เพื่อรองรับผลของการทำหนังสือแสดงเจตนาฯตามกฎหมายนี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางของการวางแผนการรักษาล่วงหน้า(advance care plan)
องค์การอนามัยโลกได้ให้ความหมายของการดูแลแบบประคับประคองไว้ว่า ” วิธีการดูแลที่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคที่คุกคามต่อชีวิตโดยให้การป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัว ด้วยการเข้าไปดูแลปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระยะแรกๆของโรครวมทั้งทำการประเมินปัญหาสุขภาพทั้งด้าน กาย ใจ สังคม และจิต วิญญาณอย่างละเอียดครบถ้วน”
ในความหมายนี้ การดูแลแบบประคับประคองจึงไม่ใช่เรื่องการทำให้หายขาดจากโรค แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยเเละครอบครัว
ระบบการดูแลแบบประคับประคอง ประกอบไปด้วย การพัฒนานโยบายในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง ระบบการเข้าถึงยาแก้ปวดกลุ่ม opioids การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง และการพัฒนาระบบสนับสนุนในเรื่องการดูแลแบบประคับประคอง อันได้แก่ ระบบการเงินการคลัง ระบบการจัดการทรัพยากรสาธารณสุข ระบบการส่งต่อผู้ป่วย การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของผู้ป่วย การถอดท่อหรือการไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ
ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนหลักการของ“การตายดีตามธรรมชาติ” ถือเป็นแนวทางที่แตกต่างจากวิธีการทำ“การุณยฆาต” หรือการเร่งให้ตายเร็วขึ้นด้วยการฉีดยา ซึ่งยังไม่ได้รับการยอมรับหรือรับรองโดยกฎหมายในประเทศไทย
ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ป่วยระยะท้ายทุกคน สามารถกำหนดแนวทางการรักษาตนเองได้ว่าต้องการจะให้แพทย์หรือพยาบาลดูแลรักษาในภาวะสุดท้ายแค่ไหนอย่างไร โดยทำ “Living Will” หรือ “หนังสือแสดงเจตนา” ไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยเอาไว้ล่วงหน้า
นอกจากนั้น กฎหมายมาตรา ๑๒ ยังได้คุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์เอาไว้ด้วยว่า “เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าถึงเอกสารและสื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ม.๑๒ เเละเรื่องการดูแลแบบประคับประคองได้ ทาง www.thailivingwill.in.th หรือทาง Facebook : สุขปลายทาง
พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑