การสร้างพลเมืองในศตวรรษที่ 21

ที่มาของรูป https://pantip.com/topic/35387394

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้ศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการสร้างเป้าหมายร่วมแห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง กรณีศึกษา ๕ ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน  สาธารณรัฐสิงคโปร์  สาธารณรัฐเกาหลีใต้ สหพันธรัฐเยอรมนี  และสหราชอาณาจักร พบว่า เรื่องที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ คือ การสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และมีคุณธรรม โดยทุกประเทศต่างมีการปลูกฝังคุณธรรมความเป็นพลเมือง มีการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ และมีนโยบายในการสนับสนุนหรือเอื้อต่อความเป็นพลเมือง

สิงคโปร์

ที่มา https://blog.traveloka.com/th/internatonal-travel/accommadation/where-to-stay-in-singapore/

เมื่อแรกก่อตั้งประเทศ ลี กวน ยู ได้มองญี่ปุ่นและอเมริกา เป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ความอดทนต่อการทำงานหนัก ของชาวญี่ปุ่น ส่วนอเมริกันชนนั้นจะไม่หยุดนิ่งหรือหยุดการพัฒนาและพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆโดยอาศัยเทคโนโลยี

 

ลีกวนยู ได้ตั้งหลักการสร้างชาติใหม่ 4 ข้อ คือ

  1. สร้างสาธารณูปโภค ถนนหนทาง ประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์และสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน
  2. คนสิงคโปร์ต้องได้รับการศึกษาอย่างดีเยี่ยม
  3. สินค้าและบริการต้องมีคุณภาพ แข่งขันในตลาดโลกได้
  4. สิงคโปร์ต้องเป็น “Garden City” เป็นเมืองในสวน เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

ลีกวนยู ยังได้เสนอแนวคิด ค่านิยมเอเชีย (Asian Values) หรือประชาธิปไตยวิถีทางเอเชีย

ที่เชิดชูความเป็นชาติเหนือกว่าปัจเจกบุคคล

สถาบันครอบครัวคือรากฐานที่แท้จริงของสังคม

สนับสนุนจารีตที่ให้ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่

การตัดสินใจใดๆ ก็ตามควรเน้นการเห็นพ้องต้องกันมากกว่า การแข่งขัน การถกเถียงกัน

สร้างความสามัคคีกันระหว่างประชาชน ที่หลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา

พลเมืองมีหน้าที่ต้องเสียสละแก่บ้านเมือง และรัฐก็ต้องมีสวัสดิการที่ดีแก่ประชาชน

 

ด้านการศึกษา สิงคโปร์ สร้างประเทศโดย ใช้ นโยบายการศึกษาแห่งชาติ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนรุ่นใหม่มีความรู้และความคิดในเรื่องการพัฒนาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในสังคม โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ

 

ซึ่งมีหลักพื้นฐาน 4 ประการ คือ

  1. ต้องมีความรู้สึกเป็นรากฐานเดียวกันและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติ โดยไม่ดูถูกเหยียดหยามประเทศอื่นและไม่อายที่จะประกาศว่าตนเป็นชาวสิงคโปร์
  2. ต้องรู้เรื่องราวความเป็นมาของประเทศ กลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ภาษา วัฒนธรรมและศาสนา
  3. ต้องเข้าใจในความเป็นสิงคโปร์ เข้าใจถึงความท้าทายของประเทศ ความอ่อนแอของประเทศและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตและอนาคตเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันและสามารถฝ่าฟันอุปสรรคในอนาคตได้
  4. ต้องถูกปลูกฝังใน เรื่องความเชื่อมั่นในคุณงามความดีของสังคม และความเท่าเทียมกันของคนในสังคม

ล่าสุด รัฐบาล ลีเซียนลุง มี นโยบาย การศึกษาคุณธรรมและพลเมืองอย่างเข้มข้น ที่เน้นสร้างค่านิยม ความสามารถในการแข่งขัน ความฉลาด และเน้นการปลูกฝังหลักคุณธรรม  ๔ อย่าง คือ

  • การตัดสินใจอย่างมีคุณธรรม
  • จิตใจมีคุณธรรม
  • แรงกระตุ้นที่มีคุณธรรม และ
  • ความประพฤติที่มีคุณธรรม

ผ่านการสอนในรูปแบบต่างๆ เช่น การพูด การแสดงความเห็น การเล่าเรื่อง การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นและการมีส่วนร่วมในชุมชน

 

จีน

สำหรับจีนนั้นผูกพันกับลัทธิขงจื้อ ที่มี เนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาตนเอง การเข้าสังคม การเมือง การคบเพื่อน คุณธรรมและความกตัญญู  เช่น

  • จงขยันเรียนรู้อย่างไม่รู้จักเพียงพอ และสั่งสอนผู้อื่นอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
  • ติเตียนตนเองให้มาก และติเตียนผู้อื่นให้น้อย
  • รักษาสัจจะวาจา
  • กล้ายืดอกทำสิ่งที่เป็นธรรม
  • เคารพนับถือบิดามารดา รักใคร่ปรองดองในหมู่พี่น้อง รักใคร่เมตตาต่อผู้อื่น เป็นต้น

ที่มา https://asinnaw.wordpress.com/

 

ในเรื่องของการศึกษา

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาด้านการศึกษา ควบคู่ไปกับ การเรียนรู้ด้านคุณธรรม

 

รัฐจัดให้นักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียน ใกล้บ้าน และได้รับโอกาสทางการ ศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

การพัฒนาทักษะทางความคิด สุขลักษณะ และพัฒนาจิตใจ เริ่มทำตั้งแต่ปฐมวัย

มีการพัฒนาคุณภาพของครูและทำให้ครูได้รับความเคารพอย่างสูง และให้อิสระแก่โรงเรียนและครูใหญ่ ในการบริหารจัดการองค์กร

มีนโยบายทำให้ ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ เป็น “เมืองชั้นหนึ่ง การศึกษาชั้นหนึ่ง”  ที่ค้นหาและนำวิธีการให้การศึกษาที่ดีที่สุดจากรอบโลกไปใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จ

 

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

จีนได้ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปยังกลุ่มต่างๆ  อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้แนวคิด “inclusive growth” ร่วมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่

เน้นการพัฒนาเชิง “คุณภาพ” มากกว่าเชิง “ปริมาณ”

ลดการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออก ส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศ

ปรับโครงสร้างการอุตสาหกรรม  ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ใน ๗ ด้าน ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานใหม่ เครื่องมือเครื่องจักรขั้นสูง เทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน รถยนต์พลังงานสะอาด วัสดุใหม่ และ เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่

พัฒนาเทคโนโลยีของตนเองตามแนวคิด “Design in China”  และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมท้องถิ่น

ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

เร่งปฏิรูปภาคการเงิน

 

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  ได้ออกแถลงทฤษฎีการบริหาร  ว่าด้วยความฝันจีนใหม่ “สี่ด้านถ้วนทั่ว” (Four comprehensive) ได้แก่

  • สร้างสังคมมีกินแบบพอเพียง,
  • ลงลึกการปฏิรูป,
  • ปกครองประเทศตามหลักนิติรัฐ
  • และเข้มงวดวินัยพรรคฯ

ที่สำคัญ สี จิ้นผิง ได้ ล้างบางเครือข่ายเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างต่อเนื่องจริงจังนับแต่วันแรกที่สืบทอดอำนาจฯ

 

 

เกาหลีใต้

https://th.wikipedia.org

 “โครงการแซมาอึล อุนดง” มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูชาติ โดยในระยะแรก มุ่งปรับปรุงชนบทให้มีความเจริญเพื่อแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท

ทำ ๓ เรื่อง  คือ การปฏิรูปจิตใจ  การพัฒนาสังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งมี ๓ ขั้นตอน คือ

ขั้นต้น ต้องปลูกฝังความขยัน การช่วยเหลือตนเอง และความร่วมมือกัน

ขั้นที่สอง  คือการพัฒนาสังคม เพื่อความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและปรับปรุงความเป็นอยู่สังคมให้ดีขึ้น

ขั้นที่สาม คือการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มงานและรายได้

 

ต่อมาได้มีการนำไปปรับใช้ในสถานที่ทำงาน  เพื่อสร้างค่านิยมและความเชื่อที่มีเหตุผล

สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ร่วมงานด้วยกัน

สร้างความสามัคคีในสถานที่ทำงาน การช่วยเหลือชุมชนในชนบท  การช่วยเหลือผู้ไร้ที่อยู่อาศัย  และการเคารพกฎระเบียบ

หรือการนำไปปรับใช้ในโรงงาน ที่เน้นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตนเองและการสร้างความพึงพอใจของลูกค้าและสาธารณะชนโดยรวม  ความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันภายในโรงงาน  และสร้างจริยธรรมในองค์กรที่เข้มแข็ง

 

ที่สำคัญ คือ การนำไปใช้ในโรงเรียน โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้  เรื่องของการพัฒนาด้านจิตใจ บนพื้นฐานของความเชื่อว่า  “ไม่ว่าสิ่งใด  เราก็สามารถกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปได้”  และการมีความตั้งใจที่แน่วแน่ว่า “เราสามารถทำในสิ่งต่างๆ ได้”      การดิ้นรนต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งมิใช่เพียงเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง  แต่เพื่อผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม โดยมีเป้าหมายคือ  “การสร้างความเป็นปึกแผ่นของชุมชนและประเทศชาติ  และการฟื้นฟูนำความความสงบสุขร่มเย็นและความเป็นระเบียบเรียบร้อยมาสู่ปวงชน”

 

ในการสร้างค่านิยมร่วม เกาหลีใต้ยังได้มีโครงการหยุดยั้งการคอร์รัปชั่นและสร้างเมืองที่น่าอยู่  โดยมีหลักคิด สำคัญ ๓ ประเด็นในการณรงค์ คือ การรณรงค์ด้านจิตใจ   พฤติกรรม  และสิ่งแวดล้อม

โดยการรณรงค์ด้านจิตใจ เน้นเรื่องการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้าน   การสืบสานจริยธรรมประเพณีอันดีงามโดยปลูกฝังให้บุตรหลานเกิดความรักและห่วงแหนในสมบัติอันมีค่า   และการเสริมสร้างการรับรู้ของชุมชน

การรณรงค์ด้านพฤติกรรม มุ่งเน้นเรื่องการเคารพกฎจราจร  มารยาทในที่สาธารณะ  การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในทางที่ดี  และการละเว้นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการดื่มของมึนเมา

การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเน้นเรื่องการรักษาความสะอาดรอบบริเวณพื้นที่อาคารบ้านเรือนหรือสถานที่ทำงานของแต่ละคน  ดูแลสภาพภูมิทัศน์ตามท้องถนน  และการสร้างเมืองและแม่น้ำลำคลองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

เกาหลีให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่อง การศึกษา

ช่วงหลังสงครามโลก แม้ประเทศจะยากจนแทบจะไม่มีอะไรกิน แต่ประชาชนต่างลงทุนเพื่อให้ตนเองได้รับการศึกษาที่แทบจะไม่เคยได้รับมาก่อน มีการลงทุนจ้างครูที่มีความรู้ความสามารถทั้งในประต่างประเทศมาเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในประเทศ โดยประชาชนให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่าอย่างอื่น ปัจจุบัน ในช่วงที่มีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งประเทศจะหยุดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการรบกวนการสอบของนักเรียน และอำนวยความสะดวกแก่นักเรียนให้ได้เข้าสอบอย่างเต็มที่

 

คนเกาหลี จึงเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ประกอบกับเป็นคนขยันหมั่นเพียรและมีความเป็นชาตินิยมสูง จึงเกื้อหนุนให้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ

 

งานวิจัยและพัฒนา ถือได้ว่าเป็น ปัจจัยหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ เปลี่ยนผ่านจากภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากเป็นอุตสาหกรรมหนักและเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรมไอทีและเทคโนโลยีระดับสูง ทำให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา คิดเป็นร้อยละ 2.42 ในปี 1996  และร้อยละ 4.04 ของ GDP ใน 2011

 

รัฐบาลส่งเสริมให้คนหันมาประกอบอาชีพครู ด้วยการเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับอาชีพแพทย์และทนายความ  มีค่าครองชีพและสถานภาพทางสังคม

ครูมีสถานะเป็นปูชนียบุคคลที่สังคมยกย่องให้เกียรติสูงสุด ไม่มีการสอนพิเศษ  แต่มีการให้เงินโบนัสทุก ๒ เดือน รวมทั้งเงินพิเศษในช่วงเทศกาลชูช็อก รวมเป็นเงินพิเศษประมาณ ๙ ครั้งต่อปี

จรรยาบรรณในวิชาชีพครูทำให้ครูต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกศิษย์และต้องระวังไม่ให้ตนเองเสียหาย ทำความผิดร้ายแรงจนถูกยึดใบประกอบวิชาชีพและจะได้รับการอับอายในสังคม การลงโทษทางสังคมรุนแรงมากจนเห็นได้การการฆ่าตัวตายเพื่อหนีความอับอาย

เป้าหมายทางการศึกษา  เน้นวิชาการ และการพัฒนาจิตใจให้เกิดวามสมดุลกับร่างกายที่เจริญเติบโต การพัฒนาพื้นฐานความคิดความรู้สึกของตนเองให้กล้าแสดงออกอย่างถูกต้อง มีหลักการและมีเหตุผล การปลูกฝังความเป็นชาตินิยม ความภาคภูมิใจในชาติ วัฒนธรรมประเพณี รักเพื่อนบ้าน เชื่อมั่นในตนเอง และเสริมสร้างความสามารถในการนำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่น

 

 

เยอรมัน

ระบบการศึกษา ของเยอรมัน

มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพในการพัฒนาประเทศ

https://pantip.com/topic/35387394

รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษา ให้ทุกคนสามารถเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงปริญญาเอกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ  เป็นไปตามความสามารถของแต่ละบุคคล

การสอนด้านระเบียบวินัย คุณธรรมจริยธรรมจะสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ รู้จักการอยู่ร่วมกัน การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ความสามัคคีและสร้างจิตสาธารณะ

การปลูกฝังเรื่องคุณธรรม ส่วนใหญ่ถูกถ่ายทอดมาจากครอบครัว ชุมชน และโบสถ์ ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ที่เด็กสนใจ เช่น การเล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ ชุมชนมีส่วนร่วมในการหาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กภายในชุมชน

 

ในเรื่องของการสร้างความเป็นพลเมือง

เยอรมนีวางแผนการสร้างความเป็นพลเมืองในทุกระดับ โดยการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองในระดับท้องถิ่น  ที่เน้นให้รัฐมีบทบาทในการสร้างความเป็นพลเมืองให้แก่ประชาชน  คือ เป็น ผู้ที่มีความรับผิดชอบในกิจการสาธารณะของเมือง/ชุมชน”  โดยมีการออกแบบองค์กรและรูปแบบการทำงานของหน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่นให้เหมาะสมกับการส่งเสริมให้ภาคประชาชน และภาคธุรกิจเอกชนได้มีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของท้องถิ่นได้มากขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นพลเมืองในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีความตื่นตัว ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันและกัน และร่วมรับผิดชอบในการกิจการสาธารณะ

ทั้งนี้ พลเมืองเยอรมันมีจุดเด่นสำคัญ ได้แก่

(๑) มีระเบียบวินัย และซื่อสัตย์

(๒) มีความตั้งใจจริง ทำทุกอย่างให้ง่ายต่อการปฏิบัติ ถ่ายทอดและตรวจสอบ รวมทั้งคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีมาตรฐาน

(๓) ประหยัด มัธยัสถ์ เห็นคุณค่าของเงิน

(๔) ช่างคิดช่างวางแผน ใส่ใจกับทุกปัญหา

(๕) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

รัฐบาลเยอรมันยังมีนโยบายสนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในชุมชน

 

 

อังกฤษ

http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/30093/042663

มีกระบวนการสร้างชาติ โดยการปลูกฝังคติธรรม ๗ ประการ  ได้แก่

  • สัจจะ พูดความจริง (Truth)
  • ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty)
  • ความระลึกในหน้าที่ (Sense for Duty)
  • ความอดกลั้น (Patience)
  • ความเป็นธรรม (Fair play)
  • ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา (consideration for other)
  • เมตตาธรรม (kindness)

โดยมีการปลูกฝังคติธรรมเหล่านี้ในทุกระดับ ทั้งในครอบครัว ระบบการศึกษา และการหล่อมหลอมในสังคม

เมื่อบุคคลสามารถมีคติธรรม ๗ ประการได้จะถือว่าเป็นผู้มีการยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและจะปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี

 

อังกฤษ มีนโยบายสำคัญ  คือ การสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม  ซึ่งเป็นพื้นที่ หรือ space ให้กับทุกภาคส่วนในสังคมให้ร่วมกันพัฒนาความเข้มแข็งสู่ชุมชนและสังคมไปพร้อมๆ กัน  เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกของประชาชน

มีการตั้งกระทรวงเพื่อสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม และขับเคลื่อนนโยบาย ในการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบาย Big Society

และรัฐบาลมี นโยบายว่าด้วย การพัฒนากิจการสังคมของรัฐ ใน ๔ ด้าน ได้แก่

ด้านที่ ๑ การสร้างวัฒนธรรมด้านกิจการเพื่อสังคม ผ่านการสื่อสารและเรียนรู้ในสังคม

ด้านที่ ๒ การพัฒนาศักยภาพของกิจการเพื่อสังคม เช่น การสนับสนุนให้เกิดองค์กรกลางจำนวนมากที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือกิจการเพื่อสังคมในการพัฒนาศักยภาพแต่ละด้านของตน

ด้านที่ ๓ การพัฒนาช่องทางการเข้าถึงเงินทุน เช่น การพัฒนากองทุนสนับสุนนกิจการเพื่อสังคมทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่

ด้านที่ ๔ การส่งเสริมเปิดโอกาสให้ทำงานกับองค์กรของรัฐ เช่น การให้ข้อมูลความรู้กับภาครัฐในส่วนต่างๆ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของกิจการเพื่อสังคมต่องานของตน

 

บทบรรยายใน เวที “การเมืองไทยกับการสร้างคนไทยในศตวรรษที่ ๒๑” วันพุธที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส