พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ 2มกราคม 2562
ในขณะเวลาที่เขียนบทความนี้ ยังไม่ได้มีการประกาศตัวเลขอุบัติเหตุท้องถนนในช่วงเจ็ดวันอันตรายสำหรับเทศกาลส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไป จึงได้แต่ภาวนาว่า พี่น้องคนไทยจะเจ็บตายบนท้องถนนน้อยลงกว่าปีก่อนๆ
สถิติการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติภัยท้องถนนในประเทศไทย ได้พุ่งขึ้นสูงติดอันดับโลกมาร่วมสิบปี จนได้รับการกล่าวขานไปทั่ว เรื่องนี้คนไทยทั่วไปก็รับรู้ หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างใช้ความพยายามแก้ปัญหาไม่ลดละ รัฐบาลทุกชุดที่เข้ามาบริหารล้วนหนักอกหนักใจ
ปีก่อนหน้า มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 24,237 คน หรือเฉลี่ย 65 คนต่อวัน คิดเป็นอัตราตาย 36.2 รายต่อประชากรแสนคน ซึ่งนับเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนปีที่ผ่านมาก็ตายอีก 22,491 คน คิดเป็นอัตรา 34.7 รายต่อประชากรแสนคน ตกมาเป็นอันดับ 9 นับว่าดีขึ้นบ้างแต่ยังพึงพอใจหรือวางใจอะไรไม่ได้เลย
ด้วยเหตุว่า เรายังมีสถิติการตายจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เป็นอันดับ1 ของโลกอยู่ตามเคย
เด็ก-เยาวชนไทยตายเฉลี่ย ปีละ 2,510 คน ช่วงวัย 15-19 ปี เป็นช่วงที่พบสถิติการตายสูงสุด เมื่อรวมทั้งเด็ก เยาวชนและคนวัยทำงาน จะมีการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงถึง 2/3 คือราว 14,000 คน/ปี หรือเฉลี่ยวันละ 40 คนทีเดียว
ไม่เพียงการเสียชีวิตเท่านั้น เรายังมีปัญหาเรื่องผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนตามมาให้เป็นภาระใหม่ เพราะทุกวันนี้มีผู้พิการรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก ปีละ 6,000-7,000 คน ในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย คนกลุ่มวัยทำงานที่ควรจะต้องเป็นผู้ดูแลครอบครัวและสังคม กลับต้องกลายมาเป็นภาระให้คนอื่นดูแลแทน
เมื่อปี 2552 ผ่านมาแล้ว 9 ปี ด้วยเหตุที่ตัวเลขการตายในช่วงสงกรานต์ถีบสูงขึ้นถึง 400 คนในปีนั้น ได้ทำให้ประเด็น “อุบัติเหตุทางถนน” กลายระเบียบวาระสำคัญที่ภาคีเครือข่ายเสนอเข้ามาสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2
เมื่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มีมติกันแล้ว การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของสังคมเรื่องนี้ก็ดำเนินการกันอย่างแข็งขันมาก สิ่งใดที่เป็นข้อมติว่าจะต้องจัดตั้งกลไกบูรณาการอะไร ก็ตั้งกันแล้ว หน่วยงานไหนต้องทำอะไรบ้างก็ได้ดำเนินการกันไปจนครบถ้วนแล้ว รวมทั้งเกิดทำงานรณรงค์แก้ปัญหาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
แต่เมื่อปัญหายังคงแก้ไม่ตก ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่11 ที่เพิ่งผ่านมา จึงได้มีการระดมความคิดกันอย่างจริงจังอีกครั้ง ประเด็นที่ค้นหาคือ มีหลายหน่วยงานดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง แต่ทำไมถึงไม่ประสบความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุกันสักที
ส่วนหนึ่งพบว่า แม้ทำงานเข้มแข็ง แต่การทำงานยังทำงานแบบแยกส่วน ตามความถนัดของบุคคลและองค์กร มักทำกันตามกระแส ให้ความสำคัญเฉพาะช่วงเทศกาลขาดการทำงานเชื่อมประสานทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่
ที่สำคัญพบปมปัญหาใหญ่ว่า ประชาชนผู้เป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็นเหยื่อ เป็นกลุ่มเสี่ยงและผู้รับผลกระทบ ยังคงทำตัวเป็นเพียง ”ผู้ดูผู้ชม” มากกว่าที่จะเป็น ”ผู้แสดง” ผู้ร่วมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาของตนเองและชุมชนท้องถิ่น
ที่ผ่านมา เราจะเห็นการทำงานอย่างแข็งขันของฝ่ายนโยบาย ฝ่ายราชการ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ตำรวจ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงคมนาคม สสส. สพฉ. อปท.และภาคเอกชนทั้งหลาย
ส่วนฝ่ายวิชาการยิ่งไม่ต้องพูดถึง เขาทำงานกันอย่างไม่หยุดหย่อน สสส.สนับสนุนเครือข่ายนักวิชาการและกรมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาค้นคว้าและทำโครงการนำร่อง จนรู้หมดว่าพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงและจุดอ่อนข้อจำกัดอยู่ตรงไหน จะแก้ไขต้องทำอย่างไร แต่เมื่อลงมือทำก็ทำได้แบบเป็นช่วงเป็นหย่อม ขาดความต่อเนื่องและการตอบรับจากสังคม
ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)เอง เราก็มีความร่วมมือสานพลังกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศปวถ.) และ สสส. จัดทำ โครงการพัฒนาต้นแบบกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.ร้อยเอ็ด และโครงการต้นแบบตำบลปลอดภัยที่จ.ลำปาง โดยบูรณการการทำงานกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกระดับในพื้นที่ ก่อนที่จะขยายผลพื้นที่รูปธรรมการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ในเวทีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ“การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” เมื่อวันที่ 13ธ.ค.2561 มีข้อเสนอรูปธรรมการดำเนินการต่อไปหลายประการ อาทิ การเสนอให้มีหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลไกขึ้นมาหลักดูแลอุบัติท้องถนนอย่างเป็นกิจลักษณะ แบบเดียวกับงานจัดการทรัพยากรน้ำและงานยาเสพติด เพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีงบประมาณ และทำงานได้ต่อเนื่องตลอดปี
เสนอให้มีมาตรการเฉพาะ เช่น การใช้ระบบคะแนนใบขับขี่ ลดพฤติกรรมการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ง่วงขับรถ ไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เปลี่ยนค่าปรับให้เป็น “กองทุน” จัดหาอุปกรณ์ ปรับระเบียบให้ “ท้องถิ่น” มีบทบาทและสามารถใช้งบประมาณของตนเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน ฯลฯ
ในระดับพื้นที่ เสนอให้ลงทุนสนับสนุนกลไกบูรณาการ (ศปถ.จังหวัด-อำเภอ-ท้องถิ่น) ที่เข้มแข็ง มีงบประมาณพัฒนาบุคลากร จัดการข้อมูล-แผนงาน สร้างแนวร่วมและหนุนให้เกิดเจ้าภาพร่วมกัน
นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอต่อพรรคการเมืองที่กำลังจะรณรงค์เลือกตั้ง โดยผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก มี 3 ประการ ได้แก่
- อยากให้พรรคการเมืองมีนโยบายในการจัดตั้งหน่วยงานองค์กรนำ (Lead agency) ด้านการบริหารจัดการและวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก
- อยากให้มีนโยบายลงทุนเพื่อความปลอดภัยอย่างชัดเจน
- อยากให้มีการประกาศให้การแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระสำคัญและพิจารณา เรื่องความปลอดภัยทางถนน เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรค
ผมขอฝากเรื่องนี้ ให้ท่านผู้นำและผู้บริหารพรรคการเมือง ทุกพรรค พิจารณากันตามอัธยาศัย
รวมทั้งฝากเพื่อนคนไทยให้ช่วยกันดูแลเรื่องนี้กันอย่างจริงจังด้วยนะครับ.