ผมได้รับเชิญจาก ปตท.โดยสถาบันลูกโลกสีเขียว ให้ร่วมทีมทัศนศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
เป้าหมายคือการดูงานชุมชนท้องถิ่นที่เป็นต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม 4 แห่ง ได้แก่
- การจัดการฟื้นฟูสภาพภายหลังพิบัติภัยแผ่นดินไหว พายุถล่มที่อุทยานแห่งชาติอาโสะ Aso
- เมืองมรดกโลกด้านเกษตรกรรมที่โมโรสึกะ Morotsuka
- เมืองต้นแบบขยะเป็นศูนย์ที่ คามิคัตสึ Kamikatsu
- เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรมโดยชุมชนที่ ชิรากาวา Shirakawa
ที่ชุมชนโมโรสึกะ เขาได้รับการยกย่องจากองค์การ FAO แห่งสหประชาชาติ ว่าเป็นเมืองมรดกโลกด้านเกษตรกรรม ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดมิยาซากิ บนเกาะกิวชิว เกาะใหญ่ที่อยู่ตอนใต้สุดของญี่ปุ่น
เป็นเมืองชนบทเล็กๆที่ตั้งอยู่ในหุบเขา มีภูมิประเทศเทือกเขา พื้นที่ทั้งหมด 187 ตร.กม. เอกสารสิทธิ์ทั้งหมดเป็นของชาวบ้าน มีเทศบาลเมืองท้องถิ่นเป็นหน่วยบริหารจัดการเชิงพื้นที่
อาชีพหลักของชุมชน คือการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งประกอบด้วย 4 อุตสาหกรรมหลักได้แก่ 1) อุตสาหกรรมป่าไม้ 2) อุตสาหกรรมเพาะเห็ดชิตาเกะ 3) ปศุสัตว์เลี้ยงวัว 4) อุตสาหกรรมปลูกผัก ดอกไม้ ใบชาและอาหารแปรรูป
เมื่อ 60 ปีก่อน ชุมชนแห่งนี้ขึ้นชื่อว่ายากจนที่สุดของประเทศ ไม่มีเงินเสียภาษีให้รัฐบาลเลย พ.ศ. 2507 ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดโตเกียวโอลิมปิคครั้งแรก รัฐบาลใช้ไม้จากที่นี้เป็นวัสดุก่อสร้างอาคารสนามกีฬา ลงทุนสร้างถนนเล็กๆไปทั่วผืนป่า ด้านหนึ่งเพื่อนำไม้ออกมาใช้ อีกด้านหนึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมป่าไม้ของชุมชนท้องถิ่น
วันนี้ญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิคอีกครั้ง ป่าไม้ที่ปลูกทดแทนตั้งแต่คราวนั้น มีอายุ 50 ปีซึ่งเป็นขนาดพอดีสำหรับการใช้ประโยชน์ ผู้นำชุมชนเล่าด้วยความภาคภูมิใจว่า จะได้รับใช้ชาติอีกครั้ง
ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปไม้สนซีดาร์ รัฐบาลไม่ได้ทำเองหรือให้สัมปทานเอกชนรายใหญ่แบบบ้านเรา แต่เขาใช้ระบบสหกรณ์ โดยตั้งโรงงาน J Forest เป็นรูปแบบการลงทุนร่วมกันแบบสี่เส้า คือ รัฐบาลกลาง จังหวัด เทศบาล และสหภาพป่าไม้ของชุมชนท้องถิ่น ระบบโรงงานใช้เครื่องจักรกลที่ทันสมัย ใช้แรงงานคนไม่มาก
ในด้านอุตสาหกรรมการเพาะเห็ดชิตาเกะ และ การเลี้ยงวัว ก็เป็นอาชีพหลักของชุมชนที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ส่วนการปลูกผักและดอกไม้ เขาใช้ระบบการปลูกในโรงเรือนที่ทันสมัย ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมระบบการใช้น้ำ สารเคมีและปุ๋ยตามหลักวิชา
รัฐลงทุนสนับสนุนงบประมาณสร้างโรงเรือนร้อยละ 95 ให้สหกรณ์JA เป็นผู้ดำเนินงาน เกษตรกรต้องสมัครและผ่านการคัดเลือก ผ่อนจ่ายคืนในลักษณะเช่าซื้อ ระยะเวลา 10 ปี ผลผลิตทั้งหมดมีสหกรณ์เป็นผู้รับภาระจัดการทั้งระบบ
ชุมชนมีประชากรผู้สูงอายุ (เกิน 65 ปี) จำนวนมากถึง 40% ขนาดประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 50 ปีที่แล้วมี 5,636 คน ปัจจุบันเหลือเพียง 1,715 คนเท่านั้น
ประชากรวัยเด็กและเยาวชนมีเพียง 115 คน มีโรงเรียน 3 แห่ง นักเรียนรวม 73 คน (ครู 30 คน) ครูทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สังกัดจังหวัดท้องถิ่น (prefecture) มีระบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปฏิบัติงาน 3 ปี มาตรฐานการศึกษาเหมือนกันหมด ใช้ข้อสอบกลางและสอบพร้อมกันทั่วประเทศ
เมื่อจบมัธยมต้น ถ้าจะเรียนต่อ เด็กๆต้องเข้าไปเรียนในเมืองใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ยอมกลับมาอยู่บ้านเดิม เพราะนิยมทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งมีระบบสวัสดิการดีกว่าทำงานในชนบท สถานการณ์ประชากรจึงอยู่ในภาวะถดถอยมาก ชุมชนพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการพัฒนาระบบสวัสดิการท้องถิ่นในด้านอาชีพอุตสาหกรรมการเกษตรให้มากขึ้น เพื่อดึงเด็กให้กลับมาอยู่บ้านเกิด
เมืองนี้มีโรงพยาบาล 1 แห่ง ขนาด 19 เตียง มีระบบแพทย์เคลื่อนที่โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ด้วย
ประชาชนทุกคนเป็นอาสาสมัครดับเพลิงที่ผ่านการฝึกอบรม และมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่สามารถดำเนินการดับไฟป่าได้ด้วยตนเอง.
พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, มกราคม 2562
Photo credit cover https://www.m-tokusan.or.jp/en/introduction/heritage/