ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ได้สร้างกระแสความตื่นตัวในเรื่องมลภาวะทางอากาศของคนในกรุงเทพฯและปริมณฑลอย่างรวดเร็ว
ด้านหนึ่งมีส่วนกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ รวมทั้งรัฐบาล ต้องออกมาแสดงความเอาจริงเอาจัง หามาตรการและความร่วมมือที่จะแก้ปัญหา อีกด้านหนึ่งสะท้อนความตื่นตระหนกจากข้อมูลข่าวสารที่ล้นทะลักเข้ามาทางโซเชียลมีเดียจนเกินต่อความรู้เท่าทันของสังคม
ในที่สุดกระแสลมจากอ่าวไทยในช่วงตรุษจีนปีหมูก็มาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปได้ในเบื้องต้น แต่ตราบใดที่ตัวก่อมลภาวะฝุ่นจิ๋วจากภาคพื้นดิน โดยเฉพาะในสังคมเมืองยังคงไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องนี้ก็น่าจะกลับมาเป็นปัญหาที่ทำลายสุขภาวะและกวนใจผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐอยู่เป็นระยะค่อนข้างแน่นอน จึงได้แต่หวังว่าคนกรุงเทพฯและสังคมไทยจะต้องทำอะไรในเชิงป้องกันกันอีกมากมาย
ในขณะเดียวกัน บรรยากาศการเมืองในระบบตัวแทนที่กำลังเดินเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญด้วยความคึกคักเป็นที่คาดการณ์ว่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศในช่วงต้นรัชกาล
การออกตัวของพรรคการเมืองทั้งเก่าทั้งใหม่ ช่วยทำให้เราได้เห็นไอเดียทางนโยบายที่น่าสนใจซึ่งเสนอขายออกมาประชันขันแข่งกัน และมีนักการเมืองหน้าใหม่ปรากฏตัวกันอย่างมาก
หันไปดูทางด้านขบวนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและประชาธิปไตยทางตรง อันเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญกันบ้าง สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ให้ดำเนินโครงการจัดเวทีสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนต่อยุทธศาสตร์ชาติจำนวน 95 เวทีทั่วประเทศ
สช.ได้อาศัยกลไกเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และภาคีเครือข่ายกลุ่มเยาวชน ซึ่งขณะนี้กำลังขับเคลื่อนเวทีกันอย่างคึกคัก ผู้คนมากันล้นหลามทุกเวที สะท้อนระดับคุณภาพและความตื่นตัวต่องานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและจังหวัดของตน
เมื่อเดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปร่วมเวทีที่จังหวัดระนอง มีแกนนำจากภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจำนวนมากเกินเป้าหมาย กว่า 150 คน มาจากภาคชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม ส่วนราชการ นักธุรกิจและนักวิชาการในพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนระดมความคิดกันอย่างสนุกสนานออกรสออกชาติ ตั้งแต่เช้าจนตกบ่าย แบบไม่ยอมเลิกรา
โจทย์ที่พวกเขาใช้ในสร้างการรับรู้และกระบวนการระดมความคิด 4 โจทย์คำถาม คือ
- ท่านอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า (แทรกด้วยวิดีทัศน์นำเสนอภาพรวมการปฏิรูปประเทศและการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และการทำความเข้าใจในสาระสำคัญและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติอย่างง่ายๆ )
- ท่านอยากเห็นจังหวัดของท่านเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า
- ยุทธศาสตร์ชาติด้านใด และประเด็นใด ที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของพื้นที่และอยู่ในวิสัยที่จะทำให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
- เพื่อทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ท่านคิดว่าควรจะมีกิจกรรมและโครงการอะไรบ้าง
ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดระนองมาเป็นประธานเปิดเวที ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด มุ่งเป้าเป็นเมืองแห่งสุขภาพและสร้างสรรค์ปันสุข คนระนองไม่ทิ้งกัน ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน มี 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ สำคัญ ได้แก่ 1) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 2) ส่งเสริมการเกษตรครบวงจร 3) ความมั่นคงปลอดภัยและคุณภาพชีวิต 4)การอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ชูนโยบายป่าชายเลนระนองเป็นมรดกโลก 5) การลงทุนโครงการท่าเรือน้ำลึกเชื่อมการค้าขายต่างประเทศฝั่งตะวันตก
ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์ร่วมที่เครือข่ายภาคประชาชนที่นั่นเขาขับเคลื่อนอยู่ก่อนนั้น มี 3 เรื่อง คือ 1) ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ประเด็นเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด และภัยพิบัติ 2) การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม 3) การเข้าถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล
ผมนั่งสังเกตุกระบวนการเวทีของพวกเขาตลอดทั้งวัน ดูว่าพวกเขาจะมีวิธีการบูรณาการหลอมรวมประเด็นที่แตกต่างระหว่างนโยบายส่วนกลาง แผนยุทธศาสตร์จังหวัดและประเด็นร่วมของเครือข่ายกันอย่างไร มีประเด็นที่ได้เรียนรู้จากเวทียุทธศาสตร์ชาติของภาคประชาชนจังหวัดระนอง หลายประการ
- ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 23 แผน รวมทั้งแผนงานเร่งด่วน 15 ประเด็น จะกลายเป็นเครื่องมือกลางในการขับเคลื่อนงานพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม
- ในขณะที่สภาพัฒน์เป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานราชการ รวมทั้งจังหวัดต่างๆทั่วประเทศในการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อของบประมาณประจำปีไปดำเนินการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคงต้องทำบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้กับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด ในกระบวนการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในทุกพื้นที่อย่างมีคุณภาพ
- เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วพบว่า ทั้งเป้าหมายและกรอบประเด็นของยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน ล้วนเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 81 เรื่อง
- ในความเป็นจริงแล้ว จังหวัดแต่ละจังหวัดก็ไม่ได้นำยุทธศาสตร์ชาติไปขับเคลื่อน ในทุกแผนทุกประเด็น เช่นเดียวกันเครือข่ายภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมก็มิได้ทำทุกเรื่องเช่นกัน แต่กรอบแนวคิด ทิศทางและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ จะช่วยทำให้สามารถเลือกประเด็นที่เป็นปัญหาหรือตรงกับศักยภาพของตนเองมากที่สุด
- ในยุคต่อไป ถึงเวลาที่ภาคประชาชนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจและติดตามแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนาภาคของตนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนงานโครงการที่เกี่ยวกับระบบโลจิสติค โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในด้านการคมนาคมขนส่ง ผังเมืองและการพัฒนาเมืองสมาร์ทซิตี้ เพราะเป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายมิติ จึงต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์
- กลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด กรรมการพัฒนาคุณชีวิตระดับอำเภอ และกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน จะเป็นพื้นที่กลางสำหรับการบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น และหน่วยงานภูมิภาค กับภาคประชาสังคม รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมและพันธมิตรในการพัฒนาอย่างยั่งยืน.
พลเดช ปิ่นประทีป
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562