สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (NHA) เป็นเครื่องมือ “ตัวแม่” ของกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (4PW) ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของเครื่องมือการทำงานชิ้นอื่นๆของ สช. ทั้งธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพ
NHA มิได้มีหน้าที่เพียงแค่ผลิตมติสมัชชา (งานขาขึ้น) เท่านั้น หากยังมีหน้าที่นำมติไปขับเคลื่อนสู่การแก้ไขปัญหา ปรับปรุง กฎ กติกา ในโครงสร้างส่วนบน และสนับสนุนให้เกิดการนำไปดำเนินจริงในภาคสนาม (งานขาเคลื่อน) อีกทั้งต้องล่วงรู้และนำความก้าวหน้ามารายงานให้สาธารณะได้รับรู้รับทราบอีกด้วย (งานขาประเมิน)
อย่างไรก็ตาม การทำให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเวทีของการมีพันธสัญญาต่อกัน มิใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะมีเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพและศักยภาพของผู้แทนกลุ่มเครือข่ายที่เข้าร่วมในห้องพิจารณามติ (NHA ขาขึ้น)
บทเรียนรู้จากประสบการณ์ 11 ปีของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติพบว่า คุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของมติสมัชชา มาจากเงื่อนไขสำคัญอันประกอบด้วย
- การมีรายชื่อและจำนวนสมาชิกที่ชัดเจน โดยประกาศให้สาธารณะได้รับทราบ
- สมาชิกได้รับการพัฒนาศักยภาพและมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานในขั้นตอนต่างๆ
- สมาชิกได้นำร่างเอกสารและข้อเสนอมติสมัชชาไปจัดให้มีเวทีเรียนรู้และรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- สมาชิกเข้าร่วมปฏิบัติหน้าที่ในห้องพิจารณามติอย่างพร้อมเพรียง
- สมาชิกมีสำนึกในความเป็นเจ้าของ ต่อมติสมัชชาและมีพันธสัญญา (ทางใจ)ในการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจริง
- สมาชิกทำหน้าที่เป็นฑูตสมัชชาโดยธรรมชาติ
นอกจากนั้น เมื่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายภารกิจของ NHA มีหลายอย่าง องค์ประกอบของเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จึงต้องมีผู้เข้ร่วมกิจกรรมหลายประเภทมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานและแต่งเติมสีสันซึ่งกันและกัน ทั้งในด้านเนื้อหาและด้านรูปแบบ ดังนี้
1.NHA (ขาขึ้น) – ควรเป็นส่วนของห้องประชุมพิจารณามติสมัชชา สำหรับ “ตัวแทน”ของกลุ่มเครือข่ายตามที่ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 263 กลุ่มเครือข่าย หลักการสำคัญคือ “1 กลุ่มเครือข่าย 1 เสียง” ที่ประชุมส่วนนี้มีหน้าที่ในการพิจารณารายละเอียดและแก้ไขปรับปรุง (ร่าง) เอกสารหลักการแนวคิดและข้อเสนอมติสมัชชา ก่อนที่จะนำเข้าสู่การรับรองของที่ประชุมใหญ่
2.NHA (ขาเคลื่อน) – เป็นส่วนพื้นที่สำหรับเวทีวิชาการประเด็นใหม่ๆและการขับเคลื่อนขยายผลหรือติดตามมติสมัชชาทั้งหลาย รวมทั้งลานสมัชชาและนิทรรศการ ฯลฯ ซึ่งผู้เข้าร่วมสมัชชาทุกคนทุกประเภทรหัส สามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามความสนใจ ส่วนนี้เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่สุดของงานสมัชชา
3.NHA (ขาประเมิน) – เป็นส่วนพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมและวิทยากรที่จะมาจัดบูธนิทรรศการหรืออีเว้นท์แสดงผลงานการขับเคลื่อนมติและนโยบายสาธารณะในระดับต่างๆ ซึ่งรวมถึงงานของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงาน และพื้นที่ภูมิภาคและท้องถิ่น ซึ่งผู้ข้าร่วมงาน สมัชชาสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามอัธยาศัย
4.NHA (ส่วนพิธีกรรม) – เป็นส่วนกิจกรรมเวทีกลางหรือเวทีย่อยที่จัดไว้สำหรับแขกผู้มีเกียรติ อาทิ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. แขกต่างประเทศ อาจารย์ผู้ใหญ่ ฯลฯ ที่ได้รับเชิญมาร่วมเป็นเกียรติยศในงานสมัชชาเฉพาะในบางช่วงสำคัญ ซึ่งส่วนนี้มักจะมีผู้ติดตามที่เจ้าภาพต้องดูแลตามความเหมาะสม
ท้ายที่สุด ด้วยเหตุที่ผู้เข้าร่วมงานสมัชชาแต่ละส่วน ล้วนเป็นผู้มาปฏิบัติภารกิจที่ทรงเกียรติร่วมกัน ด้วยสถานภาพและเป้าหมายที่แตกต่างหลากหลาย จึงควรจัดให้มีระบบรองรับและสนับสนุนการแสดงบทบาทของแต่ละส่วน แต่ละบุคคล อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การออกจดหมายเชิญ การลงทะเบียน การจัดที่นั่ง การต้อนรับ และการอำนวยความสะดวก
เพราะความเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการ ไม่เพียงสร้างความประทับใจแก่ผู้ร่วมงานสมัชชา แต่ยังสามารถเสริมภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือต่อมติและเนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นภายในงานสมัชชาอีกด้วย.
พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, มีนาคม 2562
Photo credit cover Designed by Macrovector_Official / Freepik