เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธณะ ผู้ได้รับมอบหมายให้ดูแลการฟื้นฟูคลองเปรมประชากร ได้เชิญผมไปร่วมหารือพร้อมกับคณะทำงานจากหน่วยงานหลายกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
ท่านเห็นตัวอย่างจากธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ธรรมนูญสุขภาพตำบล และธรรมนูญลุ่มน้ำ ที่ สช.ไปส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการอยู่ทั่วประเทศ รู้สึกประทับใจมาก อยากให้ช่วยนำกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพชุมชนมาเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูคลองเปรมประชากร ตลอดทั้งสาย พร้อมกับเชิญ สช.ไปร่วมแสดงนิทรรศการในงานเวทีสร้างการรับรู้โครงการฟื้นฟูคลองเปรมฯ ครั้งที่ 3 ของรัฐบาลที่จะจัดที่วัดหลักสี่ในอีก 3 วันข้างหน้า
ประเด็นการฟื้นฟูคลองเปรมประชากรและคลองสายต่างๆในกรุงเทพมหานคร เริ่มมีการพูดคุยกันในระดับนโยบายอย่างจริงจังภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 เนื่องจากปัญหาการระบายน้ำติดขัดทั้งระบบ ครม.ในยุคนั้นจึงมีมติที่จะทำโครงการฟื้นฟูคูคลองในกรุงเทพฯอย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาสำคัญที่สุดคือที่อยู่อาศัยชุมชนที่รุกล้ำขวางทางน้ำ ขยะมูลฝอยที่อุดแน่น ผักตบชวาและคุณภาพน้ำเน่าเสียขั้นรุนแรง
คลองเปรมประชากร หรือชื่อเดิมว่าคลองสวัสดิ์เปรมประชากร เป็นคลองขุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5โปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2413 เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาจากคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร ไปทะลุตำบลเกาะใหญ่ แขวงกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา(ปัจจุบันอยู่ในตำบลบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เป็นระยะทาง 1271 เส้น 3 วา (50846 เมตร) เนื่องจากทรงเห็นว่าการเดินเรือขึ้นล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีเส้นทางอ้อมไปมา ทำให้เสียเวลาในการเดินทางมาก
โปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)เป็นผู้อำนวยการขุด เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นแม่กอง และให้พระชลธารวินิจฉัย (กัปตันฉุน) เป็นผู้ปักหมายกรุย แล้วจ้างจีนขุด เริ่มขุดคลองตั้งแต่ พ.ศ. 2412รวมใช้เวลาขุด 18 เดือน ถือเป็นคลองขุดสายแรกของรัชกาลที่ 5 เมื่อขุดเสร็จแล้ว โปรดให้จัดพระราชพิธีฉลองคลอง มีมหรสพต่างๆ มากมาย
การขุดคลองเปรมประชากรโดยตัดให้ตรงขึ้น ได้ประโยชน์สองประการ คือ ช่วยร่นระยะทางการเดินทางระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงรัตนโกสินทร์ให้สั้นลง และขยายพื้นที่การเพาะปลูกเข้าไปในบริเวณที่คลองตัดผ่านซึ่งเดิมเป็นป่ารกชัฏเต็มไปด้วยโขลงช้างเถื่อนจนไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย
ระหว่างขุดคลอง รัชกาลที่ 5 โปรดให้ปักหลักเป็นเครื่องหมายทุก 100 เส้น( 4 กิโลเมตร) ไปจนสิ้นสุดทาง แต่กาลนานมา หลักเหล่านั้นหักหายเสียเกลี้ยง คงเหลือชื่อ เพียงหลักสี่ หลักหก ครั้นตั้งสถานีรถไฟ พวกรถไฟก็เอาชื่อ หลักสี่กับหลักหก มาตั้งเป็นสถานีรถไฟหลักสี่และสถานีหลักหกขึ้น
เอนก นาวิกมูล นักค้นคว้าและนักเขียนสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ชื่อดังแห่งยุคคนหนึ่ง ได้ทำการค้นหลักฐานจากวรรณกรรมแล้ว ก็ออกค้นหาหลักริมคลองเปรมประชากร ยังไม่พบหลักฐานว่าหลักนั้นทำด้วยหินหรืออะไร แต่เข้าใจเอาว่าคงจะทำด้วยศิลาเหมือนหลักริมคลองดำเนินสะดวก แต่ไม่มีใครสักคนที่สามารถบอกตำแหน่งหลักได้ว่าเคยอยู่ที่ไหนกันแน่ จึงเสนอให้ผู้สนใจ ช่วยกันหาหลักบอกระยะริมคลองเปรมประชากร ถ้าพบจะได้นำมาสงวนรักษา ใช้เป็นจุดขายในการท่องเที่ยว
เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจและเป้าหมายที่ชัดเจนจากรัฐบาล ผมได้เรียกประชุมหารือเจ้าหน้าที่เป็นการด่วน ด้านหนึ่งเป็นการเตรียมนิทรรศการไปร่วมแสดงเปิดตัวองค์กร อีกด้านหนึ่งคือการพัฒนากรอบแนวคิดและวางแผนดำเนินการนำธรรมนูญสุขภาพชุมชนมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล โครงการ “ธรรมนูญชุมชนคนคลองเปรม : คลองสะอาด ชุมชนน่าอยู่” จึงเกิดขึ้น
คลองเปรมประชากร ตลอดความยาว 50 กิโลเมตร อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน28 กิโลเมตร คือในเขตจ.พระนครศรีอยุธยา 8 กิโลเมตร และในเขตจ.ปทุมธานี 20 กิโลเมตร โดยในช่วงตั้งแต่จุดตัดกับคลองบ้านใหม่ถึงคลองผดุงกรุงเกษม ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร จะอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร
วัตถุประสงค์และเป้าหมาย ในส่วนโครงการที่ สช.รับผิดชอบ มีสาระสำคัญเพียง 3 ประการ ได้แก่
- สานพลังประชาคมคนคลองเปรมฯ ร่วมกันฟื้นฟู-พัฒนาชุมชน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืน เพื่อทูลเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่10
- สร้างเจตนารมณ์ร่วมของประชาคมคนคลองเปรมฯ 13 เครือข่าย โดยกระบวนการขับเคลื่อน ธรรมนูญชุมชนคนคลองเปรมฯ ว่าด้วยคลองสะอาด ชุมชนน่าอยู่
- ร่วมกันค้นหาจุดที่ตั้งดั้งเดิม และ สร้างสรรค์หลักหมุดหมายขึ้นมาใหม่ จนครบทั้ง13 หลัก เพื่อฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สร้างจุดท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์และภูมินิเวศน์
ธรรมนูญสุขภาพชุมชน เป็นเครื่องมือสำหรับกระบวนการทางนโยบายตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหา การกำหนดใจตนเองและร่วมเป็นผู้แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
เครื่องมือชิ้นนี้ ได้รับเกียรติจากรัฐบาล ให้นำมาใช้เป็นส่วนประกอบ ในการฟื้นฟูสุขภาพคลอง และสุขภาพชุมชนคนคลองเปรมไปพร้อมกัน.
พลเดช ปิ่นประทีป / 15 มีนาคม 2562