สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตาม พรบ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ.2551 อายุองค์กร 10 ปี มีผลงานเชิงนวัตกรรมมากมาย ภาคีเครือข่ายปฏิบัติการหลากหลาย และมีพัฒนาการก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการสาธารณะภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ โดยมีสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพนเรนทร และกรมควบคุมโรค เป็นหน่วยดำเนินการ
นอกจากนั้น ยังมีหน่วยงานพันธมิตรร่วมพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลระบบฉุกเฉินของประเทศอีกมากมาย อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สถานีตำรวจดับเพลิงและรถพยาบาลโรงพยาบาลตำรวจ) กระทรวงกลาโหม (ศูนย์รถพยาบาลกระทรวงกลาโหมและโรงพยาบาลในเครือกองทัพ) กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) โรงพยาบาลขอนแก่น กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ) ฯลฯ
แต่ก่อน เวลาพูดถึงการแพทย์ฉุกเฉิน ผมมักจะนึกถึงแต่ปัญหาอุบัติเหตุจราจรในท้องถนน เพราะมันนำมาซึ่งการตาย การบาดเจ็บและความพิการของประชากรปีละมากๆ แต่จากสถิติกลับพบว่า อัตราตายในโรงพยาบาลต่อประชากรหนึ่งแสนคน (2552-2559) ส่วนใหญ่มาจาก 3 ฐานการเจ็บป่วย ได้แก่ 1) หลอดเลือดสมอง 48.7% 2) อุบัติเหตุจราจร 36.2% 3) หลอดเลือดหัวใจ 32.3 %
ส่วนผู้พิการนั้น พบว่า 31.8% มีสาเหตุเกิดจากการเจ็บป่วย ส่วนกลุ่มที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรมี 13.9% เท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดจากโรคระบาด เช่น ไข้หวัดนก ซาร์ เมอร์ส หรือพิบัติภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม พายุหมุนฤดูร้อน แผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ และยังมีสาธารณะภัยขนาดใหญ่ ความขัดแย้งทางสังคม ความไม่สงบ และสงคราม ซึ่งทั้งหมดนี้ เรียกรวมๆว่า “ภาวะฉุกเฉิน” เป็นระดับภูมิภาค-ท้องถิ่น หรือของประเทศ
เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ไปพูดเรื่องทิศทางการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉินในเวทีวิชาการประจำปีของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติงานในด้านนี้โดยตรง แต่บังเอิญเคยเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขมาก่อน ได้รับฟังข้อมูลและสภาพปัญหาข้อติดขัดจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งยังได้ร่วมจัดทำแผนปฏิรูปประเทศที่มีประเด็นเรื่องการแพทย์ฉุกเฉินอยู่ด้วย จึงได้นำเสนอประเด็นงานรูปธรรมและทิศทาง 14 ประการ เพื่อให้ภาคีเครือข่ายพิจารณาและขับเคลื่อนร่วมกัน ดังนี้

1. โครงการ “รับแจ้งเหตุ เลขหมายเดียว” – เรื่องนี้พูดกันมานาน บัดนี้ครม.ได้มีมติเมื่อ 25ธค.2561ให้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติเลขหมายเดียว คือ 191 และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปดำเนินการ ซึ่งต้องช่วยกันติดตาม ขอมีส่วนร่วมและช่วยกันสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว
2. เครือข่าย “ศูนย์รับแจ้งเหตุท้องถิ่น” – งานศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (ในทุกกรณี) ควรต้องเป็นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง (อบจ. เทศบาลและอบต.) หน่วยงานระดับชาติมีหน้าที่เพียงให้การสนับสนุนและขยายการเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

3. พัฒนา “ระบบดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน” – ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนถึงโรงพยาบาล (Emergency Medical Services : EMS) เป็นงานที่สำคัญมากต่อการช่วยชีวิตและรักษาอวัยวะของผู้ป่วย ทั้งบุคลากรและอาสาสมัครจะต้องมีขีดความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ มีเครื่องไม้เครื่องมือและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
4. พัฒนา “ระบบการส่งต่อฉุกเฉิน” – การส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน จากโรงพยาบาลหนึ่งไปสู่โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า ต้องมีหลักประกันว่า ไม่ติดขัด ไร้รอยต่อ
5. สร้าง “หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน” – จัดให้มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีสมรรถนะสูงและเคลื่อนที่เร็วสักจำนวนหนึ่ง ทั้งในด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุข ซึ่งอาจตั้งอยู่ในส่วนกลางหรือกระจายอยู่ในระดับศูนย์กลางภูมิภาค เพื่อรองรับปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนและต้องการความรวดเร็วในการแก้ปัญหา
6. จัดระเบียบ “ศูนย์สั่งการ” – อันนี้เป็นงานภายในของกระทรวงสาธารณสุข ควรแยกศูนย์สั่งการ/อำนวยการ ทางด้านการแพทย์ กับด้านการสาธารณสุข ให้มีความชัดเจน
7. พัฒนา “บริการห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน” – ปัจจุบันในโรงพยาบาลต่างๆ ห้องบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน(ER) กับ การบริการผู้ป่วยนอกเวลา (OPD) มักอยู่ด้วยกัน เพราะต้องการประหยัดทรัพยากร ทำให้เมื่อเวลาที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินจะเกิดความสับสนอลหม่าน เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องแข่งกับเวลา จึงควรจะต้องแยกงานทั้งสองออกจากกันให้ชัดเจน
8. โครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่” – นโยบายนี้เป็นผลงานโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ปี 2560 มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ในระยะ 72 ชั่วโมงแรก โดยมีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิอยู่ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นผู้ออกประกาศ ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วและยังต้องการการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมีความยั่งยืน
9. จัดให้มี “ECS Board“ – Emergency Care Service Board คณะกรรมการนโยบายการดูแลภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นกลไกที่จะสร้างความเป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติและระดับเขต อาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
10. ลงทุน “ระบบสารสนเทศ” – ระบบสารสนเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่องาน ECS จึงต้องลงทุนลงแรงในการพัฒนาอย่างจริงจัง โดยให้สามารถเชื่อมต่อกับ ศูนย์เฝ้าระวังชุมชน ศูนย์รับแจ้งเหตุท้องถิ่น ระบบกล้องวงจรปิด สถานีตำรวจ โรงพยาบาล และโปรแกรมระบบบิ๊กดาต้า ฯลฯ
11. ตั้ง “กองทุน ECS ระดับเขต” – กองทุน ECS ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายสนับสนุนการจัดการปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่ 60% เป็นเพียงเรื่อง “เร่งด่วน” และ มี 16% เท่านั้นที่เข้าข่าย“วิกฤติ” ปัจจุบันกองทุนมีอยู่ที่ส่วนกลางเพียงแห่งเดียว การตอบสนองจึงมักล่าช้า ไม่ทันเหตุการณ์
12. ปรับปรุบชุดสิทธิประโยชน์ – ควรพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบชดเชยร่วมกันระหว่างสามกองทุน คือ สปสช.สปส.และกรมบัญชีกลาง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
13. จัดให้มี “องค์กรนำด้านความปลอดภัยท้องถนน” – อุบัติภัยท้องถนนคร่าชีวิตประชาชนปีละกว่า 2 หมื่นคนและบาดเจ็บอีกนับแสน แม้ว่าปัจจุบันจะมีกลไกคณะกรรมการระดับชาติคอยดูแล แต่นั่นยังไม่ใช่องค์กรนำ (Lead Agency)ที่รับผิดชอบดำเนินการโดยตรงในเรื่องนี้ จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะ แบบ ป.ป.ส.
14. จัดทำ “แผนพัฒนากำลังคน” – ควรมีการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนของประเทศในด้าน ECS ซึ่งอย่างน้อยควรเป็นแผนระยะ 10 ปี เพื่อเป็นกรอบในการผลิต พัฒนาและดูแลให้เกิดความเพียงพอ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
พลเดช ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา
เขียนให้โพสต์ทูเดย์/ วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562