บันทึกการเรียนรู้โดย พลเดช ปิ่นประทีป
แม้ไม่นับการถูกรุกรานและเข้ามายึดครองโดยมหาอำนาจจักรวรรดินิยมในยุคสมัยต่างๆแล้ว แผ่นดินเลบานอนเองก็มีสงครามเกิดขึ้นภายในมาอย่างยาวนานจนถึงยุคสมัยอันใกล้
สงครามภายในแผ่นดินเลบานอนในระยะหลังสุด เป็นสงครามระหว่างคริสเตียนนิกายมาโรไนท์ (Christian Maronite) กับมุสลิมนิกายดรูส (Muslim Druze)
จุดเริ่มต้นคือ มีนักปราชญ์ใหญ่ทางกฎหมายเลบานอนได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวซีเรียและให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ต่อมาบุตรคนนี้ได้ขึ้นครองบัลลังก์และตั้งราชวงศ์ขึ้นมา เป็นกษัตริย์ที่เลื่อมใสในคริสต์ศาสนาเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนที่เป็นข้าแผ่นดินทั้งหลายต้องกลายเป็นคริสต์ไปด้วย ในช่วงราวศตวรรษที่ 4 ชาวเลบานอนนับถือคริสต์กันเป็นส่วนใหญ่
ต่อมาเกิดเรื่องขึ้นในราวศตวรรษที่ 7 เมื่อมีศาสนาใหม่เกิดขึ้น (ตรงนี้ผู้บรรยายหรือสารานุกรม คงจะใส่ความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาประกอบด้วยระดับหนึ่ง ? ) ระบุไว้ว่าศาสนาใหม่ที่ว่านี้คือสาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่มีความฉกาจฉกรรจ์อยู่ในเนื้อหาสาระอย่างชัดเจน เป็นศาสนาที่ยึดอุดมการณ์ว่า “ดาบคือกุญแจสวรรค์”
ในช่วง ค.ศ.630-640 กองทัพมุสลิมได้ควงกุญแจอันคมกริบเข้ายึดซีเรียและเลบานอนได้ ทำให้ซีเรียกลายเป็นดินแดนมุสลิมและสถาปนากรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ให้เป็นศูนย์กลางของมุสลิม
แต่ที่เลบานอน มีชาวคริสเตียนส่วนหนึ่งไม่ยอม พวกเขาจึงพากันอพยพขึ้นไปทางเหนือและปักหลักต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง ตราบจนถึงปัจจุบัน
ชาวคริสต์กลุ่มนี้เป็นต้นตระกูลของนิกายมาโรไนท์ ซึ่งมาจากชื่อของหัวหน้าชาวคริสต์ในยุคนั้น คือจอห์น มารอน (John Maron) ชื่อของท่านผู้นี้จึงอยู่ในฐานะเป็นเทพบิดรของชาวเลบานอนด้วย
คู่แค้นของคริสเตียนมาโรไนท์ คือมุสลิมนิกายดรูสส์ ซึ่งเป็นสาขาที่แยกมาจากนิกายมาอิลลี เป็นพวกนิยมความรุนแรง
ตอนที่นิกายดรูสแยกตัวออกมาจากนิกายมาอิลลี สาเหตุมาจากพระเจ้าฟาติมิดที่ 6 พระนามว่า อัลฮากิม ได้ประกาศตัวว่า พระองค์ทรงเป็นองค์อวตารองค์สุดท้ายของพระเป็นเจ้าที่ทรงมาอุบัติในโลกมนุษย์นี้ การประกาศเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการแย่งยึดอำนาจสูงสุดจากที่เคยมีผู้ประกาศมาก่อนและก็มีสาวกนับถืออยู่มากมายแล้วนั่นเอง
มุสลิมนิกายนี้ไม่มีในเมืองไทยและไม่แพร่ไปในถิ่นต่างๆ มีการประมาณว่าคนนับถือนิกายนี้ทั้งโลก มีประมาณ 320,000 คน ร้อยละ 88 อยู่ในซีเรีย มีลักษณะพิเศษคือมีบัญญัติชีวิตประจำตัว 7 ประการ (มุสลิมทั่วไปมี 5 ประการ) คือ 1.ยึดมั่นในทอฮิด คือ ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว และเชื่อว่าอัลฮากิมเป็นองค์อวตารองค์สุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า 2.ปฏิเสธคำสอนที่ไม่ใช่ของดรูสทั้งหมด 3. หลีกเว้นความชั่วทั้งหลาย 4. ไม่ว่าพระเป็นเจ้าจะให้คุณให้โทษอย่างไร ยอมรับโดยไม่ปริปาก 5.ยอมมอบกายถวายชีวิตแด่พระเจ้า 6.เพียบพร้อมด้วยความสัตย์และความจริง 7. ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และผนึกกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวในหมู่ชาวดรูสส์
ที่กล่าวมา สารานุกรมบางฉบับเรียกกลุ่มพวกนี้ว่า “มุสลิมนอกรีต” คือมีความผิดแปลกไปในส่วนที่เป็นหัวใจของศาสนารวมถึงระบบชีวิตสังคม ในเรื่องการเผยแพร่ศาสนาก็จำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะพวกดรูสส์ด้วยกันเท่านั้น กลายเป็นสังคมปิด คนในไม่ให้ออกคนนอกไม่ให้เข้า
ดังนั้น การทำสงครามภายในเลบานอนจึงมิได้เป็นการผนึกกำลังของมุสลิมทั้งมวลแต่อย่างใด แต่เป็นการทำสงครามแบบเป็นธุระใครธุระมัน เกิดการเข่นฆ่ากันเองเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่
เหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1860 เป็นการสู้รบกันระหว่างคริสเตียนกับมุสลิม โดยมีเจ้าภาพหนุนหลังด้วยกันทั้งคู่ คือ ฝรั่งเศสหนุนหลังพวกคริสเตียน ส่วนอังกฤษและตุรกีหนุนหลังมุสลิม ในสงครามคราวนั้นมีชาวคริสเตียนเสียชีวิต 11,000 คนและอดตายอีก 4,000 คน ส่วนพวกดรูสส์ก็เสียชีวิตไปไม่น้อยเช่นกัน
ฝ่ายฝรั่งเศส เมื่อเห็นมุสลิมโจมตีฝ่ายคริสเตียนมากเข้าก็อดรนทนไม่ได้ แสดงตัวออกมาอย่างเปิดเผยโดยส่งกองกำลังรบของตนจากยุโรปเข้ามาช่วยรบ ผลคือ ฝรั่งเศสสามารถปราบมุสลิมนิกายดรูสส์ลงได้ในเวลาไม่นาน และกำจัดอิทธิพลของอังกฤษกับตุรกีออกไป สุดท้ายฝรั่งเศสกลับเป็นผู้ที่เข้ายึดครองเลบานอนเสียเอง
เมื่อเลบานอนกลับมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของคริสเตียนอีกครั้ง มีการตั้งสภาผสมแบบลวงตาประกอบด้วยที่ปรึกษาแผ่นดิน 12 คน เลือกมาจากกลุ่มศาสนาต่างๆเพื่อไม่ให้เห็นว่าเป็นการลำเอียง ต่อมาจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศสจึงได้ปล่อยให้เลบานอนเป็นเอกราช
แต่แทนที่จะเป็นผลดี กลับมีผลกระทบร้ายแรงตามมา คือความวุ่ยวายทางศาสนาที่เป็นปัญหาเดิมหวนกลับมาก่อตัวอีกครั้ง จนต้องตรารัฐธรรมนูญให้กลับไปปกครองบ้านเมืองในแบบเก่า คือรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกที่เลือกมาจากกลุ่มศาสนาเหมือนที่เคยเป็นมา อันเป็นหลักเกณฑ์ที่บ่งบอกเป้าหมายที่จะให้ชาวมุสลิมตกเป็นเบี้ยล่าง จึงเป็นปัจจัยความขัดแย้งที่สืบต่อมาจนถึงสงครามกลางเมืองครั้งหลังสุด ช่วง 1975-1991 ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านมาเป็นระบบที่ใช้ในทุกวันนี้
บางแง่คิดต่อชาวฟินีเชียนและประเทศเลบานอน
ชนชาติฟินีเชียนเป็นผู้สามารถในทางด้านการค้าขาย เก่งในการเดินเรือ และได้ให้กำเนิดอารยธรรมที่รุ่งเรือง พวกเขาได้ไปสร้างชาติบ้านเมืองไว้ในที่ต่างๆมากมาย ทั่วทั้งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเป็นร้อยเป็นพันปี บัดนี้ชาวฟีนีเชียนกลับกลายเป็นชาติที่สาบสูญ ไม่มีประเทศหรือแผ่นดินเป็นของตนเอง ผิดกับอิสราเอล อียิปต์ อิหร่าน อิรัค
คำถามคือ ทำไมหรือเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ส่วนคำตอบคือ ไม่รู้ ซึ่งก็คงต้องรอให้นักศึกษาประวัติศาสตร์โลกมาเป็นผู้ไขความจริง
โดยส่วนตัว มีความรู้สึกอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ ดินแดนแห่งนี้ ทั้งๆที่คนฟินีเชียนเป็นคนเก่ง ฉลาดปราดเปรื่องเรื่องการค้าขายและหนังสือหนังหา แต่เขาไม่สามารถสร้างชาติสร้างประเทศได้อย่างมั่นคงเลยสักครั้ง ประเทศของพวกเขาไม่เคยมีอิสรภาพเลย มีแต่ถูกมหาอำนาจหรือจักรวรรดิที่แข็งแรงกว่าผลัดกันเข้ามาครอบครอง จากยุคกรีก โรมัน ไบแซนไทม์ อ็อตโตมัน และล่าสุดก็ฝรั่งเศส
นี่ก็เพิ่งจะได้เอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 1943นี่เอง และก็ยังไม่วายที่จะเกิดความขัดแย้ง รบพุ่งกันเอง จนถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมืองอยู่อีกตั้ง 16 ปี ในช่วง 1975-1991
ไกด์สุภาพสตรีชาวเลบานอนที่นำเที่ยวในคราวนี้ ได้สะท้อนให้พวกเราฟังว่า สงครามกลางเมืองจบลงจากความเหนื่อยล้าลงทุกฝ่าย ทุกคนสูญเสีย บ้านเมืองไม่มีความปลอดภัยใดๆทั้งสิ้น จนได้เกิดสติแห่งชาติขึ้นมา หันมาสงบศึกกันและกำลังช่วยกันฟื้นฟูประเทศ คนเลบานอนทุกวันนี้ไม่มีใครอยากพูดถึงสงครามกลางเมืองอีกแล้ว ทุกคนเบื่อหน่าย เจ็บปวด ขมขื่นต่อการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างถึงขนาดเลยทีเดียว เธอบอกพวกเราไว้อย่างนั้น
