โดย ประเวศ วะสี
ผมพบครูสน รูปสูง ที่บ้านท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น เมื่อคณะเล็กๆ ของเราไปค้างกับชาวบ้านที่นั่น เมื่อกว่า 30 ปีมาแล้ว การศึกษาเรียนรู้จากชาวบ้านเราต้องไปค้างคืนกับเขา เพราะเวลากลางวันเขาต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลามาพูดคุยกับเรา เวลาราชการกับเวลาราษฏรไม่ตรงกัน
หมู่บ้านนี้เดิมชื่อ “บ้านท่าอีแนว” แต่ทางราชการมาเปลี่ยนเสียใหม่เป็น “บ้านท่านางแนว” ครูสนเล่าว่าที่นี่แห้งแล้งมาก บางปีไม่มีฝนเลย ชาวบ้านยากจน ทำอาชีพปลูกปอและปลูกมันสำปะหลัง แต่ไม่พอกินพอใช้ ครูสนเป็นครูประชาบาล ทำดังนี้
- ชวนชาวบ้านมาประชุมกัน เริ่มแรกชาวบ้านจะไม่อยากมา แต่หนักเข้าเห็นใจคนชวนว่าเขาอดทน ถึงไม่มาก็ยังชวนอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงยอมมาประชุม
- ชวนทำการวิเคราะห์ปัญหา ตั้งกระดานดำขึ้น วิเคราะห์รายได้ ปีหนึ่งได้เท่าไหร่ วิเคราะห์รายจ่ายมีอะไรบ้าง เอามารวมให้หมด เห็นว่ารายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงเป็นหนี้
- เมื่อวินิจฉัยปัญหาได้ ว่าชีวิตที่เป็นอยู่นั้นขาดทุน ถ้าขืนทำอย่างเดิมต่อไป หนี้สินก็จะเพิ่มขึ้นๆ จึง
- มองหาทางเลือกใหม่ ทางเลือกในแต่ละภูมิประเทศไม่เหมือนกัน จะเอาอย่างกันไม่ได้ และขึ้นกับความรู้ของชาวบ้าน ถ้าความรู้น้อยก็จะมีทางเลือกน้อย ที่บ้านท่านางแนว เนื่องจากแห้งแล้งมาก ทางเลือกมีน้อย แต่เห็นมีหญ้าขึ้นอยู่ จึงถามว่า ถ้าเลี้ยงวัวจะเป็นอย่างไร
- วิเคราะห์ทางเลือก เมื่อตั้งโจทย์แล้วว่า “เลี้ยงวัวจะเป็นอย่างไร” ไม่ใช่ตอบโดยการเดาว่า “คงจะดีมั๊ง” “คงจะไม่ดีมั๊ง” นั่นคือการเดา มีผู้เรียกว่าเป็น “มั๊งศาสตร์นิยม” ไม่ใช่ความรู้จริง ต้องทำการวิเคราะห์โดยเอากระบวนการและข้อมูลเข้ามาใช้ เช่น กระบวนการเลี้ยงวัว เริ่มจากการซื้อลูกวัวราคาเท่าใด (ข้อมูล) เลี้ยงไป ๑ ปี ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เท่าใด ๑ ปีลูกวัวโตขึ้นมาเท่าใด หนักกี่กิโล ถ้าขายราคาในตลาดเท่าใด ฯลฯ โดยการวิเคราะห์เช่นนี้จะทำให้ทราบล่วงหน้าว่า ถ้าตัดสินใจทางเลือกใด จะขาดทุนหรือกำไรเท่าใด
- ตัดสินใจทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะผ่านการวิเคราะห์มา ทำให้ชีวิตดีขึ้น
จะเห็นว่าขั้นตอน 6 ประการข้างต้นที่ครูสนเล่ามาเป็นกระบวนการเรียนรู้หรือกระบวนการทางปัญญาที่ทรงพลัง ทำให้เข้าใจอดีต เข้าใจปัจจุบัน และเข้าใจอนาคต แก้ความยากจนได้ ในขณะที่การสอนท่องหนังสือที่โรงเรียนแค่จำอดีต (วิชา) ยังจำไม่ค่อยได้เลย อย่าว่าจะทำให้รู้ปัจจุบันและรู้อนาคต การศึกษาแบบท่องวิชาจึงแก้ความยากจนไม่ได้ หรือกลับทำให้ยากจนมากขึ้น
เมื่อผมนำวิธีการของครูสนเล่าให้ ดร.เสนาะ อุนากูล ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฟัง ท่านว่า “นั่นคือการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์” ถ้าชาวบ้านทำเป็นย่อมหายจน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 มีการประชุมผู้ได้รับรางวัลแมกไซไซ จากทุกประเทศทั้งหมดในประเทศไทย มหาเศรษฐีเดวิด รอคคีเฟลเลอร์ ได้พาครอบครัวมาร่วมประชุมด้วยในฐานะที่ Rockefeller Brothers Fund เป็นผู้สนับสนุนมูลนิธิรางวัลแมกไซไซ มีการประชุมกลุ่มเรื่องการแก้ความยากจน ลูกสาวเดวิด รอคคีเฟลเลอร์ ชื่อเพ็กกีดูแลนีย์ ซึ่งร่วมประชุมอยู่ด้วย ได้ลุกขึ้นพูดเป็นฉากๆ ๖ ข้อ เหมือนครูสนเดี๊ยะเลย!ผมถามเขาว่า “ยูเป็นลูกเศรษฐีทำไมจึงรู้วิธีแก้ความยากจน” เขาบอกว่า “เขาเคยไปอยู่ในหมู่บ้านที่บราซิลมาหลายปี การเรียนรู้จากชาวบ้านสำคัญ ถ้าลอยตัวอยู่แต่ข้างบนก็จะไม่เข้าใจความจริง แก้ปัญหาไม่ได้”
ผมเอาเรื่องครูสนมาเขียนลงหนังสือพิมพ์มติชน คุณโสภณ สุภาพงษ์ อ่านพบเข้าก็สนใจ ขับรถไปบ้านท่านางแนว ไปเจอเอาครูสนเข้าพอดี และเกิดความเลื่อมใส
ครูสนมีความสามารถสูงในการสื่อสารสาธารณะ จึงเป็นผู้นำ
เมื่อมีการตั้งสภาพัฒนาการเมือง ครูสนได้รับเลือกเข้ามาเป็นสมาชิก และเป็นรองประธานสภาพัฒนาการเมือง นับว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่สภาพัฒนาการเมือง มีปัจจัยนำเข้าจากภูมิปัญญาของผู้นำคนคนข้างล่าง เพราะการที่ประเทศไทยติดขัดอยู่นั้นเพราะคนข้างบนไม่เข้าใจความเป็นจริงของแผ่นดินไทย ยิ่งระบบการศึกษาที่เน้นการท่องวิชาในตำรามา 100 กว่าปี ทำให้คนไทยทั้งหมดที่ได้รับการศึกษาแบบนี้ไม่รู้ความจริงประเทศไทย เมื่อไม่รู้ความจริงย่อมทำให้ถูกต้องไม่ได้
เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้น 2 คณะ มีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูป ผมเป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ผมได้ขอให้ครูสนเป็นรองประธานในคณะกรรมการองค์กรท้องถิ่นกับการปฏิรูปที่มีอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมพร ใช้บางยางเป็นประธาน ในการประชุมผู้นำชุมชนคราวหนึ่ง ครูสนกล่าวว่า
- ไม่มีใครจะปฏิรูปประเทศไทยได้ นอกจากประชาชน
- ประชาชนจะต้องปฏิรูป ๓ ประดับ คือ
หนึ่ง ปฏิรูปตนเอง
สอง ปฏิรูปองค์กร
สาม ปฏิรูปนโยบาย
การปฏิรูป ๓ ระดับตามวจนะของครูสน รูปสูง มีเพื่อนคนไทยนำมาใช้ในการเดินหน้าประเทศไทยอยู่มิใช่น้อย
ประเทศไทยโชคดีที่มีปราชญ์ชาวบ้านจำนวนมาก นอกจากครูสน ก็มีเช่น ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม พ่อมหาอยู่สุนทรไท น้าประยงค์ รณรงค์ ผู้ใหญ่ผาย สร้อยสระกลาง พ่อคำเดื่อง ภาษี พ่อชาลี มานะแสง ฯลฯ และผู้นำชุมชนท้องถิ่นอีกเป็นแสนคน ช่วยกันถักทอสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศเข้มแข็งก็จะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง
ถ้าเราดูดินแดนหลายแห่งในโลกที่เคยเจริญด้วยศิลปวัฒนธรรมและวิชาการ แต่กลับกลายเป็นประดุจนรกบนดิน เกิดการสู้รบเข่นฆ่าทำลายล้างกันอย่างโกลาหล เช่น อิรัค ซีเรีย ปาเลสไตน์ แอฟกานิสถาน ปากีสถาน อิรัคเคยเป็นถิ่นอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ห้องสมุดใหญ่ที่สุด มีความเจริญทางวิทยาศาสตร์ก่อนยุโรป แอฟกานิสถานเคยเป็นดินแดนที่มีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา ดังที่พระพุทธรูปถือกำเนิดขึ้นที่คันธะราฐในประเทศนี้ และมีประพุทธรูปยืนในภูเขาที่บามียัน หรือตักศิลา สำนักวิชาการอันลือชื่อก็อยู่ในปากีสถาน
การคิดแบบแยกส่วนและโค่นล้มมีส่วนสำคัญในการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายรุนแรงในโลก
แต่ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำชุมชนท้องถิ่นใช้ปรัชญาคนละอย่าง ท่านเหล่านี้ใช้ปรัชญาถักทอทางสังคม จึงสามารถสร้างฐานของประเทศที่สันติและแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้การเมืองเรื่องอำนาจข้างบนจะยังไม่ลงตัว แต่ฐานของประเทศที่แข็งแรงจะรักษาประเทศไว้ให้อยู่ในสมดุล และกระชับพื้นที่ขึ้นไปจากข้างล่างมากขึ้นๆ เชื่อมโยงกับข้างบน ทำให้ข้างบนปรับตัวไปสู่ความถูกต้องมากขึ้นๆ จนในที่สุดประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หรือสังคมสันติสุข และมีความถูกต้องเป็นธรรม
นั่นคืออนาคตประเทศไทยที่กำลังผุดบังเกิด (Emerging Future Thailand)
ผมขอตั้งจิตคารวะต่อดวงวิญญาณของครูสน รูปสูงและของปราชญ์ชาวบ้าน และผู้นำชุมชนท้องถิ่นทุกคน ที่ช่วยกันถักทอสร้างความเข้มแข็งให้แผ่นดินไทย ขอให้สถิตอยู่ในสุคติ และเป็นพลังปัจจัยให้ประเทศไทยดำเนินไปบนสันติวรบท สู่การเป็นสังคมสันติสุขในที่สุด