ครูสน จากนักปฏิวัติสู่นักปฏิรูป

ดร.วณี  ปิ่นประทีป

ครูสน  รูปสูง หรือสหายวา เป็นมิตรร่วมรบ กับพวกเราเหล่านักศึกษาและปัญญาชนหลายคนที่เคยเข้าร่วมต่อสู่ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2519-2525 ในเขตอำเภอหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

เมื่อเห็นว่าหนทางการต่อสู้ด้วยอาวุธไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนพี่น้อง คนทุกข์คนยากได้ พวกเราจึงตัดสินใจกลับคืนสู่เมือง ในช่วงที่รัฐบาลประกาศนโยบาย 66/23 เป็นนโยบายที่ต้องการให้ผู้ที่กำลังจับปืนต่อสู้ด้วยอาวุธกับฝ่ายรัฐบาลให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” 

สหายวา ก็กลับคืนสู่เมืองประมาณ ปี พ.ศ. 2524 กลับมาเป็น “ครูสน รูปสูง” ของลูกศิษย์ลูกหาที่บ้านท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น พร้อมกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงวัว ทำไร่ ในขณะที่อดีตสหายคนอื่นๆต่างก็กลับมาเรียนหนังสือ กลับมาหางานทำเพื่อพึ่งตนเองให้ได้ พวกเราก็ติดตามข่าวคราว ของพวกเราเป็นระยะๆ สำหรับครูสน กับพวกเราที่ทำงานด้านการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เราก็จะพบกันเป็นประจำในเวทีประชุมของสภาองค์กรชุมชนในระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเวทีการประชุมในกรุงเทพฯ

ประมาณปีพ.ศ.2553 รัฐบาลคุณอภิสิทธ์  เวชชาชีวะได้ตั้ง คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.)โดยมีท่านอดีตนายกฯนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ  วะสี เป็นประธานฯ ท่านอาจารย์ประเวศ ท่านได้เชิญครูสน มาเป็นคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป

 แนวคิดของครูสน รูปสูงที่พยายามผลักดันคือเรื่อง “ชุมชน ท้องถิ่นจัดการตนเอง”  

ครูสนต้องการเห็น ชุมชน ท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาของตนเอง แก้ปัญหาตนเอง พึ่งตนเองให้ได้ในเชิงเศรษฐกิจ ต้องการเห็น การกระจายอำนาจ ที่ให้ท้องถิ่น และชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการบริหารจัดการท้องถิ่นและชุมชนของตนเอง  หากทำเช่นนี้ได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการ “ปฏิรูป” 

แนวคิดเรื่องการจัดการตนเอง เป็นแนวคิดของการกระจายอำนาจ คือทำให้ส่วนกลางมีอำนาจน้อยลงดู แลทรัพยากรน้อยลง หรือการใช้อำนาจให้น้อยลง ให้การจัดการต่างๆไปอยู่ที่จังหวัด หรืออยู่ที่ท้องถิ่น  ครูสน มีความใฝ่ฝันอยากเห็นสภาพัฒนาการเมือง เป็นกลไกที่สนับสนุนให้พื้นที่ได้จัดการตนเอง และต้องการเห็นสภาองค์กรชุมชน มีความเข้มแข็งและสามารถสนับสนุนชุมชนให้จัดการตนเองได้ 

ครูสน รูปสูงและคุณสวิง ตันอุดซึ่งถึงแก่กรรมก่อนครูสน ประมาณ 7 เดือน ทั้ง 2 ท่านนี้ต้องถือว่าเป็นกัลยาณมิตรร่วมกัน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ทั้ง 2 ท่านได้ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ทรัพย์สินเพื่อการทำงานในการผลักดันแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง มาตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ถึงแม้ว่าแนวคิดเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง ยังเป็นเพียงแนวคิดและความตั้งใจของเครือข่ายภาคประชาชนที่ต้องการเห็นการกระจายอำนาจ ที่ลงไปยังจังหวัด ไปยังท้องถิ่นและชุมชน การเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่แนวคิดนี้ของทั้งครูสน และคุณสวิง ก็ช่วยกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสนใจเรื่องนี้ด้วย

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2559 มาตรา254 บัญญัติไว้ว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด”

ในมาตรานี้เขียนไว้อย่างชัดเจนเรื่องการให้อำนาจประชาชน ในการที่ประชาชนจะสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ตลอดจนการให้สิทธิในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นได้ ในมาตรานี้ต้องถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2559 ในมาตรานี้มีความก้าวหน้ามากในเรื่องของการกระจายอำนาจให้กับประชาชน

ในช่วงที่ครูสนมีชีวิตอยู่ ท่านต้องการเห็นอำนาจมาอยู่ในมือของประชาชน ขณะนี้รัฐธรรมนูญ ก็มีการระบุไว้แล้วซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนต้องเฝ้าติดตามการออกกฎหมายลูกที่จะตามมาในอนาคต

พวกเรายินดีที่ทำตามความฝันและความตั้งใจของครูสน ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่นผ่านแนวคิดการจัดการตนเอง 

ขอคาราวะต่อดวงวิญญาณของครูสน ขอให้สถิตอยู่ในสัมปรายภพด้วย

******************