สาธารณรัฐเลบานอน : ถิ่นฐานรกรากชาวฟีนีเชียน ตอนที่ 10 เที่ยวเมืองไทร์

บันทึกการเรียนรู้โดย พลเดช ปิ่นประทีป

คณะของเราออกเดินทางสู่ เมืองไทร์ (Tyre) เมืองท่าสำคัญของชาวฟีนีเซียน โดยส่วนตัว ผู้เขียนเองมีความสนใจเมืองนี้เป็นพิเศษ น่าจะเป็นเรื่องที่ตั้งใจมาดูมากที่สุดในเที่ยวนี้เลยก็ว่าได้

ความสนใจเริ่มจากการได้ค้นคว้าประวัติและกลยุทธ์สร้างชาติของจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์มหาราช มีเรื่องราวของเมืองไทร์ กล่าวไว้ว่าเมืองไทร์แห่งนี้ไม่มีใครสามารถตีแตก เนื่องจากตั้งอยู่บนเกาะที่มีป้อมปราการแข็งแรง

อาณาจักรบาบิโลเนียนและอาณาจักรอัสซีเรียนที่ว่าเข้มแข็งต่างก็เคยพยายามเข้าโจมตีมานาน ถึง 400 ปีก็ไม่สำเร็จ แต่สุดท้ายอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ใช้วิธีล้อมเมืองไว้ ไม่ให้ใครเข้าออก และถมทะเลทำถนนข้ามไป ยาวประมาณ 800 เมตร จึงสามารถตีเมืองไทร์ได้สำเร็จในปี 232 ก่อนค.ศ.  อีก 300ปีต่อมา เมืองไทร์แห่งนี้ได้กลายเป็นเมืองท่าแห่งอัชชาม ของอาณาจักรโรมัน

เรื่องนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดจินตนาการไปว่า จากถนนแคบๆที่กองทหารกรีก(มาซีโดเนีย)ของอเล็กซานเดอร์ ถมทะเลทำข้ามจากฝั่งไปถึงเกาะเมื่อหลายพันปีก่อน บัดนี้คงจะมีทรายและตะกอนมาทับถม กลายเป็นแผ่นดินกว้างที่เชื่อมต่อถึงกัน จึงอยากไปดูว่าของจริงว่าจะเป็นอย่างไร

ที่เมืองไทร์แห่งนี้ ประวัติศาสตร์กล่าวว่าเริ่มมีการตั้งรกรากของประชากรเมื่อราว 2,750 ปีก่อนคริสตกาล  นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่มีชื่อว่า เฮโรโดตัส (Herodotus) ซึ่งได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งประวัติศาสตร์” เป็นผู้บันทึกเอาไว้ว่า เมืองไทร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว 2,750 ปีก่อนคริสตกาล ในอดีตเมืองนี้เคยถูกอเล็กซานเดอร์มหาราช (กรีก) บุกเข้ายึดครอง ต่อมาได้รับเอกราชและกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน

เมืองไทร์ ประเทศเลบานอน
Photo by Palit woraphongphibun

ข้อมูลเสริมจากวิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C_(%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99)

ไทร์ ( Tyre) หรือ ศูร ในภาษาอาหรับและกรีก เป็นเมืองในเขตผู้ว่าการใต้ ทางตอนใต้ของประเทศเลบานอน มีประชากรราว 117,000 คน ในปี ค.ศ. 2003 

มีพื้นที่เพียงแค่ 4 ตารางไมล์ ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ห่างจากเบรุตไปทางตอนใต้ราว 80 กิโลเมตร ชื่อของเมืองมีความหมายว่า หิน

ไทร์เป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรฟินิเซีย ตั้งแต่ประมาณ 1,100-600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในสมัยโบราณได้รวมเกาะซึ่งมีอ่าวจอดเรือ 2 แห่ง ปัจจุบันกลายเป็นคาบสมุทรเนื่องจากพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนียทรงขยายทางข้ามเกาะในคริสต์ศตวรรษที่ 4 

เป็นเมืองศูนย์กลางการค้ามานานหลายศตวรรษ เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและมหาอำนาจทางทะเลของชาวฟินีเชีย มีชื่อเสียงในการผลิตผ้าไหม มีการกล่าวถึงเมืองนี้ในคัมภีร์ไบเบิลในรัชสมัยของกษัตริย์ไฮแรม (969-936 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

เมืองไทร์ ถูกชนชาติต่างๆผลัดกันเข้าครอบครองเรื่อยมา จนในคริสต์ศตวรรษที่ 7 ตกเป็นของพวกมุสลิม ต่อมาในปี ค.ศ. 1124 พวกนักรบครูเสดได้เข้ายึดเมืองและกลายเป็นเมืองหลักของอาณาจักรเยรูซาเลม จนกระทั่งมาตกเป็นของมุสลิมอีกครั้งในปี ค.ศ. 1291

ไทร์ เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศเลบานอน เป็นท่าเรือที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบัน เมืองไทร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ มีเมืองโบราณมากมายหลายแห่ง รวมถึงสนามกีฬาโรมันโบราณ ที่ติดอยู่ในรายชื่อมรดกโลกของยูเนสโกในปี ค.ศ. 1979

ฮิปโปโดรม ขนาด 5 สนามฟุตบอล สนามแข่งรถม้ายอดนิยมของชาวโรมัน

ยุทธการปิดล้อมเมืองไทร์ ( Siege of Tyre)

ยุทธการปิดล้อมเมืองไทร์ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญในการสู้รบระหว่างฝ่ายนักรบครูเสดกับมุสลิมราชวงศ์อัยยูบิด (Ayyubid) ที่เมืองไทร์ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 11871 มกราคม ค.ศ. 1188

ภายหลังยุทธการฮัททิน ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1187 พื้นที่ส่วนใหญ่ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์รวมถึงเยรูซาเลมตกอยู่ใต้อำนาจของศอลาฮุดดีน นักรบครูเสดบางส่วนได้หนีไปที่เมืองไทร์ ซึ่งเป็นเมืองชายฝั่งเลแวนต์ที่ฝ่ายคริสต์ปกครองอยู่

ในขั้นแรกเรจินัลด์แห่งไซดอน (Reginald of Sidon) ตกลงจะให้เมืองนี้ยอมจำนนแก่ศอลาฮุดดีน แต่ต่อมาคอนราดแห่งมงแฟรา (Conrad of Montferrat) ได้ยกทัพมาที่เมืองนี้และประกาศจะไม่ยอมจำนน เรจินัลด์จึงถอนตัวจากเมือง ส่วนคอนราดสร้างปราการและคูเมืองต่าง ๆ ไว้รอรับศึกกับทัพมุสลิม

ทัพมุสลิมบางส่วนมาถึงเมืองนี้ก่อน ส่วนทั้งหมดตามมาในอีก 13 วันต่อมา

การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรง ทัพมุสลิมใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยในการทลายกำแพงเมือง ส่วนทัพครูเสดตอบโต้ด้วยกองเรือที่มีพลธนู พลหน้าไม้และเครื่องยิงหิน

ศอลาฮุดดีนพยายามหาวิธีตีเมืองนี้แต่ไม่สำเร็จและต้องพบกับการโจมตีตอบโต้ของทัพครูเสดที่นำโดยซันโช มาร์ติน (Sancho Martin) อัศวินชาวสเปนผู้มีฉายาว่า “อัศวินเขียว” (เรียกตามสีชุดเกราะ) 

ความกล้าหาญและฝีมือของมาร์ตินเป็นที่ยอมรับจากทั้งฝ่ายนักรบครูเสดและนักรบมุสลิม รวมถึงศอลาฮุดดีน ผู้ที่เคยเสนอทรัพย์สินให้หากเขายอมเปลี่ยนฝ่ายและหันมานับถือศาสนาอิสลาม แต่มาร์ตินปฏิเสธและยังคงนำทัพออกรบกับทัพมุสลิม

หลังการสู้รบอย่างยาวนาน ศอลาฮุดดีนคิดว่าหนทางเดียวที่จะยึดเมืองนี้ได้คือทางทะเล เขาจึงสั่งกองเรือ 10 ลำจากแอฟริกาเหนือ ในช่วงแรกกองเรือมุสลิมได้เปรียบในการรบ แต่ช่วงหนึ่งของการรบ กองเรือครูเสดได้โจมตีเรือรบมุสลิม 5 ลำ ส่วนที่เหลือถูกสั่งให้ถอนกำลัง

ศอลาฮุดดีนสั่งให้ทัพมุสลิมโจมตีเมืองอีกครั้งแต่ก็ล้มเหลว สูญเสียกำลังพลไปมากมาย เขาจึงปรึกษากับผู้นำคนอื่น ๆ และประเมินสถานการณ์ก่อนจะสั่งถอยทัพไปที่เมืองเอเคอร์

การล้อมสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1188  ยุทธการครั้งนี้ช่วยเพิ่มขวัญกำลังใจของนักรบครูเสดและมีผลต่อสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ในเวลาต่อมา แต่สำหรับศอลาฮุดดีน ยุทธการครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของกองทัพหากต้องต่อสู้เป็นเวลายาวนาน

ตอนที่ 11 เที่ยวเมืองไซดอน