บันทึกการเรียนรู้โดย พลเดช ปิ่นประทีป
เราได้ไปเดินเที่ยวชมย่านใจกลางเมืองเบรุต (Beirut) ซึ่งกำลังได้รับการบูรณะฟื้นฟูให้งดงามเหมือนดั่งเดิม
เมืองเบรุตมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี โดยการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี ปรากฏหลักฐานของชาวฟินิเซียน อารยธรรมเฮเลนิสติก, เปอร์เซีย, โรมัน, อาหรับ และออตโตมัน
ภายใต้หน้าดินที่พอกพูนสะสมขึ้นมาตามกาลเวลาของกรุงเบรุต ไม่ว่าจะขุดเจาะผืนดินลงไปที่จุดไหน ก็จะพบซากเมืองโบราณที่ซ้อนทับกันไปมาตามยุคสมัย ดังนั้นรัฐบาลเลบานอนจึงมีนโยบายห้ามขุด ยกเว้นตรงที่มีซากเมืองโบราณโผล่ขึ้นมาอยู่เหนือพื้นดินเท่านั้น ก็ให้คงสภาพอยู่เช่นนั้นและพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งทัศนศึกษาโบราณสถานของประเทศ
หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง กรุงเบรุตได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทันสมัยและมีชีวิตชีวา จึงได้รับการจัดอันดับจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ว่าเป็นสุดยอดสถานที่ที่ควรไปเยือนในปี 2009 ปัจจุบันเบรุตเป็นทั้งเมืองหลวง ศูนย์กลางการบริหารวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศเลบานอน
แต่เมื่อได้เดินเยี่ยมชมบริเวณใจกลางเมือง เรายังสามารถสังเกตุเห็นร่องรอยของรูพรุนจากกระสุนปืนและแรงระเบิดที่เกิดจากการสู้รบได้ทั่วๆไป ที่ผนังภายนอกของอาคารในย่านดาวน์ทาวน์และศูนย์กลางเศรษฐกิจการค้า ในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งภายในโบสต์วิหารและศาสนสถานของทั้งสองฝ่าย

สุเหร่าสีน้ำเงิน ยืนเคียงคู่กับ โบสถ์คริสต์มาโรไนท์ เสาโรมัน บริเวณซากโบราณสถานกลางกรุงเบรุต ร้านรวงในย่านดาวน์ทาวน์ กรุงเบรุต
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติแห่งกรุงเบรุต
คณะของเราได้ไปเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติแห่งกรุงเบรุต (Beirut National Museum)
ที่นี่เป็นอาคาร 3 ชั้น มีห้องใต้ดินเก็บพวกมัมมี่ด้วย เริ่มเปิดในปี ค.ศ. 1919 มีการรวบรวมศิลปะวัตถุโบราณของ Raymond Weill เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสประจำการในเลบานอน นำมาแสดงไว้ มีเรื่องราวประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุตั้งแสดงไว้มากมาย ทั้งอารยธรรมฟีนิเชี่ยน อียิปต์ กรีก โรมัน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ถือเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์สำคัญที่สุดของประเทศเลบานอน
(ภาพเสริมจากเว็บไซต์ https://pantip.com/topic/37999865)
สุเหร่าสีน้ำเงินและโบสต์คริสต์ ย่านใจกลางเมือง
Nejmeh square เป็นย่านใจกลางเมืองเบรุต เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทั้งปัจจุบันและในประวัติศาสตร์มากมาย สามารถใช้เวลาเดินชมได้ทั้งวันหรือหลายๆวัน
สุเหร่าโมฮัมหมัดอัลอามีน (Blue Mosque) เป็นมัสยิดที่สร้างให้คล้ายกับสุเหร่าสีน้ำเงินที่อิสตันบูล ประเทศตุรกี มีสถาปัตยกรรมแบบอนุสาวรีย์ของอ็อตโตมาน
สุเหร่ามีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 11,000 ตารางเมตร โดมสีน้ำเงินสูง 48 เมตร ส่วนหอคอยสูง 65 เมตร กลายเป็นจุดเด่นของเมืองเบรุตมาตั้งแต่ปี 2008

หอนาฬิกาใหญ่ ตั้งอยู่กลางจัตุรัส Nejmeh square สร้างในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครอง หน้าปัดนาฬิกาบอกยี่ห้อโรเร็กซ์ โดยรอบเป็นร้านอาหาร เครื่องดื่ม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและทำกิจกรรมทางสังคม มีโบสต์คริสต์ออร์โธดอกซ์อยู่ข้างๆ ยังมีแกรนด์มอสค์ที่ครั้งหนึ่งเคนเป็นโบสถ์คริสต์มาก่อน รวมทั้งสุเหร่าสีน้ำเงินและโบสต์คริสต์มาโรไนท์
ด้านหลังออกไปเป็นอาคารรัฐสภาของเลบานอน ที่อยู่ระหว่างนั้นเป็นซากโบราณสถานโรงอาบน้ำยุคโรมันขนาดใหญ่ อยู่ในหลุบลึกลงไปจากพื้นถนน มีเสาโรมันที่แข็งแรงตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์
Grand Mosque อาคารรัฐสภา โรงอาบน้ำโรมันยุคโบราณ รอยกระสุนจากสงครามกลางเมืองที่ทิ้งไว้ในผนังโบสถ์
หินรูปนกพิราบ
เดินผ่านย่านคอร์นิช สองข้างทางเต็มไปด้วยภัตตาคารและร้านกาแฟ แวะถ่ายรูปกับหินรูปนกพิราบ (Pigeons’ Rock)
เป็นแท่งหินกลางน้ำ ที่ถูกธรรมชาติกัดกร่อนเป็นโพรงริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเบรุต
ย่านริมชายฝั่งทะเลเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและการเดินเล่นของชาวเบรุต
ข้อมูลเพิ่มเติมจากวิกิพีเดีย
(https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%95)
เบรุต เป็นเมืองหลวงและเมืองท่าที่สำคัญของเลบานอน เป็นเมืองเก่าที่เป็นศูนย์กลางการศึกษามาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน สันนิษฐานว่าชื่อเมืองนี้มาจากภาษาอราเมอิก berotha แปลว่าต้นสน หรืออาจจะมาจากภาษาละติน berytus ที่มาจากภาษาคานาอันและภาษาฟินิเชียน beroth หมายถึงบ่อน้ำ
ชื่อเมืองเบรุตปรากฏในจารึกของอียิปต์โบราณที่เรียกจารึกเทลส์ เอลอมาร์นา ว่าเป็นเมืองที่สำคัญเมืองหนึ่งในสมัยจักรวรรดิโรมัน เบรุตเคยถูกกองทัพโรมันทำลายหลายครั้ง จนโรมันเข้ามาปกครองเมื่อ พ.ศ. 479 ซึ่งเบรุตเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงที่เป็นอาณานิคมของโรมัน มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษากฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 743
แต่หลังจากเกิดคลื่นยักษ์ถล่มเมืองเมื่อ พ.ศ. 1094 ทำให้เมืองถูกทำลายและประชากรลดลงมาก
ต่อมา เมื่อชาวอาหรับบุกมาโจมตีซีเรียใน พ.ศ. 1178 เบรุตจึงพลอยตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอาหรับด้วย จนถึงสมัยสงครามครูเสด พวกครูเสดได้จัดตั้งราชอาณาจักรลาดินแห่งเยรูซาเล็มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1653 พระเจ้าเบลด์วินที่ 1 ทรงยกกองทัพมาตีเมืองเบรุตได้
เบรุตจึงกลายเป็นเป้าหมายของการแย่งชิงกันไปมา ระหว่างนักรบครูเสดและฝ่ายอาณาจักรมุสลิม
ในปี พ.ศ. 1834 เมื่อมุสลิมสามารถขับไล่พวกครูเสดออกไปได้ เบรุตจึงตกไปเป็นส่วนหนึ่งของอียิปต์ ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์มัมลูก ในช่วงนี้ เมืองเบรุตกลับเสื่อมโทรมลง
จนจักรวรรดิออตโตมานเข้ามาปราบปรามซีเรีย อียิปต์ และอิรักได้ใน พ.ศ. 2059 เบรุตจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมาน โดยให้เจ้าชายของชาวดรูซเข้ามาปกครองเลบานอนตอนกลางและตอนใต้
ใน พ.ศ. 2315 เบรุตกลายมาเป็นแหล่งแย่งชิงกันพื้นที่ระหว่างมหาอำนาจกลุ่มใหม่ คือรัสเซีย อังกฤษ เติร์ก และออสเตรีย จนในที่สุด พ.ศ. 2384 จึงมีการตกลงกันได้ ให้มุฮัมหมัด อาลี แห่งอียิปต์ยึดครองไว้ 10 ปี
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมานเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้เข้ามาปกครองซีเรียในฐานะดินแดนในอาณัติ และได้แยกเลบานอนออกจากซีเรีย โดยให้เบรุตเป็นเมืองหลวงของเลบานอน ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 ชาวคริสต์นิกายโรมาไนต์ซึ่งฝรั่งเศสให้การสนับสนุน ได้เป็นใหญ่ทางการเมือง จนกระทั่งเลบานอนได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2489
ในช่วง พ.ศ. 2495 – 2518 เบรุตฟื้นกลับมาเป็นศูนย์กลางกิจการธนาคารของอาหรับ มีท่าเรือสำคัญ เป็นศูนย์กลางการศึกษาของเลบานอน โดยมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 8 แห่งตั้งอยู่ในกรุงเบรุต
แต่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรังระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในเลบานอน ได้ทำให้เบรุตต้องพบกับปัญหาความไม่สงบตลอดเวลา จนในที่สุดนำไปสู่สงครามกลางเมืองใน พ.ศ. 2517 – 2519 และมีการสู้รบกันเรื่อยมา โดยซีเรียสนับสนุนมุสลิมและอิสราเอลสนับสนุนชาวคริสต์ จนเบรุตต้องถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือเขตของชาวคริสต์ทางตะวันออกและเขตมุสลิมทางตะวันตก ระหว่างสองเขตมีการต่อสู้กันอยู่เสมอ
เมื่อกองกำลังปลดปล่อยปาเลสไตน์ลอบโจมตีอิสราเอลจากดินแดนเลบานอน อิสราเอลตอบโต้โดยการบุกโจมตีเลบานอน ทำให้เบรุตกลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ แม้ว่าข้อตกลงใน พ.ศ. 2525 จะให้ปาเลสไตน์ถอนตัวไปจากเลบานอนก็ตาม
หลังจากยุติสงครามกลางเมืองได้ใน พ.ศ. 2533 ชาวเลบานอนได้ช่วยกันสร้างเบรุตขึ้นใหม่ โดยส่วนใหญ่เกิดจากแรงงานของทหาร จนในที่สุดเมืองเบรุตกลับมาเป็นศูนย์กลางของตะวันออกกลางทางด้านการค้า แฟชั่น และสื่อ
มีนายกรัฐมนตรีชื่อ “รอฟิก ฮารีรี” (Rafic Hariri) นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

รอฟิก ใช้ความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม โดยเฉพาะทำให้กรุงเบรุตกลับมาสวยงามน่าเที่ยวอีกครั้ง ทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นสูงขึ้น
แต่ต่อมา เมื่อเขาเมื่อมีนโยบายในการถอนทหารซีเรียออกจากเลบานอน กลับไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส จึงกลายเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากต่อนโยบายอิหร่าน ซีเรีย ที่มีต่อเลบานอน ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ “ระเบิดสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีรอฟิก ฮารีรี” ในวันวาเลนไทน์ พ.ศ.2548 สี่เดือนหลังจากท่านลาออกในฐานะนายกรัฐมนตรีเลบานอน
มีนักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่า กลุ่มฮิซบุลลอฮ กองกำลังนิยมชีอะห์เป็นผู้เตรียมการและลงมือลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีรอฟิก ส่วนกลุ่มฮิซบุลลอฮก็ชี้หลักฐานยืนยันว่า “อิสราเอล” เป็นตัวการในเหตุสลดครั้งนี้ ทั้งนี้ก้เพื่อกระตุ้นให้ขับกองทัพซีเรียออกจากเลบานอนให้เร็วยิ่งขึ้น
ในอีกหนึ่งเดือนต่อมาได้มีประชาชนนับล้านออกมาชุมนุมต่อต้านในเบรุต เรียกการปฏิวัติซ๊ดาร์ เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเลบานอน ทำให้กองทหารที่ใหญ่ที่สุดของซีเรียต้องถอนออกจากเบรุตเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ. 2548
เมื่อเริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-เลบานอนขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2549 อิสราเอลได้โจมตีพื้นที่บางส่วนของเบรุต โดยเฉพาะพื้นที่ของมุสลิมชีอะห์ทางใต้ของเบรุต ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551
ต่อมา หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจคว่ำบาตรเครือข่ายของกลุ่มฮิซบุลลอหฺ ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งและทำท่าจะกลายเป็นสงครามกลางเมืองอีกครั้ง แต่หลังจากที่มีการเจรจาในระดับนานาชาติโดยให้เจ้าชายแห่งกาตาร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ในที่สุดได้ตกลงให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในเลบานอนขึ้น