ระบบลุ่มน้ำของพื้นที่แม่สอด ประกอบลำน้ำเมยและลำน้ำสาขา โดยแม่น้ำเมยมีต้นน้ำ ที่ตำบลวาเล่ย์ อ.พบพระ ไหลลัดเลาะชายแดนไทย-พม่า ผ่านเข้าสู่พื้นที่ อ.แม่สอด แล้วไหลไปพื้นที่ อ.แม่ละมาด โดยแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาขา มีอิทธิพลสำคัญต่อการเกิดภัยพิบัติของพื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดตาก
ส่วนลำน้ำสาขาที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเกอร่า ที่ ซึ่งไหลลงมาจากทิวเขาสูงในพม่า ลงมาบรรจบกับห้วยวาเล่ย์ กลายเป็นต้นแม่น้ำเมย ส่วนในเขต องแม่สอด มีลำห้วยแม่สอด เป็นลำน้ำสำคัญ และในเขต อ.แม่ละมาด มีคลองแม่ละมาดเป็นลำน้ำสายหลัก
ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำเมย จนถึง อ.แม่สอด จะมีลำน้ำสายย่อยๆ ที่ไหลลงแม่น้ำเมยเป็นระยะๆ ทำให้แม่น้ำเมยมีน้ำไหลตลอดปี และมีปริมาณน้ำมหาศาลจนล้น 2 ฝั่งในช่วงฤดูฝน จนเป็นสาเหตุของอุทกภัยของพื้นที่นี้อยู่เสมอ
สำหรับเมืองแม่สอดเองนั้น มีลำห้วยแม่สอด ที่ไหลผ่านกลางเมืองแม่สอดลงสู่ลำน้ำเมย ในปีที่มีน้ำมาก เช่นในปี 2556 น้ำในแม่น้ำเมยมีระดับที่สูงล้นฝั่ง ทำให้น้ำในลำห้วยแม่สอด ไม่สามารถไหลลงแม่น้ำเมยได้ จึงเอ่อท่วมเมืองแม่สอด จนได้รับความเสียหายอย่างหนัก สินค้าที่รอส่งข้ามไปขายฝั่งพม่าได้รับความเสียหายนับพันล้านบาท แต่จากการศึกษาของเครือข่ายชุมชนรับมือภัยพิบัติเมืองแม่สอด พบว่านอกจากอิทธิผลของแม่น้ำเมยแล้ว ยังเป็นความเสื่อมโทรมของลำห้วยแม่สอดและลำน้ำสาขา รวมถึงทางระบายน้ำในเมืองแม่สอด ที่ขาดการดูแลรักษาจนอุดตัน รวมถึงการถมพื้นที่รับน้ำเพื่อก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ที่ทำให้เมืองแม่สอดมีความเสี่ยงอุทกภัย จึงได้มีการร่วมกันแก้ไข โดยการขุดลอกและกำจัดขยะในล้ำห้วยแม่สอด และเส้นทางน้ำอย่างต่อเนื่องทุกปีเรื่อยมา จนกลายเป็นกิจกรรมประจำปีของเมืองแม่สอด ที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาสายน้ำก่อนที่จะเข้าฤดูฝน ซึ่งส่งผลให้การระบายน้ำทำได้สะดวก เมืองแม่สอดไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมจนสร้างความเสียหายอีกเลยจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้เกิดความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อย่างมาก ทั้งนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดตาก ที่ประกอบด้วย อ.พบพระ อ.แม่สอด และ อ.แม่ละมาด ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ไปอย่างมาก ทั้งการพัฒนาเส้นทางคมนาคม การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาที่พักอาศัย และการขยายตัวของเมือง ในขณะที่ ฝั่งพม่า ประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนสร้างเมืองขนาดใหญ่ขึ้นริมแม่น้ำเมยฝั่งตรงข้ามกับบ้านวังผา ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองแม่สอด เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นรองเพียงฮ่องกงเท่านั้น ในเบื้องต้น ได้มีการก่อสร้างท่าเรือและแพข้ามแม่น้ำเมย เพื่อขนส่งสินค้าจากไทยข้ามไปพม่าหลายจุด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกายภาพของแม่น้ำเมย ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการระบายน้ำที่จะลดลงไปอย่างมาก เริ่มมีความกังวลถึงผลกระทบในเชิงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
การประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติของพื้นที่ และการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดทอนความเสี่ยง โดยขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีความสำคัญต่อการเพิ่มสมรรถนะของประชาชนในพื้นที่ต่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อลดทอนความเสี่ยงในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และครอบคลุมมิติด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของพื้นที่
คณุสสัน ศุภวัตรวรคุณ
เลขาธิการสถาบันพัฒนาประชาสังคม