โดย พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
ทุกวันนี้ ด้วยพัฒนาการของระบบสาธารณสุขไทยในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา บัดนี้ประชาชนคนไทยกว่าร้อยละ 99.9
ได้รับความคุ้มครองจากระบบหลักประกันสุขภาพแบบใดแบบหนึ่ง ได้แก่ 48.6 ล้านคนอยู่ในระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 10.7 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบกองทุนประกันสังคม(สปส.) และ 5.5 ล้านคนเป็นข้าราชการและรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศที่มีกรมบัญชีกลางดูแล
นอกจากนั้น ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ประมาณ 3.4 ล้านคน ที่แม้ว่าจะมีหลักประกันอยู่ในระบบใดระบบหนึ่งแล้ว ยังได้ซื้อประกันภัยกับบริษัทเอกชนเป็นตัวเสริมและเป็นทางเลือกเฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม ดังรายละเอียดในตาราง
ตาราง แสดงรายละเอียดระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย ปี 2556 (ที่มา : สภาปฏิรูปแห่งชาติ 5 สิงหาคม 2558)
ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ | ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า | ระบบประกันสังคม | ระบบประกันสุขภาพของภาคเอกชน | |
1.ลักษณะพื้นฐาน | สวัสดิการสำหรับข้าราชการหรือครอบครัวราชการ | สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยการร่วมจ่าย ยกเว้นผู้ยากไร้ | ความมั่นคงด้านสังคมต่อลูกจ้างภาคเอกชน | การประกันตนเอง |
2.ผู้มีสิทธิ | ข้าราชการและผู้อาศัยสิทธิของข้าราชการ | ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิของข้าราชการและประกันสังคม | หน่วยงานเอกชนที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป | ผู้ซื้อประกันภัยกับบริษัทประกันภัยภาคเอกชน |
3.จำนวนผู้มีสิทธิ | 5.5 ล้านคน | 48.6 ล้านคน | 10.7 ล้านคน | 3.4 ล้านคน |
4.แหล่งเงินหรือแหล่งรายได้ | งบประมาณของรัฐ | งบประมาณของรัฐ | สมทบจากรัฐ นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละเท่ากัน คือร้อยละ 1.5ของเงินเดือน โดยมีเพดานเงินเดือนสูงสุดที่ใช้คำนวณ 15,000 บาท | ผู้ซื้อประกันให้ตนเอง ประกันกลุ่ม หน่วยงานเอกชนซื้อให้พนักงาน |
5.รูปแบบวิธีการจ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาล | กรณีผู้ป่วยนอก : จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามจ่ายจริงกรณีผู้ป่วยใน : ตามรายโรคในอัตราที่กำหนด(กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม) | เหมาจ่ายรายหัวสำหรับค่ารักษาพยาบาล จำกัดอัตราเบิกของผู้ป่วยตามรายโรค และจ่ายเพิ่มในกรณีโรคร้ายแรง | เหมาจ่ายรายหัวรวมสำหรับบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และจ่ายเพิ่มกรณีภาระเสี่ยงและโรคร้ายแรง | ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ |
6.หน่วยงานรับผิดชอบ | กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง | สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ | สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน | บริษัทประกันภัยภาคเอกชน |
7.การเข้าถึงยา | ยาในบัญชียาหลัก และยานอกบัญชี ภายใต้กรอบการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล | เฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ | ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นหลัก แต่ไม่จำกัดสิทธิการใช้ยานอกบัญชี | ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและยานอกบัญชี ตามสิทธิในกรมธรรม์ประกันภัย |
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทั้งสามระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐนี้ ต่างได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐไม่เท่ากัน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในด้านคุณภาพการบริการสำหรับแต่ละกลุ่มประชากรตามมาด้วย กล่าวคือ สปสช.ได้รับงบประมาณเฉลี่ย 2,600 บาท/หัว สปส.ได้รับงบสนับสนุน 3,000บาท/หัว ส่วนข้าราชการรัฐจ่ายให้เฉลี่ย 13,000 บาท/หัว
ในเมื่อประชาชนมาใช้บริการจากสถานพยาบาลในที่แห่งเดียวกัน แต่ต้องพบกับเงื่อนไขการใช้สิทธิจากบัตรหลักประกันของรัฐในระบบที่แตกต่างและนำไปสู่การได้รับบริการที่แตกต่าง ดังนั้นจึงมีเสียงเรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ซึ่งเป็นเสียงที่ค่อนข้างดังมากเสียด้วย
นอกจากนั้น สถานการณ์และแนวโน้มภายในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยในภาพรวมยังขาดเอกภาพการทำงาน ขาดการบูรณาการอย่างเป็นระบบและมีความเหลื่อมล้ำในการกระจายทรัพยากรดังที่กล่าวข้างต้น ขณะเดียวกันประชาชนก็ยังมีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง (NCD) และการบาดเจ็บเพิ่มสูงขึ้น
ประชาชนยังมีความรอบรู้ด้านสุขภาพที่ไม่เพียงพอ ได้รับสิทธิประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน และประเทศมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรายจ่ายด้านหลักประกันสุขภาพทำให้มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อปัญหาการเงินการคลัง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาและสาเหตุของความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข มีลักษณะเชิงโครงสร้างและเชิงระบบที่มีความซับซ้อน ไม่สามารถวิเคราะห์แยกแยะปัจจัยสาเหตุออกมาแบบโดดๆ ควรที่จะหยิบประเด็นสำคัญขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อการคิดแบบเชื่อมโยง โดยเอาเป้าหมายการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นใจกลาง
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (1) : ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (2) : ระบบสุขภาพกับความเป็นธรรม
- สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (3)
- ความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (4)
- งบประมาณสปสช.กับปัญหากำลังคนภาครัฐ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (5)
- อำนาจรวมศูนย์ หน่วยบริการจัดการตนเองไม่ได้ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (6)
- กลไกนโยบายขาดเอกภาพและสมดุล | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (7)
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (8)
Credit Photo by https://www.nationweekend.com/content/columnist/28?news=481