{ข้อมูลพื้นที่ประสบอุทกภัย] บ้านนาเผือก หมู่ที่ 4, บ้านใหม่ หมู่ที่ 3 ต.จอมพระ อ.ท่าวังผา จ.น่าน

1. บริบทชุมชน

บ้านนาเผือก หมู่ที่ 4 และบ้านใหม่ หมู่ที่ 3 อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา  จังหวัดน่าน สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของทั้งสองหมู่บ้านเป็นที่ราบสลับกับพื้นที่เนินสูง

มีลำน้ำย่างพาดผ่านและใช้เป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับการทำการเกษตร  ชาวบ้านจะปลูกบ้านเรือนริมถนนสายหลัก และซอยย่อย ส่วนพื้นที่ราบติดลำน้ำย่างเป็นแหล่งเพาะปลูกของชุมชน  โดยส่วนใหญ่ทำนา ในฤดูแล้งปลูกข้าวโพด พริก  สำหรับพื้นที่เนินสูงจะปลูกไม้ยืนต้น ได้แก่ ลำไย  ต้นสัก ไผ่ เงาะ เป็นต้น ผู้คนนับถือศาสนาพุทธ และให้การนับถือผี  

2. อาณาเขต

ทิศบ้านนาเผือกบ้านใหม่
เหนือ       ติดต่อบ้านยู้ หมู่ที่ 5 ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านบ้านนาฝ่า หมู่ที่ 2 ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ใต้           ติดต่อตำบลป่าคา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านตำบลตาลชุม  อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ตะวันออก  ติดต่อบ้านใหม่ หมู่ที่ 3 ตำบลจอมพระอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านบ้านนาฝ่า หมู่ที่ 2 ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
ตะวันตก    ติดต่อบ้านยู้ หมู่ที่ 5 ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่านบ้านนาเผือก หมู่ที่ 4 ตำบลจอมพระ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

3. จำนวนประชากร  และครัวเรือน

จำนวนบ้านนาเผือกบ้านใหม่
ประชากร430 คน450 คน
หลังคาเรือน117 หลังคาเรือน120 หลังคาเรือน

4. สถานที่สำคัญ

บ้านนาเผือกบ้านใหม่
องค์การบริหารส่วนตำบลจอมพระ
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจอมพระ
ศูนย์เด็กเล็ก
ตลาด
วัดนาเผือก
สระน้ำนาเผือก
ป่าชุมชน
วัดบ้านใหม่
สหกรณ์การเกษตร
ป่าชุมชน 

5. ผังวาดชุมชนแสดงพื้นที่น้ำท่วม/ดินโคลนถล่ม

6. เส้นทางน้ำ

เส้นทางการไหลของน้ำเข้าท่วมหมู่บ้าน 

บ้านนาเผือกจำนวน 1 เส้นทาง  คือ เส้นทางน้ำท่วม ระดับน้ำในลำน้ำย่างสูง จนล้นตลิ่งตลอดลำน้ำสองฝั่ง  ซึ่งเป็นพื้นที่ราบต่ำ  และไหลต่อไปทางตะวันตกของหมู่บ้านที่ติดกับบ้านยู้

บ้านใหม่   จำนวน 3 เส้นทาง 

ทางที่ 1  ลำน้ำย่าง ระดับน้ำในลำน้ำย่างสูงล้นตลิ่งทั้งสองด้าน จนไหลต่อไปยังบ้านนาเผือก

ทางที่ 2  ห้วยสลอน น้ำเอ่อท่วมพื้นสองฝั่งของห้วยจนถึงจุดเชื่อมต่อกับลำน้ำย่าง 

ทางที่ 3   น้ำไหลจากจากป่าชุมชน บริเวณด้านเหนือ ทำให้น้ำไหลหลากบนผิวดินสู่พื้นที่ต่ำบริเวณถนนท่าวังผา-ศิลาเพชร                   

7. พื้นที่เสี่ยง 

บ้านนาเผือก พื้นที่การเกษตรริมตลิ่งลำน้ำย่าง ราว 500 ไร่ ไม่เสี่ยงต่อพื้นที่อาศัย

บ้านใหม่ พื้นการเกษตรริมสองฝั่งลำน้ำย่าง จำนวน 100 ไร่ และกลุ่มบ้านติดริมถนนท่าวังผา-ศิลาเพชร ทางเข้าวัดบ้านใหม่  จำนวน 2-3 หลังคา

8. ผลกระทบ

บ้านนาเผือก 

พื้นที่เกษตร น้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปีในช่วงก้าวย่างสู่ฤดูฝนช่วงเดือน กรกฎาคม-กันยายน  ระดับน้ำท่วมสูงถึง 5 เมตร  เสียหายรวม 500 ไร่ เป็นช่วงของการทำนา ในระยะข้าวตั้งท้อง เริ่มปักดำ บางแปลงอยู่ระหว่างออกรวง บ้านนาเผือกรับน้ำต่อจากพื้นที่บ้านใหม่ และน้ำมาพร้อมกับหินทรายจำนวนมากเมื่อระดับน้ำลดพื้นที่นากลายเป็นผืนทราย โดยทรายที่บ้านนาเผือกมีความละเอียดเมื่อเทียบกับบ้านใหม่  ทำให้เป็นที่ต้องการของพ่อค้า 

พื้นที่อยู่อาศัย ไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูง

บ้านใหม่ 

พื้นที่เกษตร น้ำท่วมในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปีพื้นที่เกษตรเสียหาย 100 ไร่ เป็นนาข้าว ช่วงระยะเริ่มต้นทำนา ระดับน้ำท่วมสูง 5 เมตร  โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักคือพื้นที่เชื่อมต่อของห้วยสลอนและน้ำย่าง  ในช่วงน้ำท่วมกระแสน้ำพัดแรงจนนำพาหิน กรวด ทราย จำนวนมากกระจายบนผิวดินที่เป็นผืนนา 

 พื้นที่อยู่อาศัย บ้านเรือนที่ตั้งบริเวณริมถนนสายท่าวังผา-ศิลาเพชร ทางเข้าวัดบ้านใหม่ จำนวน  2-3 หลังคาเรือนที่อยู่ในพื้นที่ต่ำเมื่อน้ำฝนจากป่าชุมชนด้านบนไหลหลากผ่านเนินลงสู่พื้นที่ราบ และไหลผ่านถนน เข้าท่วมบ้านที่ปลูกสร้างต่ำ ระดับน้ำสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะเวลาท่วมประมาณครึ่งวัน ชาวบ้านจุดนั้นต้องเก็บของพื้นที่สูง หากน้ำมาในช่วงเวลากลางคืนทำให้ต้องเฝ้าระวัง หากเก็บไม่ทันข้าวของเสียหาย และน้ำที่ไหลมาพร้อมโคลน บ้านบางหลังจึงสร้างคันกั้นน้ำป้องกัน น้ำจุดนี้จะค่อยๆ ไหลลงสู่ห้วยโป่ง และพื้นที่เกษตรริมลำน้ำย่าง

9. การจัดการภัย (2 หมู่บ้าน)

  • ก่อนเกิดภัย ชาวบ้านติดตามข่าวสารจากสื่อโทรทัศน์  ในพื้นที่รับฟังการแจ้งข้อมูลจากผู้นำ (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) ซึ่งรับข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลจอมพระ สำหรับบ้านที่ถูกน้ำท่วมจะเริ่มเก็บสิ่งของเมื่อฝนตกติดต่อกัน
  • ระหว่างเกิดภัยสำหรับพื้นที่การเกษตร ไม่มีการป้องกัน ชาวบ้านปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ และเป็นเช่นนี้มายาวนาน  โดยไม่มีทางป้องกัน 
  • หลังเกิดภัยเมื่อน้ำลดลงพื้นที่เกษตรของทั้ง 2 หมู่บ้านมีชั้นหินหนา ถ้ามีจำนวนมาก จะมีพ่อค้ามาขุดหินทรายออกด้วยรถแมคโครและไม่เสียค่าใช้จ่าย  ถ้าทรายมีความสะเอียดจะได้ราคาราว 5,000 บาทต่อไร่ โดยทรายบริเวณบ้านใหม่จะมีลักษณะก้อนใหญ่ ขณะที่ทรายบริเวณบ้านนาเผือกจะมีความละเอียดมากกว่า สำหรับพื้นที่ใดมีหินทรายจำนวนเล็กน้อยจะต้องจัดเก็บโดยเจ้าของที่  หลังจัดเก็บจึงลงพืชอายุสั้น    จำพวกข้าวโพด  ถั่วลิสง พริก ในส่วนของบ้านเรือน อบต.ใช้รถฉีดน้ำทำความสะอาดพื้นบ้านหลังน้ำท่วม ทั้งนี้ไม่มีการเยียวยาด้านการเกษตรรวมทั้งบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม   

ผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่หนักสุดในปี 2559 ทำให้ฝาย ที่มี 3 แห่งใน 2 หมู่บ้านเสียหาย 2 ฝาย ทั้งนี้ อบต.ได้แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการทำคันดินเสริม นอกจากนี้ยังมีสะพานชำรุด 1 แห่ง และยังไม่มีการซ่อมบำรุง ชาวบ้านสามารถใช้สะพานอื่นในการสัญจรไปยังพื้นที่การเกษตรได้

10. ข้อเสนอแนะ

  • (ไม่มี)

11. พิกัดพื้นที่

 จัดเก็บพิกัดพื้นที่สำคัญในหมู่บ้าน  จำนวน 4 จุด 

บ้านนาเผือก

จุดที่ 1 ลำน้ำย่าง บริเวณจุดสะพานชำรุดจากกระแสน้ำ ปี 2559  น้ำไหลเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรทั้งสองฝั่งลำน้ำ ระดับน้ำสูง 5 เมตร 

จุดที่ 2 ฝายบ้านนาเผือก ชำรุดจากกระแสน้ำท่วมจากลำน้ำย่าง และ อบต.ทำคันดินกั้นชั่วคราว 

บ้านใหม่

จุดที่ 3 ฝายห้วยสลอน (บ้านใหม่) ชำรุดจากกระแสน้ำท่วม และยังไม่มีการซ่อมบำรุง ฝายแห่งนี้ใช้สำหรับกักเก็บน้ำ เมื่อฝายชำรุดทำให้ชาวบ้านต้องสูบน้ำเพื่อทำการเกษตรบนพื้นที่เนินเขา  หลายคนเลือกจะเปลี่ยนเป็นพืชยืนต้นแทน

จุดที่ 4 ฝายในลำน้ำย่าง (บ้านใหม่) สามารถใช้ในการชะลอน้ำสำหรับการเกษตร

12. ข้อมูลผู้ร่วมสำรวจ

            1) คุณวรินทร  สุทธิแสน 08-3136-1956 (บ้านหน้าใหม่)

            2) คุณสนิท   ยะแสง 09-3032-4328 (บ้านนาเผือก)

*เอกสารส่วนหนึ่งของการประชุมปฏิบัติการ  “การพัฒนาแนวทาง/แผนการลดทอนความเสี่ยงภัยพิบัติ ระดับพื้นที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน” โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเตรียมความพร้อมรับมือและลดความเสี่ยงภัยพิบัติ วันที่ 28-31 พฤษภาคม 2562