โดย พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ
ในกระแสทิศทางการบริหารกิจการรัฐของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาทั่วโลก
ต่างยอมรับหลักการถ่ายโอนหรือกระจายให้งานบริการทั่วไปสำหรับประชาชนไปเป็นบทบาทภารกิจของหน่วยงานท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นย่อมรู้สภาพปัญหาพื้นที่ได้ดีกว่าหน่วยงานส่วนกลาง อาทิ งานบริการสาธารณสุข การศึกษา สังคมสงเคราะห์ ระบบสาธารณูปโภค ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และการจัดการขยะมูลฝอย
แต่ประเทศไทยกลับไม่เป็นอย่างนั้น
ถึงแม้ว่าเราจะมี พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 เพื่อใช้บังคับทิศทางให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี การถ่ายโอนสถานีอนามัยไปให้ท้องถิ่นเกิดขึ้นเพียง 50 แห่ง(จากทั้งหมดเกือบ 10,000 หน่วยทั่วประเทศ)เท่านั้น
สาเหตุก็มาจากข้าราชการไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงและมีแรงต้านจากผู้บริหารกระทรวงที่ส่งทอดกันมา รวมทั้งมีข้ออ้างความไม่พร้อมและความไม่เหมาะสมต่างๆนานา
การหวงหน่วยงานในระดับปฏิบัติเอาไว้กับระบบอำนาจรวมศูนย์เช่นนี้ ทำให้สังคมและประเทศเสียโอกาสที่งานบริการสาธารณสุขซึ่งไม่ยุ่งยากซับซ้อนหรือต้องการความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพที่ไม่สูงมาก โดยเฉพาะงานในเชิงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพ แทนที่จะได้ถ่ายโอนไปให้ท้องถิ่นได้ช่วยพัฒนาในวิถีของคนพื้นที่ กลับยังคงวนเวียนบริหารอำนาจกันอยู่ในร่องเดิม
กล่าวคือทุกหน่วยต้องรอคอยการกำหนดนโยบายและการบริหารงานทุกอย่างที่สั่งไปจากส่วนกลาง ทั้งๆที่ปัญหาสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่นเหล่านั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและกระทบต่อประชาชนที่นั่นโดยตรง
สามกองทุนสุขภาพ ขาดการบูรณาการ
ในภาพรวม งบประมาณรายจ่ายด้านสุขภาพของรัฐที่ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพ 3 กองทุน ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของ GDP อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดสภาพคล่องของรพ.รัฐในระยะที่ผ่านมาเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บ่งบอกถึงความไม่เพียงพอของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปี
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (คปสธ.) จึงมีข้อเสนอในการแสวงหาแหล่งงบประมาณเข้ามาเสริม อาทิ จากระบบภาษีเฉพาะรูปแบบใหม่ๆ การร่วมจ่ายหรือการบูรณาการกับระบบประกันภัยภาคเอกชน ฯลฯ
ส่วนในเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างและเหลื่อมล้ำกันอยู่นั้น คปสธ.กำลังพัฒนาระบบชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานที่ทุกกองทุนจะได้รับเหมือนกันหมด และชุดสิทธิประโยชน์เสริมซึ่งแต่ละกองทุนหรือผู้รับบริการสามารถเลือกได้
ประชาชนขาดทัศนคติ “สร้างนำซ่อม”
สถานภาพผลงานการแก้ปัญหาโรคติดต่อของประเทศไทยมีความโดดเด่น แต่คนไทยกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (NCD) มากขึ้น จากข้อมูลปี พ.ศ. 2556 ประเทศไทยมีการสูญเสีย“ปีสุขภาวะ” (DALYs) จากโรคหรือการบาดเจ็บที่สามารถป้องกันได้ อาทิ การเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุทางถนน โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน โรคซึมเศร้า
ทั้งนี้ อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นสาเหตุ อันดับหนึ่งของการสูญเสียปีสุขภาวะในประชาชนไทยอายุ 15 – 29 ปี และเมื่อพิจารณาอัตราการตาย ต่อหนึ่งแสนประชากรทั้งประเทศพบว่ายังไม่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยพบว่า ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเท่ากับ 22.3 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งติดอันดับโลก
ทั้งหมดที่กล่าว ล้วนมีความสัมพันธ์กับปัจจัยในด้านความตระหนักและรู้เท่าทันด้านสุขภาพของคนไทยในช่วงวัยและกลุ่มประชากรต่างๆ รวมทั้งวิธีคิด เจตคติและการปรับพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งต้องการระบบงานเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรคที่มีศักยภาพเข้มแข็ง
งบส่งเสริมสุขภาพมีน้อย
จากข้อมูลบัญชีสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2551 พบว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลยังคงเป็นค่าใช้จ่ายหลักของการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด (ร้อยละ 78.4) ส่วนรายจ่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีแนวโน้มลดลงเป็นลําดับ จากร้อยละ 7.1 ในปี พ.ศ. 2537 เหลือเพียงร้อยละ 4.5 ในปี 2551
ตัวเลขเหล่านี้สอดคล้องกับการกระจายงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะต่อๆมา ที่พบว่างบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 20 ของงบประมาณทั้งหมดในปี 2545 เหลือเพียงร้อยละ 12 ในปี 2553
นอกจากนั้น พบว่าในการจัดสรรงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยผ่านงบประมาณรายหัวของ สปสช.ในรอบสิบปีที่ผ่านมายังมีสัดส่วนที่น้อยเกินไป คือประมาณร้อยละ 10-13 เท่านั้น ซึ่งในเรื่องทั้งหมดนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เคยเสนอแนะไว้ว่าสัดส่วนงบส่งเสริมสุขภาพของประเทศควรเพิ่มขึ้นให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 20-25 และจัดให้เป็นกองทุนที่แยกออกมา.
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (1) : ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (2) : ระบบสุขภาพกับความเป็นธรรม
- สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (3)
- ความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (4)
- งบประมาณสปสช.กับปัญหากำลังคนภาครัฐ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (5)
- อำนาจรวมศูนย์ หน่วยบริการจัดการตนเองไม่ได้ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (6)
- กลไกนโยบายขาดเอกภาพและสมดุล | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (7)
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (8)
Photo credit cover https://www.nationweekend.com/content/columnist/28?news=783