กลไกนโยบายขาดเอกภาพและสมดุล | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (7)

โดย พลเดช  ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

กลไกนโยบายและการบริหาร ขาดสมดุลและเอกภาพ

ประเด็นนี้น่าจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข

เพราะเป็นส่วนของการปฏิรูปโครงสร้างที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบอื่นๆทั้งหมด ซึ่งถ้าไม่มีการปฏิรูปในส่วนนี้อย่างจริงจัง ส่วนอื่นก็แทบจะไม่มีความหมาย เพราะจะกลายเป็นเพียงงานพัฒนาทั่วไปที่สามารถทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อไรก็ได้

เรื่องแรก เป็นปัญหาบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งควรที่จะหันกลับมาทำหน้าที่หน่วยกำหนดนโยบายและกำกับดูแล (regulator) และเอาใจใส่ต่อการบังคับใช้กฎหมาย 50 ฉบับที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็ง โดยกระทรวงควรต้องละวางหรือถ่ายโอนภารกิจและบทบาทการเป็นหน่วยบริการ

สุขภาพ(provider)ไปให้แก่สถาบัน องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือภาคเอกชนอย่างเหมาะสม ทั้งงานด้านงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ เพราะการทำหน้าที่ทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน จะเกิดขัดแย้งในบทบาทหน้าที่และไม่สามารถทำได้ดีสักอย่าง และขาดการตรวจสอบถ่วงดุล

เรื่องที่สอง ปัจจุบันมีองค์กรอิสระตระกูล ส.เกิดขึ้นหลายองค์กร ได้แก่ สสส. สปสช. สช. สวรส. สพฉ. และ สรพ. ซึ่งต่างคนต่างมีกฎหมายจัดตั้งเป็นการเฉพาะ มีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคลและมีคณะกรรมการนโยบายของตนเอง นอกจากนั้นแต่ละองค์กรล้วนแล้วแต่มีศักยภาพในระดับสูง มีผลงานเป็นที่ยอมรับยกย่องเป็นอย่างมากในระดับนานาชาติ เป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาล

ในด้านหนึ่ง ด้วยความเป็นเอกเทศของแต่ละองค์กร ทำให้กระทรวงสาธารณสุขรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมดูแลให้เกิดความเป็นเอกภาพได้ จึงพยายามเสนอ (ร่าง) พรบ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ……. เพื่อจัดตั้งกลไกอำนาจอำนาจแบบแข็งในลักษณะ super board ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ แต่กระบวนการขับเคลื่อนของกระทรวงสาธารณสุข สปท.และสนช.ในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช. ก็ถูกกระทรวงและหน่วยงานอื่นตั้งคำถามถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้ง การทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ตั้งคำถามถึงความซ้ำซ้อนกับพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่เป็นกลไกระดับนโยบายอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ ถ้าเพียงแค่กระทรวงสาธารณสุขได้หันกลับมาแสดงบทบาทเป็น Health Authority ทำหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลอย่างจริงจังและเข้มแข็งเท่านั้น  ประเด็นเอกภาพในทางนโยบายดังกล่าวนี้ อาจจะหมดไปได้ โดยไม่เป็นต้องจัดตั้งกลไก Super board แต่อย่างใด

หรือในกรณีที่ยังเห็นว่าจำเป็นที่ต้องมีกลไกนี้อีก ผู้เขียนขอเสนอให้ตีกรอบประเด็นอำนาจหน้าที่ของ Super board ให้แคบลงอยู่ในเรื่องการแพทย์และการสาธารณสุขเท่านั้น เพราะการขยายกว้างไปเป็นเรื่องสุขภาพมิติกว้างซึ่งครอบคลุมถึงคุณภาพชีวิตนั้น จะไปทับซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของอีกหลายกระทรวง

รวมทั้งควรเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ”แทน เพื่อไม่ให้ทับซ้อนหรือสับสนกับกลไก “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ”ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

ขาดระบบสารสนเทศและข้อมูลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ

ระบบข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศยังขาดคุณภาพ ไม่ครอบคลุม มีความซ้ำซ้อนและขาดกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ ขาดการบูรณาการข้อมูลของแต่ละระบบและไม่สามารถแลกเปลี่ยนกันข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานได้ โดยเฉพาะมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ มาตรฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของการใช้ข้อมูลสุขภาพ

นอกจากนี้ บุคลากรผู้ให้บริการต้องใช้เวลาจำนวนมากในการจัดทำรายงานข้อมูลและประชาชนไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลสุขภาพสุขภาพของตน ระบบข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลเท่าที่ใช้กันอยู่ล้วนเป็นระบบที่ใช้หน่วยบริการเป็นฐาน เป็นระบบของแต่ละโรงพยาบาลที่ใช้เฉพาะส่วนของตน การส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลหนึ่งไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่งจึงมักมีช่องว่างและเกิดปัญหาหวงข้อมูล ทำให้คนไข้เสียประโยชน์ทั้งๆที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง

ในด้านวิชาการและการวางแผนพัฒนา ยังขาดระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลกลางของประเทศ ทำให้ไม่สามารถประมวลข้อมูลให้เห็นภาพรวมได้อย่างครอบคลุม แม้ว่าปัจจุบันจะมีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของกองทุนหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน แต่ก็ยังขาดการเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมได้แบบทันท่วงที

ปัจจุบันเป็นโลกยุคดิจิทัล แต่ระบบสารสนเทศและข้อมูลสุขภาพของประเทศยังไม่ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาทั้งระบบอย่างจริงจังเพื่อให้สามารถสนับสนุนงานบริการประชาชนและการบริหารจัดการ คปสธ. จึงกำหนดให้มีประเด็นการปฏิรูประบบสารสนเทศและข้อมูลสุขภาพบรรจุไว้ในแผน.

Photo credit cover https://www.nationweekend.com/content/columnist/28?news=974