โดย พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา
เพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (คปสธ.) ได้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ดังมีรายละเอียดตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้แล้วในราชกิจจานุเบกษา
คปสธ. เสนอแนวทางการปฏิรูปไว้ 4 ด้าน คือ ด้านบริหาร ด้านบริการ ด้านความรอบรู้ และด้านงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพ ประกอบด้วย 10 ประเด็น ดังนี้
1) การจัดตั้งกลไกคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ
เน้นเป้าหมายการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการนโยบายสำคัญด้านสุขภาพ ระหว่างหน่วยงานและองค์กรอิสระระดับชาติ โดยการจัดตั้งกลไกระดับชาติที่มีสมรรถนะสูง เพื่อกำหนด ขับเคลื่อน ติดตามกำกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในภาพรวมและด้านต่างๆ
2) การจัดให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขต
เน้นเป้าหมายการมีระบบบริการในเขตพื้นที่ที่ถูกออกแบบให้รองรับกับสภาพปัญหา มีการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าและมีระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ที่สามารถเกลี่ยใช้กันได้ในลักษณะพ่วงบริการ แทนการจ่ายงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการย่อยโดยตรง และให้มีกลไกการบริหารเขตพื้นที่แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
3) การวางระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศสุขภาพ
เน้นเป้าหมายให้ระบบสาธารณสุข สถานบริการและสถานพยาบาลภาครัฐ มีและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมในการพัฒนากระบวนการทำงานและการบริหารจัดการ การวิเคราะห์และพัฒนางานการส่งต่อผู้ป่วย การใช้ระบบข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเลกทรอนิกส์
4) ระบบแผนกำลังคนด้านสุขภาพในระยะยาว
เน้นเป้าหมายการออกแบบวางแผน กำหนดสัดส่วนบุคลากรสุขภาพต่อประชากรในระดับประเทศที่เพียงพอ สอดคล้องกับระดับการพัฒนา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายบุคลากรสุขภาพระหว่างเขตสุขภาพ รูปแบบการจ้างงานที่เหมาะสมและไม่มีพื้นที่ที่ขาดแคลนบุคลากรซ้ำซาก
5) ระบบบริการการแพทย์ปฐมภูมิ
เน้นเป้าหมายการมีระบบบริการการแพทย์ปฐมภูมิที่สมบูรณ์ครบถ้วน ใกล้บ้านใกล้ใจ รวมทั้งการผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อให้บริการ ลดภาระโรคโดยค่าใช้จ่ายต่อหัวไม่เพิ่ม
6) การพัฒนาระบบแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อเศรษฐกิจ
เน้นเป้าหมายประเทศไทยมีความมั่งคั่งจากการนวดไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร การแพทย์แผนไทยมีความมั่นคงอยู่ในระบบบริการสุขภาพและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
7) ระบบการแพทย์และการสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉิน
เน้นเป้าหมายประชาชนเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ทันเวลาและมีมาตรฐาน ประเทศมีระบบการสาธารณสุขฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับโรคระบาดและผลกระทบจากพิบัติภัยธรรมชาติขนาดใหญ่
8) การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
เน้นเป้าหมายพัฒนาระบบงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ให้อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดและอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีเพิ่มขึ้น
9) การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ คุ้มครองผู้บริโภคและผู้ให้บริการ
เน้นเป้าหมายประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีทักษะในการเข้าถึงและประมวลข้อมูลสุขภาพเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการดูแลสุขภาพของตนเอง จัดระบบการเยียวยาผู้เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการบริการด้านสุขภาพ และสร้างเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันการคุ้มครองบริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพด้านต่าง ๆ
10) ระบบความยั่งยืนและเพียงพอด้านการเงินการคลังสุขภาพ
เน้นเป้าหมาย ประชาชนทุกกลุ่มมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างมีคุณภาพ มีกลไกหลักในการบริหารจัดการทางการคลังสุขภาพระดับชาติ โดยค่าใช้จ่ายด้านหลักประกันสุขภาพอยู่ในระดับที่การคลังของประเทศสามารถรองรับได้ และสถานพยาบาลใช้กรอบแนวคิดการจัดบริการที่เน้นความคุ้มค่า
มีการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์หลักสำหรับคนไทยทุกคน รวมทั้งชุดสิทธิประโยชน์เสริม และมีการประมาณการค่าใช้จ่ายตามชุดสิทธิประโยชน์ รวมถึงแหล่งเงินสำหรับการจัดหลักประกันสุขภาพ คุ้มครองด้านสุขภาพแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิซึ่งรวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (1) : ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (2) : ระบบสุขภาพกับความเป็นธรรม
- สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (3)
- ความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (4)
- งบประมาณสปสช.กับปัญหากำลังคนภาครัฐ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (5)
- อำนาจรวมศูนย์ หน่วยบริการจัดการตนเองไม่ได้ | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (6)
- กลไกนโยบายขาดเอกภาพและสมดุล | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (7)
- ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (8)
Photo credit cover https://www.nationweekend.com/content/columnist/9